รูปภาพ:https://media.tenor.com/images/4959767a2105a7debd3999a50d6ad3fe/tenor.gif

Hallo! สวัสดีค่าา สาวๆSistaCafeที่พร้อมโบยบินไป' ศึกษาต่อ 'ทั้งหลายสถานการณ์บ้านเมืองช่วงนี้ที่ค่อนข้างคุกรุ่น เศรษฐกิจที่ย่ำแย่และความขัดแย้งในหลายๆ เรื่อง จึงเกิดกระแสเรียนหรือศึกษาต่อต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกลุ่มประเทศที่หลายๆ คนหมายตาไว้ก็คือ' ยุโรป 'ที่ขึ้นชื่อเรื่องความหรูหราไฮโซ ภูมิประเทศสวย แม้อากาศจะหนาว ( มาก ) สำหรับคนไทย แต่ก็คุ้มกับคุณภาพการศึกษาที่ดี สาธารณูปโภค การคมนาคมที่สมกับเป็นประเทศพัฒนาแล้ว //เหลือบมองประเทศตัวเองแล้วถอนหายใจยาว -__-หลังจากศึกษาหาข้อมูลมาสักพัก เชื่อว่าหลายคนก็ถูกใจในเสน่ห์ของ ' นอร์เวย์ ' และเลือกประเทศนี้เป็นจุดหมายในการเรียนต่อแต่จะไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในต่างประเทศทั้งที ยิ่งอยู่ห่างจากประเทศไทยหลายพันกิโลเมตร ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อจะได้ไม่ไปทำผิดกฎของเขา ปรับตัวกลมกลืนได้ไว กับบทความ' 7 สิ่งควรรู้ ก่อนวางแผนศึกษาต่อที่ประเทศนอร์เวย์ 'พร้อมแล้วก็ไปอ่านกันเลยค่า!

1. ระบบการศึกษา ' มหาวิทยาลัย ' ในนอร์เวย์

รูปภาพ:https://www.i-pic.info/i/yaBe35689.jpg

การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยของนอร์เวย์ จะประกอบไปด้วยมหาวิทยาลัยทั่วไป, มหาวิทยาลัยเฉพาะทาง, วิทยาลัยรัฐ, สถาบันศิลปะแห่งชาติ และวิทยาลัยเอกชน ที่มีโปรแกรม หลักสูตรต่างๆ ให้เลือกเรียนมากมาย


ซึ่งสาขายอดฮิตของเด็กต่างชาติที่มาเรียนก็จะเป็น สถาปัตยกรรมศาสตร์, บริหารธุรกิจ ( การจัดการ บัญชี ไฟแนนซ์ การจัดการทรัพยากรบุคคล ), วิศวกรรมศาสตร์, กฎหมาย, แพทยศาสตร์, ครุศาสตร์และวิทยาศาสตร์ค่ะ

ระดับปริญญาตรีจะใช้เวลาเรียน 3-4 ปี และระดับปริญญาโทใช้เวลา 1-2 ปี โดยการระบบการเรียนส่วนใหญ่จะค่อนข้างให้อิสระกับนักศึกษา ไม่ค่อยมีคลาสเรียนมากนักในหนึ่งสัปดาห์ แต่ก็มีชิ้นงาน การบ้านสำคัญชิ้นใหญ่ที่ต้องทำในบางสาขาวิชาเช่นกัน ในส่วนของภาษา มีหลักสูตรภาษาอังกฤษให้เรียนและต้องสอบ IELTS ให้ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด ( จะเรียนภาษานอร์เวย์เพิ่มด้วยก็ได้ )และที่ว้าวคือมหาวิทยาลัยที่นี่เปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทย ให้เข้าไปเรียนได้ฟรีๆ ในที่นี้คือฟรีค่าเทอม แต่อาจมีค่าบำรุงการศึกษาเล็กน้อยและต้องซื้อหนังสือเรียนเอง สุดท้ายคือการมาเรียนที่นี่ต้องขยัน เพราะหลายสาขาวิชา มีคะแนนการเข้าคลาสถึง 80% ไม่ถึงก็หมดสิทธิ์สอบ เป็นต้น

2. การจับจ่าย ซื้อของ ' ช้อปปิ้ง ' ในนอร์เวย์

รูปภาพ:https://www.i-pic.info/i/UMQL35687.jpg

เมื่อเราต้องไปใช้ชีวิตที่ประเทศใดประเทศหนึ่งนานๆ ก็จะมีเรื่องค่ากิน ค่าของใช้ส่วนตัวเข้ามา ซึ่งใครที่เรื่องกินเรื่องใหญ่หรือชอบส่องผลิตภัณฑ์แบรนด์ใหม่ๆ อาจจะรู้สึกเซ็งเล็กน้อย เพราะซูเปอร์มาร์เก็ตที่นี่มีผลิตภัณฑ์ค่อนข้างไม่หลากหลาย มีอยู่ไม่กี่ยี่ห้อ


