มะเร็งเต้านม ภัยเงียบอันดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลก โรคนี้เป็นอีกหนึ่งโรคที่ไม่มีผู้หญิงคนไหนไม่รู้จัก ภัยเงียบ ที่เราไม่รู้ว่าเขาจะปะทุขึ้นมาเมื่อไหร่ เพราะงั้นวันนี้เราลองมาตรวจเช็คกันดูหน่อยมีวิธีสังเกตและวิธีตรวจเช็กอยู่ค่ะ บทความนี้เราจะมาแชร์ให้เพื่อน ๆ ได้รู้ไปพร้อม ๆ กัน และจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ 'มะเร็งเต้านม' ด้วย จะได้รู้ว่าต้องทำยังไง? เป็นแล้วดูแลตัวเองยังไง? รักษายังไงบอกหมดเลย เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา... เอาเป็นว่าเราไปทำความรู้จักกับโรคนี้กันเลยดีกว่าค่ะ
• • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • •
มะเร็งเต้านมเกิดขึ้นได้อย่างไร? มีการเปลี่ยนแปลงอะไรให้รู้ได้บ้าง?

มะเร็งเต้านม เกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม ทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้องอก ซึ่งถ้าเราไม่รีบทำการรักษา มะเร็งจะโตขึ้นและกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ก่อนที่จะกระจายไปอวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก จนเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
★ มะเร็งเต้านมจะแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ
- ระยะที่ 1 - ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กกว่า 2 ซม. และยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้
- ระยะที่ 2 - ก้อนมะเร็งมีขนาดระหว่าง 2 - 5 ซม. และ/หรือมีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ข้างเดียวกัน
- ระยะที่ 3 - ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 ซม. แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ข้างเดียวกันอย่างมาก จนทำให้ต่อมน้ำเหลืองเหล่านั้นมารวมติดกันเป็นก้อนใหญ่หรือติดแน่นกับอวัยวะข้างเคียง
- ระยะที่ 4 - ก้อนมะเร็งมีขนาดโตเท่าไหร่ก็ได้ แต่พบว่ามีการแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายที่อยู่ไกลออกไป เช่น กระดูก ปอด ตับ หรือสมอง เป็นต้น
★ อาการ
- การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังบริเวณหน้าอก เช่น มีรอยบุ๋ม ย่น หดตัว หนาผิดปกติคล้ายเปลือกส้ม หรือบางส่วนเกิดเป็นสะเก็ด
- ความเปลี่ยนแปลงของหัวนม เช่น มีการหดตัว หัวนมบอด คันหรือแดงผิดปกติ เลือดออกทางหัวนม อาการเจ็บเต้านม หรือมีก้อนที่รักแร้
อย่าไรก็ตาม การมีก้อนเนื้อในเต้านม ไม่ได้หมายความว่าเป็นมะเร็งเสมอไปนะ ดังนั้นพอคลำแล้วพบก้อนที่เต้านม อย่าเพิ่งตกใจแต่ก็อย่านิ่งนอนใจด้วย ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เจ็บหรือปวดก่อน ให้ไปพบหมอทันที คุณหมอจะได้เร่งวินิจฉัยและรีบทำการรักษาโดยเร็ว
○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○
เมื่อไหร่ถึงควรตรวจมะเร็งเต้านม ?
