รูปภาพ:

มีไม่เยอะนัก ที่ธุรกิจต่างๆ จะสามารถเข้าใจและเข้าถึงความต้องการแบบแท้จริงของผู้บริโภคได้ ด้วยเหตุผลที่ดูเหมือนง่ายแต่ไม่เลยคือ ธุรกิจนั้นๆ ยังไม่รู้จักตัวตนของลูกค้าของเขาในเชิงลึก และไม่คิดจะลงทุนเพื่อวิเคราะห์และวิจัยพฤติกรรมของลูกค้าอย่างจริงจัง ทำให้ธุรกิจไม่สามารถเติบโตและครองตลาดได้อย่างยั่งยืน

ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักผู้บริโภค ทั้ง 4 generations ที่มีพฤติกรรมและความคิดที่แตกต่างกันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องการเงินที่คนทั้ง 4 กลุ่มมีวิธีจัดสรร การใช้เงินที่แตกต่างตามประสบการณ์ ช่วงวัย และ รวมไปถึงเป้าหมายการวางแผนทางการเงิน โดยล้วนแล้วจะนำมาซึ่งการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการทั้งสิ้น

Baby boomer

กลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2489-2507 หรือ อายุ 50 ปีขึ้นไป คนกลุ่มนี้เติบโตมาพร้อมกับการแข่งขัน ทำงานหนัก มีความอดทนสูง มีความประหยัด และที่สำคัญมีความรอบคอบในการดำเนินชีวิตอย่างมาก เนื่องจากเป็นยุคที่โลกกำลังพัฒนาเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม เพราะเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง มุมมองในเรื่องการเงินของคนกลุ่มนี้จึงค่อนข้าง play safe ไม่มุ่งหาความเสี่ยงที่มากเกินจะรับไหว เป็นช่วงที่เข้าสู่วัยผู้สูงอายุ และจะคิดถึงทายาทรุ่นหลังในการสืบทอดมรดกของตัวเอง ดังนั้นการเก็บออมถือเป็นสิ่งที่คนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญ เช่น การวางแผนภาษี หรือ การเก็บเงินในกองทุนที่มีความผันผวนต่ำ ความเสี่ยงต่ำ แต่มูลค่าเงินต้นต้องยังคงสภาพอยู่

Generation X

กลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี พ.ศ.2508-2522 หรือ อายุ 40 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มคนที่เกิดมาในยุคที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนาอย่างมาก และเป็นช่วงที่อยู่ในวัยที่กำลังสร้างครอบครัว ทำให้มีลักษณะที่เชื่อมั่นและเป็นตัวของตัวเองสูง ที่สำคัญมีความคิดสร้างสรรค์และใช้เงินเก่ง ซึ่งมีโอกาสที่จะสร้างหนี้และใช้เงินเกินตัวถึงแม้ว่าจะมีศักยภาพหารายได้ได้มากก็ตาม โดยมุมมองในเรื่องการเงินของคนกลุ่มนี้จะกล้าแบกรับความเสี่ยงได้พอสมควร ทำให้การวางแผนทางการเงินของคนกลุ่มนี้ควรต้องจัดสรรเงินออมให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตโดยต้องบังคับตัวเองว่าห้ามนำเงินส่วนการออมมาจับจ่ายใช้สอย เพื่อชีวิตหลังเกษียณ มองความสะดวกสบายเป็นโจทย์ในการใช้ชีวิต จึงยอมแลกกับเม็ดเงินจำนวนมากเพื่อซื้อความสบายให้ตัวเองและครอบครัว

Generation Y

กลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2523-2540 หรือ อายุ 22-40 ปี เป็นกลุ่มคนที่เกิดมาในยุคดิจิทัล และได้รับอิทธิพลจากเทคโนโลยีไปเต็มๆ รวมถึงเป็นยุคที่สื่อ social media มีบทบาทที่สำคัญอย่างมาก ทำให้คน Gen Y ไม่ยึดติดกับค่านิยมเดิมๆ เน้นเติมความสุขให้ตัวเองแบบไม่รีรอ ด้วยการใช้จ่ายไปกับ อาหาร เครื่องดื่มราคาสูง และ การท่องเที่ยวในที่ที่อยากไปทั้งในและต่างประเทศ และชอบสินค้าฟุ้มเฟือย เช่น ของแบรนด์เนม รถสปอร์ต ที่เชื่อว่าสิ่งของเหล่านี้สะท้อนความมั่งคั่งให้กับตัวเอง ถึงแม้จะสวนทางกับรายรับที่หาได้ ถือเป็นไลฟ์สไตล์ที่เป็นคนรุ่นใหม่อย่างเต็มตัว

