รูปภาพ:https://i.pinimg.com/originals/a1/00/6e/a1006ef1a69fe84a375fd182b8d506db.gif

ไฮ่! สวัสดีค่าาา สาวๆSistaCafeสายญี่ปุ่นทุกคน o(≧▽≦)oเชื่อว่าสาวๆ หลายคนที่อ่าน กำลังเรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่ แต่ละคนคงมีเหตุผลแตกต่างกันไป แต่หนึ่งในเหตุผลที่เราเจอบ่อยๆ ก็คงหนีไม่พ้น' ภาษาญี่ปุ่นรายได้ดี อยากทำงานกับคนญี่ปุ่น ในบริษัทญี่ปุ่นจังเลย 'ซึ่งบอกเลยว่านอกจากตัวหลักภาษา คำศัพท์ ไวยากรณ์ที่ยากมหาหินแล้ว การร่วมงานกับชาวญี่ปุ่นในระยะยาวนั้น ก็ต้องมีการปรับตัวพอสมควรอยู่เหมือนกันด้วยมุมมอง แนวคิด วัฒนธรรมของคนไทยและคนญี่ปุ่นต่างกันเยอะแม้บางข้อเขาจะหยวนๆ ให้เพราะเห็นเป็นต่างชาติ แต่รวมๆ ก็ยังกฎเยอะอยู่ดี //น้ำตาจะไหลสำหรับใครที่ตั้งใจแน่วแน่แล้วว่า อยากทำงานกับนิฮงจิน ( ชาวญี่ปุ่น ) ในอนาคตเราจึงอยากให้เธอได้รู้จักลักษณะนิสัยพื้นฐานของพวกเขากันตั้งแต่เนิ่นๆ ทั้งหมด 7 ข้อเพื่อจะได้เข้าใจความรู้สึก มุมมองของเขา ปรับตัว ร่วมงานกันได้อย่างราบรื่นจะมีอะไรบ้างที่คนไทยอย่างเราควรรู้ก่อนสมัครเข้าบริษัทญี่ปุ่นนั้น เลื่อนลงมาอ่านข้างล่างกันได้เลย

1. ควรใส่ใจ พิถีพิถัน กับรายละเอียดงานในทุกขั้นตอน ไม่ปัดความรับผิดชอบ

รูปภาพ:https://instagram.fbkk22-1.fna.fbcdn.net/v/t51.2885-15/e35/s1080x1080/118641951_172002407757901_5939044029569396475_n.jpg?_nc_ht=instagram.fbkk22-1.fna.fbcdn.net&_nc_cat=101&_nc_ohc=is70Zr5m9E4AX8MRuec&oh=75af0c559e187fc81c36b5720a5abd45&oe=5F78BCC2

กฎข้อแรกที่สาวๆ ควรรู้ หากคิดจะร่วมงานกับคนญี่ปุ่นก็คือ

" ห้ามทำงานส่งๆ ลวกๆ โดยเด็ดขาด!! " ไม่ว่างานที่เธอได้รับมอบหมาย จะเป็นงานเล็กน้อย ดูไม่ค่อยมีความสำคัญแค่ไหน ก็ควรพิถีพิถัน ใส่ใจในการทำงานนั้นให้มากที่สุด


อย่างที่เห็นว่าประเทศญี่ปุ่น จะเป็นประเทศที่คนใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ มาก เช่น การออกแบบซองขนมแยกในห่อ, ป้ายเล็กๆ เตือนผู้คนตามท้องถนน, อุปกรณ์แปลกๆ ที่มีฟังก์ชั่นช่วยเหลือคนที่ถูกมองข้าม นั่นแหละค่ะ ผลผลิตจากลักษณะนิสัยนั้น!

คนไทยบางคน หากได้รับหน้าที่เป็นงานเล็กๆ ไม่ค่อยมีบทบาทมาก ก็ปัดความรับผิดชอบให้คนอื่นทำแทนทันที เพราะอยากได้งานสำคัญๆ ที่ทำแล้วได้ผลตอบแทนเยอะตั้งแต่แรก

ซึ่งคนญี่ปุ่นจะไม่ชอบแบบนี้เท่าไหร่ อยากให้ทำไต่เต้าจากหน้าที่เล็กๆ ขยับไปหน้าที่ที่ใหญ่ขึ้นตามอายุและกาลเวลามากกว่าค่ะ ( ข้อนี้น่าจะไม่ถูกใจสายตะวันตก ที่วัดหน้าที่จากความสามารถล้วนๆ แน่เลย แต่นั่นแหละค่ะ วัฒนธรรมเขาต่างกัน )

2. ระบบอาวุโส รุ่นพี่ รุ่นน้อง ค่อนข้างแข็งแรง ความสุภาพ อ่อนน้อม สำคัญมาก!