เชื่อว่าเพื่อนๆ หลายคนมีคำถามเยอะแยะมากในหัวว่า มันจะเกิดขึ้นกับใครได้บ้าง ช่วงอายุเท่าไหร่ แล้วเมื่อไหร่ควรตรวจมะเร็งเต้านม วันนี้เรารวบรวมคำตอบมาให้เพื่อน ๆ แล้วจริง ๆ แล้วมะเร็งเต้านมพบมากในผู้หญิงนะคะว่ากันว่า มักจะพบได้บ่อยตั้งแต่อายุ 40 - 50 ปี หรือผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่กินยาฮอร์โมนทดแทน ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน จริง ๆ พออายุเริ่มมากขึ้น ก็ควรจะไปตรวจได้แล้วแหละ เพราะยิ่งอายุมากก็ยิ่งมีความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งผู้หญิงทุกคนควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งด้วยการทำแมมโมแกรม หรืออย่างน้อยคือการตรวจด้วยตนเองหน้ากระจกและบนที่นอนหลังจากหมดประจำเดือนในรอบนั้นๆ อย่างเป็นประจำ ซึ่งผูั้ที่เหมาะสมจะตรวจเต้านมนั้นเป็นได้ทั้งผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์และวัยหมดประจำเดือนเลย
- หากต้องการรับการตรวจแมมโมแกรม ควรตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
- หากตรวจคลำเต้านมด้วยตัวเองก็สามารถทำได้เดือนละ 1 ครั้ง ตรวจได้ทุกช่วงอายุ หลังจากประจำเดือนรอบนั้นหมดแล้ว
- ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด ในการตรวจ คือ 3- 7 วันหลังหมดประจำเดือนในรอบนั้นๆ
- ไม่ควรตรวจเต้านมช่วงประจำเดือนมา
○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○
ผู้ชายเป็นมะเร็งเต้านมได้ไหม ?

ตอบเลยว่าผู้ชายสามารถเป็นมะเร็งเต้านมได้เหมือนกันค่ะ แต่จากสถิติจะพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ที่เป็นเพศชายเพียง 0.5 - 1% ต่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพศหญิง 100 คนหรือก็คือมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างน้อยมาก ๆ นะคะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ โดยหนุ่ม ๆ ทั้งหลายสามารถสังเกตอาการได้ดังนี้
★ อาการเบื้องต้น
- มีผื่นหรือแผลเรื้อรังบริเวณหัวนม
- มีก้อนเนื้อแข็งในเต้านม เมื่อบีบแล้วไม่เจ็บหรือปวด
- เต้านมหรือหัวนมแดงผิดปกติ
- มีของเหลวไหลออกจากหัวนม
- หัวนมยุบบุ๋มหรือหัวนมบอด
★ อาการลุกลาม
- ปวดกระดูก
- รอบรักแร้มีอาการบวมของต่อมน้ำเหลือง
- หายใจหอบถี่
- เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
- คลื่นไส้
- ตัวเหลือง ตาเหลือง
ถ้าไม่อยากเสี่ยงหรืออยากลดความเสี่ยงก็ต้องหมั่นตรวจเต้านมของตัวเองเป็นประจำ, งดหรือดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อย ๆ, หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่, ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐานและหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้าได้แล้วค่ะ
○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○
วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง
การตรวจคลำเต้านมด้วยตัวเอง สามารถทำได้ที่บ้าน แนะนำว่าให้ยืนตรวจหน้ากระจกและนอนตรวจบนที่นอน โดยเน้นเพียง 3 ท่าหลักๆ ดังนี้
- การคลำในแนวก้นหอย : โดยเริ่มจากคลำส่วนบนของเต้านมตามแนวก้นหอยไปจนถึงฐานนมบริเวณรอบรักแร้
- การคลำในแนวรูปลิ่ม : เริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านม จนถึงฐานแล้วกลับขึ้นสู่ยอดอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนทั่วทั้งเต้านม
- การคลำในแนวขึ้นลงจากใต้เต้านม : เริ่มคลำจากใต้เต้านมจนถึงกระดูกไหปลาร้า แล้วขยับนิ้วทั้งสามนิ้ว คลำในแนวขึ้นและลงสลับกันไปเรื่อย ๆ จนทั่วทั้งเต้านม
ตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน ค่อยๆ สังเกตร่างกายไป อย่าละเลยนะคะซิส
