1. SistaCafe
  2. สังเกตอาการ Post-vacation Blues รับมือกับภาวะโรคฮิตหลังหยุดยาว!

หลายๆ คนอาจจะรู้สึกฟินที่ได้มีวันหยุเยาวนานๆ แต่รู้อะไรมั้ยว่า การหยุดพักผ่อนเป็นเวลานานๆ ก็ไม่ได้มีแต่ข้อดีอย่างเดียวนะ แต่มันมาพร้อมกับข้อเสีย ที่เราทุกคนอาจจะนึกไม่ถึงก็ได้ เพื่อนๆ เคยได้ยินภาวะ Post-vacation Blues หรือ อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาวมั้ย โรคของคนหยุดยาวจนจะเฉาตาย แม้จะไม่ได้ร้ายแรงมากมาย แต่ก็ควรรู้เอาไว้ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับโรคนี้กันค่ะ พร้อมสังเกตอาการ และวิธีรับมือง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถทำตามกันได้จะเป็นยังไง เอาเป็นว่า ไปไขข้อข้องใจเกี่ยวกับภาวะนี้พร้อมๆ กันเลยดีกว่า

ภาวะ Post-Vacation Blues คืออะไร ?

ภาวะ Post-Vacation Blues คือ อาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นหลังจากวันหยุดยาว ภาวะนี้ไม่ใช่โรคทางจิตเวช ปกติจะเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งและสามารถหายไปเองได้ค่ะ โดยส่วนใหญ่ ช่วงเวลาที่อาจะทำให้เราเกิดภาวะนี้ได้ ก็มักจะเกิดจากช่วงที่เราได้รับวันหยุดยาว ได้พักผ่อนยาวๆ ได้มีความสุขสนุกกับการใช้ชีวิตในช่วงวันหยุด พอถึงวันที่เราได้กลับมาทำงานปุ๊บ มันเหมือนกับเราได้ตื่นขึ้นมาสู่โลกของความเป็นจริง กลับสู่สภาพแวดล้อมที่ชวนเครียด เลยทำให้เรานึกถึงและเกิดความคิดถึงช่วงเวลาในช่วงหยุดยาวที่ผ่านมาจนทำให้เรารู้สึกจมและโหยหาวันหยุดยาวนั้น นี่เลยทำให้เราอาจจะมีโอกาสที่จะเกิดภาวะ Post-Vacation Blues ได้สรุปแบบสั้นๆ เลยก็คือภาวะ Post Vacation Bluesเกิดจากการที่ร่างกายเคยชินกับการพักผ่อนและไม่พร้อมที่จะกลับมาเริ่มต้นอีกครั้ง มักจะเกิดกับคนที่เบื่องานของตัวเองอยู่แล้ว และระดับความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับความเบื่อหน่ายที่มีอยู่เดิมด้วย ยิ่งเบื่อมาก ยิ่งรุนแรงมาก โอ้โห!

อาการของคนที่กำลังตกอยู่ในภาวะPost-vacation Blues

จริงๆ แล้วอาการของภาวะนี้ สังเกตเองได้ง่ายมากๆ เพราะว่าเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับเพื่อนๆ ทุกคนเลยค่ะ อาจจะดูเหมือนเป็นอาการทั่วไป ของคนที่ขี้เกียจหรือเบื่องานที่ทำอยู่ด้วยซ้ำ

  1. รู้สึกไม่อยากทำงาน
  2. เบื่อหน่าย และมีอาการซึมเศร้า
  3. ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
  4. สมาธิลดลง
  5. หงุดหงิดง่าย
  6. อารมณ์เสีย
  7. ใจลอย

ทริครับมือกับอาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว

จริงๆ แล้ววิธีรับมือกับภาวะนี้ ไม่ได้ยากอย่างที่เพื่อนๆ คิดเลยนะ ขั้นแรกมันจะต้องเริ่มจากที่ตัวของเราเองก่อนค่ะ ลองปรับความคิด และมองหาอะไรที่น่าสนใจในที่ทำงานดู อย่าไปโฟกัสกับความตึงเครียดและอย่ามัวแต่ไปคิดถึงแต่ช่วงวันหยุดยาวมากจนเกินไป เพียงเท่านี้ เราก็จะสามารถรับมือกับภาวะ Post-vacation Blues ได้แล้ว แต่ว่าเราได้ทำการรวบรวมทริคง่ายๆ มาแนะนำด้วย ใครที่รู้ตัวว่า ฉันนี่แหละ กำลังตกอยู่ในภาวะนี้! ลองหยิบไปทำตามกันดู จะมีวิธีแบบไหนบ้าง ไปดูพร้อมๆ กันเลย


1. หาแรงจูงใจในการทำงาน

เพราะโรคนี้มักจะเกิดขึ้นกับคนที่เบื่องาน ฉะนั้นวิธีรับมือกับภาวะนี้ที่ง่ายที่สุดคือ เราจะต้องหาแรงจูงใจในการทำงานค่ะ แต่ว่าต้องเป็นแรงจูงใจแบบบวกๆ นะ จะได้ช่วยกระตุ้นจิตใจให้เกิดความปรารถนาที่จะมาทำงาน เช่น โบนัส การทำงานเพื่อเลื่อนขั้น เป็นต้น พอเรามีแรงจูงใจ หรือเรียกว่า GOAL ให้กับตัวเอง เราจะมีแรงกระตุ้นทำให้อยากทำงานในทุกๆ วันค่ะ เพราะงั้นอย่าจมอยู่กับวันหยุดจนลืมไปว่าหน้าที่ของเราคืออะไร โอเคนะ

2. ปัจจุบันก็คือปัจจุบัน

เมื่อหลายวันก่อน เราได้หยุดยาว มันผ่านไปแล้ว ผ่านไปแล้วก็คืออดีต ปัจจุบันเรามาทำงานแล้วปัจจุบัน ก็คือปัจจุบันค่ะ อยู่กับปัจจุบัน อย่ามัวแต่มานั่งคิดถึงอดีตที่มันผ่านไปแล้วซิ!หากติดอยู่กับอดีตมากจนเกินไป อาจจกทำให้เราเป็นทุกข์ได้นะ การอยู่กับปัจจุบันจึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับการจัดการกับ Post-Vacation Blues ได้นะ แม้จะต้องทำงาน แต่เราก็สามารถแฮปปี้กับงานที่เราทำได้ค่ะ เพราะงั้นอย่าจมอยู่กับสิ่งเดิมๆ ที่ผ่านไปแล้ว ให้โฟกัสกับงานกำลังทำ ตั้งเป้าหมาย หรือลิสต์สิ่งที่จะต้องทำเอาไว้ ง่ายๆ แค่นี้เอง ทำกันได้เนอะ

3. หากิจกรรมที่ชอบทำหลังเลิกงาน

เหตุผลที่เราเกิด Post-Vacation Blues อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ เรารู้สึกมีความสุขกับการพักผ่อน และร่างกาย จิตใจเสพติดการพักผ่อนในระยะยาวค่ะ ฉะนั้นพอเรากลับมาทำงาน จิตใจและร่างกายของเรา เลยเกิดภาวะห่อเหี่ยวนั่นเอง เพราะงั้นเพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกแบบนั้นขึ้น เราจะต้องหาความสุขให้กับตัวเองในวันทำงาน อย่าโฟกัสแค่ว่า ทำงานแล้วเครียด ทำงานแล้วเหนื่อย ให้เรามองอีกมุมนึงทำงานก็มีความสุขได้ เวลาทำงานก็ทำงาน แต่พอเลิกงาน เราก็แฮปปี้ได้เหมือนเดิมลองหากิจกรรมที่ชอบทำหลังเลิกงานทำดูมั้ย เช่น ดูซีรีส์ ฟังเพลง ไปสังสรรค์ และอีกมากมาย จะได้ปลอดปล่อยความเครียดจากการทำงาน เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดสะสม และลดอาการ Post-Vacation Blues ด้วยค่ะ