รูปภาพ:https://scx2.b-cdn.net/gfx/news/hires/2018/2-dog.jpg

ใครที่ชินกับระบบตะวันตก ทุกคนเท่ากัน ไม่มีชนชั้นวรรณะ ถ้ามาอยู่ในระบบการทำงานในบริษัทญี่ปุ่นจ๋าๆ ต้องปรับตัวกันครั้งยิ่งใหญ่!

ที่ทำงานคนไทยส่วนใหญ่ก็จะมีรุ่นพี่ รุ่นน้องอยู่แล้ว แต่ในเอเชียตะวันออกอย่างจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ระบบอาวุโสจะค่อนข้างเข้มงวดเป็นพิเศษ ลำดับชั้นชัดเจน หากไม่สนิทก็ต้องเรียกด้วยชื่อตำแหน่งแทนชื่อตัวเสมอ

เช่น 課長 ( kachou ขะโจ หัวหน้าแผนก ), 部長 ( buchou บุโจ หัวหน้าฝ่าย ), 社長 ( ฉะโจ ประธานบริษัท ) แม้กระทั่งเพื่อนร่วมงาน ( ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า 同僚 douryou โดเรียว แปลว่าคนร่วมงานกันเฉยๆ ไม่ใช่เพื่อน ) ถ้าไม่สนิทกันจริงๆ ก็จะเรียกแค่ชื่อสกุลเท่านั้น เช่น มิยาโมโตะซัง โยชิอุระซัง เป็นต้นค่ะ

ซึ่งหากเจาะลึกลงไปอีก ถ้าเธอจะเป็นล่าม หรือทำงานบริษัทญี่ปุ่น ที่ใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ ก็จะมีภาษารูปยกย่อง รูปถ่อมตัวที่ต้องใช้คู่กับคนที่ตำแหน่งสูงกว่า จะมาใช้ภาษาสุภาพธรรมดา เติมแค่ " ค่ะ " เหมือนภาษาไทยไม่ได้ จะมีชุดคำเฉพาะที่ต้องใช้


การใช้ชีวิตในออฟฟิศก็เช่นกัน ต้องให้เกียรติ ทำความเคารพรุ่นพี่ หัวหน้าอย่างเคร่งครัด บางครั้งหลังเลิกงาน หรือวันหยุดก็ต้องไปทำกิจกรรมต่างๆ กับหัวหน้าด้วยค่ะ ( อาจไม่ใช่กับทุกบริษัท แต่ถ้าเธอไปเจอบริษัทที่เคร่งมากๆ จะได้ไม่ culture shock นะคะซิส )

3. ต้องตรงต่อเวลาเสมอ! การมาสาย ถือเป็นความผิดร้ายแรง

รูปภาพ:https://instagram.fbkk22-2.fna.fbcdn.net/v/t51.2885-15/e35/s1080x1080/94438981_2678439395735287_2478443734944888253_n.jpg?_nc_ht=instagram.fbkk22-2.fna.fbcdn.net&_nc_cat=107&_nc_ohc=xw5-KsSeHdgAX-WOMVg&oh=05341d6319cdec14f38dded461470290&oe=5F79017A

ใครที่เคยไปประเทศญี่ปุ่นจะรู้ดีว่า การคมนาคม ยกตัวอย่างง่ายๆ คือรถไฟ รถบัส' ตรงต่อเวลามากกก 'เป๊ะยันเลขนาทีเลยทีเดียว ซึ่งมาจากลักษณะนิสัยของคนในชาติ ที่จะรักษาเวลายิ่งชีพ

ยิ่งเป็นวัยทำงานในญี่ปุ่น

การมาทำงานสายโดยไม่มีเหตุสมควรถือเป็นความผิดที่ค่อนข้างร้ายแรง หากไม่โดนดุต่อหน้า ก็จะโดนมองด้วยสายตาตำหนิอย่างรุนแรงเลยทีเดียวเลยล่ะค่ะ