○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○
วิธีสังเกตมะเร็งเต้านม สำหรับผู้ที่ทำศัลยกรรมเสริมหน้าอก

สำหรับคนทำศัลยกรรมหน้าอก ไม่ว่าจะเป็นการทำเพื่ออัปไซส์เพิ่มความสวย หรือการแก้ไขทางสรีระที่ต้องการทดแทนสรีระเดิมในเพศใดก็ตาม จะมีบางกรณีที่แพทย์แนะนำให้มีการตรวจคัดกรองหาความผิดปกติของเต้านมก่อนโดยการอัลตราซาวด์หรือแมมโมแกรมโดยละเอียด เพื่อช่วยให้เห็นเนื้อเยื่อเต้านมก่อนผ่าตัดจริง และให้มั่นใจว่าสามารถผ่าตัดเสริมหน้าอกได้อย่างปลอดภัยขึ้น ไม่มีแนวโน้มความเสี่ยงใดตามมาในภายหลัง
ฉะนั้นทางที่ดีที่สุดของคนทำศัลยกรรมเสริมหน้าอกคือ การตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม ค่ะ เพราะหากตรวจด้วยตัวเองอาจจะมีการคลาดเคลื่อนได้ค่อนข้างสูง แล้วไม่ต้องกังวลว่าการตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรมสำหรับคนที่ทำศัลยกรรมหน้าอกมาจะมีความยากหรือลำบากอะไรกว่าการตรวจหน้าอกที่ไม่ได้ผ่านการทำศัลยกรรม เพราะสามารถตรวจได้ตามปกติเลยค่ะ แต่ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบก่อนตรวจเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ หรืออย่างน้อยก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนได้รับการตรวจค่ะ
○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○
รู้จักการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม

เพื่อน ๆ อาจจะสงสัยกันว่า แมมโมแกรมคืออะไร? แมมโมแกรม คือการตรวจเอกซเรย์เต้านม โดยใช้เครื่องมือเฉพาะ กดเต้านมให้แบนราบมากที่สุด และถ่ายภาพเต้านม 2 ท่า อาจมีการทำอัลตราซาวด์เพิ่ม เพื่อช่วยให้วินิจฉัยหรือยืนยันว่าสิ่งที่พบผิดปกติในแมมโมแกรม จะช่วยให้วินิจฉัยได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
★ ข้อดีของการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม
- ปริมาณรังสีต่ำ มีความปลอดภัยสูงเนื่องจากมีการควบคุมปริมาณรังสีตามมาตรฐาน
- ภาพเอกซเรย์คมชัด สามารถแยกความแตกต่างของไขมันและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของเต้านมได้
- มีความถูกต้องแม่นยำสูง
- รวดเร็ว ลดระยะเวลาในการตรวจ
- มีการบันทึกภาพเต้านมแบบดิจิตอล สามารถมองเห็นภาพบนจอคอมพิวเตอร์ได้เลย
★ ข้อจำกัดของแมมโมแกรม
- บางครั้งการตรวจด้วยแมมโมแกรม อาจจะให้ผลลัพธ์ที่ไม่เพียงพอต่อแพทย์ โดยเฉพาะเมื่อเจอจุดที่น่าสงสัย แพทย์อาจจะแนะนำให้เราตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม เพื่อความแม่นยำยิ่งขึ้น
- เนื้อเยื่อเต้านมของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน โดยเฉพาะกับคนที่ทำหน้าอกมา นั่นอาจทำให้การแปลผลของการตรวจแมมโมแกรมนั้นยากตามไปด้วย
- แมมโมแกรมไม่สามารถแสดงให้เห็นมะเร็งเต้านมได้ทุกชนิด โดยส่วนใหญ่แล้วจะตรวจพบเพียงแค่มะเร็งเต้านมในระยะแรกเริ่ม และบางครั้งผลที่ได้ อาจจะมีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้น เช่น แมมโมแกรมตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม ทั้ง ๆ ที่ความจริงอาจจะไม่ได้เป็นก็ได้
- ถุงเต้านมเทียม มีผลทำให้ผลตรวจความแม่นยำของการตรวจแมมโมแกรมลดลง
★ การตรวจแมมโมแกรมเหมาะกับใคร?
เหมาะสำหรับตรวจผู้ที่คลำเต้านมได้ลำบาก ผู้ที่ผ่านการเสริมหน้าอก และผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป สำหรับคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ส่วนคนที่อายุ 55 ปีขึ้นไป ควรตรวจปีละ 2 ครั้ง แต่หากพบความผิดปกติ แพทย์จะนัดตรวจทุก ๆ 3 - 6 เดือน
★ แล้วใครที่ไม่เหมาะกับการตรวจเครื่องแมมโมแกรม?
