Monogamy รักนี้มีแค่ เราสอง

รูปภาพ:Monogamy

ตั้งแต่เด็กจนโต มนุษย์ Gen Y อย่างเรา (รวมถึงตัวผู้เขียน) ถูกปลูกฝังมาตลอดว่า ค่านิยมแบบ "Monogamy" หรือความสัมพันธ์แบบรักเดียวใจเดียว มีสามีเดียวภรรยาเดียวเป็นสิ่งที่ถูกต้องและสูงส่งที่สุดตามบรรทัดฐานทางสังคมในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านกฎหมาย ในรูปแบบของคู่สมรส (Marital monogamy) ด้านวิถีสังคม ในรูปแบบคู่ครอง, คู่รัก หรือการคบหาดูใจกัน (Social monogamy) รวมถึงด้านศีลธรรมเช่น ความเชื่อในรักเดียว, ความเชื่อเรื่องเนื้อคู่ แม้แต่คำสอนของบางศาสนา ก็มีการสอนให้รักเดียว เราต่างถูกสอนให้ซื่อสัตย์ ยึดมั่นในความรัก ต้องมีคู่รักคู่ครองเพียงคนเดียวและสามารถจดทะเบียนสมรสได้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น หากจะมีอีกครั้ง ก็ต้องหลังที่เลิกลาและจบความสัมพันธ์ครั้งเก่าก่อนหรือสามารถนิยามว่า "Serial monogamy"

รูปภาพ:Monogamy คือรูปภาพ:

จึงปฎิเสธไม่ได้เลยว่าในยุคของเรานั้น การเชิดชู ค่านิยมแบบ Monogamy นั้นฝังรากลึกมาก ๆ จนยากที่เราจะถอนรากถอนโคนค่านิยมนี้ออกจากจิตสำนึกของเรา เป็นเรื่องยากเหลือเกิน ที่เราจะยอมรับความสัมพันธ์รูปแบบอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการมีรักเดียวใจเดียว หรือมีคู่ครองแบบคนเดียว หากให้ทุกคนลองจินตนาการถึงความรักในอุดมคติของตัวเอง เชื่อเหลือเกินว่าหลายคนต้องจินตนาการถึง ความรักที่มีแค่เราสองฉันและเธอ หากให้มีเธอ หรือใครอีกคน ความรักก็จะกลายเป็น เรื่องเศร้า หรือที่มาของวลี "รักสามเศร้า" ขึ้นมาทันที

"ใครล่ะอยากจะให้คนที่เรารัก ไปรักใครอีกคน ของของเรา ก็ย่อมเป็นของเรา จริงไหม ?"


ของของเรา ก็ย่อมเป็นของเราสิ จริงไหม ?

รูปภาพ:

"ของของเรา ก็ย่อมเป็นของเรา" หากมองในมิติของสัจธรรมโดยไม่ปรุงแต่งรสของความเชื่อ ความศรัทธาและไม่ไป romanticize เรื่องความรักแล้ว เราจะได้คำตอบว่า จริง ๆ แล้ว ไม่มีใครเป็นของใครเลยเราต่างเป็นตัวของตัวเอง "ไม่ได้ และ ไม่เคย" ตกเป็นของใครเลยด้วยซ้ำเพียงแต่"เราอาจจะตกเป็นส่วนนึงของ ผลึกค่านิยม แบบ Monogamy ต่างหาก รึเปล่า ? "

ในความเป็นจริง ค่านิยมเรื่องการครองรักนั้น เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดตามยุคสมัย หากย้อนกลับไปในอดีตตามประวัติศาสตร์ ในหลาย ๆ ระบบสังคมโบราณ รวมถึงไทย หรือ "สยาม" เอง ก็ไม่ได้มีค่านิยมแบบ Monogamy ตั้งแต่เดิม เราเพิ่งได้รับแนวคิดค่านิยม "Monogamy หรือแบบรักเดียวใจเดียว" ในช่วงยุคล่าอาณานิคมจากมหาอำนาจแบบตะวันตก ที่มองว่าครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียวคือสิ่งที่แสดงถึงความศิวิไลซ์ และความก้าวหน้าของรัฐสมัยใหม่ และมองว่าการมีคู่ครองมากกว่าหนึ่ง หรือ Polygamy นั้นเป็นเรื่องล้าหลัง และป่าเถื่อน จนเริ่มส่งอิทธิพลมากขึ้น ถึงในระดับที่ต้องผลักดันกฎหมายไทย สู่การแก้ไขกฎหมายให้ชายมีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงคนเดียวหลังปี พ.ศ. 2475 หรือไม่ถึงหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมาเลยด้วยซ้ำ