จะแตกต่างกับที่ทำงานของไทยบางแห่ง ที่ไม่ได้ฟิกซ์เวลาทำงาน มาสาย 5-10 นาทีก็ไม่เป็นไร ( บางที่มาสายเป็นครึ่งชั่วโมงยังรอด อย่าให้บอกเลยว่าที่ไหน... )

หากสาวๆ คิดจะทำงานในบริษัทญี่ปุ่น ต้องปรับตัว จริงจังกับเวลาค่ะ หากปรับเข็มนาฬิกาให้ตรงกับนาฬิกาบริษัทเป๊ะๆ ได้ยิ่งดี หลายบริษัทมีตอกเวลาเข้าออกงานนับเป๊ะๆ หากสาย ก็โดนหักเงินเดือน

อันที่จริงไม่ใช่แค่เวลา แต่ถ้าได้รับมอบหมายงาน ก็ควรต้องส่งให้ตรงตามเดตไลน์ด้วยเช่นกัน เพราะคนญี่ปุ่นเขาถือมากๆ ค่ะซิส จะเอ้อระเหยไม่ได้เด้อ

4. หมั่นใฝ่หาความรู้เพิ่มเติมในสายงาน อยู่เสมอ อย่าย่ำอยู่กับที่!

รูปภาพ:https://instagram.fbkk22-1.fna.fbcdn.net/v/t51.2885-15/e35/s1080x1080/116645631_233468397722616_8567720113260428704_n.jpg?_nc_ht=instagram.fbkk22-1.fna.fbcdn.net&_nc_cat=100&_nc_ohc=yL_PffOCsDAAX8HzEu3&oh=440fd62d663c75dca23557c493facf62&oe=5F77426B

อันที่จริงข้อนี้ก็ค่อนข้างเหมือนกันค่ะ ทั้งฝั่งไทยและฝั่งญี่ปุ่น แต่จากประสบการณ์ตรงที่เคยทำงานในบริษัทญี่ปุ่นมาหลายปี แม้กฎระเบียบอื่นๆ จะยืดหยุ่นได้ แต่เขาจะค่อนข้างซีเรียสเกี่ยวกับทักษะการทำงาน' ที่ควรเพิ่มขึ้นในแต่ละปี '

แม้จะไม่ใช่ทักษะความรู้ที่เป็นวิชาชัดเจน อย่างภาษาโปรแกรมเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง บัญชี ก็ควรพัฒนาเรื่อง soft skill หรือทักษะที่ค่อยๆ สั่งสมมาจากประสบการณ์ เช่น ทักษะทางมนุษยสัมพันธ์ จิตวิทยาการคุยกับคน เป็นต้น

ดังนั้นหากจะทำงานในบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ควรพัฒนาตัวเองเสมอ อย่าย่ำอยู่กับที่!!พยายามหาความรู้ทั้งที่เกี่ยวกับสายงานโดยตรง และทักษะอื่นๆ ที่ช่วยเรื่องการงานโดยอ้อม อย่ามองข้ามทักษะบางอย่างที่พอเรียนรู้ได้

แม้ตอนนี้อาจจะไม่ได้ใช้ แต่อีก 2-3 ปีข้างหน้าอาจโดนโยกไปช่วยทีมอื่น ต้องใช้ความรู้อันนี้ หรือมีเหตุต้องย้ายงาน จะได้ไม่ต้องมานั่งเรียนใหม่ มีแต่ได้กับได้ค่ะ

5. ถ้าได้รับมอบหมายงานที่ไม่เคยทำ ห้ามบอกปัดว่า 'ทำไม่ได้' ต้องลองพยายามก่อน!