โดยเฉพาะบิวตี้ไอเทม เครื่องสำอาง สกินแคร์ อาหาร และอาหารจำพวกวีแกน จะไม่ได้มีให้เลือกตื่นตาตื่นใจแบบที่ไทยนะคะ

ไอเทมบางอย่าง เช่น ลูกกลิ้งระงับกลิ่นกาย ที่นี่จะหาซื้อยากมาก หรือถ้ามีขายก็ต้องไปห้างใหญ่ที่ราคาแพงมาก! ถ้าจำเป็นต้องใช้ควรเตรียมมาจากไทย และซูเปอร์มาร์เก็ตที่นี่ สามารถนำขวดพลาสติกและขวดเบียร์เปล่าไปรีไซเคิล แลกคืนเป็นเงินได้


และที่อาจจะขัดใจสายรักษ์โลกคือ ที่นี่ยังใช้ถุงพลาสติกใส่ของเป็นปกติ ( แต่เก็บเงินค่าถุง ไม่ได้ให้ฟรี ) เพราะระบบรีไซเคิลพลาสติกของที่นี่มีประสิทธิภาพ คนใช้ถุงพลาสติกจึงสบายใจได้ว่าไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมค่ะ

3. ค่าครองชีพ การใช้จ่ายในนอร์เวย์

รูปภาพ:https://www.i-pic.info/i/l6Zn35688.jpg

ก็ต้องยอมรับตรงๆ ว่า นอร์เวย์เป็นประเทศที่ค่าครองชีพสูง ทุกอย่างค่อนข้างมีราคาแพง ยิ่งเรามาจากประเทศที่ค่าแรงต่ำด้วยแล้ว ถ้าไม่มีต้นทุนมาพอสมควรก็อาจจะใช้ชีวิตลำบากหรือต้องไปเรียนที่ประเทศอื่นแทน ถ้าอยู่เมืองใหญ่ อาจต้องเสียถึง 38,000-69,000 บาทต่อเดือน!


โดยประเทศนี้จะใช้สกุลเงินเป็น ' โครน ' ไม่ใช่ยูโร ( 1 โครน ประมาณ 3.8 บาท ) ค่าเงินของที่นี่ผันผวนอยู่เสมอ เวลาให้ที่บ้านโอนเงินมาจากไทย ควรเช็กอัตราแลกเปลี่ยนอยู่บ่อยๆ ไม่อย่างนั้นหากถอนเงินตอนเรทไม่ดี อาจขาดทุนระยับได้ค่ะ

นอร์เวย์เป็นประเทศที่แทบจะไม่ใช่เงินสดแล้ว ถ้ามาเรียนต่อ อยู่ที่นี่ยาวๆ ควรใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตจะสะดวกกว่า สาวๆ สามารถติดต่อทางธนาคารเพื่อยกเว้นค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมในการทำธุรกรรมทางการเงิน บางธนาคารจะยกเว้นให้ในนักศึกษาที่อายุต่ำกว่า 25 ปี,ในกรณีที่เรียนจบแล้ว หรือระหว่างทางอยากส่งของกลับไทย ค่าส่งระหว่างประเทศจะค่อนข้างแพงมาก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่หากไม่ใช่ของสำคัญจริงๆ นักศึกษาที่นี่ก็จะทิ้งไว้เลย ไม่ได้เอากลับประเทศค่ะ

4. สายแดนซ์ ชอบปาร์ตี้ ต้องอ่านกฎ ' การเข้าคลับ ' ในนอร์เวย์

รูปภาพ:https://www.i-pic.info/i/scPA35685.jpg

ใครสายแดนซ์ ชอบดื่มชอบปาร์ตี้ต้องอ่านข้อนี้ จะได้ไม่ทำผิดกฎ! สาวๆ ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ( หรือบางที่กำหนดสูงถึง 23 ปี ) จะไม่สามารถเข้าผับ ไนท์คลับหรือบาร์ในนอร์เวย์ได้! กฎที่นี่เข้มงวดมาก


จะมาอ้อนวอนคนเฝ้าประตู อ้างว่าลืมเอามา หรือขโมยบัตรประชาชนคนอื่นมาใช้เหมือนอยู่ไทยไม่ได้นะจ๊ะ ถ้าไม่มีพาสปอร์ตตัวจริงให้เขาดูปีเกิด ยังไงเขาก็ไม่ให้เข้าเด้อ

