การควบคุมตัวเองให้สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ดีเป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อการอยู่ร่วมกับคนหมู่มาก การควบคุมตัวเองหรือ ความฉลาดทางอารมณ์ นั้นสามารถนำมาใช้ได้กับทุกสถานการณ์ยิ่งเราสามารถฝึกฝนตนเองได้ตั้งแต่เด็กๆ จะยิ่งทำให้เรารู้จักการปรับตัวได้ดียิ่งขึ้น เพราะสังคมนั้นเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ โดยจะเห็นได้จากใครที่มีความฉลาดทางอารมณ์นั้นมักจะมองสถานการณ์นั้นๆ ออกได้ดี แถมยังแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้โดยอยู่ในมารยาททางสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่จะสามารถทำให้สถานการณ์นั้นๆ ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงตามมา

นอกจากนี้แล้วนั้นใครที่กำลังเป็นคุณพ่อคุณแม่ หรือมีหลานที่อยู่ในวัยที่เรียนรู้ได้แล้วนั้น การเสริมการเรียนรู้ด้านการปรับการควบคุมอารมณ์ของตัวเองจะช่วยให้เด็กๆ นั้นสามารถค่อยๆ ปรับพฤติกรรมตัวเองได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต หรือใครที่อาจจะอยากพัฒนาตัวเองให้ฉลาดทางอารมณ์เราก็ยังสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้อยู่เสมอ ดังนั้นจึงมาดูว่าการฉลาดทางอารมณ์นั้นคืออะไร คนที่มี EQ สูงเป็นแบบไหน และควรพัฒนาอย่างไรให้เหมาะสม?


ความฉลาดทางอารมณ์คืออะไร ?

รูปภาพ:

EQ (Emotional Quotient) หรือ ความฉลาดทางอารมณ์ คือความสามารถในการรับรู้ ควบคุม และจัดการอารมณ์ของตนเองได้อย่างชาญฉลาดเหมาะกับสถานการณ์ เพื่อสามารถบริหารจัดการอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม มีจิตใจที่มั่นคง มองโลกในแง่ดี มีความประพฤติปฏิบัติตัวดี มีมารยาททางสังคม ความฉลาดทางอารมณ์นั้นสามารถนำไปสู่การเป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข


ความฉลาดทางอารมณ์ สำคัญอย่างไร?

ความฉลาดทางอารมณ์จะช่วยให้เผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่มีความตึงเครียด กดดัน และมีความยากลำบากในการตัดสินใจให้สามารถตัดสินใจได้อย่างสงบเรียบร้อย และช่วยให้ค้นพบทางออกให้กับปัญหาได้อย่างดีเยี่ยม ดังนั้นความสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์ ได้แก่

  • ช่วยให้ประสบความสำเร็จในชีวิตเมื่อ IQ และ EQ ส่งเสริมซึ่งกันและกันอย่างเหมาะสม
  • ช่วยให้สามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเป็นปกติสุข
  • ช่วยให้มีวุฒิภาวะ รู้สำนึกผิดชอบชั่วดี มีสติยับยั้งชั่งใจไม่ทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
  • มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีจิตสำนึกสาธารณะ และมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
  • ช่วยให้มองโลกในแง่ดี มีความสุข ไม่เครียด และช่วยให้รู้สึกพึงพอใจในตนเอง

ลักษณะคนแบบไหนที่มี EQ สูง ?

รูปภาพ:

  1. ความสามารถในการตระหนักรู้อารมณ์ของตนเอง (Self-Awareness) เข้าใจและตระหนักรู้อารมณ์ของตนเอง ทั้งยังสามารถส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรม รู้จุดแข็งและจุดอ่อน และมีความเชื่อมั่นในตนเอง
  2. ความสามารถในการควบคุมดูแลจัดการอารมณ์ของตนเอง (Self-management) สามารถที่จะควบคุมดูแลจัดการอารมณ์ของตนเองได้ ทั้งเป็นคนที่คิดก่อนทำเสมอพร้อมกับการเปิดรับอะไรใหม่ๆ และสามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์นั้นๆ ได้
  3. ความสามารถในการตระหนักรู้อารมณ์ผู้อื่น (Social-Awareness) มักจะคอยสังเกตอารมณ์ของผู้อื่น เห็นอกเห็นใจรับรู้ร่วมรู้สึกของฝ่ายตรงข้าม เข้าใจธรรมชาติทางอารมณ์ของผู้อื่น และมีวิธีการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสม
  4. ความสามารถในการพัฒนาและรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่น (Relationship-management) สามารถบริหารจัดการความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ดีในการพัฒนาและรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่น ทั้งสื่อสารได้อย่างชัดเจน เข้าใจง่าย สามารถเป็นแบบอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น ทำงานเป็นทีมร่วมกันกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดีและสามารถแก้ไขความขัดแย้งได้เหมาะสม
  5. ความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจให้ตนเอง (Self-Motivation) มีเป้าหมายัดเจนว่าจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จหรือเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย มีความพยายามไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ

