1. SistaCafe
  2. #คุยกับตัวเอง ep.4 - [Joker Review] แปลกแต่จริง เมื่อความเศร้า ทำให้เรา HAPPY :(:

#คุยกับตัวเองพื้นที่ของคนที่ชอบหาเวลาคุยกับตัวเอง เพื่อให้เกิดความคิดที่ตกผลึกก่อนไปสื่อสารกับคนอื่น

แต่จะคุยแบบเปล่งเสียงออกมาหรือไม่ก็ได้ ไม่ต้องกลัวใครมองว่าบ้า

เพราะบอกเลยว่าคนเราน่ะบ้ากันทั้งนั้น!


สำหรับep.4 ว่าด้วยภาวะจิตที่อยู่ในห้วงอารมณ์แห่งความโศกเศร้า เรามักแทนที่ความรู้สึกนั้นด้วยความคิดและการกระทำตรงกันข้าม คือเลือกที่จะมองข้ามไป มองแง่ดีเข้าไว้ ยิ้มให้มัน แต่ใครเลยจะรู้ว่าความเศร้าเองนั่นแหละ คือยาอันประเสริฐที่เรียกคืนความรู้สึกดีให้เราได้เร็วที่สุด!

ภาพประกอบบทความ:sistacafe-assets:____%2Fc%2F74042%2Fce34fa36-21ac-4a06-bcbc-200662582cfa.jpeg?v=20240304115112&ratio=1.000

คำเตือน : เนื้อหาต่อจากนี้มีการสปอยล์

เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการ #รีวิวหนัง Joker หนังที่เข้าชิงออสการ์ปีล่าสุดมากที่สุดถึง 11 สาขา และไหนๆ ก็จะประกาศผลออสการ์ประจำปี 2020 เร็วๆ นี้แล้ว เรามาลองทบทวน พูดคุยถึงบิ๊กไอเดียของ Joker อีกที บางทีอาจทำให้คุณต้องมามองความเศร้าซะใหม่ ว่าอารมณ์เศร้าก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เราคิดนะ


∞ เมื่อเจอเรื่องแย่ ก็แค่ปลอบใจว่า ' สู้ๆ ' ?



‘ยิ้มให้ความผิดหวัง อย่างคนคุ้นเคย ยิ้มให้ความมืดมนอย่างคนรู้จักกัน’ ..

‘ไม่ไหวแค่ไหนต้องทนให้ไหว’ ..


จริงอยู่ที่เมื่อเราเผชิญความเจ็บปวดไม่ว่าจะทางกายหรือจิตใจ เรามักได้รับคำปลอบโยน ปลอบใจด้วยความหวังดีอยู่เสมอว่าไม่เป็นไร / เรื่องแค่นี้ จิ๊บจ๊อยน่า / สู้ๆ นะ / ยิ้มเข้าไว้ / ต้องไหวสิ


หรือบางทีก็อาจเป็นคำปลอบประโลมจิตใจจากพุทธธรรม ที่เตือนสติให้เรารู้และปลงกับชีวิตว่ามันก็แค่นั้นเอง นี่แหละอนิจจัง ไม่มีอะไรแน่นอน สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ..


ภาพประกอบบทความ:sistacafe-assets:____%2Fc%2F74042%2Febbd6217-2c2e-4f58-8d80-b5780f8c33e0.jpeg?v=20240304115112&ratio=1.000

เช่นเดียวกับประโยคThat’s life ’ที่หนังเรื่องJokerพยายามสื่อสารกับเราตลอดทั้งเรื่อง เหมือนจะย้ำเตือนให้เรานึกถึงแก่นความจริงข้อนึงของชีวิตที่ว่าชีวิตก็เป็นแบบนี้แหละ มันคือสัจธรรม เรื่องแย่ๆ ร้ายๆ ที่เราพบเจอ เดี๋ยวมันก็ดีขึ้น แค่ทำตัวเองให้ดี เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป เรื่องร้ายๆ ที่เข้ามา ก็แค่ทำขำๆ ไป จะเอาอะไรกับชีวิตมากมายล่ะ


