เคยมั้ยคะ?...อยู่ดีๆ ก็หมดพลังจะทำอะไรไปดื้อๆ ไม่อยากทำอะไรเลย นอกจากอยู่นิ่งๆ

จากคนที่เคยมีพลัง มีไอเดียล้านแปด ทำทุกอย่างเต็มที่ บางครั้งอาจจะทำเกินร้อยด้วยซ้ำ แต่ไปๆ มาๆ พลังที่เคยมีกลับลดน้อยถอยหายลงไปเหมือนนาฬิกาที่ถ่านเริ่มอ่อน เข็มนาฬิกาค่อยๆ เดินช้าลง จนกลายเป็นความรู้สึกที่ว่า "ฉันกำลังทำอะไร" "ฉันมาทำอะไรตรงนี้" เกิดเป็นความเบื่อหน่ายเข้ามาแทนที่ หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า เกิดอาการ "หมดไฟ" นั่นเอง ถูกมั้ยคะ?

รูปภาพ:https://pbs.twimg.com/media/DFXDsnMXoAA4T50.jpg

มีทฤษฎีหนึ่งที่น่าสนใจอธิบายเอาไว้ว่า อาการ #หมดไฟ มีสาเหตุเชื่อมโยงมาจาก "ความเครียด" ซึ่งเป็นงานวิจัยของ Dr. Stevan E. Hobfall ที่มีชื่อว่า "Conservaion of Resources Theory"

ซึ่งเป็นทฤษฎีที่อธิบายเกี่ยวกับแนวคิดที่ว่า "การที่มนุษย์พยายามที่จะทำให้ได้มาหรือรักษาระดับทรัพยากรต่างๆ ของตัวเองไว้ ไม่ว่าจะเป็น...

1. สิ่งของ เช่น บ้าน รถยนต์ เสื้อผ้า อาหาร

2. ลักษณะนิสัย เช่น ความภาคภูมิใจต่างๆ

3. สถานะต่างๆ เช่น การแต่งงาน

4. พลังงาน เช่น ความรู้ เงิน เวลา

เราจะเกิด #ความเครียด ขึ้นเมื่อสูญเสีญทรัพยากรเหล่านี้ไป

ซึ่งอาการ "หมดไฟ" มักเกิดขึ้นเมื่อเราทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้พักเป็นเวลานานๆ เปรียบเสมือนกองไฟที่ถูกเผาไปเรื่อยๆ แต่ไม่มีฟืนหรือไม้เติมเข้าไป ทรัพยากรคือไม้หรือฟืนก็จะค่อยๆ ถูกเผาไปเรื่อยๆ จนหมด จนในที่สุดกองไฟก็จะค่อยๆ มอดดับลง

หากเรายังปล่อยให้อาการหมดไฟเกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ เราจะไม่ได้แค่เผชิญหน้ากับความเบื่อหน่ายเพียงอย่างเดียว แต่มันยังส่งผลให้ความสามารถในการจัดการกับเรื่องต่างๆ แย่ลงไปด้วย ไม่มีแรงจะทำอะไร หมดพลังใจลงไปเรื่อยๆ ทำให้ยิ่งเหนื่อยเมื่อยล้าทั้งกายและใจมากขึ้น ความเครียดก็ยิ่งพุ่งปรี๊ดๆ ขึ้นไปอีก จนไม่อยากทำอะไรเลย จริงมั้ยคะ?


แล้วเราจะปลุกพลังชาร์จแบตให้ไฟในตัวเองให้ลุกโชนขึ้นมาอีกครั้งได้ยังไง มาตามอ่านไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ

1. ไปทำสิ่งที่ชอบ เหนื่อยนักก็พักซะบ้าง ไปเติมพลังกับสิ่งที่ตัวเองชอบ

2. อันปลั๊กตัวเองแล้วเลิกคอนเนคท์ซะบ้าง พักการเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์บ้าง เพราะการเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์อยู่ตลอดเวลาก็ทำให้เกิดความเครียดสะสมได้โดยไม่รู้ตัว

3. ไปหาเรื่องใหม่ๆ ทำบ้าง การที่เราอยู่กับอะไรซ้ำๆ เดิมๆ อาจทำให้กายและใจเหนื่อยล้า ลองไปทำอะไรใหม่ๆ ดูจะช่วยผ่อนคลายได้

4. ออกกำลังกาย เมื่อเราออกกำลังกายต่อเนื่องอย่างน้อย 20-30 นาทีขึ้นไป ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข หรือที่รู้จักกันในชื่อของ "Endorphine" ซึ่งช่วยลดความเครียดลงได้

5. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วิธีนี้สำคัญที่สุด เพราะการนอนหลับไม่เพียงพอหรือการอดนอนไม่ได้ส่งผลเฉพาะร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลถึงจิตใจด้วย ทำให้สมองไม่ปลอดโปร่ง คิดอะไรช้า สมองไม่แล่น และหงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ดังนั้นถึงเวลานอนก็คือนอน นอนให้เต็มอิ่ม ตื่นมาจะได้สดชื่นแจ่มใส


ลองไปทำกันดูนะคะ ไฟในตัวเองจะได้กลับมาลุกโชนอีกครั้ง