สวัสดีค่าา สาวๆSistaCafeคนอยากผอมทั้งหลาย ( อิอิ )เขียนแพลน New Year's Resolution ว่าจะไดเอทตั้งแต่มกรา นี่จะสิ้นปีแล้วน้ำหนักยังไม่ขยับไปไหนเลยจ้าแม่! ก็ไม่ได้กินแหลก กินเยอะอะไรนะ ออกกำลังก็ออก แต่ทำไมไซส์เสื้อผ้าก็เท่าเดิม น้ำหนักก็ช้า ต้วมเตี้ยมเต่าคลานมาก ลงทีละขีดสองขีด แต่วันไหนกินเยอะหน่อยพุ่งมาทีโลสองโลชั่งน้ำหนักทีแทบร้องกรี๊ด สรุปเป้าหมายความผอมก็ไม่ไปไหนสักที หรือชาตินี้ฉันจะไม่มีวันผอมแล้วก็ไม่รู้ #ปิดหน้าร้องไห้กับหมอน แงงง 。・゚゚*(>д<)*゚゚・。ใจเย็นก่อนนะคะซิส! หากเธอเป็นคนหนึ่งที่ยังดิ้นรนกับการลดน้ำหนัก แต่ก็สงสัยว่าเอ๊ะ ทำไมยังไม่ผอม ยังไม่ลดลงอย่างที่ควรจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่เธออาจมองข้ามไปก็คือ เธอเผลอทำ ' 7 สาเหตุที่ทำให้ระบบเผาผลาญพัง / ทำงานช้าลง ' โดยไม่รู้ตัวนั่นเองค่ะ!ในบทความวันนี้ เราจะมาชี้ให้ดูชัดๆ กันไปเลยว่า ที่ตัวเลขน้ำหนักมันยังค้างเติ่งที่เดิมเนี่ย เธอเผลอทำร้ายเตาเผาในร่างกายไปหรือไม่ ไปดูกันได้เลย 3 2 1 Go!!(o_ _)ノ彡☆

1. ความเครียด/วิตกกังวล นี่ตัวดี! ยิ่งเครียด น้ำหนักยิ่งไม่ลง

รูปภาพ:https://www.img.in.th/images/85a8071c5acf0ba693d44e3ed291fbf5.jpg

ความเครียด หมกมุ่นในร่างกายของตัวเองมากเกินไป หรือความกังวลในปัญหาชีวิตส่วนตัว การเรียน การทำงาน ก็ส่งผลให้น้ำหนักลดช้า หรืออ้วนขึ้นได้!


เพราะความเครียดจะส่งผลให้ฮอร์โมน ' คอร์ติซอล ' หรือฮอร์โมนเครียดเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ระบบเผาผลาญในร่างกายผิดปกติได้ รวมถึงกระตุ้นให้สาวๆ กินจุกจิก กินของหวาน ของทอดมีไขมันเยอะเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น

บางคนก็แก้ปัญหา แก้เครียดด้วยการกินจนติดนิสัยไปแล้ว น้ำหนักเลยไม่ลดลงซะที

เมื่อความเครียดคือต้นเหตุ เราขอแนะนำหนทางแก้ไขด้วยการ


' ผ่อนคลายจิตใจ '

อย่าอยู่แต่ในห้องคนเดียวเงียบๆ ออกข้างนอกไปเดินเล่น สูดอากาศบริสุทธิ์เข้าปอดบ้าง ฟังเพลง เล่นเกม คุยกับเพื่อน กับคนที่ไว้ใจได้ ปัญหาไหนแก้ได้ก็แก้ ปัญหาไหนสุดวิสัยก็ปล่อยวาง ให้อาการตึงเครียดลดลง ฮอร์โมนคอร์ติซอลก็จะถูกปล่อยออกมาน้อยลง

ทำให้แผนลดน้ำหนักเป็นไปได้ง่ายขึ้นค่ะ

2. การอดนอน ทำให้ระบบเผาผลาญแปรปรวน (ในทางที่แย่ลง) ได้!

