ขอออกตัวก่อนว่า บทความนี้อาจจะเป็นเนื้อหาที่ค่อนข้างเฉพาะบุคคล มีทั้งคำศัพท์แปลก ๆ และการถ่ายทอดอารมณ์บางอย่างที่ ‘แฟนคลับ’ ด้วยกันเองเท่านั้นที่อาจจะเข้าใจถ่องแท้ ถ้าไม่ได้อินตามสักเท่าไหร่ ก็ไม่เป็นไรนะคะ ถือว่ามาฟังการแชร์ประสบการณ์อีกแง่มุมนึงก็แล้วกัน
เชื่อว่าใครก็ตามที่กดเข้ามาอ่านบทความนี้ ก็คงไม่จำเป็นต้องเป็น ‘ติ่ง’ เสมอไป แต่อาจจะมีความสนใจ หรือเคยได้ยินได้ฟังอะไรเกี่ยวกับ ‘วงการไอดอลเกาหลี’ มาบ้าง เพราะถ้าว่ากันตามตรงแล้วกลุ่มคนที่เป็น ‘แฟนคลับเกาหลี’ ก็ถูกนิยามและพูดถึงในพื้นที่สังคมให้ได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ทั้งตามพื้นที่สื่อ การเล่าปากต่อปาก หรือ Community ใน Social Media อย่าง Twitter ที่แฟนคลับนักร้อง นักแสดง สัญชาติเกาหลีใช้ในการติดตามข่าวสาร และพูดคุยกับกลุ่มคนที่มีความชื่นชอบแบบเดียวกัน
‘เมน’ คนแรกในสมัยที่ยุค K-POP กำลังเฟื่องฟู ( ย้อนกลับไปประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ) คือหนึ่งในบอยแบนด์ระดับตำนานอย่าง Super Junior ‘โอปป้า’ ที่เราเลือกเมนอายุห่างจากเราประมาณ 6 ปี จำได้ว่าไอเทมติดตัวที่เป็นที่นิยมคือพวงองุ่นยาว ๆ แฟ้มใส หรือตลับใส่เงินเป็นกล่องเหล็กรูปศิลปิน ( สมัยนั้นยังไม่ค่อยมีสมาร์ทโฟนให้ใส่เคสได้ ) ถือเป็นยุคที่แม้ยังมีพ่อแม่บางคนที่มองว่าการเป็นติ่งเป็นหนึ่งในอุปสรรคการเรียน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องต้องหลบซ่อนอะไรขนาดนั้น ดูจากการที่ทุกเย็นจะมีรุ่นพี่ ม. 6 มาซ้อม Cover Dance ใต้ถุนตึกให้สาวรุ่นน้องคอยชะเง้อดูแล้วหัวเราะเขิน ๆ ตอนเดินผ่านอยู่เสมอ
ถ้าจะบอกว่าการเป็นติ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในช่วงชีวิตวัยรุ่นของเด็กผู้หญิงหลาย ๆ คน ก็คงไม่ผิด เราเติบโตมาพร้อมกับศิลปินหน้าใหม่รุ่นแล้วรุ่นเล่า ทุกครั้งที่ศิลปินที่ชื่นชอบประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ปล่อยซิงเกิ้ลใหม่แล้วดังเป็นพลุแตก ได้รับถ้วยรางวัลแทนความเหน็ดเหนื่อย ได้ขึ้นแสดงบนเวทีโชว์คาริสม่า และมีข่าวคราวอัปเดตออกมาให้ติดตาม จำได้ว่าช่างเป็นช่วงโมเมนต์ที่น่าชื่นใจของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเสียเหลือเกิน
เราสนอกสนใจที่จะติดตามข่าวของศิลปินที่ชอบ แต่ก็คงจะยกเว้นอยู่ข่าวเดียวที่อาจไม่ต่างจากฝันร้ายของแฟนคลับหลาย ๆ คน เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเหมือนเข็มเล็ก ๆ คอยทิ่มหัวใจ นั่นก็คือ ‘ข่าวเดต
การประกาศว่ากำลังคบหาดูใจกับใครสักคนของศิลปิน เป็นเรื่องร้ายแรง (?)