หากอายุเกินแล้ว หลังเลิกเรียนอยากไปหาความบันเทิง รีแล็กซ์ให้ชีวิต อย่าลืมว่าบาร์กับผับที่นี่จะเปิดดึกสุดแค่ตี 3 ไม่ได้เปิดยันเช้าเหมือนไทยหรือเกาหลี ( ที่จริงประมาณตี 2 ครึ่งที่นี่ก็เริ่มปิดเพลงแล้ว ) ดังนั้นคนนอร์เวย์เวลาจะจัดปาร์ตี้ เขาจะจัดในช่วงเย็นๆ ค่ำๆ มากกว่าเพราะผับปิดเร็ว

หรือถ้าไม่ไปผับ จะปาร์ตี้ชิคๆ ที่ห้องพักทั้งคืนแทน ก็อาจจะเจอปัญหารบกวนเพื่อนบ้าน และตำรวจอาจจะมาเคาะถึงหน้าประตูห้องพักได้ ดังนั้นอย่าหาเรื่องเดือดร้อนให้ตัวเองจะดีกว่า!

5. สภาพอากาศ ในนอร์เวย์

รูปภาพ:https://www.i-pic.info/i/jMxF35686.jpg

นอร์เวย์อยู่ในแถบสแกนดิเนเวีย ซึ่งอยู่ใกล้กับขั้วโลกเหนือ สภาพอากาศส่วนใหญ่จึงอยู่ในสเกล ' หนาว- หนาวมาก ' ในหน้าหนาว อุณหภูมิจะติดลบเป็นเรื่องปกติ หิมะปกคลุมทั้งประเทศ และจะเริ่มหนาวน้อยลงในช่วงหน้าร้อน


หากมาจากเมืองไทยที่อากาศแทบจะร้อนทั้งปี เธอจะเจอกับปรากฎการณ์ ' weather shock ' หนาวสั่นจนอาจถึงขั้นป่วยได้เลย ดังนั้นควรเตรียมยาแก้หวัด แก้ไข้ลดน้ำมูกที่จำเป็นไปด้วยจะดีมากค่ะ

หากเธอไปเรียนในเมืองใหญ่ เช่น ออสโล อากาศจะไม่ค่อยหนาวมากเพราะอยู่แถบชายฝั่งที่อากาศหนาวพัดผ่านมาไม่ถึง จึงเหมาะกับการทำกิจกรรมเอาท์ดอร์ ในหน้าหนาวจะมีหิมะตกในเมือง สามารถไปเล่นสกีและกีฬาหน้าหนาวต่างๆ ได้ถ้าไปอยู่เมืองชายฝั่งทางใต้อย่าง Bergen ก็จะเจอกับฝนตกชุกตลอดเวลา ต้องพกร่มเป็นไอเทมประจำตัว และถ้าไปอยู่เมืองทางเหนือ เช่น Tromso ก็จะหนาวมากๆ อุณหภูมิเลขตัวเดียวตลอดทั้งปี เป็นต้น

6. ที่อยู่อาศัย การแชร์ห้อง มีรูมเมท ในนอร์เวย์

รูปภาพ:https://www.i-pic.info/i/fbsl35684.jpg

แม้ค่าครองชีพในนอร์เวย์จะค่อนข้างสูงถึงสูงมาก แต่ถ้ามาในฐานะนักศึกษา การหาห้องพักก็ไม่ได้ใช้เงินเยอะขนาดนั้น เพราะทางมหาวิทยาลัยจะมีห้องพักหรือ student housing ในราคาที่พอรับได้ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4000 โครนต่อเดือน ( ประมาณ 16,000 บาท )

ซึ่งมีหลายแห่งให้เลือก เช่น Sammen หรือ Fantoft โดยแต่ละที่ก็จะมีสไตล์ที่พักของตัวเอง เช่น Fantoft จะเน้นให้เด็กเข้าสังคม ปาร์ตี้กัน แต่ถ้าเธอไม่ชอบสังคมแบบนั้นก็ต้องหาบริการ housing ของเจ้าอื่น เป็นต้น

การอยู่ห้องพักนักศึกษาในนอร์เวย์ ส่วนใหญ่ก็ต้องแชร์ห้องกับรูมเมท ซึ่งจะเลือกแบบไหนก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถ้าเจอรูมเมทดี เข้ากันได้ก็กำไร ได้เพื่อนคอยช่วยเหลือและประหยัดค่าห้องพักแต่ถ้าซวยเจอรูมเมทไม่เกรงใจ ชอบรบกวนความสงบ ก็อาจจะเป็นนรกบนดินได้เหมือนกัน ต้องคัดเลือกให้ดี //อันนี้จะอยู่หอที่นอร์เวย์หรือไทยก็คงเจอปัญหาคล้ายๆ กันเนอะ

