ตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่ที่ชาวไทยได้รับการปลูกฝังให้ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เราจึงมีความรัก ความศรัทธาและความเคารพต่อพระองค์อย่างแรงกล้า

พระองค์ทรงเป็นประทีปที่ส่องสว่างไสวบนหนทางแห่งความวิกฤตในประเทศชาติ ทรงเป็นนักปราชญ์ นักประดิษฐ์และทรงเป็นมหาบพิตรผู้ปัดเป่าทุกข์ภัยของพสกนิกร พวกเราชาวไทยได้เห็นและได้รู้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงงานหนักมาตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ หยาดเสโทแต่ละหยดของพระองค์ที่ร่วงลงสู่พื้นก่อให้เกิดผืนป่า แหล่งน้ำ ความอุดมสมบูรณ์และความสุขของประชาชน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมชาวไทยจึงรักและเทิดทูนพระองค์อย่างสุดหัวใจ

ทว่ามิใช่เพียงแค่โครงการของพระองค์ที่ทำให้ความสุขสถาพรเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่พระบรมราโชวาทและคำสอนของพระองค์ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทำให้ชาวไทยได้ค้นพบกับทางสว่างทั้งสิ้น ในโอกาสนี้เราจึงขอน้อมนำพระบรมราโชวาทและหลักคำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ในหัวในพระบรมโกศมาเผยแพร่เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและเป็นประโยชน์ต่อชาวไทยสืบไป


รูปภาพ:http://f.ptcdn.info/972/012/000/1386253494-1-o.jpg

๑. การทำความดี

“…การทำความดีนั้น โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจและความต้องการของมนุษย์

จึงทำได้ยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ ความชั่ว ซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว...”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ว่าที่ร้อยตำรวจตรีฯ โรงเรียนนายร้อยตำรวจฯ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2529

๒. ความสามัคคี

“…คนเราอยู่คนเดียวไม่ได้ จะต้องอยู่เป็นหมู่คณะและถ้าหมู่คณะนั้นมีความสามัคคี คือเห็นอก

เห็นใจซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือในทุกเมื่อ ช่วยกันคิดว่าสิ่งใดควรสิ่งใดไม่สมควร สิ่งใดที่จะทำให้นำมาสู่ความเจริญ ความมั่นคง ความสุขก็ทำ สิ่งใดที่นำมาซึ่งหายนะหรือเสียหายก็เว้น และช่วยกันปฏิบัติทั้งหน้าที่ทางกายทั้งหน้าที่ทางใจ...”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้าน จังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2519

๓. การให้และการรับ

"...คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายความว่าต่อไป และเดี๋ยวนี้ด้วย เมื่อรับสิ่งของใดมา ก็จะต้องพยายามให้ ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีให้หมู่คณะและในชาติ ทำให้หมู่คณะและชาติประชาชนทั้งหลายมีความไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ช่วยที่ไหนได้ก็ช่วย ด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่โดยแท้..."

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 20 เมษายน 2521

รูปภาพ:http://cache.gmo2.sistacafe.com/images/uploads/summary/image/15517/CusIcdvUAAAY3qq.jpg

๔. การประหยัด

“...การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย...”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคมพ.ศ.2502

๕. อนาคตทำนายได้

"...ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เกิดที่เป็นอยู่แก่เราในวันนี้ ย่อมมีต้นเรื่องมาก่อน ต้นเรื่องนั้นคือ เหตุ สิ่งที่ได้รับคือ ผล และผลที่ท่านมีความรู้อยู่ขณะนี้จะเป็นเหตุให้เกิดผลอย่างอื่นต่อไปอีก คือ ทำให้สามารถใช้ความรู้ที่มีอยู่ทำงานที่ต้องการได้ แล้วการทำงานของท่านก็จะเป็นเหตุให้เกิดผลอื่นๆต่อเนื่องกันไปอีกไม่หยุดยั้ง ดังนั้นที่พูดกันว่าให้พิจารณาเหตุผลให้ดีนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ให้พิจารณาการกระทำหรือกรรมของตนให้ดีนั่นเอง คนเราโดยมากมักนึกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรเราทราบไม่ได้ แต่ที่จริงเราย่อมจะทราบได้บ้างเหมือนกันเพราะอนาคตก็คือผลของการกระทำในปัจจุบัน..."

