1. SistaCafe
  2. Seasonal Depression ทำไมบางฤดูถึงชวนให้รู้สึกเศร้า มาทำความรู้จักกัน !

สวัสดีเพื่อนๆ ทุกคนค่ะ วันนี้เรากลับมาพบกันในบทความ Seasonal Depression หรือ Seasonal Affective Disoder อาการซึมเศร้าตามฤดูกาล ทุกคนก็น่าจะรู้กันดีว่า สำหรับวันไหนที่อากาศสดใส ท้องฟ้าโปร่ง ก็ชวนทำให้เราอารมณ์ดีตามไปด้วย และบางครั้งในวันที่ฟ้าครึ้ม ก็ทำให้เรารู้สึกหงอยไม่อยากออกไปไหน ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากเจอใคร อยากนอนอยู่เฉย ๆ เพราะอะไรทำไมสภาพอากาศถึงมีอิทธิพลต่อจิตใจเรามากขนาดนี้กันนะ ขนาดที่ว่าทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้เลยเหรอ ???


* . °•★|•°∵ ∵°•|☆•° . *


ชวนรู้จัก Seasonal Affective Disoder ทำไมบางฤดูถึงชวนให้รู้สึกเศร้า ?

อาการซึมเศร้าตามฤดูกาล Seasonal Affective Disoder ( SAD ) โดยทั่วไปแล้วอาการนี้มักจะเกิดขึ้นกับคนที่อาศัยอยู่ในแถบของยุโรปหรือในเมืองที่มีอากาศหนาว แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ในปัจจุบันเราก็ยังไม่สามารถที่จะทราบสาเหตุแน่ชัดของโรคดังกล่าวได้แต่มีข้อสันนิษฐานจากนักจิตวิทยาหลายท่านว่าโรคนี้มักเกิดกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองที่เวลากลางวันค่อนข้างที่จะน้อยหรือเรียกง่าย ๆ ว่าร่างกายของพวกเขาไม่ได้รับวิตามินจากแสงอาทิตย์มากพอจึงอาจจะทำให้ตารางการนอนหลับรวน หรือผิดปกติไปจากที่มันควรจะเป็น ทำให้สารเคมีในสมองที่มีชื่อว่า เมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งเป็นสารที่มีหน้าที่ในการควบคุมตารางการนอนของมนุษย์หลังออกมาผิดปกติ แล้วนอกจากนั้นก็ยังทำให้สารเซโรโทนิน (Serotonin)แปรปรวน ซึ่งคือสารที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการนอนเช่นกัน โดยกลุ่มคนที่ต้องเฝ้าระวังโรคนี้ก็คือผู้หญิงหรือผู้ใหญ่ที่มีคนในครอบครัวป่วยทางจิตเวช

Seasonal Depression สัญญาณของอาการซึมเศร้าตามฤดูกาล


สามารถเช็กได้จากลิสต์อาการเหล่านี้ :

  • รู้สึกเศร้าหมองรู้สึกว่าในหนึ่งวันเราจมอยู่กับภาวะซึมเศร้าไปค่อนข้างมาก
  • หมดความสุขและความสนใจในสิ่งที่เคยมีความสุข
  • รู้สึกว่าตัวเองไม่มีแรงในการทำอะไรเลย ทำอะไรก็รู้สึกเหนื่อย รู้สึกขี้เกียจมากผิดปกติ
  • คุณพบว่าตัวเองนอนมากจนเกินไปหรือพบว่าตัวเองนอนอยู่บนเตียงทั้งวันแล้วไม่อยากออกไปทำอะไรเลย
  • รู้สึกหิวมากผิดปกติและเริ่มกินเยอะจนน้ำหนักขึ้นโดยเฉพาะอาการอยากคาร์โบไฮเดรต
  • รู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถที่จะโฟกัสกับอะไรได้เลยเพราะว่าไม่มีสติและสมาธิ
  • รู้สึกหมดหวังแล้วรู้สึกไร้ค่าหรือรู้สึกผิดในตัวเอง
  • มีอาการคิดถึงความตาย หรือไม่อยากอยู่ต่อแล้ว