4. อย่าหักโหมทำงานจนเกินไป

หลายๆ คน พอได้หยุดยาวแล้ว กลับมาทำงานอีกครั้ง เหมือนไฟในตัวมันกำลังลุกโชน ก็รีบเร่งหักโหมทำงานกันอย่างหนักหน่วง จนลืมดูกำลังของตัวเองไป ระวังจะล้มได้นะ ฉะนั้นเราควรจะสร้าง Balance ให้กับชีวิตตัวเองสักหน่อย หรือก็คือ การแบ่งเวลาให้ชัดเจนไปเลยระหว่างการทำงานกับการพักผ่อน ยกตัวอย่างเช่น เวลา 8.30 – 16.30 น. คือเวลาที่เราทำงานอย่างจริงจัง พักทานอาหาร พูดคุยกับเพื่อนตามเวลาพักระหว่างวัน แต่พอเราเลิกงานปุ๊บ นั่นคือเวลาส่วนตัวของเรา เลิกงานแล้ว ก็ต้องพักผ่อนอย่างจริงจังเช่นกัน โดยตัดเรื่องงาน หรือเรื่องที่ทำให้รู้สึกเครียดออกไป เพื่อให้สมอง และจิตใจได้ปรับสมดุลค่ะ เราจะได้ไม่รู้สึกหนักเกินไปด้วย

5. หากรู้สึกว่าหมดไฟกับการทำงาน ให้รีบหาทางแก้แบบด่วนๆ

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เราเกิดภาวะ Post-Vacation Blues ได้ ก็คือ การเบื่องานที่เราทำ หรือก็คือการหมดไฟที่จะทำงานนั่นเอง เพราะยิ่งมีวันหยุดมาก เราจะยิ่งมีความสุขมาก เพราะไม่ต้องทำงาน หรือยุ่งเกี่ยวกับการทำงาน แต่เมื่อหมดวันหยุดยาว อาการซึมเศร้าก็ตามมาดังนั้นถ้าเพื่อนๆ คนไหนที่รู้ตัวว่า งานที่ทำอยู่นี้ ทำให้เราเบื่อ หรือไม่มีไฟที่จะทำมันอีกต่อไปแล้วเพื่อนๆ ควรจะมองหาต้นตอของสาเหตุที่ทำให้เกิดความรู้สึกนี้ให้เจอ แล้วแก้ไขมันซะแต่ถ้ารู้ตัวว่า แก้ไม่ได้ หมดไฟจริงๆ ไม่ได้ชอบหรือรักที่จะทำงานนี้แล้ว แนะนำให้ลองมองหางานใหม่ๆ หรือหน้าที่ใหม่ๆ ทำดู อาจจะยากหน่อย แต่เราเชื่อว่า เพื่อนๆ จะต้องหาทางออกได้อย่างแน่นอนค่ะ


🤍 - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - 🤍

ลองสังเกตอาการของตัวเองดูว่า มีอาการแบบที่กล่าวมาข้างต้นมั้ย แม้ภาวะ Post-Vacation Blues จะไม่ได้ร้ายแรงมากมายนัก แต่ก็อย่าปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความรู้สึกเหล่านี้นาน อะไรที่พอจะแก้ไขได้ ก็แก้ไขซะ ชีวิตคนเรา ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาไหน เราก็สามารถสร้างความสุขได้ทั้งนั้นสำหรับวันนี้ต้องลาไปก่อนแล้ว บ๊ายบาย

ขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูลจากเว็บไซต์ โรงพยาบาลสมิติเวช, trueID


Designer :kidasindahouse

Writer : belfry


บทความแนะนำ


เว็ปไซต์นี้ใช้คุกกี้

SistaCafe ให้ความสำคัญต่อข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้โดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ แสดงว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา และ นโยบายการใช้คุกกี้

🔮 ดูดวงกับ SistaCafe ผ่าน Line Official !
รูปภาพสำหรับป๊อปอัพลอย:1