7. สถานที่น่าเที่ยว ทัศนียภาพสวยๆ ฟินๆ ในนอร์เวย์

รูปภาพ:https://www.i-pic.info/i/J7vy35683.jpg

มาเรียนต่อที่นอร์เวย์ ไม่ต้องกลัวเบื่อกับสถานที่เดิมๆ ซ้ำซากจำเจ เพราะที่นี่มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงามมากๆ สมกับฉายาที่มีคนกล่าวไว้ว่า เป็นอัญมณีที่งดงามแห่งสแกนดิเนเวีย แม้จะเป็นภูมิประเทศส่วนที่เดินทางยาก พื้นผิวขรุขระก็ยังส่องแสงเปล่งประกาย ถ่ายรูปสวย มีสถานที่ธรรมชาติที่สวยแบบไม่ต้องปรุงแต่ง


ไม่ว่าจะเป็นป่าลึก, ทุ่งหิมะทุนดรา ( arctic tundra ), ยอดภูเขา, บ้านที่ล้อมรอบด้วยทุ่งหญ้าหลากสีสัน และอ่าวฟยอร์ด ( fjords ) ที่สวยประทับใจจนเห็นแล้วต้องตกตะลึง! เป็นต้น เพราะนอร์เวย์มีภูมิประเทศที่สัมพันธ์กับทะเล ทั้งเกาะ ธารน้ำแข็ง ภูเขา ชายฝั่งทะเล จึงสวยไม่เป็นสองรองใครในยุโรปเลยค่ะ

ในส่วนของสถานที่ท่องเที่ยว ก็มีหลายแห่งที่โด่งดังระดับโลก ช่วงหลังเลิกเรียนหรือวันหยุดสุดสัปดาห์ ก็สามารถไปเดินชมงานศิลป์ชิคๆ ที่อุทยานฟรอกเนอร์ ที่มีทั้งงานประติมากรรมและแกะสลักกว่า 200 ชิ้น, เดินช้อปปิ้งที่ถนนคนเดิน คาร์ล โจฮันเกท, ซึมซับประวัติศาสตร์ที่พระราชวัง Konggelige Slott และปราสาท ปราสาท Akurshus, ชมละครที่โรงละครแห่งชาติ


หรือถ้าอยากชมทั้งการแสดงและประติมากรรมล้ำๆ ต้องไปโอเปร่าเฮาส์แห่งชาติ ที่ตึกสร้างแบบโมเดิร์นเรขาคณิตกระจกสีขาวเหมือนภูเขาน้ำแข็งยักษ์ แค่ถ่ายรูปลงโซเชียลก็เก๋แล้ว ยังไม่นับผลงานการแสดงโอเปร่าระดับโลกอีก เป็นความทรงจำที่ประทับใจไม่รู้ลืมแน่นอน

รูปภาพ:https://i.pinimg.com/originals/35/48/b4/3548b41097f4f86e44bc460dde2b5d48.gif

--------------------------------------------

รู้เขารู้เรา ไปเรียนต่อที่ไหนก็ราบรื่น! แม้ระดับความรู้ความสามารถของสาวๆ จะสูง คะแนนภาษาดี มั่นใจว่าจะเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้รอด แต่การใช้ชีวิตในต่างประเทศไม่ได้มีแค่เรื่องเกรด แต่ต้องปรับตัวในการใช้ชีวิต รับผิดชอบและดูแลตัวเองให้ได้ แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า บริหารจัดการเงิน แก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นมากมายโดยไม่มีคนในไทยมาคอยช่วยอีกต่อไป ดังนั้นการทำการบ้านไปก่อนว่าอะไรจะเกิดขึ้นที่นั่นบ้าง ก็จะทำให้เธอเข้าใจและใช้ชีวิตในนอร์เวย์ได้อย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้นค่ะ

สุดท้ายนี้ เราเชื่อในสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของเด็กไทยทุกคน หากพาตัวเองไปถึงฝันได้แล้ว ความอดทน พยายามและมีวินัยเพื่อคว้าปริญญามาครองก็ไม่ใช่เรื่องยาก สู้ๆ นะคะ เราเป็นกำลังใจให้สาวซิสทุกคนเลย พบกันใหม่ในบทความหน้า บ๊ายบาย Farvel!