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 8 กรกฎาคม 2519

๖. การไม่ละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น

“...การมีเสรีภาพนั้นเป็นของดีอย่างยิ่ง แต่เมื่อจะใช้จำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและความรับผิดชอบมิให้ล่วงละเมิดเสรีภาพของผู้อื่นที่เขามีอยู่เท่าเทียมกัน ทั้งมิให้กระทบกระเทือนถึงสวัสดิภาพและความเป็นปกติสุขของส่วนรวมด้วย มิฉะนั้น จะทำให้มีความยุ่งยากจะทำสังคมและชาติประเทศต้องแตกสลายโดยสิ้นเชิง ...”พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแถลงการณ์ สภาการวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (สวชพ.) เรื่อง ‘การใช้เสรีภาพเพื่อการปรองดองสมานฉันท์’ เนื่องในวันนักข่าว เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2520

รูปภาพ:http://topicstock.pantip.com/food/topicstock/2012/09/D12696816/D12696816-104.jpg

๗. การคิดด้วยจิตใจที่เป็นกลาง

“...หลักของคุณธรรมคือ การคิดด้วยจิตใจที่เป็นกลาง ก่อนจะพูดจะทำสิ่งไร จำเป็นต้องหยุดคิดเสียก่อน เพื่อรวบรวมสติให้ตั้งมั่น และจิตสว่างแจ่มใส ซึ่งเมื่อฝึกหัดคุ้นเคยชำนาญแล้ว จะกระทำได้คล่องแคล่วช่วยให้สามารถแสดงความรู้ ความคิดในเรื่องต่างๆ ให้ผู้ฟังได้เข้าใจได้ง่าย ได้ชัด ไม่ผิดทั้งหลักวิชา ทั้งหลักคุณธรรม...”พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2535

๘. ทุกคนเป็นทหาร

“...ในปัจจุบันนี้ ศัตรูของเรามาในรูปการก่อการร้าย มาด้วยอาวุธก็มาก แต่มาในรูปการก่อการร้ายด้วยการยุยงให้แตกแยกกันก็มากเหมือนกัน และไม่ใช่ตามชายแดน ในเมืองใหญ่ๆในภาคต่างๆ ทุกภาคแม้แต่ภาคกลางนี้ แม้แต่กรุงเทพฯนี้ ก็มีการแทรกซึมและการยุแหย่ให้เกิดแตกสามัคคีให้เกิดความยุ่งยาก เป็นสงครามสมัยใหม่ ขอให้พิจารณาดู ถ้าทุกคนเข้มแข็ง มุ่งหน้าที่จะเรียน และมุ่งหน้าที่จะตั้งตัวเป็นคนดี ก็เท่ากับทุกคนเป็นทหารทั้งชายหญิง ช่วยบ้านเมืองให้ดำรงอยู่ และเมื่อบ้านเมืองดำรงอยู่แล้ว เอกชนทุกคน ก็จะอยู่ได้ด้วยความผาสุก”

พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงานชุมนุมนักศึกษาชาวเหนือ “ชาวเหนือบอล” ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2513

๙. ความพอเพียง

“...เศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่สองอย่าง...จะทำความเจริญให้แก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทนต้องไม่ใจร้อน ต้องไม่พูดมาก ต้องไม่ทะเลาะกัน ถ้าทำโดยเข้าใจกัน เชื่อว่าทุกคนจะมีความพอใจได้...คำ ว่าพอเพียง มีความหมายว่าพอมีพอกินเศรษฐกิจแบบพอเพียงหมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ ไม่ต้องขอยืมคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง...คำว่าพอ คนเราถ้าพอในความต้องการ มันก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย พอเพียงอาจมีมากอาจมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น...”พระราชดำ รัสพระราชทานในโอกาสที่คณะบุคคลเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๑

รูปภาพ:https://sites.psu.edu/vxp5086/wp-content/uploads/sites/9170/2014/03/king.jpg

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ผู้ทรงเป็นที่รักเปรียบเสมือนตัวอย่างอันทรงคุณค่าที่แสดงให้เห็นถึงการให้โดยมิได้หวังสิ่งใด เช่นนั้นแล้ว การเดินตามรอยพระยุคลบาทด้วยความแน่วแน่ย่อมนำพาชาติไทยให้เจริญและสงบสุข ขอเพียงแค่พวกเรามีความตั้งใจที่จะปฏิบัติตาม เป็นคนดีของครอบครัว สังคมและประเทศชาติเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๙ของเราชาวไทยทุกคน


บทความที่เกี่ยวข้อง