ครอบครัวที่น่ารักอบอุ่นเป็นพื้นฐานของชีวิต ถ้ารากฐานมั่นคง การออกไปเผชิญโลกภายนอกก็ไม่น่ากลัวอีกต่อไป มาเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับครอบครัวเพื่อให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้เข้มแข็งพอสำหรับการเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว และเพื่อสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดีด้วยวิธีเหล่านี้กันดีกว่า
1. ให้เวลากับคนในครอบครัว
หาเวลาว่างจากการเรียน การทำงาน เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย ดูหนัง ทำบุญ หรือไปปิคนิคตามสวนสาธารณะ ช่วยกันคิดกิจกรรมที่จะทำร่วมกัน ก็จะทำให้คนในครอบครัวสนิทสนมกันมากขึ้น ได้มีเวลาใกล้ชิด หัวเราะ และยิ้มไปด้วยกันได้
2. รอกินข้าวพร้อมกัน
กำหนดช่วงเวลากินข้าวของครอบครัวให้พร้อมกัน ถ้าเป็นช่วงมื้อเย็นจะดีที่สุด เพราะเป็นเวลาที่ไม่ต้องรีบ มีเวลาในการพูดคุยปรึกษาปัญหาที่พบเจอในแต่ละวัน หรือถ้าครอบครัวไหนมีธุระที่ไม่สามารถกินข้าวพร้อมกันทุกวันได้ ควรกำหนดวันที่เป็นวันรวมตัวของคนในครอบครัวขึ้นมาสัปดาห์ละครั้งหรือเดือนละครั้งแล้วแต่ความเหมาะสม วิธีนี้จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
3. ให้กำลังใจกัน
แค่คำพูดบางคำก็สามารถเติมกำลังใจให้กันในวันที่ท้อแท้ได้ แค่ชมเชยหรือให้กำลังใจกันบ้าง อย่าอายที่จะพูดชมเชยกันให้รู้สึกว่ามีคนคอยใส่ใจในสิ่งที่เราทำ และภูมิใจกับความเป็นเรา หากที่บ้านให้ความมั่นใจกับสมาชิกในครอบครัว เมื่อใดที่ต้องออกไปอยู่ในสังคมภายนอกก็จะยิ่งเพิ่มความมั่นใจขึ้นอีกหลายเท่าตัว
4. ใส่ใจเรื่องเล็กน้อย
ต้องรู้ว่าคนในครอบครัวชอบอะไร ไม่ชอบอะไร วันสำคัญต่าง ๆ ก็ควรหาของขวัญหรือจัดปาร์ตี้แบบอบอุ่นในครอบครัว ใส่ใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ช่วยกันดูแลบ้านและคนในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเวลาเจ็บป่วยหรือเวลาที่ต้องการกำลังใจ เรื่องเล็กน้อยก็กลายเป็นเรื่องยิ่งใหญ่สำหรับความรู้สึกได้
5. ติดต่อกันเสมอ
คอยโทรหากัน คุยแชทกันบ่อย ๆ สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้เหมือนเพื่อนสนิท อาจจะมีกรุ๊ปในโปรแกรมแชทเอาไว้คุยเล่น ส่งต่อเรื่องตลก หรือเอาไว้นัดวันทำกิจกรรมกัน ไปเจอสิ่งแปลกใหม่ก็ถ่ายรูปมาแบ่งปันให้คนในบ้านดูด้วย ให้ความรู้สึกเหมือนครอบครัวของเราไปด้วยกันทุกที่ ไม่เคยห่างกัน
6. ไม่ต้องรอให้ขอความช่วยเหลือ
หมั่นสังเกตอารมณ์ของคนในครอบครัว ดูได้จากสีหน้า ท่าทาง การแสดงออก เพราะคนที่อยู่ด้วยกันทุกวัน จะเห็นความผิดปกติได้ง่าย หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นไม่ต้องรอให้คนในครอบครัวพูดถึงปัญหา ลองยื่นมือเข้าไปช่วยเองก่อน ให้เขารู้สึกว่าครอบครัวใส่ใจเขา แม้จะเป็นเรื่องที่เขายังไม่ได้ร้องขอความช่วยเหลือก็ตาม
7. อย่าผัดวันประกันพรุ่ง
ถ้าเป็นเรื่องของคนในครอบครัว อย่าใช้คำว่าเดี๋ยว ให้เรื่องของคนในครอบครัวสำคัญที่สุด เพราะการผลัดวันไปเรื่อย ๆ ส่วนมากก็จะลืม หากคนในครอบครัวต้องการความช่วยเหลือ ไม่ว่าเรื่องเล็กน้อยหรือเรื่องใดก็ตาม ต้องรีบยื่นมือเข้าไปช่วย ทำให้คนในบ้านรู้สึกว่าเขาไม่ได้โดดเดี่ยว สามารถพึ่งพาอาศัยและไว้ใจคนในครอบครัวได้
8. อย่าอายที่จะแสดงความรัก
การแสดงความรักต่อกันง่าย ๆ แค่การกอด บอกรัก หอมแก้ม เรื่องพวกนี้อย่าได้เขินอาย และควรทำให้บ่อยจนเคยชิน กลับมาจากเรียนลองเข้าไปกอด หอมแก้มพ่อแม่ หรือสามีภรรยากอดหรือจูบก่อนไปทำงาน แค่นี้ก็เป็นเรื่องน่ารัก ที่สร้างความรู้สึกอบอุ่นได้ดีอย่างเหลือเชื่อ
9. ใช้หลัก 4 ยอม
" ยอมให้ " ก่อนที่เราจะให้ตัวเองเป็นผู้รับ เราควรเปลี่ยนตัวเองให้เป็นผู้ให้เสียก่อน ไม่ว่าจะด้วยการแสดงความห่วงใย การให้กำลังใจในเรื่องต่าง ๆ การให้ความอบอุ่น ให้ผู้รับรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง
" ยอมเงียบ " ไม่ว่าจะด้วยความขัดแย้งใด ๆ หากมีแต่ผู้พูด ไม่มีผู้ฟัง ก็จะไม่มีความเข้าใจกันเกิดขึ้นเสียที ดังนั้น เราต้องยอมเป็นฝ่ายเงียบบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดการปะทะอารมณ์ที่รุนแรง เกิดการโต้เถียงที่อาจทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้
" ยอมแพ้ " การเอาชนะไม่ได้ทำให้ทุกอย่างดีขึ้นเสมอไป ยอมเป็นคนแพ้บ้างเพื่อความสุขของคนในครอบครัว หันมาชื่นชมยกย่องคนในครอบครัว จะยิ่งสร้างกำลังใจและสร้างความสุขให้เกิดขึ้นได้
"ยอมรับความต่าง" ทุกครอบครัวย่อมมีทั้งผู้อาวุโสและลูกหลานที่ต้องอยู่ร่วมกัน ซึ่งแต่ละคนก็มีความคิดในมุมต่างกัน ดังนั้น จึงควรมีการแลกเปลี่ยนทัศนคติและความเข้าใจให้ตรงกัน แลกเปลี่ยนมุมมองให้แต่ละคนได้แสดงความคิดเห็นของตน ยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่างกัน
แค่เรียนรู้และร่วมมือกัน การเป็นครอบครัวในฝันก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ช่วยกันสร้างความรัก ความเข้าใจ ความอบอุ่นในครอบครัว ให้เดินไปด้วยกันอย่างมั่นคง ไม่มีอะไรมาทำลายได้ วันนี้เราก็ขอตัวไปก่อนแล้วนะคะ พบกันใหม่คราวหน้าน้า บ๊ายบาย