
Young เป็นเด็ก EP.1 | 'หล่นหาย' หรือแค่ 'หลบซ่อน' ตามหาความเป็นเด็กในวันที่โตเป็นผู้ใหญ่
"ถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะตั้งใจนอนกลางวัน"...หากรู้ว่าชีวิตในวัยผู้ใหญ่จะน่าเบื่อกว่าที่คิด ถึงเวลาที่เราจะออกตามหา ‘ความเป็นเด็ก’ ที่ใครหลายคนคิดว่าทำหล่นหายไป แต่แท้จริงอาจแค่หลบซ่อนอยู่ที่ไหนซักแห่งเพื่อรอให้เราไปเจอ เพราะทุกคนยังเป็นได้แม้ในวันที่โตแล้ว
กาลครั้งหนึ่ง... เมื่อการเป็นผู้ใหญ่มันน่าเบื่อ ถึงเวลาแล้วที่เราจะแบ่งเวลาสักนิดเพื่อใช้ชีวิตให้
☁ ☁ ☁ ☁ ☁
[ ระหว่างที่อ่านบทความนี้เราอยากให้เธอคิดไปพร้อม ๆ กัน เอาละ เริ่มตั้งแต่ตอนนี้เลย! ]
ตั้งแต่เด็กจนถึงตอนนี้ …
เธอคิดว่าตัวเองทำอะไรหายไประหว่างทางบ้าง?
ไม่ว่าจะเป็นแค่ยางลบสักก้อนที่กลิ้งตกพื้น ปากกาแดงสักแท่งที่ให้เพื่อนยืมไปขีดเส้นใต้ หรือใครสักคนที่เข้ามาในชีวิตเพื่อพบกันและสุดท้ายก็จากไป เราเชื่อว่าอย่างน้อยทุกคนก็คงเคยทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งหายไปบ้างแหละ และสิ่งที่ถือเป็นหนึ่งในของหายยอดฮิตที่หลายคนอาจรู้สึกว่ามันหายไปคือสิ่งที่เรียกว่า ‘ ความเป็นเด็ก ’
เพราะในวันที่เราโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ความสนุกสนานถูกแทนที่ด้วยความรับผิดชอบ ความใสซื่อถูกแทนที่ด้วยความรู้เท่าทัน และความใฝ่ฝันถูกแทนที่ด้วยความเป็นจริง มองไปทางไหนก็ดูเหมือนว่าสีสันที่เคยแต่งแต้มไว้ในวัยเยาว์จะค่อยๆ จางหายไปตามเลขอายุที่มากขึ้น จึงไม่แปลกเลยหากเธอจะเกิดความรู้สึกขึ้นว่า “ฉันในวัย 7 ขวบ เด็กคนนั้นคงหายไปแล้วละมั้ง“ / "ตอนเป็นเด็กเคยมีความสุขกว่านี้" / "ถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะตั้งใจนอนกลางวัน" ฉะนั้นในบทความนี้ เราเลยอยากพาทุกคนค้นหาความเป็นเด็กที่หล่นหายไปด้วยกัน
เอ๊ะ...หรือจริงๆ แล้วพวกเราไม่ได้ทำหาย แต่แค่หาไม่เจอกันแน่นะ

ก่อนอื่นเรามาดูกันดีกว่าว่า คำว่า 'เด็ก' ของเธอกับเรามีความหมายหรือคำนิยามเหมือนกันรึเปล่า? ใครล่ะเป็นคนกำหนดว่าอายุเท่าไหร่ถึงจะหมดช่วงเวลาแห่งการเป็นวัยเยาว์?
✎ ถ้าเราอิงคำนิยามตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ ๒๕๔๖ มาตราที่ ๔ กำหนดว่า "“ เด็ก” หมายความว่าบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส"
✎ อิงจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตราที่ 19 กำหนดว่า "เมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์ บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะ"
✎ อิงความหมายจากสำนักงานราชบัณฑิตยสภา “เด็ก” หมายถึง “คนที่มีอายุยังน้อย, ยังเล็ก, อ่อนวัยกว่า ในคำว่า เด็กกว่า”
✎ หรือหากอิงตามการแบ่งกลุ่มประชากรตามข้อมูลจากสำนักงานราชบัณฑิตยสภาจะได้ว่า "กลุ่มประชากรวัยเยาว์ หรือประชากรเด็ก (young-age population) คือ ประชากรตั้งแต่อายุ ๐ ปี จนถึง ๑๔ ปี หรือประชากรที่มีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ทั้งหมด"
จากทั้งสี่การอ้างอิง ถึงแม้จะมีขอบเขตการสิ้นสุดวัยเด็กที่ต่างกัน แต่เมื่อเราเอาข้อมูลมารวมกันก็สามารถประมาณตัวเลขได้ในลักษณะช่วงอายุพร้อมสรุปได้ว่า ‘เด็ก’ คือบุคคลที่ยังมีอายุน้อยและยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยมีอายุน้อยสุดเป็นไปได้อยู่ที่ 0 ปีและเป็นไปได้มากสุดถึง 19 ปี หากจะใช้อายุเป็นเกณฑ์ในการหาคำตอบสำหรับคำถามของเรา ถ้าอย่างนั้นก็แปลว่า ความเป็นเด็กสามารถวัดกันได้ง่ายๆ แค่ดูจากอายุของผู้คน ใครที่อายุมากกว่า 19 จะไม่สามารถมีความเป็นเด็กได้อีกต่อไปแล้ว….จริงหรือ?
หากมองในแง่ของคำนิยามตามหลักการต่างๆ ที่กำหนดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ใดๆ ก็คงจะใช่ แต่เราว่านั่นคงไม่ใช่ความเป็นเด็กที่กำลังพูดถึงกันอยู่ตอนนี้ อายุไม่ใช่ค่าชี้วัดความเป็นเด็กในตัวใคร ความเป็นเด็กไม่ได้หายไปเพราะเราอายุมากขึ้น แต่ความรู้สึกและวิธีคิดต่างหากที่สามารถบอกได้ว่าเธอยังเป็นเด็ก

สำหรับเรา ความเป็นเด็ก หมายถึง การคิด การกระทำ และการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน รวมถึงไม่คำนึงถึงข้อจำกัดต่างๆ เพียงแค่ซื่อตรงต่อตัวเอง
① การเปลี่ยนแปลง ≠ สูญเสียตัวตน
เมื่อเราโตขึ้น หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปไม่เหมือนอย่างตอนที่เป็นเด็ก ไม่ว่าจะเป็นความชอบในแง่งานอดิเรกที่เคยชอบทำ สิ่งของที่เคยโปรดปราน ความคิดที่เคยยึดถือ หรือแม้แต่การแสดงออกของตัวเราเอง ทั้งหมดเป็นเพราะเมื่อเราโตขึ้น เราก็ได้รับรู้ข้อมูลที่มากขึ้น เราได้พบเจอกับสถานการณ์ที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งไม่เป็นไรเลย ไม่เป็นไรถ้าเราจะไม่เหมือนเดิม ไม่เป็นไรถ้าเราจะมีการเปลี่ยนแปลง เราไม่ได้สูญเสียตัวตนให้ใคร แต่ประสบการณ์ตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบันหล่อหลอมให้เราเป็นเราในทุกวันนี้ อย่าผูกความเป็นเด็กไว้ที่รสนิยม แค่ซื่อตรงต่อความรู้สึกตัวเอง...เธอก็มีความเป็นเด็กแล้ว