องค์ประกอบของความฉลาดทางอารมณ์

ด้านดี คือ เป็นความพร้อมทางอารมณ์ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นโดยประเมินจาก

  • การควบคุมอารมณ์
  • การใส่ใจและเข้าถึงอารมณ์ผู้อื่น
  • การยอมรับผิด

ด้านเก่ง คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาตนเองไปสู่ความสำเร็จโดยประเมินจาก

  • ความมุ่งมั่นพยายาม
  • การปรับตัวต่อปัญหา
  • การกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม

ด้านสุข คือ ความพร้อมทางอารมณ์ที่ทำให้ความพร้อมทางอารมณ์ที่ทำให้เกิดความรู้โดยประเมินจาก

  • ความพอใจในตนเอง
  • การรู้จักปรับใจ
  • ความรื่นเริงเบิกบาน

วิธีการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์

โดยวิธีการดังต่อไปนี้นั้นเป็นการช่วยให้เข้าใจตนเองอย่างลึกซึ้ง ช่วยให้ตระหนักรู้ สามารถที่จะควบคุมและจัดการอารมณ์ของตนเองได้อย่างดี นอกจากนี้ยังช่วยให้เรานั้นสามารถเข้าใจอารมณ์ที่ส่งผลต่อความคิดและการกระทำของตนเองที่มีความพร้อมต่อสถานการณ์ต่างๆ รวมไปถึงทักษะในการสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นเราไปดูวิธีการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์กัน


ฝึกการเจริญสติ ตระหนักรู้ในตนเอง (Practicing self-awareness)


รูปภาพ:

การฝึกการเจริญสติหรือการฝึกสมาธิเพื่อให้ตระหนักรู้เท่าทันอารมณ์ตนเองนั้นสามารถตอบสนองอารมณ์นั้นต่อผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม เช่น รู้ว่าขณะนี้ตัวเองกำลังโกรธหรือเสียใจก็สามารถระงับความโกรธหรือความเสียใจนั้น รู้จักข่มใจและแสดงออกอย่างเหมาะสม พร้อมเจรจาด้วยเหตุและผล ทั้งนี้เพื่อเป็นการฝึกสมาธิและการตระหนักรู้ อาจลองจดบันทึกเหตุผลที่ทำให้เรารู้สึกโกรธ โมโห ดีใจ หรือเสียใจ และให้กำลังใจตัวเองพร้อมๆ ไปด้วย เพื่อให้ใจเย็นและรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบากนั้นๆ ได้


การตระหนักรู้ความรู้สึกของผู้อื่น (Recognizing how other feeling)

การตระหนักรู้อารมณ์ผู้อื่นนั้นก็เป็นอีกหนึ่งความสำคัญเพราะการประเมินความรู้สึก รับรู้ และความเข้าใจของผู้อื่นต่อการสื่อสารของเราทั้งคำพูด อารมณ์ และพฤติกรรมจะนำไปสู่การพัฒนาและยังสามารถปรับวิธีการสื่อสารของเราให้สอดคล้องกับสถานการณ์นั้นๆ ได้ โดยอาจขอให้เพื่อนหรือผู้ใหญ่ที่สนิทประเมินวิธีการการพูด การสื่อสาร รวมทั้งประเมินความรู้สึกที่ได้รับจากการสนทนาพร้อมทั้งขอคำแนะนำติชมเพื่อนำไปพัฒนาต่อในอนาคต


การฝึกฝนทักษะการฟัง (Practicing active listening skill)

การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญในหมู่สังคม เพราะมีทั้งการใช้ภาษาและอวัจนภาษา การฟังผู้พูดอย่างตั้งใจ การจับประเด็น น้ำเสียง หรือท่าทางรวมทั้งปฏิกิริยาในเชิงบวกหรือลบถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก ซึ่งการตั้งใจฟังคู่สนทนาเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งเพื่อให้เกียรติผู้พูดและเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ซึ่งการฝึกการฟังอาจลองจับประเด็นใจความสำคัญทั้งน้ำเสียง ท่าทาง และอาจจดบันทึกพร้อมทบทวนสิ่งที่ผู้พูดต้องการเน้นย้ำ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน


การฝึกสื่อสารที่ชัดเจนและตรงประเด็น (Clear and concise communication)


รูปภาพ:

อีกสิ่งหนึ่งที่สามารถบ่งชี้ถึงความฉลาดทางอารมณ์นั้นคือ การสื่อสารที่ชัดเจนและตรงประเด็นอย่างเหมาะสม การกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ ทั้งหมดนี้นั้นจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายในการทำงานร่วมกันกับผู้อื่น ทั้งยังเป็นการฝึกการสื่อสารแบบกลุ่มอีกด้วย ดังนั้นลองสื่อสารแบบกลุ่มแล้วสอบถามกลุ่มผู้ฟังหรือทบทวนซ้ำ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันและอาจจะสื่อสารผ่านช่องทางอื่นๆ เพื่อย้ำเตือนความจำนั่นเอง


การฝึกเป็นผู้คิดบวก (Practicing positive mindset)

ความคิดเชิงบวกเป็นพื้นฐานสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งเหมาะสมกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดเพราะจะช่วยให้หาทางออกให้กับปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และยังช่วยให้บุคคลรอบข้างนั้นยับยั้งสงบสติอารมณ์ของตัวเองได้ ซึ่งการเป็นคนที่คิดเชิงบวกนั้นจะช่วยส่งเสริมการแก้ปัญหาและการทำงานร่วมกันกับทีมได้อย่างดี


การแสดงความคิดเห็นใจต่อผู้อื่น (Empathize with others)

การปลอบประโลมผู้อื่นเมื่อเผชิญกับความเศร้าเสียใจ การแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อสถานการณ์ที่ยากลำบากนั้นจะช่วยยกระดับจิตใจ ช่วยให้สังคมน่าอยู่ และช่วยพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ให้มีระดับที่สูงขึ้นไป


การเปิดกว้างยอมรับความเห็นที่แตกต่าง (Open-mindedness)


รูปภาพ:

การยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างและพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จะสามารถทำให้เรานั้นนำสิ่งนั้นมาพิจารณาและนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดได้ ทั้งยังทำให้เราได้รับมุมมองของความเข้าใจที่แตกต่างของคนอื่นๆ ได้


การรับฟังคำติชม ข้อเสนอแนะ และความคิดเห็นของผู้อื่น (Listening to others’ feedback)

นอกจากเป็นผู้ที่เปิดกว้างนั้น ยังต้องสามารถรับฟังคำติชม ข้อเสนอแนะ และความความคิดเห็นจากผู้อื่น เพื่อนำมาต่อยอดและพัฒนาตนเอง รวมถึงการยินดีที่จะปรับปรุงวิธีการสื่อสารกับผู้อื่นแม้ความคิดเห็นหรือวิธีปฏิบัตินั้นอาจทำให้รู้สึกลำบากในการนำมาประยุกต์ใช้ แต่การให้โอกาสในการเรียนรู้และเติบโตเป็นสิ่งที่สำคัญต่อผู้ที่จะพัฒนาตนเอง


ความสามารถในการอยู่ได้อย่างสงบภายใต้สถานการณ์กดดัน (Remain calm under pressure)

การรับมือกับสถานการณ์ที่ตึงเครียด กดดันด้วยท่าทีสงบและคิดบวกนั้น โดยเฉพาะการทำงานภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด ดังนั้นความสามารถในการควบคุมตนเองให้อยู่ในความสงบและมุ่งมั่นโฟกัสไปที่เป้าหมายจึงเป็นคุณสมบัติเด่นของผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์ เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์กดดันให้ลองตั้งสติ กำหนดลมหายใจเข้า-ออก ลึกๆ เรียงลำดับความสำคัญที่ต้องทำก่อน-หลัง โดยอาจขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นในการช่วยให้สงบสติอารมณ์และตั้งสติได้


สรุป

ความฉลาดทางอารมณ์ สามารถที่จะปรับเปลี่ยนและพัฒนาตัวเองได้อยู่เสมอ เพื่อสื่อสารและทำความเข้าใจซึ่งกันและกันในการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งใครที่มีความฉลาดทางอารมณ์ก็สามารถที่จะรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ทั้งยังสามารถตั้งรับพร้อมตั้งสติได้ทันท่วงที ยิ่งในปัจจุบันที่เรานั้นต้องนำมาใช้ในการอยู่ร่วมสังคมการที่เราเข้าใจทั้งอารมณ์ของตนเองและของผู้อื่นนั้นจะทำให้การสื่อสารทั้งสองฝ่ายราบรื่นไปได้ด้วยดี อีกทั้งใครที่ทำงานเป็นทีมอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะช่วงวัยเรียนหรือวัยทำงานก็จะยิ่งทำให้การสื่อสารของเรานั้นตรงประเด็นทั้งบรรลุเป้าหมายที่ตรงกันนั่นเอง




บทความอื่นๆที่แนะนำ