ฮัลโหลค่ะสาวซิสทุกคน
วันเลือกตั้งใกล้เข้ามาทุกทีแล้วเนอะ
สาวซิสว่ากันไหมคะ ต้องบอกเลยว่าการเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญอย่างมาก เพราะว่าประเทศไทยไม่ได้เลือกตั้งมา 8 ปีเต็มแล้วค่ะ การใช้สิทธิ์ลงประชามติครั้งล่าสุดเป็นการใช้สิทธิ์รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็แตกต่างกันกับการเลือกตั้งมากๆ เลยค่ะ
สำหรับสาวซิสคนไหนที่เลือกตั้งครั้งแรก อาจจะกังวลใจกันหน่อยๆ แหละ ว่าเอ๊ะ เราจะใส่เบอร์ไหนดีนะ
วันนี้เราเลยมีหลักเกณฑ์การตัดสินใจแบบง่ายๆ อ่านแล้วก็เป็นไกด์ให้ตัดสินใจกันค่า >.<
1. เสพสื่อจากหลายๆ ข้อมูล

ยุคนี้ต้องบอกเลยค่ะว่า เป็นยุคแห่งข้อมูลโดยแท้ ซึ่งการเสพสื่อข้อมูลเราขอแนะนำสาวๆ ว่าไม่ควรเสพสื่อแค่ด้านเดียว เพราะว่าสื่อแต่ละแห่ง หรือ Facebook แต่ละเพจ สังเกตดูดีๆ จะมีการเลือกข้างกันบ้างค่ะ สื่อสำนักข่าวต่างๆ อาจจะสังเกตได้ไม่ชัด
แต่หากว่าเป็นเพจต่างๆ เราจะสังเกตได้ค่ะ ซึ่งขอให้สาวๆ เลือกกดไลก์เพจที่เป็นกลาง ไม่โน้มเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
และที่สำคัญเราจะต้องอ่านข้อมูลให้ละเอียดด้วยค่ะ
2. แยกเรื่องดราม่าและอีโมชันแนล
เรามาว่ากันเรื่องความเป็นจริงกันค่ะซิส หากว่าสังเกตในโซเชียลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ twitter ก็จะเห็นได้ชัดเลยล่ะว่ามีการใส่อารมณ์กันมากเกินไป ใครรักใคร ชอบใครเชียร์ใครก็จะด่าฝ่ายตรงข้ามกันแบบไม่ยั้งเลยค่ะ ซึ่งต้องบอกเลยนะคะว่าการเลือกเสพสื่อไม่ควรเอาดรามาและอิโมชั่นมาปะปน เพราะจะทำให้เราอ่านข้อมูลด้วยอคติ สมมติว่าสาวๆ เชียร์พรรค ก. แต่มีคนมาด่าข้อมูลพรรค ก. เราก็อย่าเพิ่งโกรธ แต่ว่าให้อ่านข้อมูลที่อีกฝ่ายเอามาโต้แย้ง ว่ามีเหตุผลมากพอหรือเปล่าที่เราจะไม่เลือกพรรค ก.
ทั้งนี้ทั้งนั้น
ย้ำว่าขอให้อ่านข้อมูลที่เป็น Fact นะคะ เป็นข้อเท็จจริง มีเอกสารอ้างอิง ไม่เอาแบบที่เป็นภาพอินโฟรกราฟฟิคตัดต่อแล้วเอาข้อมูลที่ไหนก็ไม่รู้มาสาดโคลนใส่ฝ่ายตรงข้าม
3. เคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างกัน

ปัญหาหลักของการเมืองไทยในระยะเวลา 10 กว่าปีแห่งความขัดแย้งนั้น บอกได้คำเดียวว่าการไม่ยอมรับความคิดเห็นของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งหลักการคิดที่เต็มไปด้วยอคตินี่เองค่ะ ที่ทำให้ประเทศไทยของเราอยู่ในความขัดแย้ง ซึ่งหากว่าเราไม่ต้องการเห็นภาพนั้นอีก เราก็ต้องเริ่มจากตัวเราจริงไหมคะ เริ่มด้วยการที่เรานั้นเลือกที่จะยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่างจากเรา
ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติเราเถียงกับคุณป้าข้างบ้าน ที่มองพรรคที่เราชอบด้วยสายตาแบบ เธอชอบพรรคนี้ได้อย่างไร พรรคนี้น่ะ XXX บลาๆ ถ้าเราเจอแบบนี้อย่าไปเถียงด้วยอารมณ์
และยอมรับว่าเขาอาจจะเป็นคนที่มีความคิดแบบรุ่นเก่า บางทีการยอมรับสิ่งใหม่ๆ อาจจะทำได้ยากนิดหนึ่ง แล้วก็เอานโยบายที่เราคิดว่าพรรคที่เราเลือกดีเนี่ยแหละ ไปอธิบายกับเขา แบบนี้ไม่ทะเลาะกันด้วยนะคะ แถมเราก็ไม่อารมณ์เสียด้วย
4. ไม่ควรฟังความเห็นคนอื่น มากเกินไป

