
'ผ้าอนามัย' ปัญหา หรือ ธรรมชาติของผู้ที่มีมดลูกและรังไข่
'ผ้าอนามัย' ปัญหา หรือ ธรรมชาติของผู้ที่มีมดลูกและรังไข่

ต้องขอยกเคส ประเด็นดราม่าล่าสุด เกี่ยวกับประเด็นร้อน อย่างเรื่อง ‘ ผ้าอนามัย กับ ค่าครองชีพ ‘ มาพูดถึงสักหน่อย เพราะล่าสุดประเด็นนี้ได้ติดเทรนด์ #แฮชแท็กใน Twitter และมีคนเข้าพูดคุยและถกเถียง เกี่ยวกับประเด็นมากมายภายในไม่กี่ชั่วโมง โดยความเห็นส่วนใหญต่างพากันถกไปในเรื่องของค่าใช้จ่ายในเรื่องของ ‘ผ้าอนามัย’ บ้างมีทั้งเข้าใจ และบ้างก็มีเห็นต่างออกไป อย่าง ค่าใช้จ่ายในการซื้อผ้าอนามัย ก็เป็นสิ่งที่ผู้หญิงต้องแบกรับภาระนี้ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว หรือ ถ้าเป็นไปได้ก็ควรซื้อผ้าอนามัยที่ราคาต่ำลงมา เพื่อลดค่าใช้จ่ายลง จนมีคนออกมาโต้เถียงกันไปมา ได้ลามเป็นประเด็นใหญ่โต จนกลายเป็นเหมือนการว่าใครออกมาพูดถึงเรื่องนี้ ต้องการที่มาเรียกร้องสิทธิความเป็นหญิง หรือ femininity แบบเกินเหตุ หรือ ในทำนอง Drama Girl และกลายเป็นดราม่าที่ร้อนระอุ แบ่งแยกระหว่าง ชาย และ หญิง กันทั่วโซเชียล ซึ่งนี่แหละถือว่าเป็น การแบ่งแยกกันอย่างไม่เท่าเทียม ที่ยังมีให้เห็นอยู่
แยกให้ถูก ‘ ประจำเดือน ‘ ธรรมชาติ ’ของผู้ที่มีมดลูก และรังไข่

เรายกเรื่องนี้มาพูดไม่ได้จะมาเรียกร้อง หรือ ต้องการยกตนอยู่เหนือใคร ด้วยการดึงกายวิภาคและสรีระที่ได้รับมาตั้งแต่เกิดที่มีมาใช้ ถ้าให้พูดตามตรง ประจำเดือน ถือเป็น เรื่องธรรมชาติ ( Nature ) ของผู้ที่มีมดลูกและรังไข่ทุกคน โดยเราไม่อยากจะระบุว่า เป็นธรรมชาติของ ผู้หญิง เท่านั้น เพราะ ประจำเดือน ยังเป็นธรรมชาติของผู้ใดก็ตาม ที่ไม่ว่าในปัจจุบัน เพศภาวะ ( Gender ) จะยังตรงหรือต่างกับที่ได้มาตอนเกิดหรือไม่ แต่หากตอนนี้ เค้าหรือเธอยังคงมี มดลูก รังไข่ ก็ยังคงต้องหลั่งประจำเดือนออกมาโดยธรรมชาติ เช่นกัน
ที่พูดแบบนี้ก็เพราะว่า อยากจะแยกให้เห็นว่า มนุษย์ไม่ได้ถูกจำกัดเพียงแค่คำ SEX ( เพศ ) ที่เอาไว้แบ่งลักษณะทางชีววิทยาของบุคคล ที่แบ่งเป็นเพศหญิง และเพศชาย เท่านั้น (*) แต่ยังมีคำว่า GENDER ( เพศภาวะ ) ที่ไม่ได้แบ่งออกเป็นแค่เพียง ‘เราคือเพศหญิง’ หรือ ‘เธอคือเพศชาย’ แต่คำว่า GENDER นั้น ยังรวมไปถึง LGBT หรือรวมไปถึง ผู้ที่ไม่ระบุเพศด้วย ( non-binary ) หากจะมองให้เท่าเทียมกันแล้วนั้น เราจะต้องแยกประเด็นนี้ SEX และ GENDER ให้ออก แล้วต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า ธรรมชาติ ของแต่ละ SEX ( เพศ ) มีความเป็นไปอย่างไร และต่อให้เมื่อเค้าคนนั้นมีเพศและเพศสภาวะตรงกันหรือไม่ เราเองควรจะมองผ่านมุมมองของกันและกันอย่างเท่าเทียมให้มากขึ้นอีกหน่อย