ต้องยอมรับว่ากิจการวงการบันเทิงในลักษณะของ ‘ไอดอล’ เป็นโครงสร้างที่เอื้ออำนวยต่อความคิดการเป็น ‘เจ้าของ’ ในตัวศิลปินของแฟนคลับเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่นรายการเซอร์ไวเวิล เฟ้นหาไอดอลผู้ถูกเลือกที่จะมีสิทธิ์ได้เดบิวต์ เปลี่ยนชีวิตตัวเองจากเด็กฝึกเป็นศิลปินเต็มตัว ซึ่งทุกขั้นตอนมีการบอกว่าความสำเร็จต่าง ๆ ที่ได้มานั้นมาจาก ‘การเลือกซัพพอร์ต’ ตามความนิยมของแฟนคลับ แฟนคลับมีส่วนในผลโหวต มีส่วนช่วยในการเพิ่มชาร์ต การพรีออเดอร์อัลบั้ม ยอดวิวเพลง โปรเจกต์ที่จะทำให้ศิลปินเป็นที่รู้จัก และการสนับสนุนต่าง ๆ อีกมากมาย
หรือแม้ในหลายครั้งที่เกิดสถานการณ์ยากลำยาก เช่น การถูกดองจากค่าย ปัญหาสุขภาพ หรือแม้แต่ความไม่เท่าเทียมต่าง ๆ ที่ไอดอลของเราได้รับ การได้ร่วมผ่านประสบการณ์วิกฤติต่าง ๆ ในช่วงเวลาเช่นนี้ ย่อมทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นการมอบ ‘บางสิ่ง’ ที่มีความหมายทั้งทางด้านเงินทองและจิตใจ และไอดอลของเราอาจจะต้องเป็นวางตัวเป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อเป็นการ ‘ตอบแทน’ การให้นั้น
ซึ่งการ 'ไม่มีความรัก' ก็ดูจะเป็นหนึ่งในคุณสมบัติของการเป็นแบบอย่างที่ดีนั้น
“เอาตรง ๆ รับไม่ได้แหละ แค่คิดก็ใจสั่นละอะ”
“เหมือนตาย เจ็บมาก ยิ่งกว่าอกหักอีก”
เป็นหนึ่งในความคิดเห็นของแฟนคลับหลายคนที่เราไปถามความคิดเห็น แม้จะที่ต่อต้านเรื่องข่าวเดต แต่ก็บอกกับเราว่าจริง ๆ ก็รู้ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์
Q : ก็คิดว่าการที่เขาจะมีใครก็เป็นเรื่องปกติของผู้ชาย แต่ก็ไม่อยากรู้ ไม่ต้องให้รู้ อย่างนี้เหรอ?
A : ใช่
B : ใช่จ้า
A : แต่ถ้าผู้หญิงดีก็อาจจะได้
Q : แล้ว 'ผู้หญิงดี' นี่คือแบบไหน?
A : ไม่รู้อะ วางตัวดีมั้ง
B : แบบผู้หญิงที่จะไม่ทำให้เขาเสียใจ
Q : หมายความว่าถ้าเขาไปคบผู้หญิงที่เราชอบ หรือผู้หญิงที่เราคิดว่าเป็น 'ผู้หญิงที่ดี' ก็จะรับข่าวเดทได้?
A : ได้
B : ไม่ได้ 5555555555555555555
“มันเหมือนว่าเขารักคนอื่น ไม่ได้รักเรา ความรักมันก็คงคนละแบบ แต่อยากให้เขารักแค่เรา”
“แต่พอเห็นเขาออกมาขอโทษ เห็นว่าเขาเสียใจมาก ๆ ก็รู้สึกผิดเหมือนกัน เรากำลังไม่ชอบแค่เพราะว่าเขามีคนที่เขารักเหรอ มันก็ดูไม่แฟร์นะ แต่ไม่รู้อะ ก็ยังรับข่าวเดตไม่ได้อยู่ดี”
“มันเคยมีใครรับได้จริง ๆ 100% ด้วยเหรอ ถ้าดูจากคนรอบตัวที่รู้จักตอนนี้ก็ยังไม่มีนะ”
ก็ถือเป็นอีกหนึ่งความคิดเห็นส่วนตัว ที่เกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ แม้หลายคนอาจจะไม่ได้เห็นด้วยกับความคิดนี้ แต่เราก็อยากให้เข้าใจว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะตกหลุมรักและผูกพันกับศิลปินอย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งไม่สามารถยินดีและยอมรับความสัมพันธ์อื่น ๆ ในชีวิตของเขาได้ในทันที เพราะนั้นคือเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายมาก ๆ ในวงการบันเทิงที่มีโครงสร้างหล่อหลอมและเอื้ออำนวยให้รู้สึกเช่นนี้
“มันไม่แฟร์เลยที่เราจะไม่นับว่าความรู้สึกรัก ซึ่งเป็นความรู้สึกขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน เป็นสิ่งที่ไอดอลสามารถทำได้ ทั้ง ๆ ที่ในขณะที่เราชอบไอดอล เราก็อาจจะไปมีแฟนไปด้วยได้ แล้วเขาจะทำบ้างไม่ได้เหรอ”
ขยับมาฟังความคิดเห็นจากอีกด้านของแฟนคลับที่มองว่าการที่ศิลปินคบหาดูใจกับใครสักคน เป็นเรื่อง ‘ธรรมดา’ และเป็นความแฟร์ที่แม้ว่าจะเกิดขึ้นมาแล้วก็ไม่ควรมีใครต่อต้าน
“เวลาเรารักใคร ซัพพอร์ตใครมาก ๆ มันอาจจะมีความคาดหวัง ความรู้สึกต้องได้รับการตอบแทน แต่สำหรับเราติดว่าสิ่งนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ผ่านการตั้งใจทำงาน ทำเพลงดี ๆ ขยันซ้อมเต้น ออกคอนเสิร์ต ไม่นับรวมกับการต้องไม่มีแฟน”
Q : เคยได้ยินคำพูดที่ว่า "ถ้าไม่ใช่วงของตัวเองก็พูดได้" เรากล้าพูดมั้ยว่าจะไม่เสียใจถ้าเกิดว่าวงที่เราชอบมีข่าวเดต
A : ไม่กล้าพูดหรอก ก็เสียใจเหมือนกัน
Q : อ้าว!
