The sun and her flower - ในมือเธอมีดอกทานตะวัน - บทกวีน้ำดีที่ไม่ควรพลาด...และต้องหามาอ่านสักครั้งในชีวิต

รูปภาพ:

โดยรูปี กอร์ ( Rupi kuar )

แปลพลากร เจียมธีระนาถ


จากผู้เขียนMilk and honey– ปานหยาดน้ำผึ้ง.....หนังสือที่สั่นสะเทือนความรู้สึกไปถึงข้างในของลูกผู้หญิง


รูปี กอร์เธอกลับมาพร้อมผลงานร้อยแก้วและความเรียงเล่มที่สอง ที่ได้รับความนิยมเช่นเคยไม่แพ้เล่มก่อน เนื่องจากเนื้อความในหนังสือที่ถูกเรียงร้อยอย่างดีงามและแฝงไปด้วยคุณค่าแล้วนั้น บทกวีของเธอยังกินใจนักอ่านที่แม้ไม่ใช่คอกวียังต้องตกหลุมรัก หนังสือเรื่อง -ในมือเธอมีดอกทานตะวัน- ได้ถูกแปลและตีพิมพ์ไปแล้วหลายภาษาทั่วโลก

The sun and her flowerได้แบ่งออกเป็น 5 หมวดหลักๆ ซึ่งแต่ละบทก็จะมีเนื้อความที่แตกต่างกันออกไปแต่เนื้อหาในบทกวีร้อยแก้วและความเรียงหลักๆนั้นจะเอนเอียงไปในเรื่องของความรักเป็นส่วนใหญ่ เหมาะกับผู้อ่านที่เป็นวัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ เล่มนี้มีความนุ่มนวลมากกว่าเล่มก่อนพอสมควร แต่ก็ยังคงกลิ่นอายเฟมินิสต์ของผู้เขียนและมีกลิ่นอายอีโรติกที่บางเบา ออกแนวกึ่งรักกึ่งประชดตามสไตล์ รูปี กอร์

โดยรวมๆ แล้วเนื้อความภายในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนน่าจะจงใจใส่ความเสียดสีสังคมลงไป โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิสตรี ในด้านบทบาทการแสดงออกในสังคม สถาบันครอบครัว ความรุนแรงและการถูกล่วงละเมิด บทกวีทำให้ตีความได้ถึงการโหยหาความเท่าเทียมและสิทธิของผู้หญิงในยุคปัจจุบัน ซึ่งผู้เขียนได้ถ่ายทอดถึงข้อเรียกร้องสำหรับผู้หญิงและความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมาช้านานและยังคงดำเนินไป โดยที่แม้ว่าในปัจจุบันจะมีองค์กรต่างๆ เพื่อสิทธิสตรีให้ความเข้าใจและช่วยเหลือ แต่ก็เหมือนกับว่าตำน้ำพริกละลายลงแม่น้ำ ในบางสังคมและบางพื้นที่ทุกอย่างที่เคยดำเนินมาก็ยังคงดำเนินไป ความรุนแรงยังมีให้เห็นอยู่เสมอ โดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในครัวครัว ที่ผู้หญิงมักตกเป็นเหยื่ออยู่เสมอๆ และแม้ว่าในศตวรรษนี้บทบาทของผู้หญิงจะถูกหยิบยกขึ้นมาให้มีความเทียบเท่ากับผู้ชายในเรื่องความเสมอภาคกันและสิทธิการแสดงออกต่างๆ แต่ใช่ว่าพื้นฐานทางสังคมของแต่ละพื้นที่จะให้สิทธิตรงนั้น หรือจะสามารถให้เสรีภาพที่เท่ากันได้ โดยเฉพาะบางพื้นที่ ที่มีความเชื่อของศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้ว ผู้หญิงก็ยังดูจะไร้สิทธิไร้เสียงและไม่ได้ต่างจากที่ผ่านมา

