
สวัสดีค่าาา สาวๆ SistaCafe คนขี้กังวลทั้งหลาย!
มนุษย์ก็ต้องมีอารมณ์ที่เครียด กังวล นอนไม่หลับ ตื่นเต้นกับชีวิตประจำวันบ้างเป็นเรื่องปกติ อันนั้นไม่ปฏิเสธ แต่สำหรับบางคนด้วยนิสัยส่วนตัว พันธุกรรม หรือสิ่งแวดล้อมกระตุ้นใดๆ ก็มีภาวะที่รุนแรงกว่านั้นมาก และเป็นบ่อยกว่าคนทั่วไป ทั้งเหงื่อชุ่ม ตัวสั่น ปากสั่น กระสับกระส่าย ถ้าเจอสถานการณ์บีบคั้นหนักๆ อาจถึงขั้นเจ็บหน้าอก หายใจตื้นหรือเป็นลมไปเลยก็มี ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องตลกเลย แต่ไม่รู้จะแก้ยังไง //การควบคุมตัวเองไม่ได้ มันคือหายนะสำหรับบางคนเลยนะ!
สำหรับสาวๆ บางคน ถ้า ' โรควิตกกังวล ' ของเธอกำเริบหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและเริ่มส่งผลกระทบแย่ๆ กับคนอื่น อาจจะต้องมานั่งทบทวนว่า เธอเผลอทำสิ่งที่กระตุ้นโรคนี้โดยไม่รู้ตัวหรือเปล่า? ในบทความนี้เราจึงขอชวนสาวๆ มาดู ' 7 ปัจจัยกระตุ้นโรควิตกกังวล ' ลองเช็คว่าเธอเผลอทำสิ่งเหล่านี้โดยไม่รู้ตัวหรือไม่ ถ้ามีก็รีบลด ละ เลิกซะตั้งแต่วันนี้ รับรองว่าชีวิตดีขึ้น จิตใจสงบ มีสมาธิขึ้นแบบก้าวกระโดดแน่นอน (´。• ᵕ •。`)

สาวๆ คนไหนเป็นสายดื่ม ชอบปาร์ตี้สังสรรค์กับเพื่อนฝูงด้วยเครื่องดื่มที่ขาดไม่ได้อย่างเหล้า เบียร์ ไวน์ ค็อกเทลต่างๆ นั่นอาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ภาวะวิตกกังวลของเธอไม่ยอมหายไป! เพราะเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทั้งหมด หากดื่มในปริมาณที่มากเกินไป ล้วนทำให้สมองทำงานแย่ลงในระยะยาวทั้งสิ้น
แอลกอฮอล์ตามหลักแล้ว เป็นยากล่อมประสาทและลดอาการซึมเศร้า สั่งให้สมองรู้สึกโล่งสบาย จึงทำให้เธอผ่อนคลาย ไร้กังวลใดๆ ในช่วงแรก แต่เมื่อฤทธิ์แอลกอฮอล์หมดลง สารเคมีในสมองอาจหลั่งสารเคมี และสารสื่อประสาทที่เพิ่มความวิตกกังวลออกมามากเกินไป ซึ่งส่งผลให้เธอมีภาวะไม่สบายใจ กระสับกระส่าย กระวนกระวายไปตลอดวัน ยิ่งดื่มเยอะเท่าไหร่ เธอก็จะยิ่งมีภาวะเสพติดความสบายหรือ ' เมา ' ในช่วงแรกๆ จนอาจไปถึงการติดเหล้าเรื้อรังได้ จึงไม่ควรใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใดๆ เพื่อหนีความทุกข์ เพราะสุดท้ายมันจะกลับมาเล่นงานเธอในภายหลังอยู่ดีค่ะ

หลายคนอาจไม่รู้ว่า การกินอาหารบางชนิดมากเกินไป หรือขาดสารอาหาร แร่ธาตุที่จำเป็นบางอย่าง เช่น แมกนีเซียมและซิงก์ ล้วนกระตุ้นให้โรควิตกกังวลกำเริบ รุนแรงมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว! โดยเฉพาะสาวๆ ที่ชอบกินคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว ขนมปังขาว ข้าวขาวทั้งหลาย รวมถึงทุกสิ่งอย่างที่ใส่น้ำตาล เมื่อกินเข้าไปแล้ว ร่างกายจะเผาผลาญอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดปั่นป่วนเหมือนนั่งรถไฟเหาะเลยทีเดียว ซึ่งส่งผลต่อสารเคมีในสมองและอารมณ์ได้นั่นเองค่ะ
หากรู้ตัวว่ากินแป้งและน้ำตาลเยอะ สามารถกลับตัวได้ง่ายๆ ด้วยเปลี่ยนประเภทของอาหารเป็น ' คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ' เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ โฮลวีท โฮลเกรนและธัญพืชทั้งหลาย ควบคู่กับผักและผลไม้ จะช่วยคงระดับน้ำตาลในเลือดให้เสถียร, อาหารที่มีวิตามินสูง เช่น ผักใบเขียว ถั่วและไข่ ทำให้อารมณ์ของเธอไม่สวิงง่าย จึงลดความเครียด วิตกกังวลให้น้อยลง ลองปรับเมนูดู แล้วจะพบว่าโลกสงบขึ้นจนน่าแปลกใจ