การเลือกตั้งเป็นความชอบส่วนบุคคล ดังนั้นเราก็เลยไม่อยากให้สาวๆ ฟังใครมากไปค่ะ ยิ่งสาวซิสที่ได้เลือกตั้งเป็นครั้งแรก ต้องบอกเลยนะคะว่าคุณพ่อคุณแม่อาจจะถือสิทธิ์เหนือเรา แล้วบังคับให้เราเลือกเบอร์นั้นเบอร์นี้ ซึ่งหากว่าเป็นกรณีนั้น
เราอยากแนะนำว่าควรฟังเอาไว้ค่ะ ไม่ต้องไปเถียงให้ทะเลาะกัน กลายเป็นว่าพ่อแม่จะโกรธเรา โมโหเรามากกว่าเดิม เราฟังและรับรู้ไว้ แต่สิทธิ์การเลือกของเราก็คือของเราอยู่วันยังค่ำ
ดังนั้นหากว่าใครที่เจอคุณพ่อคุณแม่โหมดโหด บังคับให้เลือกพรรคที่เราไม่ชอบ ก็ไม่ต้องเสียเวลาเถียงไปค่ะ ถึงเวลาเราเลือกเบอร์ที่เราชอบและอยากเลือกก็พอ
5. แนะนำที่สุด >> ดูการดีเบต <<
การที่เราจะรู้จักหัวหน้าพรรคที่เราชอบและตัดสินใจเลือกนั้น บางทีการดูนนโยบายหรือติดตามจากโซเชียลอาจจะยังไม่พอ ซึ่งเราขอแนะนำมากๆ เลยก็คือการดูดีเบตนั่นเองค่ะ ซึ่งตอนนี้มีการดีเบตไปแล้วสองเวที และกำลังจะมีมาอีกหลายเวทีเลยค่
ะ อย่างคลิปที่เรานำมาฝากดูง่าย ใช้เวลาไม่มาก มีพรรคการเมืองมาเกือบทุกพรรคเลยนะคะ ซึ่งเวทีดีเบตนี้จะทำให้สาวๆ รู้ว่าเราชอบวิสัยทัศน์ของหัวหน้าพรรคท่านไหนกันแน่
และตัดสินใจได้แบบไม่ยากนัก
6. ไม่รีบตัดสินใครไปก่อน เพราะสงครามยังไม่จบ

การตัดสินใจจะเลือกใครนั้น ขอแนะนำสาวๆ ว่ายังไม่ต้องรีบร้อนค่ะ เพราะว่ายังมีเวลาอีกราวๆ 1 เดือนให้เราได้นั่งคิด ยืนคิด เดินคิด
การดูดีเบต การฟังข้อมูลจากหลายๆ แหล่งข่าว ติดตามเพจ Facebook หลายๆ เพจ และที่สำคัญก็คือการพยายามศึกษาหาความรู้ใส่ตัวเองไว้ให้มาก เปรียบเทียบนโยบายแต่ละพรรค คือสิ่งที่ทำให้เราตัดสินใจได้ดีที่สุดค่ะ
ขอแค่เรามีความตั้งใจเท่านั้น เราก็จะสามารถทำได้อย่างแน่นอน
นี่ก็เป็นหลักการคิดและตัดสินใจแบบง่ายๆ สำหรับสาวๆ ที่เพิ่งได้เลือกตั้งเป็นครั้งแรกนะคะ หนึ่งเสียงของเรามีค่า
นี่คือสิ่งที่อยากให้สาวๆ ทุกคนตระหนัก หนึ่งเสียงของเราเปลี่ยนประเทศไทยได้
อย่าคิดว่าเราไม่ไปเลือกก็ไม่เป็นไรหรอก เราแค่เสียงเล็กๆ หนึ่งเสียงแค่นั้นเอง สำหรับวันนี้ขอลาไปก่อนนะคะ บายๆ ค่า