รูปภาพ:https://www.img.live/images/2019/12/20/photo-1545239351-cefa43af60f3.jpg

-ในมือเธอมีดอกทานตะวัน- เล่มนี้เป็นเหมือนกระบอกเสียงเล็กๆ และตัวแทนของผู้หญิงซึ่งผู้เขียนทำออกมาโดยที่ไม่ได้เอ่ยปากออกมาตรงๆ ไม่ได้แสดงข้อเรียกร้องตรงๆ แต่สื่อสารออกมาในรูปแบบของงานศิลปะประเภทวรรณกรรมร้อยแก้วได้อย่างยอดเยี่ยม และทุกบททุกตอนของกวีและความเรียงในหนังสือเล่มนี้นั้น ทำให้ผู้อ่านได้ฉุกคิด เจ็บปวดและใคร่ครวญเพื่อหาคำตอบตามไปด้วย บทกวีทุกบททุกตอนนั้นได้เล่นกับอารมณ์และความรู้สึกของผู้อ่านอย่างตำใจแบบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากพูดถึงเรื่องสิทธิสตรีอะไรต่างๆ ภาพที่เราคิดกันขึ้นมาคงเป็นภาพแห่งการเรียกร้องที่ดูซีเรียสจริงจัง ไม่น่าอ่าน ดูมีกฎเกณฑ์และน่าเบื่อ ยิ่งเป็นกวีด้วยแล้วก็คงจะมีความซับซ้อนแต่ขอบอกเลยค่ะว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ให้ความรู้สึกแบบนั้น หนังสือเล่มนี้กลับทำให้ผู้อ่านอ่านจนเพลินและไม่อยากให้จบลงเลย

ไม่เพียงเท่านั้น -ในมือเธอมีดอกทานตะวัน- เล่มนี้ยังถ่ายทอดความรู้สึกของผู้ลี้ภัย ( เรฟูจี ) ที่ต้องพลัดพรากจากถิ่นฐานสู่โลกใหม่ เธอกล่าวถึงเสรีภาพความเป็นมนุษย์และสิทธิที่มนุษย์พึงมีพึงได้รับ โดยที่ไม่ต้องการที่จะให้ความแตกต่างของเชื้อชาติ สีผิว มาเป็นข้อกำหนดกฎเกณฑ์ ซึ่งการสื่อเนื้อหาที่ครอบคลุมออกไปกว้างเช่นนี้ทำให้กวีเล่มนี้เป็นมากกว่ากวีที่ไม่ได้กล่าวถึงเพียงเรื่องของความรักเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง สิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียมของการเกิดมาเป็นมนุษย์อีกด้วย

เนื้อความภายในหนังสือเล่มนี้ถูกแบ่งเป็น 5 หมวดหลักๆ

ไล่จากความเจ็บปวดไปจนถึงความเข้าใจ ได้แก่ แห้งเหี่ยว ร่วงโรย หยั่งราก งอกเงย และผลิบาน

1. แห้งเหี่ยว

รูปภาพ:

ในบทแรกนั้น แห้งเหี่ยว สื่อถึงความรักที่อับเฉาและจบลงไปแล้วแต่...ใครบางคนยังลืมมันไม่ได้ บทนี้สื่อถึงความไม่เห็นคุณค่าในตัวเองที่ทำเหมือนกับว่าเราจะมีคุณค่าขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อมีคำตัดสินจากใครบางคนเท่านั้น อ่านไปเจ็บจี๊ดๆ ไป ชวนให้นึกถึงสมัยที่เคยอกหักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฮ่าๆๆ

รูปภาพ:

2. ร่วงโรย

ร่วงโรย เป็นบทที่สองซึ่งก็ตามตัวเลยค่ะ เมื่อใบไม้แห้งเหี่ยว...แล้วก็ต้องร่วงโรยเป็นธรรมดา

รูปภาพ:

