สวัสดีค่ะชาวซิส! วันนี้ขอเปิดมาด้วยคำถามก่อนเลยว่าเคยมีใครไปเที่ยวทีไรต้องเจอกับอาการป่วยระหว่างทริปเหมือนกันบ้างไหมคะ?พูดแล้วมันก็ทรมาน อุตส่าห์แพลนทริปมาเป็นเดือน คิดจะล่มแบบนี้มันก็แอบเศร้าใจอยู่ไม่น้อย ยิ่งช่วงนี้ใกล้สิ้นปี ทริปเที่ยวรออยู่เยอะมากนอกจากการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงก่อนออกเดินทางแล้วเนี่ย การดูแลร่างกายระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวก็เป็นสิ่งสำคัญหากเกิดเหตุการณ์ฉุกละหุกขึ้นมาจะได้แก้ไขได้ทัน
เพื่อลดปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกระทันหันระหว่างเที่ยวครั้งนี้เราเลยอยากพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ 6 อาการป่วยที่สายเที่ยวมักเจอระหว่างทริปพร้อมวิธีดูแลป้องกัน ให้ทริปสนุกตลอดการท่องเที่ยว!
เช็กเลย! 6 อาการป่วยที่สายเที่ยวมักเจอระหว่างทริป พร้อมวิธีดูแลป้องกัน
✹ เมารถ เมาเรือ ✹
เปิดทริปด้วยปัญหาสุขภาพที่มากับการเดินทางเลยค่ะ!เชื่อว่ามีเพื่อน ๆ หลายคนที่ต้องเจอกับปัญหาเมารถ เมาเรือกันอยู่ไม่น้อย แล้วเคยสงสัยกันไหมคะว่าทั้ง 2 อาการนี้เกิดจากอะไร ? โดยแพทย์ได้ให้ข้อมูลไว้ว่าเกิดจากระบบประสาทการทรงตัวของเราทำงานไม่สมดุล และความสมดุลที่ว่ามาจากการได้รับการกระตุ้นจากการเดินทางมากเกินไปเช่น เรือเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา หรือการขับรถที่เส้นทางคดเคี้ยวมากๆ จึงส่งผลให้รู้สึกเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน นั่นเองค่ะ
ซึ่งปัญหานี้ถือว่าเป็นเรื่องที่เรามักจะรู้ตัวเองกันดีอยู่แล้ว จึงไม่ได้เป็นปัญหาเท่าไหร่ โดยส่วนใหญ่วิธีป้องกันที่หลายคนใช้คือการกินยา แก้เมาเรือ เมารถ ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดนะคะแต่นอกจากการกินยาแล้ว ยังมีวิธีการเตรียมความพร้อมที่สามารถทำเองได้ด้วยตัวเองอีกด้วยค่ะเพื่อน
วิธีป้องกันและบรรเทา
1. ก่อนออกเดินทาง ควรรับประทานอาหารตามปกติ อย่ารีบร้อนหรือยัดอาหาร
2. หลังการรับประทานอาหาร ควรเว้นระยะพักสักครึ่งชั่วโมงก่อนออกเดินทาง
3. หากรับประทานยา ควรกินยาแก้เมา 1 เม็ด ก่อนออกเดินทางอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง เพื่อให้ตัวยาได้ถูกดูดซึม
✹ เจ็ตแล็ก (Jet Leg) ✹
หากจะพูดถึงปัญหาสุขภาพที่คนชอบเที่ยวต่างประเทศต้องเจอคงหนีไม่พ้นอาการเจ็ตแล็ก (Jet Leg)หรืออาการผิดปกติเกี่ยวกับการนอนที่มีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงเขตเวลากระทันหันยกตัวอย่างเช่น จากที่เคยนอนหลับตอน 8 โมงเช้าของไทย ต้องสลับมานอนเวลา 4 ทุ่มเวลาไทย เมื่อต้องเปลี่ยนเวลาอย่างเฉียบพลันจึงทำให้นักท่องเที่ยวหลายคนนอนไม่หลับ นอนน้อย ผลกระทบต่อมาคือจะรู้สึกหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวนนั่นเอง
