สวัสดีค่ะ พี่จบจากมหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ของประเทศค่ะ ทำงานมาได้หลายปีแล้ว และตอนนี้ทำงานในสายงานที่ต้องคัดเลือกคนเข้าทำงาน จึงอยากจะแชร์ประสบการณ์ มุมมอง ให้กับน้อง ๆ ที่กำลังจะเลือกมหาวิทยาลัยให้ได้ฟังกันนะคะ

#มิตรสหายท่านหนึ่ง(ที่ไม่ใช่เพจแต่เป็นเพื่อนพี่เอง) ได้กล่าวไว้ว่า“เมื่อเราเข้าสู่วัยทำงานเราจะเป็นแค่นกน้อยในท้องฟ้าอันกว้างใหญ่”และด้วยความกว้างใหญ่ของโลกแห่งการทำงาน  น้อง ๆ หลายคนจึงให้ความสำคัญกับการเลือกมหาวิทยาลัยและพยายามอย่างเต็มที่ในการสอบ เพียงเพื่อหวังว่ามหาวิทยาลัยจะเป็นตัวการันตีอนาคตให้ แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับมีอะไรที่มากกว่านั้น มหาวิทยาลัยดัง ๆ เองแม้จะให้บางสิ่งที่มหาวิทยาลัยเล็ก ๆ ให้ไม่ได้  แต่ในบางเรื่องมหาวิทยาลัยดังก็ไม่ได้มอบให้เราเช่นกันค่ะ (และเราอย่าหวังว่าจะได้)

* หมายเหตุ :มหาวิทยาลัยดัง ณ ที่นี้ หมายถึง มหาวิทยาลัยปิดอันดับต้น ๆ ของไทยนะคะ

สิ่งที่มหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ของประเทศ "ให้ "

รูปภาพ:

1. หน้าตา และ ความภาคภูมิใจ

ค่ะ จงภูมิใจเถอะค่ะ หากน้อง ๆ สามารถสอบติดมหาวิทยาลัยดัง ๆ ได้   ตลอดระยะเวลา 4 ปีขึ้นไป น้องจะสามารถเดินไปไหนได้อย่างภาคภูมิ และนั่นอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่บ้านเรายังมีชุดนักศึกษา หรือมหาวิทยาลัยใดที่อนุญาตให้ใส่ชุดอื่น ๆ ได้ นักศึกษาเองก็จะเลือกใส่ชุดของมหาวิทยาลัย หรือคณะใช่ใหมคะ?

รูปภาพ:http://news.tlcthai.com/wp-content/uploads/old_wb/headline83533.jpg

2. สังคม

มหาวิทยาลัยดัง ย่อมมีนักศึกษาที่มีคุณภาพ มีคณะมากมาย มีกิจกรรมเยอะแยะ และเต็มไปด้วยชมรมให้น้อง ๆ เลือกร่วม น้อง ๆ จะพบเพื่อนใหม่ ๆ จากหลาย ๆ ที่ หลายฐานะ หลายแวดวง มันหมายความว่าเมื่อน้อง ๆ จบจะมีสิ่งที่เรียกว่า “Connection” ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับการทำงานอย่างมาก บางครั้งมากพอ ๆ กับความสามารถในการทำงานของน้อง ๆ เลยค่ะ

รูปภาพ:http://www4.sit.kmutt.ac.th/files/01_MK_YoungCreative.JPEG

3. เพื่อน

ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของรัฐบาล เป็นสถาบันที่หลาย ๆ คนใฝ่ฝัน และทุ่มเทเพื่อที่จะเข้ามาเรียน นั่นหมายความว่ามหาวิทยาลัยนั้นได้รวมคนขยัน คนเก่ง คนที่น่าสนใจเอาไว้ การที่น้อง ๆ ได้เข้าไปอยู่ท่ามกลางกลุ่มคนเหล่านั้น มันทำให้เราซึบซับพฤติกรรม  ได้เปรียบเทียบกับคนเหล่านั้น สุดท้ายแล้วมันจะทำให้เราขยันขึ้น เก่งขึ้นไปโดยปริยาย ดังที่เคยมีคำกล่าวว่า "คบเพื่อนอย่างไรจะเป็นอย่างนั้น"

รูปภาพ:http://www.dbd.go.th/images/article/news8079/n20140519170644_24793.jpg

4. รุ่นพี่

เคยได้ยินไหมคะว่า “ในมหาวิทยาลัยดัง ๆ เมื่อเราเรียนเทอมสุดท้าย ยังไม่ทันจะร่อนจดหมายสมัครงาน ก็มีรุ่นพี่ติดต่อเข้ามาเรียกไปสัมภาษณ์แล้ว” มันเป็นข้อได้เปรียบของมหาวิทยาลัยดัง ๆ และอยู่มาอย่างยาวนานค่ะ และหากมหาวิทยาลัยนั้นมีรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จจำนวนมาก โอกาสที่จะได้ connection จากรุ่นพี่เหล่านั้นก็ยิ่งมากค่ะดังนั้นอย่าไปกลัวการรับน้องเลยนะคะ เพราะมันคือใบเบิกทางในการตีซี้รุ่นพี่ค่ะ