ในบทนี้เป็นเหมือนภาวะช็อกซึ่งเหมือนกับจะรับรู้และเข้าใจแต่ก็ยังมีความอาลัยอาวรณ์อยู่ ต่อสู้กับความรู้สึกของตัวเอง รับไม่ได้กับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นแม้รู้ว่ามันต้องเกิดแน่นอน

รูปภาพ:

ขมขื่นกับความรู้สึกเฝ้ารอคอยในสิ่งทีไม่มีวันจะหวนกลับคืนมา

รูปภาพ:

เปรียบเสมือนใบใม้ที่กำลังจะร่วงโรยจากกิ่งนั่นละค่ะ ต้องร่วงแน่ๆ...แต่ไม่พิสมัยที่จะเป็นเช่นนั้น

3. หยั่งราก

บทนี้แตกต่างจากสองบทแรกอย่างสิ้นเชิง ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักแบบหนุ่มสาวแต่อย่างใด

รูปภาพ:

ผู้เขียนกลับกล่าวถึงผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ (เรฟูจี) ปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตของผู้ลี้ภัยนั้นคงไม่ได้สุขสบายนัก เปรียบเหมือนการเริ่มต้นใหม่ เกิดใหม่ในแบบเดิมที่มีพื้นฐานเดิมหรือรากเก่าแฝงอยู่ในตัว ต้องละทิ้งความคุ้นชินและเริ่มต้นกับสังคมใหม่ที่มีความแต่งต่างทางระบบสังคม ภาษา การปกครอง วัฒนธรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง

รูปภาพ:

ในบทนี้มีกลิ่นอายของความเป็นฮิปปี้อบอวลอยู่ไม่น้อยเลย คำว่าหยั่งราก ผู้เขียนอาจสื่อถึงความเป็นมาของรกรากมนุษย์ซึ่งมีกายภาพที่เหมือนกัน มีรากมาจากที่เดียวกัน แต่กลับถูกแบ่งแยกด้วยเชื้อชาติ และเส้นแบ่งของอาณานิคมของประเทศต่างๆ

รูปภาพ:

การสร้างอาณานิคมที่ถูกกำหนดขึ้นจากอำนาจจากมนุษย์ด้วยกัน เธอค่อนข้างให้ความสำคัญและถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของผู้อพยพออกมาได้อย่างเข้าใจได้ไม่ยากผ่านกลอนเปล่าบทนี้ ที่ทั้งลงตัวและตั้งใจที่จะให้ผู้อ่านเข้าอกเข้าใจถึงความยากลำบากของชีวิตของผู้ลี้ภัย

รูปภาพ:

เธออธิบายถึงความสวยงามของสำเนียงการพูดของตัวเอง ดึงคุณค่าของความแตกต่างออกมาเป็นบทกวีชวนให้ผู้อ่านใคร่ครวญถึงความแตกต่าง ความไม่เหมือน...ว่าไม่ใช่สิ่งน่าอับอายหรือเลวร้ายแต่อย่างใด


4. งอกเงย

เปิดฉากมาด้วยกลิ่นอายของความรัก งอกเงยก็เหมือนลำต้นอ่อนของต้นไม้ที่เมื่อหยั่งรากลงไปในผืนดินแล้วก็งอกเงยชูลำต้นหาแสงอาทิตย์ เพื่อชีวิตใหม่

รูปภาพ:

บทนี้เป็นความกล้าๆ กลัวๆ ในการมีรักครั้งใหม่...แต่ยังทำใจที่จะลืมเรื่องราวของคนเก่ายังไม่ได้

รูปภาพ:

ทั้งการลืมคนรักเก่าหรือเรื่องเก่าไม่ได้นั้นไม่ใช่แค่เรื่องราวหรือภาพทรงจำดีดี...แต่รวมไปถึงความรวดร้าวในชุดของความสัมพันธ์ที่ได้จบลงไปอีกด้วย...ยังคงแฝงคามอีโรติกตามสไลต์ของผู้เขียนเอง

