ไฟเบอร์คือสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่ง แต่ด้วยโมเลกุลของตัวมันเองที่แตกต่างจากคาร์โบไฮเดรตชนิดอื่น ไฟเบอร์จึงมีโมเลกุลที่ประกอบด้วยเส้นใยมากมายที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายได้ และไม่สามารถนำมาใช้เป็นพลังงาน
โดยทั่วไปแล้วไฟเบอร์จะมี 2 ประเภท ที่ละลายในน้ำได้ และไม่ละลายในน้ำ
ไฟเบอร์ที่ละลายได้ในน้ำ (soluble dietary fiber)
พบมากในผลไม้ ถั่วและข้าวโอ๊ต เส้นใยประเภทนี้จะละลายในน้ำเพื่อสร้างเป็นวัสดุคล้ายเจล ทำให้เกิดความหนืดเพิ่มมากขึ้นคล้ายกับก้อนเจลนุ่มๆ ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดและระดับน้ำตาลกลูโคส ลดไขมันเลว LDL เท่ากับเป็นการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ และโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดได้เป็นอย่างดี ไฟเบอร์ชนิดนี้จะดูดซับน้ำตาลเอาไว้ทำให้นํ้าตาลถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายน้อยลง จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้
ไฟเบอร์ชนิดที่ไม่ละลายในน้ำ (insoluble fiber)
พบมากในข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ แป้งโฮลวีต รำข้าวสาลี ถั่วและผัก เช่น กะหล่ำดอก ถั่วเขียว และมันฝรั่ง จะเข้าไปพองตัวคล้ายกับฟองน้ำเป็นการเพิ่มใยอาหารและปริมาณน้ำภายในกระเพาะอาหาร เมื่อมันเคลื่อนผ่านไปก็จะทำหน้าที่คล้ายไม้กวาดระบบทางเดินอาหารให้สะอาด ช่วยเพิ่มปริมาณอุจจาระ จึงเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีปัญหาท้องผูกหรือระบบการขับถ่ายไม่ปกติ