เรื่อง :https://sistacafe.com/curators/4707

ภาพประกอบ :https://sistacafe.com/curators/51

รูปภาพ:

ใกล้ถึงเทศกาลรวมญาติประจำปี นี่ก็เป็นช่วงเวลาที่เราต้องเริ่มทำใจและเตรียมรับมือกับเหล่าลุง ป้า น้า อา พ่อแม่พี่น้องที่เตรียมประโยคเด็ดไว้ทักทายเวลาเจอหน้าค่าตากัน ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าหนึ่งในประโยคที่หลายๆ คนต้องได้ยินกันซักครั้งเวลาเจอหน้ากันก็คงจะหนีไม่พ้นคำทักทายคลีเช่ๆ อย่างตายแล้ววว! ไม่เจอกันนาน อ้วนขึ้นหรือเปล่าเนี่ย?

นี่เป็นแค่ประโยคคลาสสิกที่เรามักได้ยินคนทักกันบ่อยๆ ยังไม่นับคำพูดแทงใจอื่นๆ อย่าง ไปทำไรมาสิวเยอะจัง ดำขึ้นหรือเปล่าเนี่ย เมื่อไหร่จะเรียนจบ เมื่อไหร่จะทำงาน เมื่อไหร่จะมีแฟน เมื่อไหร่จะแต่งงาน เมื่อไหร่จะมีลูก…โอย เมื่อไหร่จะหยุดถามอ่ะคะ?!

รูปภาพ:

เชื่อเหลือเกินว่าเราไม่ใช่คนเดียวที่ต้องได้ยินคำทักทายเหล่านี้แน่ๆ ดูได้จากหลายๆ กระทู้ในพันทิปที่มักมีคนตั้งหัวข้อว่า มีคนทักแบบนี้ ทำยังไงดีคะ? หรือ ทำยังไงกันบ้างคะ? ซึ่งหลายๆ คำตอบก็ทำให้เราถึงกับอึ้ง! เพราะนอกจากข้อสงสัยที่ว่าทำไมคนถามถึงไม่หยุดถาม กลับกลายเป็นว่าทำไมหลายคนถึงเลือกที่จะยอมจำนนกับคำทักเหล่านั้น เลือกโทษตัวเอง หรือแม้กระทั่งได้แค่ยืนยิ้มแหย มองตาปริบๆ กับคำพูดพวกนั้น

บทความนี้อยากจะชวนคุณมานั่งคิด ชวนมานั่งสงสัยไปพร้อมๆ กันและเตรียมตัวต่อสู้เพื่อสิทธิ์ในร่างกายและจิตใจของตัวคุณเองกันค่ะ++++++++++++++++++++++++++

จริงๆ แล้วจะไปว่าการทักทายของคนสมัยนี้อย่างเดียวก็คงไม่ได้ เพราะการทักทายของคนไทยเรานั้นก็เป็นแบบนี้มานานนมถมถืดแล้ว เช่นสมัยก่อนเวลาเจอหน้าค่าตากันก็จะมักทักทายตั้งแต่ เป็นยังไงบ้างล้าวววว? ไปไหนมาล้าววว? กินข้าวหรือยังล้าววว? (ดีเทลยิบๆ)

จากบทความเกี่ยวกับการทักทายบนเว็บไซต์ของกระทรวงวัฒนธรรมนั้นได้กล่าวไว้ว่าแต่เดิมการทักทายของคนไทย ไม่ว่าจะถามว่าไปไหนมา กินข้าวหรือยัง หรือเป็นยังไงสบายดีหรือ นั้นเป็นการสะท้อนให้เห็นจิตใจที่แสดงความห่วงใยในเรื่องการกินการอยู่และสุขภาพร่างกาย

แต่ยิ่งเวลาผ่านพ้นไป จากแค่เพียงสอบถามอาหารการกินว่ากินอะไรมา หรือเป็นห่วงว่าไปไหนมาเดินทางอย่างไรสังคมเรามีการเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมที่เริ่มให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์หน้าตากันมากขึ้น ผู้คนเริ่มทักทายกันจากรูปลักษณ์ภายนอกมากขึ้นจากคำทักธรรมดาอย่างเป็นห่วงเป็นใย กลายเป็นการทักเชิงวิจารณ์อย่าง อ้วนขึ้นหรือเปล่า? ผอมลงใช่ไหม? ดำขึ้นนะไปทำอะไรมา?