รูปภาพ:

ไรต์ชอบบทนี้มากๆ

5. ผลิบาน

ในบทสุดท้ายของกวีเล่มนี้ เน้นไปในเรื่องการรับรู้ เข้าใจและตระหนักถึงคุณค่าในตัวเอง ความสวยงามของความแตกต่างระหว่างบุคคล

รูปภาพ:

แม้ว่าจะเป็นมนุษย์เหมือนกันทางกายภาพ แต่การถูกเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อม ประสบการณ์ที่สั่งสมมาทำให้เรานั้นมีความแตกต่าง...จะมีเราที่เป็นแบบเราและสวยงามแบบนี้เพียงคนเดียว...เราคนเดียวเท่านั้น ประสบการณ์ที่พานพบทำให้เรามีคุณค่าที่แตกต่าง...และสวยงามในแบบของตัวเอง

รูปภาพ:

ความอิจฉาแน่นอนว่าเป็นแรงผลักดันที่ดีให้เรา ขับเคลื่อนตัวเราให้ถึงจุดหมายได้ไวขึ้น แต่อาจแฝงไปด้วยความรุ่มร้อน ขืนขม อยู่สักหน่อย

รูปภาพ:

You never get what they have at that moment, but you get have your moment in which no one can take it away from you.

คุณมีวันได้ในสิ่งที่เขามี ณ โมเมนต์นั้น แต่คุณเองก็มีโมเมนต์ของคุณไม่ว่าใครๆ ก็ไม่สามารถมีเหมือนคุณได้...

การที่บางคนมีบางสิ่ง เราอาจจะมองเห็นแค่ในวันที่เขาประสบความสำเร็จแล้ว แต่ไม่ได้มองไปถึงสิ่งที่เขาเสียไป ซึ่งอาจจะเป็น เวลา หยาดเหงื่อ และหยดน้ำตาที่ต้องแลกความสำเร็จนั้นมาโอบกอดอย่างภาคภูมิใจ

รูปภาพ:

การมองเห็นสิ่งที่ตัวเองมี รับรู้คุณค่าในตัวเองเป็นสิ่งที่เราควรตระหนักรู้ให้ได้อย่างยิ่ง ซึ่งข้อนี้ผู้เขียนน่าจะจงใจสื่อสารออกมาทางบทกวีเพื่อให้ผู้อ่านได้ใคร่ครวญถึง

รูปี กอร์นักกวี นักพูด และนักเขียน ที่ได้สรรค์สร้างความดีงามให้โลกใบนี้ผ่านงานวรรณกรรมของเธอทั้งสองเล่ม ที่นอกจากจะเป็นกระบอกเสียงสำหรับผู้หญิงในเรื่องของสิทธิ เสรีภาพและความเท่าเทียมแล้ว ยังให้มอบคุณค่ากับผู้อ่านบทกวีได้ฉุกคิดและความเข้าอกเข้าใจหัวอกของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพอีกด้วย ส่วนในบทท้ายๆ ยังชี้นำให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงความสวยงามของความแตกต่างระหว่างบุคคล ผู้เขียนพยายามทำให้ผู้อ่านคำนึงและใคร่ครวญถึงคุณค่าของตัวเอง ว่าแต่ละชีวิตก็มีคุณค่าและความงดงามที่แตกต่างกันออกไปตามประสบการณ์ ความคิด ความเชื่อของแต่ละคนThe sun and her flowers -ในมือเธอมีดอกทานตะวัน- หนังสือเล่มนี้นับว่าเป็นบทกวีและความเรียงที่ดีมากๆ เล่มหนึ่งเลยก็ว่าได้ จึงอยากที่จะแนะนำให้เพื่อนๆ ทุกคนไม่พลาดที่จะมีติดบ้านไว้ค่ะ

รูปภาพ: