คุยเรื่องการเมืองกับที่บ้านทีไรหัวร้อนทุกที ทำยังไงดีนะ?ฮัลโหลลล~ สวัสดีค่าชาวซิสปีนี้มีใครอายุถึงเกณฑ์แล้วกำลังจะได้ไปเลือกตั้งบ้างเอ่ย?หรือมีใครยังอายุไม่ถึงแต่เริ่มสนใจข่าวการเมืองบ้างไหมน้า เราเชื่อว่าหลาย ๆ คนเริ่มหันมาสนใจการเมืองกันเยอะมากขึ้นนะคะ ไม่ว่าจะอายุถึงหรือยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะไปเลือกตั้ง แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าพอเราหันหน้าไปคุยกับคนในครอบครัวปุ๊บ บ้านแทบระเบิดปั๊บคุยกันได้แป๊บเดียวคือเหมือนบ้านไฟลุกทุกที แบบนี้จะทำยังไงดี? บทความนี้เราก็เลยขอจัด 6 ทริคเด็ดในการคุยกับครอบครัวเรื่อง " การเมือง " มาฝากค่ารับรองว่าถ้าทำตามนี้ช่วยลดการทะเลาะลงได้แน่นอนนะคะ ถ้าอยากรู้แล้วว่ามีอะไรบ้างก็มาดูกันเลยค่า
☹☹☹☹☹☹☹☹☹☹
• 6 ทริคเด็ดคุยเรื่อง " การเมือง " กับที่บ้านยังไง " ไม่ให้ทะเลาะกัน " •
1. เปิดใจให้กว้าง ๆ

ข้อแรกที่เราและครอบครัวต้องทำเลยก็คือ" การเปิดใจ "นั่นเองค่ะ ถ้าเราไม่เริ่มจากการเปิดใจก่อน ยังไงก็ไม่มีทางคุยกันดี ๆ ได้อย่างแน่นอนเลยค่ะ อันนี้พูดถึงมุมมองทั้งทางฝั่งเราและฝั่งครอบครัวเลยนะคะต้องเกริ่นเลยว่าเรามาเปิดใจรับฟังความเห็นกันดีกว่าการที่เราได้เปิดใจพูดคุยกัน พร้อมรับฟัง รับรู้ความเห็นที่แตกต่างนอกจากที่เราจะได้มุมมองใหม่ ๆ เรายังจะได้รู้ความคิดความอ่านของอีกฝ่ายด้วยนะคะบางครั้งที่เรารู้สึกว่าพ่อแม่คิดอะไรทำไมถึงคิดเห็นแบบนั้น ถ้าเราเปิดใจฟัง เราอาจจะรับรู้ก็ได้นะคะว่าเหตุผลของเขาคืออะไร ทำไมถึงคิดแบบนี้ ดังนั้นแล้วเปิดใจคุยกันจะดีที่สุดนะคะ :-)
2. ตั้งใจรับฟัง

แม้ว่าความเห็นของผู้ใหญ่ในบ้านจะทำให้เรารู้สึกถึงคำว่า 'อิหยังวะ' ขนาดไหนก็ตามลองตั้งใจฟังสิ่งที่เขาคิดและพูดดูก่อนนะคะ หลังจากนั้นเราถึงค่อย ๆ แทรกหรือเสริมเข้าไปอาจจะใช้ในเชิงคำถามก็ได้ พยายามตะล่อม ๆ พูดเสริมเขาไป ทำหน้าที่รับฟังอย่างตั้งใจและเป็นผู้ฟังที่ดีอย่าแสดงท่าทางฟึดฟัดหรือไม่อยากฟังออกมาเพราะมันจะยิ่งทำให้เขาโมโหและคุยกันไม่รู้เรื่องให้เราใจเย็น ฟังเขา อันไหนเสริมได้เสริม อันไหนอธิบายได้อธิบาย ส่วนเขาจะรับฟัง รับรู้แบบที่เราสื่อสารไหม อันนั้นก็ปล่อยให้เป็นอีกเรื่องไปนะคะ
3. คิดวิเคราะห์ตามและใช้เหตุผล

การคิดวิเคราะห์เป็นทักษะที่ทุกคนควรจะมีเลยนะคะ อันนี้พูดรวม ๆ ทั้งเราที่เป็นวัยรุ่นและคนรุ่นคุณพ่อคุณแม่เลยนะคะ อะไรที่เขาพูดถ้ามันมีเหตุมีผลก็คิดวิเคราะห์ตาม อันไหนมีข้อมูลมาแย้งก็ทำการวิเคราะห์และไตร่ตรองดูว่ามันเป็นไปตามที่เขาว่าจริงรึเปล่าถ้าเป็นไปตามนั้นจริงเราก็ต้องค่อย ๆ ทำความเข้าใจกันไป อย่ายึดความคิดตัวเองเป็นที่ตั้งอย่าคิดว่าเราเด็กกว่าเรารู้เยอะกว่าเขาแน่ ๆอย่าคิดว่าเราแก่กว่าเราผ่านโลกมาเยอะกว่าแล้วจะรู้มากกว่าถ้าคิดแบบนี้มันจะยิ่งทำให้แสดงออกมาในท่าทางที่อาจจะดูไม่โอเคแล้วบทบาทของการเป็นผู้ฟังที่ดีก็จะหายไปด้วย ดังนั้นฟังให้เยอะแล้วคิดวิเคราะห์ตามจะดีที่สุดค่ะ
4. เว้นช่องว่างให้กันและกันบ้าง อย่าบังคับ