แม้การตรวจแมมโมแกรม จะเป็นการตรวจที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่ก็ไม่แนะนำสำหรับคนที่อยู่ในช่วงประจำเดือนมา และคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์นะจ๊ะ
○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○
ปัจจัยหรือสาเหตุกระตุ้นการเกิดมะเร็งเต้านม
สามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือปัจจัยที่ควบคุมได้และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ตามนี้เลยค่ะ
★ ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้
- ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน : ควรคุมน้ำหนัก รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสมกับรูปร่างและช่วงวัย
- ทานอาหารประเภทไขมันและเนื้อสัตว์ในปริมาณที่มาก ควรลดและเพิ่มการทานผักและผลไม้ : ควรทานอาหารครบ 5 หมู่ ให้ประโยชน์อย่างหลากหลาย
- ความเครียด : พักผ่อนสมองจิตใจ ร่างกาย คลายเครียดอยู่เสมอ
- การไม่ออกกำลังกาย : ควรออกกำลังกายสัปดาห์ละ 150 นาที
- การดื่มแอลกอฮอล์ : ควรจำกัดการดื่มไม่เกิน 1 แก้วต่อวันหากมีความต้องการ
- การสูบบุหรี่ : ไม่สูบบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงควันบุหรี่
- การทานยาคุมกำเนิด : ควรควบคุมการทานยาคุมกำเนิดหรือปรึกษาแพทย์
- การทานยาเสริมฮอร์โมนในผู้หญิงช่วงวัยทอง : ควรจำกัดการใช้ฮอร์โมนทดแทนและปรึกษาแพทย์ควบคู่ไปด้วย
★ ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้
- อายุที่มากขึ้น
- กรรมพันธุ์
สำหรับใครที่มีพฤติกรรมตามปัจจัยที่ควบคุมได้อยู่ก็อย่าลืมลด ละ เลี่ยงเพื่อสุขภาพและลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมนะคะ
○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○
อาการที่มีความเสี่ยงมะเร็งเต้านม

นอกจากการตรวจด้วยการคลำเต้านม อย่าลืมวิธีเช็กง่ายๆ ด้วยการเริ่มสังเกตตัวเองก่อนซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสพบมะเร็งตั้งแต่ระยะแรก ๆ เพื่อผลการรักษาที่ดีขึ้น จริง ๆ แล้วมันมีสัญญาณ หรืออาการบางอย่างที่บ่งบอกออกมาว่าเต้านมเราผิดปกติ บทความนี้เราได้ทำการรวบรวมสัญญาณเตือนต่าง ๆ มาให้เพื่อน ๆ ได้ลองตรวจเช็กตัวเองดู จะมีอะไรบ้าง ดูตามลิสต์นี้ได้เลยค่ะ
- ขนาด หรือรูปร่างของเต้านมเปลี่ยนไป
- ผิวเต้านมมีรอยแดง, ผื่นแดงร้อนบวมหนาคล้ายเปลือกส้ม, แผลเปิดที่รักษาไม่หายที่เต้านม, แผลหรือผื่นรอบหัวนมที่รักษาไม่หายขาด
- คลำพบก้อนผิดปกติที่เต้านมหรือบริเวณรักแร้
- มีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง เช่น มีรอยบุ๋มลงไปคล้ายลักยิ้ม
- หัวนมบุ๋ม
- มีของเหลวไหลออกจากหัวนม เช่น น้ำเลือดหรือน้ำเหลือง
- ปวดเต้านมที่ไม่สัมพันธ์กับประจำเดือน