รูปภาพ:https://www.img.in.th/images/00b383f0943346665fec388e08d0da6a.jpg

ถ้ายังอยากให้ระบบเมตาบอลิซึ่มของสาวๆ ทำงานเป็นปกติ ขอร้องเลยนะคะ อย่าอดนอน! ยิ่งนอนน้อยเท่าไหร่ จะยิ่งส่งผลให้ระบบเผาผลาญในร่างกายมีปัญหากับการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ซึ่งจะกลายเป็นกระบวนการลูกโซ่ต่อกันไปเรื่อยๆ


เพราะเมื่อเราเผาแป้งไม่ได้ ระดับน้ำตาลในเลือดก็จะสูงขึ้น ทำให้ระดับอินซูลินพุ่งสูงกว่าเดิม และในขั้นตอนนั้นแหละ ที่ร่างกายจะกักเก็บสะสมไขมันรัวๆ อีกทั้งยังมีโอกาสกินจุบจิบ สมองสั่งให้กินของหวานๆ สุดท้ายอ้วนกว่าเดิม

ถ้าอยากหลุดจากวงจรนี้ ง่ายๆ แค่นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ครบ 8 ชั่วโมง พยายามเซ็ตเวลานอนให้ตรงกันทุกวัน นาฬิการ่างกายจะได้ทำงานเต็มที่ หัวถึงหมอนก็หลับอัตโนมัติ ไม่ต้องพลิกตัวไปมาเพราะนอนไม่หลับ

ตื่นให้เช้าไม่เว้นแม้แต่สุดสัปดาห์ เพื่อคงระดับการเผาผลาญให้คงที่ค่ะ

3. กินอาหารประเภท 'ไขมัน' มากเกินไป น้ำหนักก็ค้างเติ่งนะจ๊ะ!

รูปภาพ:https://www.img.in.th/images/ecdd64a469622693c9af503554b18289.jpg

แม้จะคุมแคลอรี่ตรงเป๊ะแค่ไหนก็ตาม ถ้าเธอกินแต่อาหารที่ ' ไขมันสูง ' เช่น ของทอด ของมัน ก็ไม่แปลกที่น้ำหนักจะไม่ลง


เพราะของทอดเหล่านี้จะไปชะลอการเผาผลาญของระบบเมตาบอลิซึ่ม ให้ร่างกายเก็บสะสมไขมันไปใช้ในวันข้างหน้า แม้กินน้อยจนน้ำหนักลด ก็จะมีไขมันส่วนเกินตามร่างกาย หุ่นก็ไม่เป๊ะอยู่ดี และถ้ายังไม่หยุดกิน น้ำหนักก็จะค่อยๆ เด้งขึ้นมาจนได้

แม้ยุคนี้จะมีการกินแบบคีโตที่เน้นกินไขมัน เขาก็จะมีวิธีกินของเขา ไม่ใช่กินของมันๆ มั่วซั่วค่ะ อย่าหาทำ!

เปลี่ยนจากกินไขมัน เป็นกิน ' โปรตีนไร้ไขมัน ' เพื่อกระตุ้นการเผาผลาญและสร้างกล้ามเนื้อ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต นม ชีส ที่ไขมันต่ำหรือไร้ไขมัน และกินอาหารที่มีไขมันดีแทน เช่น ถั่วที่ยังไม่ปรุงรส,ปลาชนิดต่างๆ เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า และอะโวคาโด เป็นต้น


รับรองผลว่ากินต่อเนื่องสักเดือนก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงแล้วล่ะค่ะ

4. 'กินยาบางชนิด' ก็ทำให้ระบบร่างกายผิดปกติ ทำให้อ้วนขึ้นได้

รูปภาพ:https://www.img.in.th/images/1ecbefc36784494b9efebb5f0ac08392.jpg

สำหรับผู้ป่วยบางคนที่กำลังรับยารักษาอาการต่างๆ อยู่ นี่อาจเป็นสาเหตุนึงที่ทำให้เธอน้ำหนักขึ้น มีห่วงยางหน้าท้อง หรือไดเอทเท่าไหร่น้ำหนักก็คงที่

เพราะยาบางตัวจะมีกระบวนการทางเคมี ส่งผลให้ระบบในร่างกายแปรปรวน ทำให้ระบบเผาผลาญชะลอการทำงานลงค่ะ ยาในที่นี้ก็เช่น ยาต้านซึมเศร้า, เบาหวาน, สเตียรอยด์ และการรักษาด้วยฮอร์โมน เป็นต้น