แต่ในความเป็นจริงในภาวะที่เราเศร้า เสียใจ เจ็บใจ หดหู่ รู้สึกแย่สุดๆ เกินจะอธิบายได้ ณ ตอนนั้น ถามจริงว่าเราทำอะไรได้แค่ไหนกันเชียว เราอาจทำอะไรไม่ได้มากไปกว่า การปล่อยให้ตัวเองได้เศร้า เสียใจ ร้องไห้ มองโลกในแง่ร้ายบ้าง เพื่อที่ เราจะสามารถก้าวข้ามผ่านมันไปได้ ยิ้มให้มันได้ เดินต่อไปได้ด้วยใจที่แข็งแรงแล้วจริงๆเพราะหากเราฝืนยิ้มทั้งน้ำตา ไม่แน่ว่าชีวิตอาจได้ลงเอยอย่างโศกนาฏกรรมไม่ต่างจากที่ อาเธอร์ ( Joaquin Phoenix ) พบเจอใน Joker ก็เป็นได้

∞ #หนังจึงบอกกับเราว่า ' เศร้าให้สุด ดีกว่าจิตหลุดไม่รู้ตัว '

หนังจึงบอกกับเรากลายๆ ว่าถ้าเราข้ามขั้นตอนความเศร้าไป แล้วแสร้งทำเป็นสุข เราอาจจิตหลุดไปเลยก็ได้นะเพราะหากย้อนกลับมามองความเศร้าในอีกมุมหนึ่ง การแสดงออกของความเสียใจอย่างการจมในความรู้สึกแย่รวมไปถึงการร้องไห้ มันคือการปล่อยจิตใจให้ดำดิ่งไปกับความรู้สึกเศร้าเสียใจ ณ ขณะนั้น เป็นวิธีการที่ได้ปลดปล่อยอารมณ์ เหมือนกับว่าเราซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง และนั่นอาจเป็นหนทางที่ทำได้ดีที่สุดในโมเม้นต์นั้นแล้วเพราะว่ากันตามจริงการที่ต้องพบเจอเรื่องแย่ๆ ในชีวิตเข้ามาพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ก็ถือว่ามันหนักมากเรียกได้ว่าแทบแย่ แล้วกับอาเธอร์ที่ถือเป็นผู้ป่วยมีอาการทางจิตล่ะจะขนาดไหนทั้งการที่ต้องทนอยู่ในสภาพสังคมที่ตกต่ำย่ำแย่ลงทุกวัน สังคมแบบตัวใครตัวมันและพร้อมจะเอาเปรียบกันทุกเมื่อ,โดนกลุ่มเด็กอันธพาลรุมยำ ถูกรุมทำร้ายบนรถไฟ, นายจ้างไม่เชื่อถือคำพูด ไม่เชื่อในตัวเค้า หูเบา ไล่ออกจากงาน, ไหนจะเพื่อนที่ทำงานที่พร้อมจะแทงข้างหลังทุกเมื่อ, ถูกเพิกเฉย ย่ำยี คนในสังคมมองเป็นตัวประหลาด, ถูกบูลลี่จากคนที่เค้าชื่นชม ชื่นชอบ และมองเป็นแบบอย่างในชีวิตแม้แต่คนในครอบครัวอย่างคน (ที่เค้าคิดว่า) เป็นแม่ (ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่!) ก็ทำร้ายอาเธอร์ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้อย่างเจ็บปวดที่สุด ด้วยการนิ่งดูดายเมื่อเขาถูกทารุณทำร้ายในวัยเด็กและการปลูกฝังจิตสำนึกให้เค้ามีความสุขตลอดเวลาแม้ว่าเจอปัญหา ด้วยการเรียกเค้าว่าhappyนี่ยังไม่นับความพยายามในการใส่ความคิดที่ว่าอาเธอร์เป็นลูกแท้ๆ ของตนเอง และการให้เขาเชื่อมั่นว่าโทมัส เวนย์ เจ้านายเก่าที่ช่างแสนดี พึ่งพาได้ ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นเพียงภาพหลอนที่มาจากอาการทางจิตของตัวเธอเองเสียด้วยซ้ำ