อาการปวดเต้านม ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนความผิดปกติ แต่อย่าเข้าใจผิดระหว่าง ปวดเพราะประจำเดือน กับปวดเพราะมะเร็ง มันต่างกัน! ถ้าปวดเพราะเป็นประจำเดือน มันจะต้องมีอาการปวดที่สัมพันธ์กับประจำเดือนค่ะ ซึ่งผู้หญิงทุกคนรู้กันดี ในช่วงที่เราเริ่มมีประจับเดือน อาการปวดเต้านมจะเป็นอาจปวดทั่ว ๆ ข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง และอาจมีปวดร้าวมาที่รักแร้ได้ แต่ถ้าเป็นอาการปวดที่ไม่สัมพันธ์กับประจำเดือน มันจะรู้สึกปวดตลอดเวลา หรือมีตำแหน่งที่ปวดเป็นพิเศษ ซึ่งสาเหตุอาจจะเกิดจากความผิดปกติของเต้านมเองหรือความผิดปกติจากสาเหตุภายนอกเต้านมทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าพบว่าอาการปวดที่เป็น ไม่เกี่ยวโยงกับการมีประจำเดือน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที อย่าปล่อยเลยตามเลยนะจ๊ะ
○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○
วิธีการรักษามะเร็งเต้านม
วิธีรักษามะเร็งเต้านมที่ได้ผลดีที่สุดและเป็นที่ยอมรับ มีอยู่ทั้งหมด 5 วิธี
- การรักษาโดยการผ่าตัด
- การรักษาโดยการฉายแสง
- การรักษาโดยยาต้านฮอร์โมน
- การรักษาโดยยาเคมีบำบัด
- การรักษาโดยยาที่มีการออกฤทธิ์จำเพาะ
ซึ่งมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก ส่วนใหญ่แล้วจะรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นอันดับแรกเลยค่ะ และจะตามด้วยการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อเสริมให้ผลการรักษาดีขึ้นนั่นเอง
○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○
วิธีลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม!
นอกจากการตรวจมะเร็งเต้านม ทั้งแบบตรวจด้วยตัวเองและตรวจแมมโมแกรมทุกปีแล้ว วิธีการลดความเสี่ยงการมะเร็งเต้านม ยังมีอีกหลายวิธี เช่น
- การควบคุมน้ำหนัก : ว่ากันว่าน้ำหนักตัวมีความสัมพันธ์กับมะเร็งเต้านมด้วย เพราะฉะนั้นเราควรควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์ ยิ่งถ้าเพื่อน ๆ อยู่ในวัยที่หมดประจำเดือนแล้ว ยิ่งต้องระวังให้มาก ๆ ควรคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด เน้นกินโปรตีนที่ดีและลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตนะจ๊ะ
- เลือกกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ : อย่างที่เขาว่ากันไง กินอะไร ก็ได้อย่างนั้น ถ้าอยากมีสุขภาพที่ดี ก็ต้องเลือกกินแต่ของดีๆ อาหารจากพืชธรรมชาติ ธัญพืชไม่ขัดสี รวมถึงเนื้อปลา ว่ากันว่ามีส่วนช่วยป้องกันมะเร็งเต้านมได้ โดยสัดส่วนที่แนะนำให้ทานคือ กินผักผลไม้ 2 ใน 3 จากอาหารมื้อหลัก และกินเนื้อสัตว์เพียง 1 ใน 3 จากอาหารมื้อหลัก เพื่อให้อยู่ในระดับการกินอาหารที่พอดี ทั้งนี้ยังมีการแนะนำให้ดื่มชาเขียวหรือชาดำด้วย เพราะชาเหล่านี้มีสารแอนตี้ออกซิแดนท์ที่ช่วยป้องกันการเกิดเซลล์ร้ายในร่างกายได้นั่นเอง
- ออกกำลังกาย : แน่นอนว่า ประโยชน์ของการออกกำลังกายนั้นมีเยอะมาก ๆ เพราะฉะนั้นเมื่อเราอายุเริ่มมากขึ้นแล้ว ควรออกกำลังกายบ่อย ๆ นะ การออกกำลังกายดีต่อสุขภาพและช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลงได้ แต่ก็อย่าออกแบบหักโหมจนเกินไป แค่ออกให้สม่ำเสมอก็พอแล้ว