หากสาวๆ เริ่มสงสัยว่ายาที่กินทำให้อ้วนขึ้น ลองปรึกษาคุณหมอที่รักษาอยู่ให้ปรับยาใหม่ เปลี่ยนตัวยาเป็นชนิดอื่น หรือเปลี่ยนเวลาที่กิน ทั้งหมดล้วนส่งผลกับน้ำหนักได้หมดค่ะ


ทั้งนี้ถ้าอาการป่วยที่กำลังเป็นอยู่ ต้องกินยาที่ทำให้อ้วนขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้จริงๆ แนะนำให้กินไปก่อนนะคะ สุขภาพกายและจิตที่ดีควรมาก่อนรูปร่าง ถ้ารักษาหายแล้วค่อยมาไดเอทอีกรอบก็ยังไม่สายเนอะ

5. 'เป็นโรคบางอย่าง' ทำให้ระบบเผาผลาญต่ำลง อ้วนขึ้นแม้กินเท่าเดิม

รูปภาพ:https://www.img.in.th/images/2d5e3851fb7dafa197d875588ca8deb1.jpg

นอกจากตัวยารักษาอาการแล้ว โรคบางชนิดเองก็มีผลโดยตรงให้สาวๆ อ้วนขึ้นหรือไม่ผอมลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น

โรคไฮโปไทรอยด์ ที่เราต่างรู้กันดีว่ามีเอฟเฟกต์ในร่างกายให้กินน้อยเท่าไหร่ก็ยังอ้วน เพราะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ หลั่งฮอร์โมนออกมาไม่พอ มีคนบอกว่า ระดับไทรอยด์เปรียบเหมือน ' ปรอทวัดระดับ ' ของเมตาบอลิซึ่มเลยล่ะค่ะ ถ้าระดับสูงแปลว่าเผาผลาญดี ถ้าระดับต่ำแปลว่าเผาผลาญแย่

ถ้าใครสงสัยว่าตัวเองจะเป็นโรคนี้ ก็สามารถไปเช็คได้ โปรแกรมตรวจสุขภาพบางที่ ก็มีแพ็กเกจให้ตรวจไทรอยด์อยู่แล้ว เข้าไปสอบถามทางโรงพยาบาลได้เลย

แต่ก็มีหลายคนที่โทษว่าตัวเองเผาผลาญไม่ดี ต้องป่วยเป็นอะไรสักอย่างแน่ๆ ทั้งที่จริงๆ แค่กินเยอะเกินไปและไม่ออกกำลังกายเท่านั้น ดังนั้นถ้ารู้สึกก้ำกึ่ง ไม่ชัวร์ก็ไปตรวจเลือดจะดีกว่า

แต่ถ้าผลตรวจปกติดี ก็ยินดีด้วย เลิกโทษร่างกายตัวเองแล้วไปปรับการกินซะนะ!

6. 'กินน้อยเกินไป' คิดว่าผอมไว ที่จริงยิ่งทำให้อ้วน!

รูปภาพ:https://www.img.in.th/images/acee99a6b3e3542ad6aec219dca0c19c.jpg

ผู้หญิงทั่วไปนั้น เมื่อคิดถึงการ ' ลดความอ้วน ' สิ่งแรกที่จะทำคงหนีไม่พ้นการอดอาหารใช่มั้ยคะ ไม่อย่างนั้นสูตรไดเอท 3 วัน 7 วัน วันนึงกินแต่ไข่ต้ม โยเกิร์ต แอปเปิ้ลเขียวอย่างละชิ้น คงไม่โด่งดังมาจนถึงทุกวันนี้หรอก


ถ้าทำแค่ไม่กี่วัน น้ำหนักก็ลดฮวบลงจริงๆ นั่นแหละ แต่ที่ลดคือน้ำกับกล้ามเนื้อนะ ไม่ใช่ไขมัน! แถมถ้าทำต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือทำบ่อยเกินไป ระบบเผาผลาญพังแน่นอน

เมื่อเรารับพลังงาน ' น้อยกว่าที่ร่างกายต้องการมากๆ ' ร่างกายจะคิดว่าเรากำลังจะอดตาย ต้องรีบกักเก็บพลังงานไว้ให้ได้มากที่สุด คราวนี้กินอะไรก็ไม่เผาผลาญละ กลายเป็นไขมันตามหน้าท้องบ้าง แขนบ้าง ต้นขาบ้าง ไม่จบแค่นั้น ถ้าเธอยังไม่หยุด ร่างกายจะสลายกล้ามเนื้อมาเพิ่มเพื่อคงพลังงานให้เธอมีชีวิตต่อไป