การวินิจฉัยเบื้องต้นของอาการซึมเศร้าตามฤดูกาล

โดยเบื้องต้นแล้วการวินิจฉัยโรคนี้ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะอาการอาจจะแสดงออกมา คล้าย ๆ กับปัญหาสุขภาพจิตด้านอื่น ๆ อย่างเช่น โรคภาวะขาดไทรอยด์ โรคโมโนนิวคลิโอสิส เป็นต้นถึงอย่างไรก็ตามในขั้นเบื้องต้นแพทย์ก็จะได้มีการซักประวัติสุขภาพหรือตรวจร่างกายเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัยให้แน่ชัด อาจจะมีการตรวจเลือดหรือตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ แล้วจะมีการประเมินสุขภาพจิตทั้งด้านจิตวิทยาอย่างเช่นการตอบคำถามกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินอาการความรู้สึกและความคิดหรือพฤติกรรมที่อาจจะแสดงถึงความผิดปกติทางจิต

ภาวะแทรกซ้อนของโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล

ผู้ป่วยอาจต้องเผชิญกับภาวะโรคอ้วนหรือน้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐานซึ่งอาจจะนำไปสู่โรคเบาหวานและความดันได้ เนื่องจากพฤติกรรมในการรับประทานอาหารมากจนเกินไป และนอกจากนั้นผู้ป่วยอาจจะต้องประเชิญกับภาวะของโรควิตกกังวล โรคแพนิค ปัญหาด้านความสัมพันธ์หรือการคิดที่จะทำร้ายตัวเอง

แนวทางการรักษาโรคใจซึมเศร้าตามฤดูกาล


ถึงอย่างไรก็ตามก็ยังมีทางรักษาโรคนี้เหมือนกับโรคอื่น ๆ เสมอ โดยตามหลักปฏิบัติแล้วมีวิธีการในการรักษาภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาลแบ่งเป็นสามหัวข้อใหญ่ ๆ ได้แก่

  1. การรับประทานยา : ในขั้นตอนนี้จิตแพทย์จะได้มีการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยเพื่อรักษาในส่วนของโรคซึมเศร้าเพื่อบรรเทาอาการไปก่อน
  2. การทำจิตบำบัด : อย่างต่อมาก็คือการทำจิตบำบัด ในขั้นนี้นักจิตวิทยาจะเข้ามาช่วยในการปรับวิธีคิดและพฤติกรรมหรือวิธีที่จะต้องรับมือกับอาการซึมเศร้าดังกล่าวพร้อมกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้ดีขึ้น
  3. การบำบัดด้วยแสง : อย่างที่เราได้ทราบกันไปในตอนต้นว่าอาการป่วยตามฤดูกาลเกิดจากภาวะที่สารในสมองทำงานผิดปกติ ซึ่งในนั้นคือ เมลาโทนินและเซโรโทนินที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับแสงอาทิตย์น้อยลง เพราะฉะนั้นในการรักษาก็คือ การที่ให้ผู้ป่วยเข้ารับการฉายแสงจำลองแสงอาทิตย์ ถึงอย่างนั้นก็ตามวิธีนี้ก็ยังเป็นวิธีที่มีผลข้างเคียง

◦◦,`°.✽✦✽.◦.✽✦✽.°`,◦◦


เป็นยังไงกันบ้างทุกคน วันนี้ที่เราพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ Seasonal Depression หรือ Seasonal Affective Disoder โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล ซึ่งอาจจะไม่ค่อยพบเห็นได้บ่อยนักในเมืองไทยเมืองแดดของเรา แต่ถึงอย่างไรก็ตามก็ยังมีผู้ป่วยที่ยังคงต้องรักษาอยู่ ขอให้ทุกคนคอยสังเกตตัวเองและคนรอบข้างอยู่เสมอ ดูแลรักษาสุขภาพกันด้วยนะคะ แล้วพบกันในบทความต่อไปที่ SistaCafe ค่ะ


───✱*.。:。✱*.:。✧*.。✰ ───


ขอขอบคุณภาพประกอบจาก wirestock และ ededchechine on Freepik


บทความแนะนำ ที่ซิสต้องไม่พลาด

เว็ปไซต์นี้ใช้คุกกี้

SistaCafe ให้ความสำคัญต่อข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้โดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ แสดงว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา และ นโยบายการใช้คุกกี้