
"การแต่งกาย"ศาสตร์อย่างหนึ่งที่อยู่คู่กับมนุษยชนมาอย่างช้านาน หากพูดถึงสาเหตุหลักที่มนุษย์ประดิษฐ์เครื่องแต่งกายขึ้นมานั้นก็เพียงเพื่อ"ห่อหุ้ม ปกคลุมร่างกาย สร้างความอบอุ่น และป้องกันอันตรายจากสภาพแวดล้อม"แต่เมื่อประวัติศาสตร์มนุษยชาติดำเนินไป ด้วยความชาญฉลาดมนุษย์ เราก็พัฒนาสิ่งต่าง ๆ ขึ้น ทั้งทางด้านวัตถุ ทั้งทางด้านจิตใจ สร้างสิ่งประดิษฐ์มากมายรวมถึงสร้าง"วัฒนธรรม"
จากเพียงแค่เพื่อการนุ่งห่ม การแต่งกายกลับกลายเป็นมากกว่านั้น
การแต่งกายกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม เป็นสัญลักษณ์ทางสังคมที่สามารถบ่งบอกถึงตัวตนของผู้สวมใส่ บ่งบอกถึงเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ สามารถกำหนดลักษณะทางเพศชาย-หญิง และความแตกต่างทางสถานะสังคม ทั้งระดับชนชั้น อาชีพ หรือแม้แต่อายุ เมื่อการแต่งกายเป็นสัญลักษณ์ทางสังคม มนุษย์ในแต่ละสังคมจึงกำหนดขอบเขตในการแต่งกายขึ้นกลายเป็น" ค่านิยมในการแต่งกาย ”ขึ้นมา อย่างในสังคมไทยเองที่มักจะกำหนดให้ผู้หญิงมีค่านิยม" แต่งตัวเรียบร้อย "เพื่อสอดคล้องกับการเป็นผู้หญิงในอุดมคติหรือที่คนไทยเรียกว่า" กุลสตรี "
ข้อกำหนดของการเป็นกุลสตรีที่ผู้หญิงไทยมักจะถูกปลูกฝังไว้เสมอคือ" ต้องทำตัวให้มีคุณค่า มีกิริยามารยาทที่ดี รักนวลสงวนตัว ไม่ควรแสดงออกในเรื่องเพศ "นิยามของการแต่งตัวเรียบร้อย จึงเป็นการแต่งตัวที่ไม่โชว์เนื้อหนังมังสา ไม่แสดงออกทางเพศ หรือไม่โป๊จนเกินไป และเมื่อผู้หญิงคนใดที่ละเมิดค่านิยมนี้ กล่าวคือทำตัวผิดแปลกไปจากค่านิยม แต่งตัวโป๊ โชว์เนื้อหนังมังสา เธอเหล่านั้นก็จะโดนสังคมตำหนิ ถูกลดค่าให้กลายเป็น" ผู้หญิงไม่ดี "ในทันที

