' โรคซึมเศร้า 'ดูเผิน ๆ อาจไม่น่ากลัวสักเท่าไหร่ แต่เพราะข่าวที่มีผู้ป่วยจำนวนมากปลิดชีวิตตัวเองลง ปัจจุบันจึงมีการตระหนักถึงโรคนี้กันมากขึ้น และมีการตื่นตัวมากขึ้นที่จะกล้าไปพบจิตแพทย์ โดยไม่ต้องรู้สึกอายแบบสมัยก่อน
ถ้าเรามีแฟนป่วยโรคนี้พอดี ทำอย่างไรล่ะ? เรื่องนี้อาจจะดูไม่ง่ายที่จะต้องดูแลเขาตลอดเวลา แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่ยากเย็นเกินไป
#1 ทำความเข้าใจกับโรคนี้ก่อนจะดูแลกัน

อย่าเพิ่งคาดเดาหรือฟังจากปากของแฟนเรา ควรเสิร์ชอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติมหรือพบแพทย์เจ้าของไข้ของแฟนโดยตรงเพื่อศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงโรคนี้ โรคซึมเศร้าไม่ต้องการเพียงแค่ให้คนไข้ทำตามที่หมอแนะนำ คนดูแลก็มีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะต้องรับรู้ไปพร้อม ๆ กันด้วย
#2 พยายามสังเกตอาการ เตือนแฟนให้ทำตามที่หมอแนะนำ

สังเกตอาการด้วยว่าแฟนเรามีความผิดปกติอะไรหรือไม่? และอย่าลืมเตือนให้แฟนกินยา หรือทำอะไรก็ตามที่หมอสั่ง โรคซึมเศร้าจะคล้ายกับอาการเจ็บป่วยทั่วไปที่จำเป็นต้องมีการกินยาตามเวลา การขาดหรือลืมอะไรไป อาจส่งผลต่อสารเคมีในสมองของแฟนเรา ทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิมได้
#3 พยายามหากิจกรรมสนุก ๆ ทำร่วมกัน

อย่าปล่อยให้แฟนติดบ้านเกินไป หรือรู้สึกแย่กับอะไรนานเกินไป ควรพาแฟนออกไปทำอะไรสนุก ๆ ด้วยกัน เช่น ดูหนัง, ช้อปปิ้ง, ขับรถเที่ยวไกล ๆ แม้ความสุขจะไม่ทำให้โรคซึมเศร้าหายขาด แต่ก็พอช่วยให้ร่างกายและจิตใจลดความเกร็ง ตึงเครียดไปได้เยอะ ( แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ดูท่าทีด้วยนะคะว่าแฟนเราน่าจะสนุกด้วยรึเปล่า ถ้าเขาไม่อยากไปจริง ๆ ควรนั่งอยู่ด้วยกันนั่นแหละ อย่าฝืนใจลากเขาออกไปไหนเลย )
#4 ไม่จำเป็นต้องตัวติดกันตลอด แต่ก็อย่าให้แฟนอยู่คนเดียวนานเกินไป

คนที่ป่วยซึมเศร้าจะมีช่วงที่อยากอยู่คนเดียวบ้าง ไม่อยากออกไปไหน ไม่อยากพบใคร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่ต้องการใครเลยจริง ๆ ในระหว่างที่ไม่ได้อยู่ใกล้กัน โทรหรือแชทหากันบ้างเป็นครั้งคราวก็ได้ อย่างน้อยให้เขาอุ่นใจหน่อยว่าไม่ได้ถูกทิ้งให้อ้างว้าง และมีอะไรก็จะรับรู้ไปเลยว่าเขามีอาการอย่างไร รู้สึกอะไรอยู่ เราจะได้ช่วยทัน
#5 ต้องเป็นคนที่ใจเย็นได้ ไม่หัวร้อนกับความเกรี้ยวกราดที่แฟนมี

ความเกรี้ยวกราด เอาแต่ใจ บางทีก็มาจากอารมณ์ที่สวิงเพราะสารเคมีในสมองไม่คงที่ หากแฟนกำลังแสดงอาการไม่น่ารัก อย่าเพิ่งสงสัยว่าเป็นเพราะนิสัยส่วนตัวหรือเป็นอาการอย่างหนึ่งของโรค ควรใจเย็น มีสติ ค่อย ๆ พูด ค่อย ๆ ถามว่าเกิดอะไรขึ้น? รู้สึกอย่างไร? ต้องการอะไร? แล้วคุยเป็นเพื่อนไปเรื่อย ๆ จนกว่าเขาจะสงบ หรือทำอย่างไรก็ได้ให้เขารู้สึกว่าเราไม่ทิ้งไปไหนจริง ๆ และไม่อยากให้โทษตัวเองหรือโทษใครทั้งนั้น มันก็แค่ฝันร้ายแป๊บเดียว ฉันอยู่ตรงนี้แล้ว กอดฉันสิ
แต่อย่างไรก็ตาม อย่าปลอบหรือทำให้สงบด้วยการตามใจทุกอย่างจนเข้าขั้นสปอยล์เกินเหตุ เพราะครั้งต่อ ๆ ไปแฟนเราก็จะติดนิสัยว่าถ้าวีนเหวี่ยงแล้วก็ต้องได้อะไรเป็นการตอบแทนเสมอ ควรพากันใจเย็นอย่างมีสติและมีเหตุผลมากที่สุด
#6 แกร่งพอที่จะรับมือกับความไม่เข้าใจของสายตาคนนอก
เป็นเรื่องธรรมดาที่คนภายนอกจะเม้าท์อะไรก็ได้ เพราะเขาไม่มีโอกาสได้ทำความเข้าใจอย่างที่เราเข้าใจ ไม่ได้เป็นอย่างที่แฟนเราเป็น เพราะฉะนั้น อย่าไปโต้ตอบหรือหัวร้อนให้มาก ใครจะพูดอะไรวางใจเป็นกลาง สงบเข้าไว้ แต่ถ้าคนนั้นเป็นเพื่อนสนิทหรือคนในครอบครัว เราก็ควรหาโอกาสอธิบายถึงโรคนี้ เพื่อให้พวกเขาเข้าใจมากขึ้น
#7 เช็คสุขภาพตัวเองเสมอ

เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่คนเราจะป่วยบ้าง แม้จะไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้าก็ตาม อย่าดูแลคนอื่นจนลืมดูแลตัวเอง หมั่นเช็คสุขภาพกายและใจเสมอว่าเรามีอะไรที่บกพร่องไป บางทีที่ถึงเวลาที่หมอนัดแฟนเรา เราก็ถือโอกาสตรวจสุขภาพจิตเราไปด้วยก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ดีเสียอีกที่จะได้รู้ว่าเรามีอะไรให้ปรับปรุงแก้ไขก่อนจะสายเกินไป
การจะเป็นแฟนกัน ใช่ว่าจะต้องหวานกันตลอดเวลา แฮปปี้กันทุกวัน ยามทุกข์เราก็ต้องถามใจตัวเองให้ดีว่าพร้อมจะดูแลกันหรือไม่หากเจอวันที่แย่มาก ๆ ใครที่มีแฟนและแฟนก็ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ ขอให้ดูแลกันให้ดีนะคะ โรคนี้กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ที่จะช่วยให้เขารู้สึกอยากต่อสู้กับโรคนี้ต่อไป ... โลกน่าอยู่มากขึ้นเพราะการได้รู้ว่าไม่ได้สู้ลำพัง แต่มีคนพร้อมจะสู้ไปด้วยนี่แหละค่ะ พี่อาร์ตเป็นกำลังใจให้ทุกคู่นะคะ ^^