รูปภาพ:https://instagram.fbkk22-4.fna.fbcdn.net/v/t51.2885-15/e35/s1080x1080/92345597_2909328849161471_6460489652748073119_n.jpg?_nc_ht=instagram.fbkk22-4.fna.fbcdn.net&_nc_cat=111&_nc_ohc=p49aLmUxv_cAX8vJZVV&oh=e85d891ab37f3ce34f54ddd226d09fec&oe=5F78D5BC

คนญี่ปุ่นขึ้นชื่อสุดๆ เรื่อง' ความพยายาม 'หากต้องทำอะไรสักอย่าง คนชาตินี้มักจะพยายามทำจนถึงที่สุด ( จนบางครั้งถึงขั้นหัวดื้อ เอาแต่ใจตัวเองเลยแหละ ) เขาจะมีคติประจำใจกันว่า ' จะรู้ผลลัพธ์ได้อย่างไร ถ้ายังไม่พยายามลงมือทำก่อน '

ซึ่งแน่นอนว่าเขาจะใช้แนวคิดนี้กับเราแน่ๆ หากเราเป็นลูกน้องของเขาในบริษัท

หากได้รับมอบหมายงานใดๆ มาก็ตาม แม้อ่านเนื้องานแล้วเราจะไม่คุ้นมาก่อน คิดแวบแรกว่าทำไม่ได้แน่ๆ ก็อย่าเพิ่งปฏิเสธโดยทันที อย่างน้อยให้ลองพยายาม ลองทำดูก่อน โดยเขียนแผนงานการทำสิ่งนั้นๆ อย่างชัดเจนเตรียมไว้ด้วย


โดยประสบการณ์ส่วนตัว ถ้าเรามีหลักฐานยืนยันว่าเราได้ลองแล้ว แต่สิ่งนั้นมันไม่เวิร์ค หรือมันไม่เข้ากับเราจริงๆ เขาก็จะไม่ดื้อดันทุรังต่อค่ะ

( แต่ก็มีบางบ. ที่หัวแข็ง ไปต่อจนลูกน้องต้องเหนื่อย อันนี้ก็ต้องใช้สกิลคุยกับเขาให้เข้าใจเนอะ )

6. รู้จักวางแผนล่วงหน้า กำหนดตารางงานให้ชัดเจน เป็นลำดับขั้นตอน!

รูปภาพ:https://instagram.fbkk22-1.fna.fbcdn.net/v/t51.2885-15/e35/p1080x1080/118609105_639038293693285_2716131978374859472_n.jpg?_nc_ht=instagram.fbkk22-1.fna.fbcdn.net&_nc_cat=101&_nc_ohc=bdxtCgwawt8AX9u9DtE&oh=791eab92e7c816e0e68b07fbea0cdb47&oe=5F7753D5

อย่างที่บอกไปในข้อก่อนๆ ว่า คนญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องความเป็นระเบียบแบบแผน ขั้นตอน 1 2 3 4 เป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่แห่งคู่มือก็ว่าได้ หากไปร้านหนังสือในญี่ปุ่น สาวๆ จะพบว่ามีคู่มือในการใช้ชีวิต การทำอาหาร การเดท การดูแลผิว การเรียน ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตมีหนังสือสอนทั้งหมด!

ซึ่งเขาก็นำมาใช้ในการทำงานด้วยเช่นกัน ส่วนใหญ่ระบบต่างๆ ในบริษัทญี่ปุ่นจะมีขั้นตอนชัดเจน คนไหน ทำอะไร ที่ไหน เวลาอะไร มักมีตารางถี่ยิบๆ นัดกันเรื่องงานเป็นปกติ หากต้องทำแผนงานเสนอหัวหน้า ตาราง excel, powerpoint ต้องมา ไม่มีพลาด

หากสาวๆ ต้องทำงานกับคนญี่ปุ่น ตาราง กราฟ เอกสารรายงานการทำงานแต่ละวัน ค่อนข้างเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเขาถือว่าเป็น ' หลักฐาน ' ว่าเราทำงานจริงๆ และนำไปสืบต่อย้อนหลังได้ ( เจ้าแห่งงานเอกสาร paperwork ที่แท้ทรู )

ใครที่เคยชินกับการทำงานตามอารมณ์ วันๆ นึงไม่รู้ทำอะไรไปบ้าง จะค่อนข้างอยู่ยากถ้าทำงานกับคนญี่ปุ่น ดังนั้นปรับตัวได้ก็ปรับตัวแต่เนิ่นๆ นะคะซิส

7. กลมกลืนกับวัฒนธรรมบางอย่างของคนญี่ปุ่นได้ เช่น ทำโอที ไปงานสังสรรค์ต่างๆ

รูปภาพ:https://instagram.fbkk22-6.fna.fbcdn.net/v/t51.2885-15/e35/s1080x1080/118615571_369720750693722_8728922655107451148_n.jpg?_nc_ht=instagram.fbkk22-6.fna.fbcdn.net&_nc_cat=102&_nc_ohc=VnksvWRDQOIAX8tU-Ro&oh=57b41f3232df50e4ee5dbc3d011eb9ed&oe=5F786663