ภาพประกอบบทความ:sistacafe-assets:____%2Fc%2F74042%2F76ea3104-468c-4b97-8b67-0faa9917815a.jpeg?v=20240304115112&ratio=1.000

∞ Put on a happy face : การปั้นหน้ามีความสุข

โดยเฉพาะวลีPut on a happy face : การปั้นหน้ามีความสุขที่แม่พร่ำบอก จึงเป็นเสมือนหน้ากากความสุขที่แม่หยิบยื่นให้อาเธอร์ใส่มันไว้ตลอดเวลา เขาต้องทำเหมือนว่ามีความสุขแม้จะรู้สึกเศร้า เขายิ้มได้แม้จะมีน้ำตา เขาไม่ถือสาแม้ว่าในใจจะรู้สึกหงุดหงิดหรือเจ็บปวดเพียงใด เมื่อกลับเข้าบ้านต้องวางเรื่องราวเจ็บปวดไว้ แล้วแสร้งทำว่าไม่มีอะไร เรื่องแย่ๆ ที่เพิ่งเจอมาทำอะไรเค้าไม่ได้ซักนิดความคิดเหล่านี้ไม่เพียงฝังเข้าไปในหัวเข้าไปอยู่ในมโนสำนึกเพียงเท่านั้น แต่ได้ชอนไชเข้าไปลึกถึงชั้นจิตใต้สำนึกของอาเธอร์เท่ากับว่าไม่ว่าเขาจะสวมหมวกใบไหนไปอยู่ในสังคม สวมหมวกนักเล่นตลกในที่ทำงานหรือสวมหมวกลูกชายผู้อ่อนโยนแสนดีมีความสุขใจอยู่ในบ้าน เค้าก็ไม่สามารถแสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมาได้ เรียกได้ว่าเค้าเป็นตัวเองไม่ได้เลยและเมื่อเป็นตัวเองที่ไหนก็ไม่ได้ การระเบิดทางอารมณ์อย่างรุนแรงจึงเกิดขึ้นอย่างง่ายดายเพียงดีดนิ้วอาเธอร์จึงตอบสนองการกระทำอันโหดร้ายที่เขาได้รับ ระบายมันออกมาด้วยการตอบกลับไปอย่างรุนแรงกว่าเดิมหลายเท่าคูณทวี โดยที่เขาไม่ได้รู้สึกผิดหรือเสียใจกับสิ่งที่ทำลงไปแม้แต่น้อย

ภาพประกอบบทความ:sistacafe-assets:____%2Fc%2F74042%2Fbe4e5778-55c6-4a7b-9016-b7e0914cdfae.jpeg?v=20240304115112&ratio=1.000

∞ ไม่ไหวไม่ต้องบอกไหว เศร้าบ้างก็ได้ เดี๋ยวค่อยดีขึ้น


เพราะงั้นก่อนจะไปถึงจุดเดียวกับที่อาเธอร์ยืน ทางที่ดีคือเราต้องรู้ให้เท่าทันอารมณ์ตัวเองซะก่อน ซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเองให้มากขึ้น เมื่อโกรธ ก็ต้องยอมรับกับตัวเองว่าโกรธ เมื่อเสียใจก็ต้องปล่อยให้เสียใจ อยากร้องไห้ก็ไม่ต้องอั้น ถ้ามันเศร้าก็เศร้าซะให้พอ เพราะนั่นคือการระบายออกที่ดีที่สุดที่เราทำได้ในขั้นแรกสุด

แล้วจากนั้นเมื่อเวลาผ่านไป เสต็ปการยิ้มให้กับปัญหาจะมาจ่อเข้าคิวรอเลยก็ได้ไม่มีใครว่า เมื่อความเศร้าได้รับการระบาย กลไกในสมองก็จะปรับอารมณ์ให้ผ่อนคลายและช่วยให้เราก้าวข้ามผ่านมันไปได้ง่ายขึ้น และเมื่อถึงตอนนั้นเราค่อยบอกตัวเองว่าไหวบอกคนอื่นว่าไม่เป็นไรก็ยังทัน