ไม่ว่าจะเป็นสาวสังคมจัดหรือ Introvert การอยู่คนเดียวนานเกินไปอาจกระตุ้นให้โรควิตกกังวลรุนแรงมากขึ้นได้! มีงานวิจัยเปิดเผยว่า การอยู่อย่างสันโดษเป็นระยะเวลานานๆ หลายเดือนหลายปี ทำให้เธอมีภาวะตื่นตระหนก นอนไม่หลับ ใจสั่นกำเริบได้มากกว่าอยู่ท่ามกลางเพื่อนสนิท แม้แต่คนโลกส่วนตัวสูงก็ตามที
ในงานวิจัยปี 2011 ในหมู่เด็กนักเรียนได้บอกไว้ว่า เด็กๆ ที่อยู่กับเพื่อนจะผลิตฮอร์โมนความเครียด หรือคอร์ติซอลน้อยกว่าเด็กที่อยู่กับคนแปลกหน้า, สมาชิกในครอบครัวหรืออยู่ตามลำพัง ในหมู่ผู้ทดลองที่เป็นผู้หญิงก็เช่นกัน ฝ่ายที่คบค้าสมาคมกับสาวๆ คนอื่น ร่างกายจะหลั่งสารเคมีความสุขหรือออกซิโทซินออกมา ทำให้มีความสุขมากขึ้น ดังนั้นใครที่กำลังเซ็ง เหงาเปล่าเปลี่ยวกับการไม่มีใครอยู่ข้างๆ ลองเดินออกไปพบปะเพื่อนที่รู้จัก หรือแม้แต่โหลดแอปหาเพื่อนคุย ให้ได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับคนอื่นบ้าง สภาพจิตใจของเธอจะค่อยๆ ดีขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ

ใช่ค่ะ แค่ดื่มน้ำน้อยก็ทำให้เครียดได้! เพราะการที่ร่างกายมี ' ภาวะขาดน้ำ ( dehydration ) ' กระหายน้ำแม้แค่นิดเดียว ก็กระตุ้นให้เกิดภาวะวิตกกังวลกำเริบมากขึ้น มีงานวิจัยในปี 2009 เปรียบเทียบระหว่างนักกีฬาที่ดื่มน้ำเพียงพอ กับนักกีฬาที่ดื่มน้ำได้เมื่อหิวเท่านั้น ผลการวิจัยพบว่าแม้แต่คนที่ไม่ได้กระหายน้ำขนาดนั้น ก็ยังมีสัญญาณของความเหนื่อยล้า สับสน ซึมเศร้า และโกรธ โมโหง่ายได้มากกว่าคนดื่มน้ำอย่างเพียงพอค่ะ
ดังนั้นอย่ามองข้ามความสำคัญของน้ำเปล่า ควรดื่มให้เพียงพออย่างน้อย 8 แก้วต่อวันหรือขวดน้ำขนาด 1.5 ลิตรประมาณสองขวด ( หากมีกิจกรรมกลางแจ้งที่เสียเหงื่อเยอะก็ควรดื่มให้เยอะกว่านี้ ) หากกลัวลืมก็พกขวดน้ำหรือกระบอกน้ำจิ๋วติดตัวเลย นึกขึ้นได้เมื่อไหร่ก็ดื่ม อย่ารอให้ร่างกายบอกว่าหิว เพราะนั่นหมายความว่าร่างกายมีภาวะขาดน้ำเกิดขึ้นแล้ว ปล่อยไว้นานๆ ทั้งความเครียด ทั้งสมาธิได้หลุดลอยแน่นอน

ปัจจัยนี้ค่อนข้างจะทำใจลำบาก เพราะเป็นเรื่องที่ป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ยาก ในเรื่องของจังหวะชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แม้จะเป็นในเรื่องดีๆ ก็ตาม เช่น เรียนจบ รับปริญญา ไปเที่ยวที่ใหม่ๆ ได้งานที่ใหม่ เงินเดือนขึ้น มีแฟน มีสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ แต่งงาน มีลูก ทั้งหมดนี้ล้วนกระตุ้นให้เกิดภาวะวิตกกังวลและความเครียดสูงปรื๊ดอย่างไม่น่าเชื่อ