ไม่ว่าสาวๆ จะทำงานในองค์กรของญี่ปุ่นในไทย หรือองค์กรญี่ปุ่นในประเทศญี่ปุ่นโดยตรง สิ่งหนึ่งที่เธอจะเลี่ยงไม่ได้เลยก็คือ ' วัฒนธรรมการสังสรรค์ ' ที่ติดเป็นยี่ห้อของชาวญี่ปุ่นไปแล้วว่า หลังเลิกงานต้องมีงานปาร์ตี้ งานสังสรรค์ จะไปนั่งดื่มที่อิซากายะ หรือไปร้านอาหารก็แล้วแต่


เพื่อกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างหัวหน้า ลูกน้อง และระหว่างเพื่อนร่วมงานค่ะ ในประเทศญี่ปุ่นจึงมักเห็นพนักงานบริษัทเมาแอ๋ที่สถานีรถไฟเป็นเรื่องปกติ

( ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า 歓迎会 คังเกไค งานเลี้ยงต้อนรับ ในฐานะที่เป็นพนักงานใหม่ และหากไปดื่มต่อกันเองรอบที่สอง จะเรียกว่า 飲み会 โนมิไค )

ใครที่ไม่ค่อยชอบสังคม อาจจะต้องปรับตัวตรงนี้เล็กน้อยค่ะ อาจจะไปบ้างเท่าที่จำเป็น เพราะหากหนีทุกงาน บริษัทเคร่งๆ อาจมองว่าเธอไม่มีมนุษยสัมพันธ์ ไม่เอาเพื่อนร่วมงานเลย ซึ่งอาจส่งผลต่อการประเมินงานในอนาคตได้

( บางที่ก็เข้าใจแหละ แต่บางที่ก็.... คือไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะเข้าใจน่ะค่ะ )

อีกข้อที่บริษัทน่าจะเอามาให้ ( โดยมิได้ร้องขอ ) ก็คือ ' การทำโอที หรือ 残業 ซังเกียว ' ที่แทบจะเป็นวัฒนธรรมประจำชาติไปแล้ว อาจต้องเตรียมใจกับการทำงานนอกเวลาบ่อยๆ


แต่เดี๋ยวนี้ก็มีหลายบริษัทที่ปรับให้ไม่มีโอที หรือมีเฉพาะจำเป็นจริงๆ เท่านั้นแล้ว หากสาวซิสคนไหนเจอบริษัทเหล่านั้น ก็ถือว่าโชคดีมีบุญค่ะ!

รูปภาพ:https://data.whicdn.com/images/131998403/original.gif

------------------------

เป็นยังไงกันบ้างเอ่ยสาวซิส? เห็นข้อระเบียบเยอะแบบนี้ อย่าเพิ่งถอดใจไปก่อนนะ >//< เราว่าหลักๆ มันคือการมีวินัยและความรับผิดชอบที่สูงกว่าเกณฑ์คนไทยปกติแหละ ถ้าเราปรับตัวได้ข้อดีคือเราจะเป็นคนละเอียด ใส่ใจงานมากขึ้น ไม่ทำงานลวกๆ ส่งๆ และการเรียนรู้มารยาท ก็นำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันในอนาคตได้อีกด้วยแต่เข้าใจว่าคนยุคใหม่ก็ไม่อยากอยู่กับกรอบเดิมๆ ที่มันอึดอัด เดี๋ยวนี้บริษัทญี่ปุ่นก็มีทั้งแบบดั้งเดิม ธรรมเนียมเดิมจ๋าๆ กับแบบ international ที่ปรับกฎให้สากลขึ้น ก็ลองเลือกดูว่าชอบแบบไหน แต่ละที่ก็มีข้อดีข้อเสียในตัวมันเองเนอะ

ขอให้สาวๆ ทุกคนโชคดีกับการเรียนภาษาญี่ปุ่น สมหวังในการหางาน เข้าทำงานที่บริษัทญี่ปุ่น ( ไม่ว่าจะในไทยหรือญี่ปุ่นเองก็ตาม ) นะคะ วันนี้ก็ขอตัวลาไปก่อน พบกันใหม่น้า また今度ね。