- อยู่ให้ห่างไกลสารพิษ : สารพิษบางอย่าง เราหลีกเลี่ยงได้ แต่มันก็จะมีบางอย่าง ที่เราไม่รู้ และเผลอกินหรือเข้าใกล้มัน ซึ่งสารพิษเหล่านี้ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นสารพิษจากผักผลไม้ที่ผ่านยาฆ่าแมลง หรือสารพิษจากบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขอแนะนำให้ถอยห่างค่ะ เพราะสิ่งเหล่านี้ มีส่วนเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมได้ เพราะงั้นเลี่ยงได้จะดีที่สุด
- ทานวิตามิน : พออายุเราเพิ่มขึ้นทุกวัน ๆ วิตามินบำรุงร่างกาย เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้จริง ๆ นะ มันต้องหาทานเสริมสักหน่อย อาหารเสริมที่ดีต่อสุขภาพเต้านมของผู้หญิงมีชื่อว่า Calcium D – Glucarate นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม ยังช่วยให้ตับขับฮอร์โมนเอสโตรเจนส่วนเกินได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย แต่ว่าปริมาณที่รับประทานควรเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น นอกจากนี้วิตามินดี วิตามินซี วิตามินรวม ก็สามารถทานเสริมได้นะ แต่ก็ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เช่นกันค่ะ
นอกจากนี้แม้ว่าการสวมใส่บราและการโนบราจะไม่ได้ส่งผลต่อโรคมะเร็งเต้านม แต่เราก็ควรดูแลหน้าอกหน้าใจของเราให้อยู่ด้วยกันอย่างดีไปตลอดด้วยการเลือกสวมใส่เสื้อในให้เหมาะสมกับรูปร่างหน้าอกและกิจกรรมที่ทำ เช่น ใส่สปอร์ตบราขณะออกกำลังกายเพื่อลดแรงกระแทกและการเสียดสี ใส่ชั้นในที่เนื้อผ้าเบาสบายไม่ระคายผิวตอนนอนเพื่อลดการเสียดสี ลดอาการปวดและช่วยระบายอากาศได้ดี เป็นต้น อย่างน้อยเป็นการเพิ่มความสบายส่วนตัวให้กับหน้าอกและร่างกายของเรา เลือกเสื้อชั้นในที่รองรับหน้าอกได้ดีและไม่ทำให้อึดอัดหรือมีอาการเจ็บปวดตามร่างกายตามมาจะดีที่สุดค่ะ
○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○
แนะนำ 5 สถานที่ตรวจมะเร็งเต้านมเดินทางด้วย MRT/BTS

1. โรงพยาบาลลาดพร้าว
เป็นโรงพยาบาลเอกชน หากใครสะดวกหรือไม่อยากรอนานก็แนะนำเลยค่ะ ที่นี่จะมีแพ็กเกจการตรวจมะเร็งเต้านมจะอยู่ที่ราคาประมาณ 4,500 บาท สำหรับผู้ที่มีสิทธิประกันสังคมราคาจะอยู่ที่ 2,200 - 2,600 บาท
- การเดินทาง - สามารถเดินทางด้วย MRT สายสีเหลืองลงสถานีมหาดไทย ทางออก 2
2. โรงพยาบาลศิริราช
เป็นโรงพยาบาลรัฐที่ขึ้นชื่ออยู่แล้ว ผู้มีสิทธิบัตรประกันสังคมสามารถใช้บริการได้ ใครอยากไปตรวจก็จะมีแพ็กเกจในเวลาราชการราคาประมาณ 2,400 - 3,100 บาท ส่วนนอกเวลาราชการ จะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 2,700 - 3,400 บาท
- การเดินทาง - สามารถเดินทางด้วย MRT สายสีน้ำเงินลงสถานีไฟฉาย ทางออก 1 ต่อรถเมล์ที่ถ.พรานนกขึ้นสาย 81, 146, ปอ.91 หรือ ปอ.157 ส่วนการเดินทางด้วย BTS ให้ลงสถานสะพานตากสิน ทางออก 2 ต่อเรือด่วนเจ้าพระยามาขึ้นที่ท่าเรือวังหลังหรือท่าเรือรถไฟ
3. โรงพยาบาลกลาง
ที่นี่จะเป็นโรงพยาบาลรัฐนะคะ ผู้มีสิทธิประกันสังคมสามารถใช้ได้ มีตรวจทั้งแบบอัลตราซาวน์เต้านมในราคาประมาณ 650 บาท และตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมราคาประมาณ 1,700 บาท