วิธีป้องกันและบรรเทา
1. พยายามปรับตัวให้เข้ากับตารางเวลาใหม่ที่ต้องเจอ ตื่นและนอน ตามเวลาปกติของเขตเวลาใหม่
2. แม้จะง่วงแค่ไหน ขอให้อดทนและพยายามไม่นอนหลับจนกว่าจะถึงเวลานอนของเขตปกติ
3. ออกไปใช้ชีวิตภายนอกให้ชินกับสภาพแวดล้อมภายนอกของเขตเวลาใหม่
✹ ปวดเมื่อยข้อเท้า ✹
มั่นใจว่าในทุกการไปเที่ยว หากลองหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาแล้วกดเข้าดูโปรแกรมนับจำนวนก้าวเดิน เพื่อน ๆ จะต้องมีจำนวนเกิน 10,000 ก้าวอย่างแน่นอนหรือในบางคนอาจเกินนี้ไปด้วยซ้ำ จากจำนวนที่กล่าวไปก็ไม่เเปลกใจว่าทำไมเมื่อกลับมาที่พักถึงกับต้องเอาเท้าแช่น้ำอุ่น หรือหาที่แปะฝ่าเท้าแก้ปวดเมื่อมาใช้เพื่อเตรียมความพร้อมในการเที่ยวในวันต่อไปดังนั้นเราควรที่จะเตรียมพร้อมร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณข้อเท้า เพื่อไม่ให้การเดินในทริปนี้ไม่มีสะดุด
วิธีป้องกันและบรรเทา
1. หากรู้ว่าต้องเดินเยอะ ควรเลือกใช้รองเท้าที่เหมาะสมกับกิจกรรม หรือใช้แผ่นเจลรองเท้าที่ช่วยลดแรงกระแทก
2. วอร์มเท้าให้พร้อมด้วยการฝึกยืดเอ็นร้อยหวาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ช่วยลดอาการปวดส้นเท้า โดยเริ่มจากการนั่งเหยียดขาข้างที่ต้องการยืด ใช้ผ้าคล้องปลายเท้าไว้ แล้วดึงเข้าหาตัวจนรู้สึกว่าน่องด้านหลังตึง แล้วค้างไว้นับ 1-10 ถือเป็น 1 ครั้ง ทำแบบนี้ประมาณ 10-15 ครั้ง
3. หากรู้ว่าทริปที่จะไปเที่ยวต้องเดินเยอะ ควรออกกำลังกายเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนออกเดินทาง
✹ ท้องเสียระหว่างเดินทาง ✹
การได้ชิมอาหารที่หลากหลายคือค วามสุขของนักท่องเที่ยวหลาย ๆ คน ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็จะมีอาหารท้องถิ่นที่แตกต่างกันออกไป แน่นอนว่ากรรมวิธีการปรุงหรือประกอบอาหารไม่เหมือนกันความสะอาดก็แตกต่างกัน หากเรากินอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่โอกาสที่จะท้องเสียอย่างเฉียบพลันก็เกิดขึ้นได้และหากปล่อยให้อาการเรื้อรังอาจถึงขึ้นขาดน้ำจนเสียชีวิตได้ ดังนั้นก่อนเลือกกินเมนูที่คุ้นชิน ควรดูในเรื่องของความสะอาดทั้งตัวภาชนะและวัตถุดิบให้ดีก่อนนะคะ
วิธีป้องกันและบรรเทา
1. เลือกรับประทานอาหารจานร้อน หรืออาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ
2. ดื่มน้ำจากขวดที่ปิดสนิท ไม่ดื่มน้ำดื่มจากก๊อกสาธารณะ หรือจากขวดที่ไม่แน่ใจเรื่องความสะอาด
3. ล้างมือให้สะอาดหลังการเข้าห้องน้ำ และก่อนรับประทานอาหาร
4. เลี่ยงอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ และอาหารที่ไม่คุ้นเคย
✹ ท้องอืด ท้องเฟ้อ ✹
ได้เที่ยวทั้งทีก็ต้องกินให้เต็มสตรีม!อะไรที่ขวางหน้าก็กินหมด ไม่มียั้ง จะย่อยง่าย ย่อยยากไม่มีสนหากเพื่อน ๆ คนไหนมีพฤติกรรมเหล่า ผลลัพท์ที่ตามมาคงหนีไม่พ้น ท้องอืด ท้องเฝ้อ กันใช่ไหมละคะ ซึ่งถือเป็นหนึ่งปัญหาสุขภาพระบบย่อยอาหารที่พบได้บ่อยโดยมักจะมีอาการ อึดอัดแน่นท้อง เรอมีกลิ่นเหม็น หรือมีอาการปวดท้องตามมาหากใครเคยเป็นจะรู้เลยว่ามันทรมานมาก นอนแทบจะไม่ได้ อย่าหาเป็นนะคะบอกเลย! ซึ่งวิธีแก้ส่วนใหญ่ที่หลายคนเลือกใช้ คือ ยาลดกรด ยาช่วยย่อย เป็นต้นแต่ก่อนที่จะไปพึ่งยา ขอให้เพื่อน ๆ เริ่มจากการปรับพฤติกรรมจะดีกว่าค่ะ
วิธีป้องกันและบรรเทา
1. พยายามเคี้ยวอาหารให้ละเอีดก่อนกลืน และกินอาหารให้ช้าลง
2. จำกัดหรือลดปริมาณการดื่มน้ำอัลลมและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
3. เลี่ยงอาหารที่ย่อยยาก เช่น ของทอด อาหารที่มีไขมันสูง
4. ไม่นอนทันทีหลังมื้ออาหาร พยายามขยับร่างกายเพื่อกำจัดแก็สออกไปจากลำไส้และกระเพาะ
✹ ภูมิแพ้อากาศ ✹
แน่นอนว่าเวลาเลือกโลเคชั่นจะไปเที่ยวสักครั้งหลายคนมักจะเลือกพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมแต่ต่างกับที่ตัวเองต้องเจอในแต่ละวัน เช่น คนกรุงเทพอยู่แต่ในเมืองก็อยากจะออกไปเที่ยวทะเล หรือสูดลมหายใจสดชื่นด้วยการขึ้นเขาหรือแม้กระทั่งคนไทยแบบเราที่ชอบไปสัมผัสอากาศหนาวที่ต่างประเทศเมื่อสภาพอาการเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันแบบนี้อาจทำให้คนที่เป็นภูมิแพ้มีอาการกำเริบออกมาได้เพราะฉนั้นถ้ารู้ตัวว่าตัวเองไวต่อสิ่งกระตุ้น ต้องรู้จักป้องกันและพกยาติดตัวเอาไว้เสมอ
วิธีป้องกันและบรรเทา
1. เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบอย่างรุนแรง ควรพกยาแก้แพ้ติดตัวไว้เสมอ และหากเริ่มมีอาการให้รีบรับประทานทันที
2.พกยาหรือเสปรย์พ่นจมูกติดตัวเอาไว้
3.ก่อนออกเดินทางควรเช็กสภาพอากาศให้ดีก่อน
เพราะในทุกการเดินทางสามารถเกิดปัญหาสุขภาพขึ้นได้โดยที่ไม่คาดคิด ดังนั้นแล้ว ก่อนที่จะออกเดินทางเพื่อน ๆอย่าลืมดูแลสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ ฟิตร่างกายให้พร้อมและหากรู้ว่าเรามีปัญหาสุขภาพ หรือโรคประจำตัวอย่าลืมพกยาประจำตัวไปด้วยนะคะ เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง เเละเพื่อนร่วมทริป