Polygamy แบบไทย ๆ ภายใต้สังคมปิตาธิปไตย

รูปภาพ:polygamy

หลายระบบสังคมสมัยโบราณรวมถึงสยาม เดิมทีมีค่านิยมแบบ "Polygamy" ซึ่งหมายถึงการมีสามี, ภรรยา หรือคนรักหลายคน ในเวลาพร้อมกันโดยส่วนใหญ่จะเป็นแบบ "Polygyny" หรือผู้ชายที่มีภรรยาหรือคนรักหลายคนในเวลาพร้อมกัน เราสามารถเห็นได้จากละครย้อนยุค วรรณคดี หรือในสังคมชั้นสูงในอดีต จะมีค่านิยมมากเมีย โดยที่ไม่ได้ผิดบรรทัดฐานทางสังคม ไม่ว่าจะด้านกฎหมายหรือหลักศาสนา อย่างเช่นศาสนาพุทธก็ไม่ได้เจาะจงว่า การมีมากเมีย ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิด แต่จะผิดก็ต่อเมื่อ ผิดลูกผิดเมียผู้อื่นหรือเป็น "ชู้" และศาสนาอิสลามก็อนุญาตให้สามีสามารถมีภรรยาได้ถึง 4 คนโดยไม่ผิดหลักศาสนาเลย ในขณะที่ "Polyandry" หรือผู้หญิงที่มีสามีหรือคนรักหลายคนในเวลาพร้อมกันกลับพบน้อยมากเพียงไม่กี่ระบบสังคมในโลกนี้


รูปภาพ:วันทองสองใจ

ระบบสังคมที่มีค่านิยมแบบ Polygyny นั้นหากเป็นฝ่ายหญิงบ้างที่มีสามีพร้อมกันหลายคนนั้น ถือเป็นเรื่องผิดมหันต์เพียงแค่ปันใจให้ชายใดที่ไม่ใช่สามีของตน ก็ยังถูกสังคมตีตราทันทีว่าเป็นหญิงบาป หญิงชั่ว หญิงหลายใจทันทีมีตัวอย่างให้เห็นในละคร และวรรณคดีไทยหลาย ๆ เรื่องเช่น นางวันทอง ตัวละครในเรื่องขุนช้างขุนแผน หากมองตัวละครนี้ผ่านมิติค่านิยมแบบ Monogamy ของสังคมปัจจุบันแล้ว นางวันทองไม่ได้ละเมิดบรรทัดทางสังคมแบบ Monogamy เลย เพราะเลิกกับขุนแผนก่อนที่จะครองคู่กับขุนช้างตามคอนเซปต์ของ Serial Monogamy หากแต่ขุนแผนมาลักพาตัวกลับไปภายหลัง เป็นที่มาของจุดจบที่ไม่ยุติธรรมเลย !

เมื่อลองมองตัวละครวันทองให้ลึกไปอีก จะเห็นว่าวันทองเป็นตัวอย่างของ "เหยื่อ" จากค่านิยมแบบ Polygyny ในสังคมระบบปิตาธิปไตย หรือสังคมชายเป็นใหญ่ที่มองว่าการที่ผู้ชายมีมากเมีย มากภรรยาช่วยเสริมอำนาจบารมี "เมียมาก บารมีมาก" และยังเป็นกระบวนการสืบทอดอำนาจของชนชั้นสูง การมีเมียมากนอกจากจะดูมีอำนาจแล้วก็มีโอกาสมีทายาทสืบทอดตระกูลมากขึ้น

รูปภาพ:

Polyamory ผลึก "ค่านิยมมากรักรูปแบบใหม่" ในพื้นฐานสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียม

เมื่อพาทุกคนย้อนจากปัจจุบันกลับไปสู่อดีต ก็เหมือนยิ่งตอกย้ำว่า ค่านิยมแบบ Monogamy ดูเหมือนจะเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่น่ายกย่อง เป็นความรักในมโนคติที่โครตจะโรแมนติกเลย แต่อย่างที่บอกค่ะ อย่าเพิ่ง Romanticize ก่อน ! ถ้าหาลองพลิกอีกด้านนึงก็จะพบว่า Monogamy ก็ไม่ได้มีแต่ข้อดีเสมอไป บ่อยครั้งที่ค่านิยมนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการตีตราผู้ที่ประพฤติต่าง เห็นต่าง อย่างที่ชาวตะวันตก มองว่าค่านิยม Polygamy ของชนพื้นเมือง ป่าเถื่อน ล้าหลังตรงนี้ผู้เขียนเองก็เห็นด้วยว่าล้าหลัง เพราะมองว่าค่านิยม Polygamy มีพื้นฐานมาจากความไม่เท่าเทียมกันของชายหญิง มักด้อยค่าและกดขี่อีกเพศอย่างไม่เป็นธรรมแต่ถ้าหากพินิจพิเคราะห์ในมิติของปัจเจกบุคคลแล้ว หากว่าบรรดาภรรยาทั้งหลายต่างยินยอมพร้อมใจที่จะครองสามีร่วมกัน แล้วใช้ชีวิตแบบมีความสุข พึงพอใจในความสัมพันธ์แบบ Polygamy ล่ะจะมองว่าเป็นสิทธิเสรีภาพได้รึเปล่า ?