รูปภาพ:

จริงๆ แล้วหากลงลึกในเรื่องการทักทาย ก็สามารถบอกได้ถึงลักษณะนิสัยและวัฒนธรรมของคนในชาตินั้นๆ ได้เช่นกัน ตัวอย่างจากเพจสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยได้เขียนอธิบายเกี่ยวกับการทักทายของคนชาติต่างๆ ไว้เหมือนกัน เช่น คนจีนมักทักทายกัน เรื่องอาหารการกิน อย่างคำว่า" เจี่ยะ ปึ่ง บ่วย "จากนั้นก็ชวนกันกินข้าว ระหว่างนั้นก็มีการพูดคุย จนไปสู่หัวข้อการสนทนาที่ต้องการ เห็นได้ว่าคนจีนสนใจเรื่องอาหารการกินเป็นสำคัญ คำถามนี้ยังแฝงไปด้วยความเอื้ออาทร/ เอื้อเฟื้อ อันเป็นธรรมชาติของคนในชนชาติที่อาหารการกินเป็นเรื่องใหญ่


มาที่คนอังกฤษที่มักทักทายกันด้วยคำสนทนาแบบทั่วไป โดยส่วนมากมักคุยกันเรื่องดินฟ้าอากาศ เพราะด้วยความที่ประเทศอังกฤษมีสภาพอากาศที่แปรปรวน เดี๋ยวฝนตก เดี๋ยวแดดออก เดี๋ยวหมอกลง พอคุยจบแล้ว จึงเป็นการนำไปสู่บทสนทนาอื่นๆ ต่อไป

สำหรับฝรั่งชาติอื่นๆ ก็มีการถามที่เป็นรูปแบบอย่างHow are you ? I am fine, thank you.หรือในกรณีที่สนิทกัน ถ้าไม่สบายก็อาจถามต่อว่าAre you ok?ส่วนถ้าคนตอบไม่อยากบอกก็ยังตอบว่าI'm okay. ได้อยู่ดีเพื่อจบบทสนทนา ในส่วนนี้จะเห็นได้ว่าหากอีกฝ่ายไม่ได้ขยายความก็สามารถจบการพูดคุยได้ ไม่มีการซอกแซกถามต่อ ซึ่งเป็นนิสัยของชาวตะวันตกที่มักจะเคารพกัน ไม่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของกันและกัน

แต่ไม่มีประเทศไหนในโลกทักกันว่า เธออ้วนขึ้น ผอมลง หรือดำขึ้น

เรียกว่าเป็น“ความใส่ใจ แบบไทยๆ ที่สนใจเรื่องราวของคนอื่นมากกว่าชนชาติอื่นนั้น เป็นความเอื้ออาทร ในแบบของคนไทย ที่อยากรู้เรื่องราวของเพื่อน / คนรู้จัก ในแบบที่แนบแน่นกว่าชาติอื่น พอสมควร”- หมอปันเฌอ เพจสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย


ทักด้วยความห่วงใย หรือกลับกลายเป็นการ Bully?

ลองถามตัวเองดูว่าถ้าเราโดนทักอะไรแบบนี้บ้างจะรู้สึกอะไรหรือไม่? หลายคนที่มีจิตใจที่เข้มแข็ง สามารถเปิดรับความคิดเห็นได้ก็ถือว่าเก่ง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่รับได้และก็ไม่มีใครมีสิทธิ์ที่จะไปบังคับให้เค้ายอมรับคำพูดเหล่านั้นได้ด้วย ซึ่งหลายครั้งข้ออ้างที่เรามักจะได้ยินในฐานะของคนทักก็คือการที่เขามีเจตนาที่ดี มีเจตนาที่ห่วงใย ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำร้ายจิตใจเลย

แต่ถึงเวลาหรือยังที่เราต้องคิดถึงความรู้สึกของคนฟังมากกว่าเจตนาในความห่วงใย(ที่มากเกินจำเป็น) ในรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ?