ผลลัพธ์คือได้ร่างย้วยๆ ไขมันเพียบ พร้อมกลับไปอ้วนใหม่อย่างรวดเร็ว ดังนั้นกินให้พอที่ร่างกายต้องการดีกว่า แบ่งเป็นมื้อย่อยๆ 5 มื้อทั้งวัน ไม่ต้องหิวโซ แถมช่วยเร่งระบบเผาผลาญให้ดีขึ้นด้วยค่ะ

7. 'ไม่ค่อยออกกำลังกาย' ยิ่งทำให้ระบบเผาผลาญ ทำงานช้าลงเรื่อยๆ

รูปภาพ:https://www.img.in.th/images/e1c61a5920b4ac45c5a98050e446ec81.jpg

นอกจากการอดอาหารแล้ว การ

' ไม่ออกกำลังกายเลย '

ซึ่งผู้หญิงหลายคนมักเป็นกัน เพราะขี้เกียจ ชีวิตก็เหนื่อยจากการเรียน การทำงานอยู่แล้ว กลับบ้านมาก็หาขนมกิน

นั่งๆ นอนๆ ไม่ขยับเนื้อตัวเลย จะส่งผลให้มีไขมันสะสมในร่างกายมากขึ้น ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานช้าลงอย่างแน่นอน!

เหมือนเครื่องจักรที่ไม่ได้กดปุ่มใช้งานเลย วางทิ้งไว้เฉยๆ นานเข้าก็ฝุ่นเกาะ ประสิทธิภาพแย่ลง ฉันใดฉันนั้นเลยค่ะ

เมื่อเธอออกกำลังกาย หัวใจจะทำงานหนักมากขึ้น ด้วยการสูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกาย ทำให้เลือดส่งผ่านสารอาหารที่มีประโยชน์ไปให้กล้ามเนื้อ เมื่อกล้ามเนื้อได้สารอาหาร ก็เหมือนให้ปุ๋ยต้นไม้ เธอจะได้ร่างกายที่แข็งแรงขึ้น ระบบเมตาบอลิซึ่มทำงานดีขึ้นแบบพุ่งปรื๊ด


แนะนำให้เล่นเวทเทรนนิ่งหรือ HIIT เพื่อให้การเผาผลาญยังทำงานต่อเนื่องแม้เล่นจบแล้ว แต่ถ้าไม่ไหว แค่คาร์ดิโอง่ายๆ อย่างเดินเล่น ปั่นจักรยาน เต้น กระโดดเชือก ก็ช่วยกระตุ้นการเผาผลาญให้ยังทำงานเป็นปกติแล้วค่ะ ^^

-----------------------------

อ่านจบถึงตรงนี้แล้ว มีใครเข้าข่ายสิ่งที่เขียนไว้ในบทความบ้างเอ่ย? ทำกี่ข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ หรือทุกข้อเลย นั่นไง คำตอบที่ว่าทำไมสาวๆ ไม่ผอมสักที #เอามือทาบอก ทุกปัจจัยในนี้ส่งผลกับระบบเผาผลาญให้ทำงานช้าลง เพราะหลักๆ คือระบบในร่างกายไม่เป็นไปตามธรรมชาตินั่นเอง ทั้งการกินอาหารบางประเภทเยอะเกินไป ความเครียดทางจิตใจ หรือสถานการณ์ที่เลี่ยงลำบาก เป็นโรคหรือกินยาต่างๆ อยู่ ก็ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นเนอะแต่สาวๆ ก็พอแก้ไขให้เตาเผานี้ทำงานดีขึ้นได้ ด้วยการกินอาหารมีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ( หากป่วยก็ทำในขอบเขตที่ทำได้ก็พอ ) เราเชื่อว่าแม้น้ำหนักจะไม่ลดฮวบถึงเป้าหมาย อาจจะช้าหน่อย แต่สุขภาพของสาวๆ จะดีขึ้นอย่างยั่งยืนแน่นอน มาผอมไปด้วยกันนะคะ! (*°▽°*)