"หรือจริง ๆ แล้ว รูปแบบความสัมพันธ์แบบ Polygamy ไม่ได้ล้าหลังเลย ถ้า ! เกิดจากความยินยอมพร้อมใจของทุกฝ่าย ?" แต่สิ่งที่ทำให้ค่านิยมนี้ล้าหลังก็คือค่านิยมนี้ ดั๊นนนเกิดจากระบบสังคมแห่งความไม่เท่าเทียมต่างหากล่ะ


หรือจริง ๆ แล้ว รูปแบบความสัมพันธ์แบบ Polygamy ไม่ได้ล้าหลังเลย ถ้า ! เกิดจากความยินยอมพร้อมใจของทุกฝ่าย ?

รูปภาพ:polyamory คือ

ในยุคปัจจุบัน ที่เราต่างมีอุดมคติให้ความสำคัญของเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมมาก ๆ หากรูปแบบความสัมพันธ์แบบ Polygamyเกิดจากความยินยอมพร้อมใจ (Consent) โดยไม่มีใครได้รับความเจ็บปวดจากค่านิยมนี้ และทุกคนต่างเลือกเองได้อย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเพศไหน ๆ เราควรจะเปิดใจให้กับความสัมพันธ์แบบนี้ได้รึเปล่า ? “ Polyamory” คือนิยามของความสัมพันธ์ที่เราสามารถมีคนรักได้หลายคนไม่ว่าเพศไหน ซึ่งสิ่งที่แตกต่างจาก Polygamy ก็คือ Polyamory ยึดหลักความยินยอมพร้อมใจของทุกฝ่ายหรือ Consent และ สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเท่าเทียมไม่ว่าเพศไหนก็ตาม ในขณะที่ Polygamy ไม่ได้ยึดเรื่องพวกนี้เลย มีเพศหนึ่งเพศใดเป็นศูนย์กลาง และอาจจะไม่ได้เกิดจากความยินยอมพร้อมใจก็ได้ดั้งนั้น " Polyamory ≠ Polygamy " เรียกได้ว่า Polyamory คือผลึกของ “ค่านิยมมากรักรูปแบบใหม่” ในพื้นฐานสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมนั่นเองค่ะ


รูปภาพ:

Polyamory อาจจะเป็นเรื่องใหม่มาก แต่ใด ๆ ก็คือไม่ควรถูกมองว่าแปลก หากเราคิดว่าเราให้ความสำคัญกับสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมจริง ๆ เราก็ควรเปิดใจให้กับทุกรูปแบบความสัมพันธ์ที่ไม่ได้ขัดต่อสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมอาจจะเป็นเรื่องยากหน่อยถ้าเรายังยึดหลักของค่านิยมแบบ รักเดียวใจเดียว อยู่ ลองเปิดใจให้กว้าง และยอมรับความจริงเถอะว่า เราไม่จำเป็นต้องมีรักเดียวเสมอไป "จริง ๆ แล้วนางวันทอง ไม่จำเป็นต้องเลือกเลยระหว่างขุนแผนแสนรัก หรือขุนช้างที่แสนดี หากทั้ง 3 ตกลงปลงใจกันที่จะอยู่แบบ 3 คนเมียผัว โดยที่ไม่มีใครต้องสูญเสียหรือเจ็บปวด" บางทีความสัมพันธ์แบบ Polyamory อาจจะมีข้อดี ไม่ต่างอะไรกับ Monogamy เลย

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ไม่ว่าจะความสัมพันธ์รูปแบบไหน สิ่งที่ยังสำคัญที่สุดก็คือจะต้องเกิดจากการตกลงปลงใจ ยินยอมพร้อมใจ ซื่อสัตย์ เชื่อใจและเข้าใจกัน โดยที่ไม่ต้องมีฝ่ายไหนต้องเสียใจและเจ็บปวด


อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.silpa-mag.com/history/article_28423

https://themomentum.co/monogamy-vs-polygamy/

https://thematter.co/thinkers/polyandry/66695#_ftn3

https://www.summaread.net/history/thai-monogamy/

https://adaybulletin.com/know-yuupen-polygamy/48548

https://www.the101.world/polygamy/

https://www.healthline.com/health/relationships/polyamory-vs-polygamy

wikipedia.org