ถึงแม้ว่าความคิดเห็นจะไม่ตรงกันแต่ก็อยากให้ทุกคนมีพื้นที่หรือเว้นช่องว่างให้กันและกันด้วยนะคะอย่าไปบอกว่าความคิดของเขามันผิด มันไม่ถูกต้อง แต้ให้ใช้การอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลไม่โวยวาย พูดด้วยท่าทีที่สงบ ค่อย ๆ อธิบายกันไปถ้าอธิบายแล้วเขายังอยากจะเชื่อแบบนั้นก็ปล่อยให้เขาเชื่อแบบนั้นไปเลยนะคะ เพราะถ้าเราเลือกจะดันทุรัง พยายามเปลี่ยนความคิดเขามากเกินไป ที่บ้านจะต่อต้านเรามากกว่าเดิมให้พยายามเว้นระยะบ้าง ให้เขาได้มีความคิดของเขา เรามีความคิดของเรา แบบนี้จะคุยได้นานขึ้นนะคะ
5. ยอมรับความแตกต่าง

เพราะเหรียญไม่ได้มีด้านเดียว โลกเราก็ไม่ได้มีแต่คนที่คิดเห็นตรงกันไปซะทั้งหมดดังนั้นเราจะต้องทำใจยอมรับนะคะว่าคนที่บ้านอาจจะไม่ได้คิดเห็นตรงกันแบบเรา อาจจะทำให้รู้สึกขัดใจไปบ้าง แต่เพราะครอบครัวที่ต้องอยู่ด้วยกันตลอดเราเลยต้องพยายามทำความเข้าใจในส่วนนี้ด้วยนะคะ ถ้าเราไม่ทำใจยอมรับว่าบ้านเรามีความแตกต่าง มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหา อาจจะทะเลาะกันถึงขั้นรุนแรงได้เลยเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เราก็ต้องยอมรับและเคารพในความคิดของเขาด้วยนะคะ อย่าด่า อย่าโวยวายให้หงุดหงิดใจกัน แม้ว่าในใจจะแสนขัดใจ๊ขัดใจก็ตาม ฮึบไว้ค่ะ ♥
6. ใจเย็นให้ได้มากที่สุด

แน่นอนว่าช่วงแรก ๆ ที่เริ่มคุยอาจจะไปได้ดีแต่คุยไปสักพักมันก็อาจจะมีจุดที่ต่างคนต่างเดือดแล้วก็จะเริ่มคุยกันไม่ได้แล้ว ตอนนั้นจำไว้เลยค่ะว่า" ใครเย็นกว่าชนะ "เพราะถ้าเราใจเย็น พยายามหายใจเข้า-หายใจออก พยายามบอกตัวเองว่าให้ค่อย ๆ พูดแต่! ถ้าอีกฝ่ายโวยวายเสียงดังมากจริง ๆ เหมือนว่าเขาจะไม่มีทางลงในเร็ว ๆ นี้ ให้ตัดบทจบไปเลยค่ะเพราะถ้าดึงดันจะพูดต่อไป โอกาสที่เขาจะโมโหแล้วพูดจาไม่ดีออกมามีสูงมาก คนเราเวลาโมโหมักจะขาดสตินะคะ แล้วการขาดสติก็ไม่เคยมีผลดีเลย บ่อยครั้งที่สิ่งนี้มักจะฝากรอยแผลไว้ในใจหลาย ๆ คน ดังนั้นดูสถานการณ์ด้วยน้า
☹☹☹☹☹☹☹☹☹☹
จริง ๆเรื่องการเมืองเป็นอะไรที่ใกล้ตัวเรามาก ๆนะคะ มันเริ่มตั้งแต่เราเกิดมาจนถึงตอนนี้เลย ไหนจะมีเรื่องไฟฟ้า น้ำ ถนน ค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ฯลฯ มากมายก่ายกองการพูดคุยกันในเรื่องการเมืองมันเป็นเรื่องปกติที่ควรจะพูดกันได้ทุกคนขอเพียงทุกคนลองทำตามแนวทาง 6 ข้อด้านบน เชื่อว่าจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จ ลดการทะเลาะและการมีปากเสียงลงได้แน่นอนนะคะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดูด้วยนะคะว่าคนในครอบครัวเขาพร้อมจะคุยรึเปล่าเขาอยู่ในอารมณ์ไหน ถ้าเขาดูหงุดหงิด ๆ แนะนำว่าอย่าเพิ่งคุยจะดีกว่า เพราะคนโมโหส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยฟังใครนะคะ โอเค้! ตอนนี้ก็หมดเวลาของทางเราแล้วค่า กลับมาพบกันใหม่ในบทความหน้านะค้า แล้วใครที่อายุครบ 18 ปีภายในวันที่ 14 พ.ค. 2566 ก็อย่าลืมไปเลือกตั้งกันล่ะ บ๊ายบาย ♥
Cr. 5 วิธีคุยเรื่องการเมือง แบบ ‘เฮลธ์ตี้’ อยู่ร่วมกับความเห็นต่าง ( Matichon Online )
https://www.matichon.co.th/lifestyle/news_2855096