รู้สึกแทงใจดำสาวๆ ยุคใหม่ยังไงก็ไม่รู้ ในปี 2020 จะมีสาววัยเรียนหรือสาววัยทำงานสักกี่คนที่เข้านอนแต่หัวค่ำ ส่วนใหญ่ก็มักติดลมเม้าท์มอยกับเพื่อน คอลกับแฟน ทำงานเพลิน หรือดูซีรีส์ การ์ตูนจนดึกดื่นกันทั้งนั้น ความตลกคือ ยิ่งอดนอน นอนน้อย แทนที่จะง่วงหลับเร็ว ร่างกายยิ่งสั่งให้สมองตื่น ทำให้เครียด นอนไม่หลับมากกว่าเดิม
อ้างอิงจาก American Psychological Association แค่อดนอนไป 60 นาทีต่อวัน ก็ทำให้เธอเกิดภาวะกระสับกระส่าย ความเครียดพุ่งสูง ความจำแย่ลง กล้ามเนื้อซ่อมแซมตัวเองได้น้อยลง หากใครมีความเครียดอื่นในชีวิตเป็นทุนเดิม ยิ่งอดนอนก็จะยิ่งเครียดมากกว่าเดิมขึ้นไปอีก หากปกติเป็นคนชิลล์ๆ อาจเครียดเพิ่มขึ้น 13% แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยโรควิตกกังวลอยู่แล้ว หากนอนไม่พอ อัตราความเครียดอาจสูงไปถึง 45% เลยทีเดียว ทางแก้ไขคือพยายามปรับการนอนให้เป็นเวลา ไม่นอนดึก นอนเวลาเดิมตรงกันทุกวัน และนอนให้พอครบ 8 ชั่วโมง ก็จะช่วยลดระดับของความเครียดได้ค่ะ

อาจไม่เกี่ยวกับพฤติกรรมของเราโดยตรง แต่ปัจจัยแวดล้อมภายนอกอย่าง ' แสงไฟ ' โดยเฉพาะแสงจากไฟฟลูออเรสเซนต์ แม้จะช่วยประหยัดค่าไฟและให้แสงสว่างได้ดี แต่ผลเสียคือมันเพิ่มระดับความเครียดของเธอแบบเนียนๆ โดยไม่รู้ตัว เพราะไฟฟลูออเรสเซนต์จะมี blue light หรือแสงสีน้ำเงินมากกว่าหลอดไส้แบบธรรมดา ซึ่งยับยั้งให้สมองหลั่งสารเมลาโทนินที่ทำให้นอนหลับได้ง่ายลดลง ทำให้คุณภาพการนอนแย่ลง ทำให้คนที่เซนซิทีฟกับแสงไฟมีความเครียดสะสมมากขึ้น
ทั้งนี้นอกจากไฟ เสียงและกลิ่นบางอย่างที่สาวๆ ไม่ชอบหรือกระตุ้นความทรงจำที่ไม่ดี แม้จะเป็นกลิ่นที่หอมหรือเสียงเพราะแค่ไหน ก็ทำให้เธอปวดหัว เครียด อารมณ์ดิ่งได้ เช่น กลิ่นน้ำหอมของเพื่อนร่วมงาน เสียงร้องเพลงของป้าข้างบ้าน กลิ่นเสื้อผ้าของแฟนเก่า กลิ่นน้ำมันเครื่อง เสียงนกร้อง เป็นต้น

---------------------------------
สาวซิสที่กำลังเจอภาวะวิตกกังวลเล่นงาน แทบทุกคนต้องเผลอทำอย่างน้อยหนึ่งในเจ็ดข้อนี้มากเกินไป หรืออาจทำทุกข้อโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้! ทั้งการดื่มแอลกอฮอล์เกินพิกัด กินอาหารไม่มีประโยชน์ ขาดน้ำ ขาดสารอาหาร อยู่คนเดียวนานเกินไปจนส่งผลกับสุขภาพจิต นอนดึก ล้วนส่งผลให้อาการเหล่านี้รุนแรงขึ้นแทบทั้งสิ้น หรือแม้แต่ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อย่างแสงไฟและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามโชคชะตาของเราก็ตาม ก็ทำให้เราใช้ชีวิตได้ยากขึ้น
เนื่องจากภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ อาจจะไม่หายขาด แต่เธอสามารถบรรเทาได้ด้วยการลดปัจจัยกระตุ้นออกไปให้น้อยที่สุด หากตัวคนเดียวไม่ไหวก็หันหน้าเข้าหาครอบครัว เพื่อนฝูงหรือให้ผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์ช่วยเหลือ ( หากอาการอาจถึงขั้นต้องกินยา ) การที่เราจะตื่นตระหนก เพราะจิตใจเราไม่สงบ ไม่มีสมาธิ เราจึงแนะนำให้สาวๆ ทำควบคู่ไปกับการ ' นั่งสมาธิ ' เพื่อฝึกจิตให้นิ่งขึ้น หาเวลาว่างก่อนนอนทำ วันละ 10-15 นาที นอกจากความจำดี สมองไบรท์ขึ้น ยังลดความเครียดและกังวลได้ด้วย ลองดูนะคะ ^ ^ สำหรับวันนี้ต้องขอตัวลาไปก่อน พบกันใหม่คราวหน้าค่า
Comments