พื้นฐานนิสัยชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มุมมองในเรื่องการเงินของคนกลุ่มนี้จึงกล้าได้กล้าเสีย และพร้อมแบกรับความเสี่ยงที่สูงหากต้องลงทุนในสินทรัพย์ หุ้น หรือ กองทุนรวมต่างๆ เพราะมีเป้าหมายต่อผลตอบแทนที่ต้องสูงและต้องงอกเงย ที่สำคัญเป็นช่วงอายุที่เริ่มเข้าสู่วัยทำงาน และพิสูจน์ความสามารถ รายได้สามารถรับได้มากกว่าหนึ่งทางเพราะชอบความท้าทาย แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ถนัดกับการเก็บออม ชอบใช้จ่ายไปเพื่อสนองความสุข ความต้องการของตัวเองซะมากกว่า

Generation Z

กลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2540 ขึ้นไป หรือ อายุต่ำกว่า 22 ปี เป็นช่วงวัยที่เพิ่งผ่านพ้นวัยเด็ก แต่มีความต้องการที่แน่ชัดกับชีวิตตัวเอง มีแผนการและเป้าในการดำเนินชีวิตอย่างชัดเจน ที่สำคัญกลับกลายมาเป็นกลุ่มคนที่หลายๆ ธุรกิจจับจ้องเพื่อดึงมาเป็นฐานลูกค้าชั้นดี อันเนื่องมาจาก Gen Z เติบโตมาในโลกที่ความผันผวนทางการเงินและเศรษฐกิจของโลกเป็นเรื่องปกติ ทำให้การปรับตัวต่อสถานการณ์ต่างๆ เป็นเรื่องง่ายและไม่ใช่ปัญหา ซึ่งนับเป็นสิ่งที่หลายๆ ธุรกิจต้องการหยิบยื่นผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนกลุ่มนี้

ดังนั้น หากทำความเข้าใจกับมุมมองด้านการเงินของคนรุ่นนี้ จะพบว่า กลุ่ม Gen Z มองว่าการลงทุนไปกับการเดินทางท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่คุ้มค่าเสมอ และเมื่อจัดลำดับสิ่งที่คนรุ่นนี้จะนำเงินไปใช้จ่าย ผลปรากฏว่า มุมมองการออมเงินเป็นเรื่องใหญ่ และยังพอมีเวลาให้เก็บออมอีกกว่าครึ่งชีวิต จึงให้ความสำคัญน้อยกว่าการเดินทางท่องเที่ยว แต่ที่น่าสนใจคือ การใช้เงินซื้อของต่างๆ กลับไม่ใช่สิ่งที่คนกลุ่มนี้ถวิลหามากนักเมื่อเทียบกับ Gen Y

แน่นอนว่าแต่ละ generation มีไลฟ์สไตล์ เป้าหมายของชีวิตและการเงิน ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยมีเส้นแบ่งตามช่วงอายุ และ ยุคที่แต่ละกลุ่มต้องเกิดมาตามสถานการณ์ของโลกที่แตกต่างกันไป สิ่งเหล่านี้ถือเป็นข้อมูลที่สะท้อนพฤติกรรม ความคิด และ ความคาดหวังจากผู้บริโภคที่เป็นประโยชน์ต่อเจ้าของธุรกิจในการพัฒนา หรือ นำเสนอ ผลิตภัณฑ์และบริการอย่างไรให้สามารถเข้าถึงความต้องการ หรือ ตอบสนองสิ่งที่เหนือความคาดหมาย ( beyond expectation ) ของผู้บริโภคได้อย่างแยบยลและยั่งยืน เพราะคือการรู้จักตัวตนของลูกค้าอย่างแท้จริงนั่นเอง

อ่านคอนเทนต์ทางด้านการเงิน การลงทุนดีๆ จากผู้เชี่ยวชาญได้ที่ KKP Advice Center คลิกhttps://kkpadvicecenter.kiatnakin.co.th/th/home