มีคำก่นด่า คำประณามต่าง ๆ มากมาย ที่สังคมใช้นิยาม"ผู้หญิงไม่ดี"ที่ฝืนค่านิยมที่สังคมกำหนด หากเธอเหล่านั้น แต่งตัวโป๊ นุ่งน้อยห่มน้อย สังคมมักจะลดค่าพวกเธอทันที โดยถูกมองว่า"มุ่งแต่เรื่องเซ็กส์ ทำตัวเย้ายวน เชิญชวน และถูกมองเป็นเพียงวัตถุทางเพศ"แต่หากมองในหลักความเป็นจริง ถ้าหากจุดประสงค์ของการแต่งตัวโป๊ คือการแสดงออกเรื่องเซ็กส์อย่างที่ถูกกล่าวหาจริง คำถามคือ
"แล้วผู้หญิงมีสิทธ์มากน้อยแค่ไหนในการแสดงออกเรื่องเซ็กส์?"ผิดหรือ? หากเธอจะทำตามสัญชาตญาณของมนุษย์ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติบ้าง ?
ไม่ว่าคำตอบของคำถามด้านบนจะออกมารูปแบบไหน แต่ความคิดที่ผิดมหันต์ คือ"การที่ผู้หญิงถูกมองว่าเป็นวัตถุทางเพศ "ไม่ควรมีผู้หญิงคนไหน หรือใครก็ตามแต่บนโลกใบนี้ที่สมควรถูกลดค่าเป็นเพียง วัตถุ หรือ สิ่งของ ยิ่งในยุคที่ทุกคนหันมาใส่ใจความเรื่องความเท่าเทียม และสิทธิเสรีภาพมากขึ้น การมองว่า"ผู้หญิงแต่งตัวโป๊ว่าสมควรลดค่าเป็นเพียงวัตถุทางเพศ "ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับมุมมองของสังคมชายเป็นใหญ่ ที่มักจะกดให้เพศอื่นดูด้อยกว่าเสมอหากทุกคนใส่ใจเรื่องความเท่าเทียมและสิทธิ์เสรีจริง ๆ จะไม่มีใครถูกลดค่า เพียงเพราะ “การแต่งตัว”

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคที่ทุกคนเชิดชูความเท่าเทียม และ สิทธิเสรีภาพ
การแต่งกายจึงไม่ได้เป็นแค่สัญลักษณ์ที่ใช้สะท้อนค่านิยมหรือวัฒนธรรม แต่ยังเป็นเรื่องของความเท่าเทียม และสิทธิเสรีภาพ
ที่มนุษย์ใช้สะท้อนความเป็นตัวตน และแสดงออกถึงรสนิยมชมชอบ การแต่งตัวโป๊จึงไม่ควรถูกมองเพียงแค่เรื่องทางเพศด้านเดียว แต่ควรมองถึงเรื่องสิทธิของการแต่งกายด้วย เพราะเชื่อว่า มีผู้หญิงหลาย ๆ คนที่ไม่ได้
“ แต่งตัวโป๊ ”
เพราะอยากจะแสดงเจตนาเรื่องเพศ แต่เธออาจจะเพียงแค่มีความสุขกับการได้สวมใส่เสื้อผ้าที่ตัวเองชื่นชอบ
"พวกหล่อนสะดวกแบบนี้ แค่อยากใส่แบบนี้ แล้วพวกหล่อนผิดตรงไหน ?"

คำถามก็จะเกิดขึ้นอีกครั้งว่า
"ถ้าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแต่งกาย อยากแต่งอะไรก็ได้ แล้วแบบนี้ ขอบเขตของคำว่า เสรี อยู่ตรงไหน ?ไม่งั้นต่อไป เราคงได้เห็นผู้หญิงใส่บิกินี่เข้าวัดเป็นแน่"
กุญแจสู่คำตอบของคำถามนี้ก็คือ
"กาลเทศะ"
นั่นเอง แม้ว่าทุกคนจะมีสิทธิเสรีภาพในการแต่งตัว แต่การรู้จัก
"กาลเทศะ"
หรือแปลแบบง่าย ๆ ว่า
"การรู้จักเคารพเวลา และสถานที่"
รู้ว่าอะไรควร ไม่ควร อะไรเหมาะสม ไม่เหมาะสม ยังเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องยึดถือ เพื่อให้เรายังอยู่ในสังคมด้วยกันได้ อย่าลืมตรงจุดนี้ว่า
สิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมนั้น ควรมาพร้อมกับการเคารพกันและกันด้วย
ดังนั้นหากทุกคนเข้าใจเรื่องนี้"เราอาจจะได้เห็นผู้หญิงกล้าที่จะโชว์ กล้าที่จะแต่ง กล้าที่เป็นตัวเองมากขึ้น ในขณะเดียวกันหวังว่า เราคงจะไม่เห็นผู้หญิงแต่งตัวนุ่งน้อยห่มน้อยตามศาสนสถานอีก เพราะนั่นเป็นอะไรที่ดูไร้รสนิยมแบบสุด ๆ"