เนื่องด้วยสถานการณ์ปัจจุบันในยุคโควิดที่มีการระบาดค่อนข้างรุนแรงในประเทศตอนนี้ ทำให้เราทุกคนต้องกลับมาเริ่มต้นการทำงานแบบ WFH ใหม่อีกครั้ง และยังไม่ทราบวันที่แน่ชัดว่าสถานการณ์นี้จะดีขึ้นเมื่อไหร่ ทำให้ใครหลายๆ คนอาจต้องเผชิญปัญหาทางด้านจิตใจในการทำงานที่เรียกว่า

สภาวะเบิร์นเอาท์ ( Burnout )

หรือ หมดไฟ นั่นเอง เนื่องจากการทำงานที่ต้องอุดอู้อยู่แต่ในห้องและไม่ได้ออกไปเจอผู้คน รวมไปถึงความกดดันในการทำงานที่อาจทำให้เรารู้สึกว่าทำไมมีแค่ตัวเราที่เผชิญปัญหานี้อยู่คนเดียวในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ นี้

หลายคนอาจมีอาการเบื่อหน่ายเกิดขึ้นระหว่างวัน ความกระตือรือร้นที่เคยมีก็ค่อย ๆ หายไปทีละเล็กน้อย ซึ่งอาการเหล่านี้จะเริ่มก่อตัวและสะสมไปเรื่อย ๆ จนทำให้เราหมดไฟและแพชชั่นในการใช้ชีวิตในแต่ละวันได้ บทความนี้จึงอยากพาทุกคนไปเรียนรู้ทำความเข้าใจให้รู้ทันตัวเองก่อนที่มันจะกลายเป็นปัญหาที่เราไม่สามารถแก้ได้ด้วยตัวเราเองได้ และอาจต้องมีการเข้าพบจิตแพทย์เพื่อดำเนินการรักษาในกระบวนการต่อไป

รูปภาพ:https://cdn.pixabay.com/photo/2016/10/12/09/03/woman-1733891_960_720.jpg

หนึ่งในสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ใครหลาย ๆ คนเกิดสภาวะเบิร์นเอาท์ระหว่างการทำงานแบบ WFH คือ การที่เรา

เปิดโหมดทำงานตลอดเวลา

ไม่มีเส้นแบ่งเวลาการทำงานและเวลาส่วนตัวที่ชัดเจน เหตุนี้จะทำให้เรารู้สึกเหนื่อยทั้งวัน หมดแรงทุกครั้งที่เลิกงาน หรือบางทีเลิกงานแล้วแต่ยังต้องเคลียร์งานให้เสร็จ ซึ่งช่วงระยะเวลาในการเคลียร์งานนั้นอาจเป็นการทำงานที่กินเวลาส่วนตัวเราไปค่อนข้างมาก นานวันไปเรื่อย ๆ เหตุการณ์วนลูปซ้ำ ๆ ก็อาจทำให้เราตกอยู่ในสภาวะเบิร์นเอาท์ได้โดยไม่รู้ตัว ผู้เขียนจึงอยากให้ทุกคนได้ลองสังเกตตัวเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานของตัวเองโดยการแบ่งเวลาส่วนตัวและเวลาการทำงานให้ชัดเจนเพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องค่อยพะวงเรื่องการทำงานตลอดเวลา

สัญญาณที่จะทำให้เรารู้ตัวว่าเรากำลังตกอยู่ในสภาวะหมดไฟเช่นนี้ได้ คือ การที่เราเริ่ม

มีความรู้สึกเบื่อหน่าย เพิกเฉย และไม่ค่อยมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามา

เช่น การไม่ต้องการรับรู้เรื่องราว หรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่อยากพูดคุยและรู้สึกอยากอยู่คนเดียวมากขึ้น สำหรับใครที่อยู่กันเป็นครอบครัว การตกอยู่ในสภาวะเบิร์นเอาท์มีโอกาสที่จะทำให้ปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัวเหินห่างกันมากขึ้นเช่นกัน

รูปภาพ:https://cdn.pixabay.com/photo/2016/11/22/06/32/girl-1848477_960_720.jpg

การเริ่มดูแลรักษาจิตใจตัวเราเองนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้ตัวเรารู้สึกมีคุณค่าและไม่หมดแพชชั่นในตัวเอง มีความแอ็กทิฟที่จะใช้ชีวิตต่อไปในแต่ละวันที่มากขึ้น สิ่งที่สำคัญมาก ๆ ในการดูแลตัวเองช่วง WFH คือ

การวางแผนช่วงเวลาทำงานและเวลาส่วนตัวที่ชัดเจน

สิ่ง ๆ นี้จะช่วยให้เราได้มีโอกาสในการใช้ชีวิตส่วนตัวในช่วงเวลาอื่น ๆ นอกเหนือจากการทำงานมากขึ้น

และอีกหนึ่งคำแนะนำที่บทความนี้อยากให้ทุกคนได้ทำกัน คือ

การเปิดใจพูดคุยกับใครสักคนที่เราไว้ใจได้เล่าถึงปัญหาหรือระบายสิ่งต่าง ๆ ที่เราเผชิญอยู่

การได้พูดคุยจะทำให้เรารู้สึกโล่งใจและสบายตัวมากขึ้น อาจจะเริ่มต้นด้วยการพูดคุยในเรื่องง่าย ๆ สบาย ๆ ในแต่ละวันของการใช้ชีวิตหรือกิจกรรมที่เรากำลังทำอยู่ที่รู้สึกมีความสุขและอยากแบ่งปันเรื่องราวให้กันและกัน การพูดคุยจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เราผ่อนคลายและสบายใจมากขึ้น และยังช่วยลดภาวะเครียดสะสมจากการทำงานได้อีกด้วย

รูปภาพ:https://cdn.pixabay.com/photo/2018/04/07/01/37/child-3297554_960_720.jpg

จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนนั้น เราเองก็เคยตกอยู่ภาวะหมดไฟเช่นกันในช่วงที่ผ่านมา ณ ตอนนั้นเรามีความรู้สึกว่าการทำงานในแต่ละวันของเรามันไม่สนุกและไม่ท้าทายเหมือนแต่ก่อนที่เริ่มทำงานแรก ๆ เรามีความรู้สึกว่าเราทำงานแค่ให้ผ่าน ๆ ไปแต่ละวัน ไม่มีความกระตือรือร้น หรือ หาไอเดียใหม่ ๆ มาต่อยอดงานที่เคยทำ นอกเหนือจากนั้นเราเริ่มต้องการอยู่คนเดียวเงียบ ๆ มากขึ้นและเก็บตัวอยู่ในห้องมากขึ้นกว่าเดิม จากแต่ก่อนที่มักจะหางานอดิเรกทำช่วงเสาร์ อาทิตย์ กลับกลายเป็นว่าเรารู้สึกเหนื่อยเกินไปที่จะทำงานอดิเรกที่เราเคยทำ

จนกระทั่งเพื่อนสนิทเราได้โทรมาปรึกษาและเราก็เลยได้พูดคุยแลกเปลี่ยนและอัปเดตชีวิตของกันและกันมากขึ้น ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยและโล่งใจมากแบบหาสาเหตุไม่ได้ เราจำได้ว่าวันนั้นเป็นวันที่เราพูดเยอะมาก ๆ เหมือนกับว่าเราได้ระบายสิ่งที่เรารู้สึกไม่สบายใจออกมา เราเริ่มรู้ตัวว่าเรานั้นอาจจะเครียดเกินไปและมีอาการหมดไฟ หมดแพชชั่นในการทำงานร่วมด้วย เราจึงพยายาม

ค่อยๆปรับตัวและตารางการทำงานให้บาลานซ์กันมากขึ้น

รูปภาพ:https://cdn.pixabay.com/photo/2020/03/24/16/17/mask-4964590_960_720.png

การที่เราค่อย ๆ ปรับตัวและรู้ทันอารมณ์ของตัวเองจะช่วยให้เรามีสุขภาพจิตที่สมดุลมากขึ้นและยังมีแพชชั่นในการใช้ชีวิตเพื่อเติมเต็มความสุขในทุก ๆ วัน สุดท้ายนี้ ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ใครหลาย ๆ คนที่กำลังเผชิญภาวะหมดไฟจากการทำงาน หรือ เบิร์นเอาท์ ได้มีโอกาสในการสื่อสารกับตัวเองและทำความเข้าใจกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น มีความสุขในการบาลานซ์ชีวิตส่วนตัวและการทำงานที่ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมสู้ต่อในทุก ๆ วัน และ ( หวังว่าเร็ว ๆ นี้ ) เราจะได้ออกไปใช้ชีวิตแบบไร้ซึ่งการสวมหน้ากากอนามัยอย่างแฮปปี้กันถ้วนหน้า


เนื้อหาทั้งหมดถูกรวบรวมและเขียนโดย ผู้เขียน ( Chacha )