รูปภาพ:http://www.enn.co.th/uploads/contents/20120607132101.jpg

5. รับน้องเบากว่า

ทุกปีจะมีข่าวการรับน้องที่รุนแรง  เป็นข่าวที่ไม่ดีออกมาเสมอค่ะ  แต่สำหรับมหาวิทยาลัยดังการรับน้องจะเบากว่ามาก โอกาสที่จะเจอเรื่องพิเรน หรือกิจกรรมที่เสี่ยงต่ออันตรายมีน้อยมากค่ะ ในบางมหาวิทยาลัย (ม.ธรรมศาสตร์) จะเรียกการรับน้องใหม่ว่า "รับเพื่อนใหม่ ธรรมศาสตร์" ตามวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยค่ะแม้ว่าในช่วงปีแรก การรับน้องจะเต็มไปด้วยความกดดัน ความคับข้องใจ ฉงนสงสัยว่าทำไปเพื่ออะไร แต่ก็เทียบไม่ได้เลยค่ะ กับสังคมการทำงานเมื่อน้อง ๆ จบออกไป

รูปภาพ:http://www.jobmarket.co.th/images/content/content_6542pic1.jpg

6. เป็นลำดับแรก ๆ ที่เรียกเข้าสัมภาษณ์งาน

จริงค่ะที่การเรียกสัมภาษณ์ขึ้นอยู่กับความสามารถ และความน่าสนใจของเรา แต่นั่นหมายความว่าเราต้องมีประสบการณ์การทำงานแล้วนะคะ สำหรับนักศึกษาจบใหม่ ประสบการณ์เป็น 0 ค่ะ ไม่มีอะไรที่จะชี้วัดความสามารถได้เลยนอกจาก Transcript และ Transcript ที่จะถูกพิจารณาก่อนย่อมเป็นของมหาวิทยาลัยดัง ๆ เสมอค่ะ* ในกรณีนี้ไม่รวมตำแหน่งงานที่ต้องการพิจารณา portfolio นะคะ

รูปภาพ:http://cache.s3.sistacafe.com/images/uploads/content_image/image/1274/1429701822-Siam_0013.jpg

7. แฟชั่น

เคยสังเกตไหมคะ โดยเฉพาะสาว ๆ ในกรุงเทพฯ ว่าแฟชั่นการแต่งตัวของสาว ๆ แต่ละย่านไม่เหมือนกัน ร้านค้าในแต่ละย่านก็ขายเสื้อผ้าไม่เหมือนกัน แถวรามแต่งตัวกันอีกแบบหนึ่ง สยามอีกแบบหนึ่ง อโศกก็อีกแบบ แตกต่างกันไป นี่ยังไม่นับชานเมือง และต่างจังหวัดนะคะ  นอกจากนี้คณะที่เรียนก็ยังมีผลกระทบต่อความชอบด้านแฟชั่นของเราอีกด้วย หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ"เมื่อน้องเลือกเรียนที่ไหน การแต่งตัวของน้องจะกลายเป็นคนที่นั่นโดยปริยายค่ะ"

และต่อไปนี้ คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ "ไม่ได้ให้" ค่ะ

รูปภาพ:http://teen.mthai.com/wp-content/uploads/2014/07/01.jpg

1. การสอนแบบป้อนทุกอย่าง

สำหรับการเรียนในมหาวิทยาลัยมันต่างจากระดับมัธยมโดยสิ้นเชิง นอกจากนักศึกษาจะนั่งฟังบรรยายแล้ว ยังต้องค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยค่ะ ในบางวิชาเรียกได้ว่ามีการค้นคว้ามากกว่าการนั่งฟังบรรยายเสียอีก แน่นอนว่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยดัง ๆ เหล่านั้นสนุกที่จะค้นคว้าเองกันอยู่แล้ว ฟังดูอาจจะเหนือย แต่ในความเป็นจริงแล้วสังคมการทำงานน้อง ๆ จะต้องศึกษาด้วยตนเองมากกว่าในมหาวิทยาลัยเสียอีกค่ะ

รูปภาพ:http://www.spu.ac.th/law/files/2011/08/0091.jpg

2. อุปกรณ์การเรียนระดับเทพ

ค่ะ ถ้าเทียบกับมหาวิทยาลัยเอกชนแล้ว  มหาวิทยาลัยเอกชนดัง ๆ จะทุ่มงบให้กับเรื่องพวกนี้มากกว่าค่ะ เช่น การเชิญวิทยากรดัง ๆ มาบรรยาย  การจ้างอาจารย์เชี่ยวชาญพิเศษ หรือการซื้ออุปกรณ์ที่ทันสมัยมาใช้ในการเรียนการสอน   แต่นั่นต้องแลกมาด้วยค่าเทอมที่แพงกว่าด้วยนะคะ