② จริงจังกับชีวิต ≠ หมดเวลาสนุกแล้วสิ
หากนึกย้อนไปตอนช่วงกำลังเรียนชั้นอนุบาลกิจวัตรประจำวันของพวกเราก็ไม่ได้มีอะไรมากนัก นอกจากเรียนการเขียนการอ่านนิดหน่อย แล้วก็ดูการ์ตูน เล่นกับเพื่อน นอนกลางวัน เยอะหน่อยก็เปลี่ยนชุดเพราะฉี่รดที่นอน #แหะๆ พอเริ่มโตเข้าสู่วัยเรียน เราก็เริ่มจริงจังกับการศึกษามากขึ้น มองหาเส้นทางเดินต่อของตัวเอง จนเมื่อเข้าสู่วัยทำงานเราก็จริงจังกับชีวิตมากขึ้น เรามีเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญมากมาย ทั้งการดูแลคนในครอบครัวในแง่ความสุข การเงิน และความปลอดภัย การเจริญเติบโตในหน้าที่การงานของตัวเอง หรือสำหรับบางคนก็มีเรื่องการสร้างครอบครัวเพิ่มเข้ามาอีกด้วย
แต่ทั้งหมดนั้นไม่ได้แปลว่าเราหรือเธอจะสนุกไม่ได้นี่นา เราสามารถปรับความเป็นเด็กเข้ากับชีวิตวัยทำงานได้ อย่างเช่น แก้ปัญหาชีวิตด้วยมุมมองแบบเด็กๆ เธออาจค้นพบว่าแท้จริงแล้ว ปัญหายากๆ ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีธรรมดาซะอย่างนั้น หรือถ้าเธอลองคิดงานด้วยจินตนาการแบบเด็กๆ ไม่แน่เธออาจได้ไอเดียที่ทำให้ลูกค้าต้องว้าวก็ได้นะ
③ ทำตามฝันไม่ได้ หรือ ยังหาความฝันไม่เจอ ≠ คนที่ผิดพลาด
โตขึ้นมาอยากเป็นอะไรลูก? คำถามสุดฮิตที่เด็กทุกคนต้องเจอ ไม่เจอจากป้าข้างบ้าน ก็เจอจากชีตการบ้านของคุณครูแน่นอน ต่างคนก็ต่างคำตอบกันไปแต่จะมีสักกี่คนเชียวที่โตขึ้นแล้วทำได้อย่างที่เคยตอบ ตอนเป็นเด็กเราเขียนอะไรตอบไปก็ได้ให้มีส่งคุณครูตอนเช้า แต่ไม่ใช่กับตอนโต ปัจจัยในการประสบความสำเร็จมีมากเกินกว่าแค่แพชชั่นบวกกับความสามารถ เราทำให้ทุกอย่างเป็นไปดั่งใจไม่ได้ #พวกเราล้วนผิดหวัง ขนาดซินเดอเรลลามีนางฟ้าแม่ทูนหัวยังต้องลำบากเลย วิ่งหน้าตาตื่นจนรองเท้าหลุดตอนเที่ยงคืนอะ คิดดู! #bibbidi-bobbidi-boo พวกเราไม่ผิดที่จะมีฝันแม้ยังทำไม่ได้ และเราก็ไม่ผิดที่ยังหาความฝันไม่เจอด้วยเช่นกัน แค่อยากมีความฝันก็เก่งมากแล้วไม่ใช่เหรอ? ขอแค่เธอกล้าที่จะฝันต่อไป เราว่าก็เจ๋งจะตาย

เมื่อช่วงวัยเปลี่ยนไป เราสวมบทบาทที่หลากหลายขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่เป็นลูก แต่ยังเป็นนักเรียนนักศึกษา คนทำงาน และประชาชน ด้วยภาระหน้าที่ เราไม่สามารถสนุกได้ตลอดเวลาได้เหมือนอย่างตอนยังเป็นเด็ก แต่สิ่งที่เราทำได้คือ เก็บรักษาความเป็นเด็กไว้ในหัวใจ แล้วนำไปปรับใช้และแบ่งสักช่วงเวลานึงของวัน สัปดาห์ เดือน หรือปี เพื่อให้ตัวเอง 'ยังเป็นเด็ก'
˚。 เพราะพวกเรา ยังเป็นเด็ก ได้แม้ในวันที่โตแล้ว 。˚
Designer : namoodong
Writer : yes_iamfaeng