หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานประจำหรืองานอิสระ (Freelance) คุณเคยคิดเล่นๆ หรือไม่ หากวันหนึ่งคุณมีเหตุต้องออกจากงานกะทันหันอย่างไม่ทันตั้งตัว คุณจะมีเงินพอใช้จ่ายในชีวิตประจำวันตามปกติได้นานกี่เดือนจนกว่าจะหางานใหม่ได้? 3 เดือน 6 เดือน หรือมากกว่านั้น หรือบางคนอาจอยู่ได้ไม่ถึงเดือน หรืออาจแค่หลักวัน หากคุณเป็นคนใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน และหากคุณจำเป็นที่จะต้องมีเงินสดสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน คุณคิดว่าควรมีสักเท่าไรถึงเพียงพอ? และหากมี ควรเก็บเงินสำรองฉุกเฉินดังกล่าวไว้ที่แหล่งใด? เรามาหาคำตอบจากบทความนี้ไปพร้อมๆ กันค่ะ=======================

1. วินัยการออมคุณมีหรือยัง

รูปภาพ:

ก่อนอื่นคุณต้องมีวินัยกับตัวเอง ต้องตระหนักรู้ว่าเงินก้อนนี้ คือ เงินสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน มีไว้เพื่อใช้ในยามจำเป็น ต้องแยกคำว่า Need (จำเป็น) กับ Want (ต้องการ) เช่น อยากได้โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่โดยที่เครื่องเดิมยังใช้งานได้ปกติ ถือเป็น want ไม่ใช่ need เป็นต้น

2. เก็บเงินสำรองฉุกเฉินเท่าไรจึงเพียงพอ

รูปภาพ:

ตามทฤษฎีกล่าวไว้ ประมาณ 3 – 6 เท่า ของรายจ่ายที่จำเป็นในแต่ละเดือน เช่น คุณมีเงินเดือน 30,000 บาท มีค่าใช้จ่ายคงที่ 25,000 บาทต่อเดือน (ค่าอาหารรายเดือน, ค่าน้ำค่าไฟ, ค่าผ่อนบ้าน, ค่าผ่อนรถ ฯลฯ) เงินสำรองที่คุณควรมีเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน คือ 75,000 – 150,000 บาท (25,000 x 3 และ 25,000 x 6) แต่หากคุณประกอบอาชีพอิสระ (Freelance) ซึ่งมีรายได้ที่ไม่แน่นอน ควรมีสำรองไว้อย่างน้อย 12 เดือน นั่นคือ 300,000 บาท (25,000 x 12)

3. ควรเก็บเงินฉุกเฉินไว้ที่แหล่งใด

รูปภาพ:

เงินส่วนนี้ควรเก็บไว้ในบัญชีซึ่งสามารถนำออกมาใช้ได้สะดวกรวดเร็วในเวลาฉุกเฉิน เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ และควรเป็นบัญชีที่แยกออกมาจากบัญชีเงินเดือน เพราะ หากเป็นบัญชีเดียวกัน คุณอาจจะเพลินกับการจับจ่ายใช้สอยจนลืมไปว่าเงินส่วนนั้นเป็นส่วนที่กันไว้สำหรับยามฉุกเฉินจริงๆ ดังนั้น เพื่อป้องกันการนำเงินดังกล่าวไปใช้ คุณควรแยกบัญชี ทั้ง 2 ออกจากกัน

4. มีเงินสำรองฉุกเฉินมากๆ ดีหรือไม่

รูปภาพ:

คำตอบคือ หากมีมากเกินกว่า 3-6 เท่าของรายจ่ายที่จำเป็น หรือ 12 เท่าสำหรับผู้ที่มีอาชีพอิสระ อาจไม่ดีเสมอไป เพราะคุณกำลังพลาดโอกาสในการนำเงินส่วนเกินดังกล่าว ไปลงทุนในเกิดผลงอกเงย อย่างที่เราทราบกันดีว่า ผลตอบแทนจากการฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์นั้นค่อนข้างต่ำ ดังนั้น การที่เรามีเงินสำรองฉุกเฉินจมอยู่ในบัญชีออมทรัพย์ค่อนข้างมาก ย่อมไม่ใช่สิ่งดี คุณอาจนำเงินส่วนเกินดังกล่าวไปลงทุนเพื่อให้เกิดผลงอกเงย หรือนำไปพักไว้ในกองทุนรวมตลาดเงิน ซึ่งหากบัญชีเงินสำรองฉุกเฉินของคุณมียอดเงินลดลงต่ำกว่า 3-6 เท่าของรายจ่ายที่จำเป็น คุณค่อยย้ายเงินจากกองทุนรวมตลาดเงินมาเติมในบัญชีนี้ หรือคุณอาจนำเงินสดส่วนเกินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นได้

=======================ในชีวิตจริง เราอาจไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้เงินสำรองฉุกเฉินแค่เรื่องของการตกงาน แต่อาจรวมถึงสถานการณ์ฉุกเฉินที่เราไม่ได้ทราบล่วงหน้ามาก่อน ไม่สามารถควบคุมไม่ให้เกิดได้ เช่น โรคภัยไข้เจ็บ, ภัยธรรมชาติ, ภัยสงคราม เป็นต้น แต่ด้วยหลักง่ายๆ 4 ข้อด้านบน คุณก็ไม่ต้องกังวลกับคำถามที่ว่า ถ้าคุณตกงาน อยู่ได้กี่เดือน?? อีกต่อไป เพราะคุณได้เตรียมตัว วางแผน และพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นที่เรียบร้อยแล้วอ่านคอนเทนต์ทางด้านการเงิน การลงทุนดีๆ จากผู้เชี่ยวชาญได้ที่https://kkpadvicecenter.kiatnakin.co.th/th/home