สิ่งสำคัญคือยิ่งเราซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเองได้มากเท่าไหร่ ก็อาจเลี่ยงผลลัพธ์อันแสนโหดร้ายที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองให้น้อยลงด้วยก็ได้นะเช่น เมื่อรู้ว่ารู้สึกแย่และกำลังจะไม่ไหว อาจลุกออกจากที่ตรงนั้นก่อนจะเกิดการระเบิด หรือหากรู้ตัวว่าความรู้สึกกำลังดิ่ง ก็เลือกหาวิธีในการระบายอารมณ์ บางคนอาจถนัดหลบไปปลีกวิเวก หรือบางคนอาจหาคนที่ไว้ใจได้ช่วยรับฟังก็ได้

และเมื่อคุณไปยืนถึงจุดนั้นได้แล้ว ก็อาจพบว่าบางทีชีวิตยังโชคดีกว่าอาเธอร์นัก ที่ไม่ต้องเผชิญชะตากรรมและตอนจบในแบบที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก อย่างที่เขาเปรยไว้ตอนท้ายของหนังซึ่งเป็นช่วงที่เขาจิตหลุดไปแล้วว่า' เคยคิดว่าชีวิตเป็นโศกนาฏกรรม แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าชีวิตเค้ามันตลกสิ้นดี '.. ฟังดูแล้วมันช่างหดหู่ แม้จะบอกว่ามันน่าตลก ก็ช่างเป็นเรื่องตลก ที่ไม่ขำเอาซะเลย :(


FYI |

เรื่องความเศร้าที่ว่าเป็นการระบายความตึงเครียดและช่วยเยียวยาอารมณ์ของเราได้นั้น ตัวละคร Sadness ในหนังเรื่อง Inside Out ก็เป็นอีกตัวละครหนึ่งที่ช่วยยืนยันแนวคิดนี้ได้เป็นอย่างดี Sadness ทำให้เราเข้าใจว่าการแสดงอารมณ์เศร้าไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่เป็นกลไกในร่างกายที่เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ดูสนุก และมีประเด็นน่าสนใจอยู่มาก ในเวลาที่เหมาะสมเราคงได้หยิบยกมาคุยกัน

สำหรับโจ๊กเกอร์ในเวอร์ชั่นของ วาคีน ฟีนิกซ์ ยอมรับแบบไม่มีข้อกังขาเลยว่าทั้งบทภาพยนตร์ ตัวนักแสดง มู้ดโทนของภาพ สีสัน รวมไปถึงเพลงประกอบที่ใช้ ดีในแบบที่สามารถเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 11 สาขาได้จริง ไม่มีตรงไหนที่อยากจะติ

ที่ชอบเป็นพิเศษคือช่วงที่ เมอร์เรย์ ( Robert De Niro ) พิธีกรในดวงใจบอกกับอาเธอร์ว่าที่อาเธอร์เป็นแบบนี้เพราะเค้าทำตัวเองแต่อาเธอร์เถียงว่าเมอร์เรย์ต่างหากที่ล้ำเส้นความเป็นชายโดดเดี่ยว จิตป่วย และถูกสังคมทอดทิ้งอย่างเค้า และทำเหมือนเค้าเป็นขยะมันทำให้เรากลับมานั่งคิดต่อว่า นั่นน่ะสิ การที่เรื่องลงเอยแบบนี้สรุปว่าใครกันแน่ที่เป็นคนทำ ?

-----------------------------------

แล้วคุณล่ะคิดว่าใครทำ ?และเมื่อรู้สึกเศร้ามีวิธีทำให้หายเศร้ายังไงบ้าง ?แชร์มาเล่าสู่กันฟังได้ แล้วอย่าลืมมาช่วยลุ้นให้ Joker คว้ารางวัลออสการ์ 2020 มาครองให้ได้เหมือนกับที่เราช่วยลุ้นจนตัวโก่งจะแย่แล้วเนี่ย


จบ ep.4 พบกันใหม่ตอนหน้า บายจ้าา <3


เรื่อง :https://sistacafe.com/curators/8785ภาพ :https://sistacafe.com/curators/51

เว็ปไซต์นี้ใช้คุกกี้

SistaCafe ให้ความสำคัญต่อข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้โดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ แสดงว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา และ นโยบายการใช้คุกกี้