- การเดินทาง - สามารถเดินทางด้วย MRT สายสีน้ำเงินลงสถานีวัดมังกร สามารถเดินต่อไปหรือเรียกรถรับจ้างไปต่อได้
4. โรงพยาบาลเปาโล (เกษตร)
ที่นี่จะเป็นโรงพยาบาลเอกชนค่ะ มีแพ็กเกจค่าใช้จ่ายประมาณ 2,900 - 3,230 บาท ไม่ได้เข้าร่วมสิทธิบัตรประกันสังคมดังนั้นต้องจ่ายเต็มนะคะ
- การเดินทาง - สามารถเดินทางด้วย BTS ลงสถานีเสนานิคม ทางออก 2
5. โรงพยาบาลพระรามเก้า
เป็นโรงพยาบาลเอกชนและไม่ได้เข้าร่วมสิทธิบัตรประกันสังคมน้า แต่มีแพ็กเกจการตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรมที่ราคา 3,400 บาท แล้วก็มีแพ็กเกจตรวจมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมแบบ 3D ในราคา 4,700 บาท นอกจากนี้ยังมีแพ็กเกจรวมการตรวจทั้งมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกรวมกันอยู่ที่ราคา 4,900 บาทอีกด้วยค่ะ
- การเดินทาง - สามารถเดินทางด้วย MRT ลงสถานีเพชรบุรี ทางออก 1 แล้วจะมีบริการรถ Shuttle Van ของรพ. (ฟรี) จอดริมถนนหน้าสถานี MRT
• • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • •
สรุป
เรื่องของ มะเร็งเต้านม เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราไม่ควรจะเลยตามเลย รู้เร็วดีที่สุดค่ะจะได้รีบทำการรักษา ง่าย ๆ คือลองสังเกตตัวเองดู จากวิธีการที่เราหยิบมาแนะนำในวันนี้ ถ้าพบว่ามีความผิดปกติ ให้รีบไปพบคุณหมอด่วนเลย จะได้รักษาได้ทันในระยะแรก อย่าปล่อยเอาไว้ ไม่งั้นมันอาจจะเสี่ยงลามไปเป็นมะเร็งอื่น ๆ ได้นะสำหรับวันนี้ต้องลาไปก่อนแล้ว บ๊ายบาย
ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ vejthani.com, gj.mahidol.ac.th, siphhospital.com, bangkokhospital-chiangmai.com, petcharavejhospital.com, phyathai.com, samitivejhospitals.com, paolohospital.com รวมทั้งภาพประกอบบทความจากเว็บไซต์ freepik
Writer : belfry, pumxpurin
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
แนะนำบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ!

ป้องกันไว้ดีกว่าแก้! วิธีเช็กอาการ ' มะเร็งเต้านม ' ด้วยตัวเองง่ายๆ ควรทำเป็นประจำ | บทความของ SIS GURU | SistaCafe ครบเครื่องเรื่องบิวตี้
https://sistacafe.com/summaries/92042

ทำความรู้จักกับ " รูปทรงหน้าอก " แบบต่าง ๆ อกเราเป็นผลไม้อะไร แล้วเหมาะกับบราแบบไหน? | บทความของ SIS GURU | SistaCafe ครบเครื่องเรื่องบิวตี้
https://sistacafe.com/summaries/91609

เทรนด์สุขภาพปี 2025 อัปเดตการดูแลตัวเองแบบใหม่ ๆ มีอะไรน่าสนใจบ้าง ? | บทความของ chollychon | SistaCafe ครบเครื่องเรื่องบิวตี้
https://sistacafe.com/summaries/health-wellness-trends-in-2025-203073

มะเร็งปากมดลูก เช็กสัญญาณเตือน ภัยใกล้ตัวสุดอันตรายของผู้หญิง | บทความของ belfry | SistaCafe ครบเครื่องเรื่องบิวตี้
https://sistacafe.com/summaries/cervical-cancer-93848

กรดไหลย้อนเสี่ยงเป็นมะเร็งได้ จริงไหม? อันตรายแค่ไหนต้องศึกษาให้เข้าใจ | บทความของ ManooFK | SistaCafe ครบเครื่องเรื่องบิวตี้
https://sistacafe.com/summaries/96667