การถามไถ่ถึงสารทุกข์สุกดิบสามารถพูดคุยกันได้หลายๆ เรื่อง โดยที่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปแตะต้องเรื่องของร่างกายของอีกฝ่ายเลย บางกรณีแม้จะเป็นการพูดเล่น แซวกันเล่น (หรือที่ผู้ใหญ่หลายคนชอบใช้คำว่า “เอ็นดู”) แต่จริงๆ แล้วคำพูดนั้นมีพลังและอิทธิพลต่อจิตใจของคนอย่างที่ใครก็คาดไม่ถึง คำทักทายที่เป็นลบสามารถส่งผลให้คนๆ หนึ่งรู้สึกไม่ดีไปทั้งวัน ทั้งปี หรือตลอดชีวิต ยิ่งในปัจจุบันที่สื่อรอบตัวต่างให้ความสำคัญกับ “ความงามในอุดมคติ” ยิ่งทำให้จิตใจของคนเปราะบางยิ่งกว่าแต่ก่อน การทักทายด้วยความเอ็นดูอย่างที่เข้าใจ อาจกลายเป็นการกลั่นแกล้ง (Bully) โดยที่เราไม่รู้ตัว จนอาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็มีให้เห็นในหลายกรณี

อย่าเป็นเหตุผลที่ทำให้คนอื่นสงสัยในตัวเอง

ถึงเวลาหรือยังที่เราจะหยุดการทักทายที่ไม่สร้างสรรค์ คำทักทายที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว ถึงเวลาหรือยังที่เราจะทักทายกันด้วยการพูดถึงแต่สิ่งดีๆ ออกมา ถึงเวลาหรือยังที่เราจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนๆ หนึ่งสามารถยิ้มไปได้ทั้งวัน

รูปภาพ:

เอาล่ะ ถ้าเราห้ามคนอื่นทักแบบนี้ไม่ได้ แล้วเราจะปกป้องความรู้สึกของตัวเราเองได้อย่างไรกัน? ก่อนอื่นต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า “เราไม่สามารถแก้ปัญหาความรุนแรง(ทางวาจา) ได้ด้วยความรุนแรง(ทางวาจา)” ดังนั้นเราขอเสนอไอเดียซักนิดเผื่อเป็นแนวในการตอบคำทักทายที่ไม่สร้างสรรค์กันดู

อ้วนขึ้นหรือเปล่าเนี่ย?

>> ใช่ค่ะ อ้วนขึ้น ช่วงนี้สอบ กินเยอะ

>> ใช่ค่ะ พอดีงานดีเงินเดือนเยอะ เลยเอาไปซื้อของกินอร่อยๆ ได้ตลอดค่ะ

>> ใช่ค่ะ ต้องขอโทษด้วยนะคะที่หนูไร้ความสามารถในการบริหารไขมัน หนูสัญญาว่าหนูจะพยายามให้ดีกว่านี้ จะไม่ทำให้คุณป้าผิดหวัง ไม่ให้ปัญหาหนูไปกวนใจคุณป้าอีก

>> ท้องค่ะ…

ถ้าเป็นต่างประเทศ คนที่โดนทักด้วยประโยคแบบนี้จะต้องโต้ตอบแบบตรงไปตรงมา หรือเผลอๆ ด่าแบบจริงจังไปแล้วล่ะค่ะ แต่ด้วย 'ความเป็นคนไทย' ที่เราอยู่กันมานาน สิ่งที่เห็นคือการตอบโต้แบบตรงไปตรงมาไม่ใช่วัฒนธรรมของเรา (แม้ว่าในใจจะอยากด่าแค่ไหนก็ตาม) สิ่งที่ทำได้จึงต้องออกไปในแนวของ 'การทำให้ตลก' เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ ในสังคม ที่ถ้าหากเราต้องการสะท้อนอะไรก็ต้องออกไปในแนวตลกเสียดสีเพื่อกลบเกลื่อนแทนการแสดงความรู้สึกที่มักถูกมองว่าเป็นความก้าวร้าวเสมอ

แต่หากเป็นไปได้ ลองสะกิดคนที่เราสะกิดได้ ลองบอกว่าเราไม่สบายใจที่ได้ยิน ลองบอกว่าเราอยากฟังอย่างอื่นที่สร้างสรรค์ ลองแนะนำให้เค้าทักทายในสิ่งที่ดีๆ แทนที่จะมาดูว่าเราอ้วน ผอม ดำ ขาวมากน้อยแค่ไหนดูบ้างก็คงไม่ผิดอะไรมากนัก

ลองยืนหยัดพูดความจริงเพื่อปกป้องความรู้สึกของตัวเองดูบ้าง บางทีแทนที่จะตลกกลบเกลื่อนคำพูดที่ไร้มารยาท อาจกลับกลายเป็นการช่วยยกระดับมารยาทคน รวมถึงทำให้ตัวเองรู้สึกดีที่ได้ทำอะไรเพื่อตัวเองบ้างก็เป็นได้

ขอให้รักคุ้มครอง