รูปภาพ:https://jobitramintra.files.wordpress.com/2012/08/319374_269920873114541_976231076_n.jpg

3. เงินดี ๆ งานดี ๆ หลังจบ

หลายคนคิดว่า จบจากมหาวิทยาลัยรัฐบาลอันดับต้น ๆ แล้วจะได้เงินเดือนสูงกว่าที่อื่นเป็นความเข้าใจที่ผิดค่ะ เพราะเมื่อน้อง ๆ จบ น้องคือคนที่มีประสบการณ์เป็น 0 ค่ะ  มันยากค่ะที่จะมีที่ไหนรับคนที่มีประสบการณ์เป็น 0 จะผ่านโปรหรือไม่ก็ไม่รู้ เข้ามาทำงานแล้วให้เงินเดือนสูงกว่าเด็กจบใหม่คนอื่น ๆ  สิ่งที่จะทำให้น้องได้งานดี ๆ เงินสูง ๆ คือความสามารถของน้องเอง และประสบการณ์ต่อไปจากนี้มากกว่าค่ะ

รูปภาพ:http://www.goldengirlfinance.com/images/inspiration/159151165%20-%20sad%20employee,%20lg.jpg

4. ความกร้านโลก

มหาวิทยาลัยรัฐบาลอันดับต้น ๆ เป็นสังคมในฝันค่ะ ตั้งแต่อาจารย์ พนักงานในมหาวิทยาลัย แม้ค้า ตลอดจนไปถึงแม่บ้าน อัทยาศัยดี พูดจาไพเราะ#ชีวิตดีเพื่อน ๆ ก็มีแต่คนน่ารัก พวกนักเลง ป่าเถือนไม่มีมาให้ได้เห็นเลยค่ะ มีความสุขมาก ๆ ถึงมากที่สุดค่ะ ในขณะที่พี่พบเจอสิ่งเหล่านี้ในมหาวิทยาลัยที่ตนเองเรียน เพื่อนสาวต่างมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยดังกลับต้องเหวี่ยงวีนกับพนักงานมหาวิทยาลัยเป็นประจำ วิ่งหนีพวกนักเลง และจบลงด้วยการโทรมาระบาย

เมื่อจบออกไปทำงาน พี่ต้องเจอคนที่เหวียงวีนแบบไร้เหตุผล เพี้ยนบ้าง ตั้งแง่กับเด็กจบมหาวิทยาลัยดี ๆ บ้าง ขี้หลีบ้าง การหักหลัง การโกงต่าง ๆ โดยที่ตัวเองอยู่ในสังคมที่ดีมาตลอด ไม่มีภูมิคุ้มกันจิตใจอะไรเลย ในช่วงปีแรกของการทำงานจึงหนักหนาสาหัส#ร้องไห้หนักมาก #ตะเตือนไตแน่นอนสิ่งเหล่านี้ไม่มีในหลักสูตรการเรียนการสอนค่ะ ต้องออกไปเจอด้วยตัวเอง!

รูปภาพ:http://seenheardknown.com/wp-content/uploads/2013/04/The-Devil-Wears-Prada-Poster-parody2.jpg

5. สิทธิเหนือระดับ

สิ่งนี้ต้องจำเอาไว้ให้ดีที่สุดค่ะ ว่าเราไม่ได้พิเศษไปจากคนอื่น ไม่ควรดูถูกคนอื่น เรียกร้องความสบาย หรือคิดว่าตัวเองเหนือกว่า การที่เราเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดัง ไม่ได้แปลว่า เราเก่งกว่าคนอื่น หรือทำอะไรที่ถูกต้องเสมอนะคะ  เพราะเอาจริง ๆ แล้ว ชื่อมหาวิทยาลัยจะอยู่คอยช่วยเราจริง ๆ เพียง 1-2 ปีแรกที่จบเท่านั้นค่ะ หลังจากนั้นเป็นชื่อองค์กร  และประสบการณ์ที่สั่งสมจากการทำงานค่ะ

หวังว่านี่จะเป็นคำแนะนำดี ๆ สำหรับน้อง ๆ นะคะ ขอให้น้อง ๆ ได้เข้าเรียนในคณะ และมหาวิทยาลัยที่มุ่งหวังไว้ค่ะ  ด้วยความปรารถนาดีจากสาวสวยวัยทำงานประสบการณ์โชคโชนที่จบจากมหาวิทยาลัยเล็ก ๆ สีชมพูแถวสามย่านค่ะ