“ ดังนั้นการหยิบคำพูดมาเสียดสีหรือประชดประชัน เกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ ด้วยแนวคิดทำนองว่า ‘คนที่ออกมาพูดถึงประเด็นนี้ คือต้องการเรียกร้องสิทธิ์ความเป็นหญิง ( femininity ) ’ มาตีกรอบไว้ แต่อยากให้มองเรื่องนี้เป็น เรื่องของ ธรรมชาติ ของ ร่างกายมนุษย์ ที่มีมดลูกและรังไข่ จะดีกว่า ’’
ทำไมเราถึงต้องยกประเด็นเรื่อง ผ้าอนามัย เป็นเรื่องใหญ่
ถ้าให้มองย้อนกลับไป แม้ว่าในอดีตจะมีการประดิษฐ์สิ่งที่มาซึมซับประจำเดือน หลากหลายรูปแบบ และแตกต่างกันไปอย่าง ผู้หญิงสมัยอียิปต์ใช้เยื่อไม้ปาปิรุส ( Papyrus ) ผู้หญิงกรีกและโรมันใช้ผ้าสำลี ( Lint ) พันรอบแกนไม้เล็กๆผู้หญิงญี่ปุ่นใช้กระดาษนุ่มๆ เช่น กระดาษสา ผู้หญิงพื้นเมืองอเมริกัน ( Native American ) ใช้ผิวหนังควายห่อหุ้มด้วยหญ้ามอส ผู้หญิงไทยนิยม ‘ขี่ม้า’ นั่นคือใช้ผ้าขี้ริ้วหรือผ้าซิ่นเก่านุ่มทบพันหลายชั้นลอดระหว่างขา คาดด้วยเข็มขัดหรือเชือก นอกจากนั้นยังใช้เสื้อผ้าเก่า ผ้าขี้ริ้ว ผ้าฝ้าย ขนสัตว์ ผ้าทอ ไหมพรมถัก หญ้าแห้ง มาเป็นแผ่นซึมซับประจำเดือน (**)
แต่สำหรับปัจจุบันแล้ว เราไม่สามารถปฎิเสธได้เลยว่า สิ่งประดิษฐ์ที่เป็นมาตรฐานกลางที่ใช้เพื่อซึมซับ ประจำเดือน และใช้กันสากลทั่วโลก นั่นก็คือ ‘ ผ้าอนามัย ( sanitary napkin ) ’ แต่เหตุใด ผ้าอนามัย จึงกลายของไม่จำเป็น และจัดอยู่ในหมวด ‘ สินค้าฟุ่มเฟือย ’ อีกทั้งยังถูก ‘ผลักให้มาเป็นภาระของผู้ที่มีมดลูกและรังไข่ ’ ให้ต้องก้มหน้ารับผิดชอบด้วยตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพียงผู้เดียว
แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่เพียงแค่ ประเทศไทยที่มีดราม่า เรื่อง ผ้าอนามัย อย่าง ประเทศในแทบยุโรปเองก็ต้องเผชิญกับ ปัญหานี้เหมือนกัน เนื่องจากรัฐบาลเก็บภาษีจากผ้าอนามัย ทำให้ผ้าอนามัย ในแถบยุโรปมีราคาที่สูงมาก หรือรวมไปถึง ประเทศอินเดียเอง ผ้าอนามัยยังถือเป็นของที่เข้าไม่ถึงได้ทั่วไป (***) โดยมีสถิติออกมาว่า มีเพียง 12 เปอร์เซ็นต์จากประชากรหญิงในอินเดียวทั้งหมดกว่า 335 ล้านคนเท่านั้น ที่มีกำลังซื้อผ้าอนามัย โดยอีกเปอร์เซ็นต์ที่เหลือจะใช้เป็นการประดิษฐ์ผ้าอนามัยใช้กันเองอยู่
เราจึงเห็นว่า เรื่องนี้ ที่อาจจะถูกใครหลายคนมองเป็น ปัญหา ดราม่าเล็ก ๆ ของหญิงสาว ( ซึ่งขอยกเว้นไว้สำหรับคนที่เข้าใจไว้ด้วยนะคะ ) แต่จริงๆ เรื่องนี้ ควรถูกยกมาพูดให้ ทั่วถึงในวงกว้าง และในมุมมองที่เท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพียงปิดปัญหาว่าเป็นเพียง Girls ‘s Drama แล้วยังคงกลายเป็นภาระให้การผู้ที่มีมดลูกและรังไข่รับผิดชอบด้วยตัวเองอยู่เช่นเดิม