A : เพราะเราโอเคที่เขา ‘เดต’ เราไม่ได้ไม่เสียใจกับ ‘ข่าวเดต’ เพราะเมื่อไหร่ที่มีข่าวออกมา เรารู้ว่าเขาจะต้องเจอผลกระทบที่ตามมาแน่นอน ถ้าเราจะเสียใจ เราคงเสียใจที่ไอดอลกำลังจะต้องเจอกับคำพูดที่ใจร้ายมาก ๆ จากคนที่เป็นแฟนคลับของเขาเอง
‘คำพูดที่ใจร้ายมาก ๆ ’ นั้นไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะหากคุณเป็นหนึ่งในแฟนคลับที่ใช้ช่องทาง Social Media เป็นประจำก็จะรู้ได้เลยว่า Hate Speech และปรากฎการณ์ความเกลียดชังปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในกรณีนี้ส่วนหนึ่งมาจากความรู้สึกผิดหวัง ถูกหักหลัง และไม่อยากที่จะซัพพอร์ตคนที่เคยชื่นชอบอีกต่อไป
จากแนวคิดของ Berson, Berson & Ferron (2002) ที่กล่าวถึงสาเหตุที่นำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในพื้นที่ไซเบอร์ หนึ่งในนั้นคือลดความรู้สึกในการสัมผัส แม้ว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้าสักเท่าไหร่ แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึง และส่วนมากเป็นการสื่อสารผ่านตัวอักษรเป็นหลัก ซึ่งลดการเผชิญหน้าโดยตรง ทำให้ผู้ใช้งานหลายคนอาจมีความรู้สึกว่าสามารถแสดงพฤติกรรมรุนแรงได้มากยิ่งขึ้น
ซึ่งหมายความได้ว่าเราต่างรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบต่อการกระทำต่าง ๆ ในโลกไซเบอร์น้อยลง ในทุก ๆ ครั้งที่เคาะแป้นพิมพ์ส่งต่อข้อความบางอย่างออกไป
บทสรุปของบทความนี้คงไม่สามารถชี้ขาดได้ว่าแฟนคลับประเภทใดที่เป็นฝ่ายถูก เพราะสำหรับเราแล้วการนึกถึงข่าวความรักของศิลปินที่ตัวเองชอบก็ยังเป็นเรื่องที่ยินดีได้ไม่เต็มที่เท่าไหร่นัก ความรู้สึกควรจะเป็นสิ่งที่เกิดจากวิจารณญาณ การคิดวิเคราะห์ และประสบการณ์ส่วนบุคคล และหากจะให้คิดให้รู้สึกเหมือนกันก็คงเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่หากคุณจะเสียใจ หรือรู้สึกเจ็บปวด จนอาจนำพาไปสู่แรงโหมกระพือของความเกลียดชัง ขอเพียงอย่าหลงลืมว่าบุคคลที่คุณชื่นชอบย่อมมีความรู้สึกเจ็บปวดได้ไม่ต่างกัน ยิ่งหากถ้อยคำเหล่านั้นมาจากผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยสนับสนุนความฝันของเขา คงจะยิ่งเป็นคมมีดที่แหลมคมเป็นเท่าตัว
สุดท้ายนี้คุณมีสิทธิ์เลือกที่จะ ‘ชื่นชอบ’ หรือ ‘ไม่ชื่นชอบ’ ใคร ตราบใดที่น้ำพักน้ำแรงและเงินทองที่ทุ่มเทให้เป็นของคุณ แต่เราคิดว่าคุณคงไม่สามารถมีสิทธิ์เลือกใช้ Hate Speech ซึ่งเป็นค่านิยมและส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ Cyberbully เป็นเครื่องมือในการทำร้ายทำลายทั้งความรู้สึกและชีวิตของใครก็ตาม
ถ้อยคำรุนแรงย่อมไม่ใช่ทางออกหรือการระบายความผิดหวังที่ชอบธรรม แม้ไม่ได้มองจากบทบาทของศิลปิน นักร้อง แต่พิจารณาในฐานะเพื่อนมนุษย์คนนึง คงไม่สมควรที่มนุษย์คนไหนจะต้องมาเจอกับความเจ็บปวดทางใจเช่นนี้ แม้จะเป็นศิลปินผู้ที่ถูกนิยามว่าคือ ‘บุคคลสาธารณะ’ ก็ตาม