ผ้าอนามัย คือ ปัจจัย 4 ที่ขาดไม่ได้ ของผู้ที่มีมดลูกและรังไข่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์
ซึ่งการที่ได้ยินได้ว่า ‘ผ้าอนามัย’ กลายเป็น เรื่องฟุ่มเฟือย ไม่ต่างกับ การบอกว่า การมีประจำเดือน คือ เรื่องไม่จำเป็น แต่จะให้กลั้นเอาไว้ หรือจะลองให้ปล่อยไหลโดยไม่ใช้ผ้าอนามัยทุกๆ เดือน เพราะต้องละทิ้งของฟุ่มเฟือยเหมือนการละทิ้งตามหลักพระพุทธศาสนาล่ะก็ คงดูแย่เสียยิ่งกว่าเดิม นั่นก็เพราะคงไม่มีใครอยากเห็นประจำเดือนของคนอื่นหรอก จริงมั้ย ? และก็อาจส่งผลต่อการเสี่ยงติดเชื้อโรค และเกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้เช่นกัน

ลองคิดคำนวณเล่นๆ ตีเป็นตัวเงิน สำหรับการต้องซื้อ ผ้าอนามัยใช้ตลอดชีวิต เฉลี่ยผ้าอนามัยราคากลางๆ ตกชิ้นละ 8 บาท 1 วันใช้ประมาณ 4 ชิ้น = 32 บาท 1 เดือน ประจำเดือนมาเฉลี่ย 5 วัน = 160 บาท 1 ปี = 1900 บาท วัยเจริญพันธุ์ 35 ปี = 66500 บาท บวกลบค่าครองชีพ ค่าใช่จ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมๆ แล้วอาจจะอยู่ที่ราวๆ 100,000 + บาท / ต่อคน
ถ้าหากใครยังคิดว่า ผ้าอนามัย คือ ของฟุ่มเฟือยอยู่ล่ะก็ ยังอยากให้คิดใหม่ เพราะคงไม่มีใครอยากเสียเงินหลักแสน ไปกับ ของฟุ่มเฟือยแบบเสียเปล่า อย่าง การซื้อผ้าอนามัย แน่นอน และอย่างที่บอกว่าความจริงแล้ว ประจำเดือน ก็คือ ธรรมชาติของกลไลของร่างกายมนุษย์ ทึ่ไม่สามารถบังคับหรือสั่งให้หยุด หรือ สั่งให้มา ได้ตามใจชอบได้ ซึ่งการหลีกเลี่ยงไม้ใช่ผ้าอนามัยที่ทำได้ยาก และอาจจะไม่มีทางเป็นไปได้เลย หรือจะให้ต้องมาจำกัดหรือลดจำนานผ้าอนามัยลง ก็ทำไม่ได้เช่นกัน
________________________________________________
เราจึงขอเป็นอีกกระบอกเสียงเล็กๆ แม้จะเบาแค่ไหนก็ตาม แต่อยากส่งต่อ ข้อเท็จจริงของธรรมชาติของผู้ที่มีมดลูกและรังไข่นี้ให้คนทุกคนได้เข้าใจได้ตรงกัน ไม่ว่าจะ เพศไหน ฐานะไหน หรือลำดับขั้นไหน เราอยากให้ย้อนกลับมาคิดและมองถึงเรื่องประเด็นนี้ให้เท่าเทียมกัน ซึ่งเพียงแค่วันนี้ คนที่ได้อ่านลองเริ่มเปิดความคิดให้กว้างขึ้น เข้าใจความเป็นธรรมชาติของ เธอ = ฉัน และร่วมหาวิธีการแก้ปัญหากันมากกว่า ที่จะเลือกใช้วิธีการพ่นด่า หรือประชดประชันกัน แบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลดีที่ตามมาได้ในไม่ช้าแน่นอน
อย่างที่บอกในบทความนี้ เราไม่ได้จะมาเรียกร้องเพื่อสิทธิของผู้หญิง แค่อยากมาเล่าเรื่องและแตกประเด็น เพื่อให้ทุกคน ไม่ว่าทั้งเพศชาย หญิง หรือไม่ว่าจะ LGBTQ ก็ตาม ได้เห็นภาพและมุมมองในแบบที่เท่าเทียมกันมากขึ้น และเราเองก็พร้อมที่จะเรียนรู้ยินดีรับฟังมุมมองของทุกกลุ่มเช่นกัน และคุณล่ะ คิดเห็นกับประเด็นนี้อย่างไร ?