สวัสดีค่าา สาวๆSistaCafeที่เพิ่งเรียนจบหมาดๆ ทุกคนงานรับปริญญาผ่านไปสักพักแล้ว ตอนนี้บัณฑิตจบใหม่หลายๆ คนน่าจะกำลังเริ่มหางาน ทยอยส่งเรซูเม่ในตำแหน่งรับสมัครที่สนใจ รอให้ HR โทรเรียกไปสัมภาษณ์ซึ่งในสถานการณ์ปกติ เด็กจบใหม่ก็แทบจะเรียกว่าตบตีกันแย่งงานอยู่แล้ว ยิ่งช่วงโควิดที่หลายๆ บริษัทปิดตัวไป โควต้าตำแหน่งงานจำกัดมากขึ้น ก็ยิ่งต้องพยายามหาสกิลใหม่ๆ ให้ตัวเองพร้อมกว่าคนอื่นเป็นทวีคูณแต่สุดท้ายถึงจะเก่งมาจากไหน ก็อาจตกม้าตายได้ง่ายๆ ถ้าด่านแรกอย่าง ' เรซูเม่ ' ไม่สนใจ ไม่น่าอ่าน และนั่นคือที่มาของบทความนี้ค่ะ

รูปภาพ:https://media3.giphy.com/media/xUA7b2sy5apYCfqhk4/giphy.gif

ลองนึกถึงว่าบริษัทคือลูกค้าที่มาเดินห้าง และเด็กจบใหม่อย่างเราๆ เป็นสินค้าใหม่ที่เพิ่งนำมาวางขายออกตลาดเป็นครั้งแรก สิ่งแรกที่ลูกค้าจะต้องเห็นด้วยตาก็คือแพ็กเกจจิ้ง หากดูดี สวยงามเตะตา ก็มีสิทธิ์ถูกนำไปลองใช้สูงกว่าแพ็กเกจจิ้งที่ดูยุ่งยาก อ่านไม่เข้าใจซึ่งเรซูเม่ก็ไม่ต่างกับตัวแทนแพ็กเกจจิ้งเหล่านั้น ในหลายๆ บริษัทดัง ตัดสินจากการอ่านเรซูเม่ไม่กี่วินาทีด้วยซ้ำ ถ้าไม่ตรงใจหรืออ่านแล้วงง เขาก็พร้อมจะกดเข้าโฟลเดอร์ถังขยะทันที!ดังนั้นเราจะมาแนะนำสาวๆ จบใหม่กับ' 7 ทริคเขียนเรซูเม่ฉบับมือโปร ให้ HR สนใจ แม้ไม่เคยมีประสบการณ์ 'จะต้องเขียนยังไงให้ได้งาน เรามาจับมือทำไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่า!

1. สรุปย่อ ' เป้าหมายในสายงาน ( personal statement ) ' ที่หัวกระดาษ

รูปภาพ:https://www.img.in.th/images/cd3caff3183799a6576ed758e1a5ef61.jpg

เด็กจบใหม่มีมากมายเหมือนฝูงปลาในท้องทะเล แต่ละคนก็มีทักษะ บุคลิก นิสัยต่างกัน คิดในมุมนายจ้างว่าเขาต้องนั่งดูเรซูเม่ของคนแปลกหน้าเป็นร้อยๆ ก็ย่อมอยากจะรู้จักผู้สมัครแต่ละคนให้เร็วที่สุด

เมื่อก่อนในเรซูเม่จะนิยมเขียน objectivr statement หรือเป้าหมายในหน้าที่การงานของตัวเอง แต่เดี๋ยวนี้การเขียนแบบนั้นเอ้าท์ไปแล้ว เพราะบริษัทสมัยใหม่ไม่ได้โฟกัสว่าเธอจะอยากเติบโตยังไง แต่อยากรู้ว่าเธอจะเป็นฟันเฟืองที่ดียังไงให้บริษัทได้มากกว่า

เราจึงแนะนำให้เธอเขียน ' summary statement ' หรือบทความสั้นๆ / สรุปย่อทักษะ ความสามารถ ประสบการณ์ที่ผ่านมาโดยรวมไว้ที่หัวกระดาษหรือส่วนบนๆ ของเรซูเม่ ไม่ควรเกิน 2-3 บรรทัด ถ้ามีทักษะหรือประสบการณ์เยอะ ก็เลือกอันที่เด่นๆ ก็พอ เพื่อให้นายจ้างรู้จักเธอแบบคร่าวๆ ก่อนจะดูรายละเอียดส่วนที่เหลือ

ในฐานะที่ผู้เขียนเคยอยู่ในฝ่ายที่ต้องดูเรซูเม่ผู้สมัครมาก่อน ใครเขียนส่วนนี้มาจะพิจารณาง่ายมาก เพราะเราจะรู้ทันทีว่าคนนี้เหมาะหรือไม่เหมาะกับตำแหน่งนั้นๆ ค่ะ

2. เลือก ' รูปแบบ ( template ) ' ของเรซูเม่ ให้เหมาะกับสายงานนั้นๆ

รูปภาพ:https://www.img.in.th/images/e305900670d8300aaa93708ad1a2474f.jpg

เรซูเม่ไม่ใช่เสื้อผ้าฟรีไซส์แบบ one size fits all เพราะแต่ละสายอาชีพ ก็จะมีรูปแบบในการดีไซน์หรือ template ที่แตกต่างกัน ซึ่งสาวๆ ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสายงานที่จะสมัคร ซึ่งจะมีหลักๆ อยู่สองแบบ ดังนี้ค่ะ

แบบแรกคือ chronological ที่เป็นแบบ bullet ไล่ลงมาเป็นข้อๆ ว่าการศึกษาตั้งแต่มัธยมถึงปริญญาตรี-โทเรียนที่ไหน เกรดเท่าไหร่ ประสบการณ์ทำงาน ( หรือฝึกงาน ) เคยทำที่ไหนมาบ้าง เหมาะกับงานจริงจังที่เน้นทักษะ hard skill เกรดเฉลี่ย ประสบการณ์และทักษะนอกห้องเรียนเยอะๆ เพราะบรรยายได้เต็มที่ เช่น นักบัญชี วิศวกร หมอ พยาบาล เภสัช

แบบที่สองคือ functional ที่มีลูกเล่น ดีไซน์ให้สนุกได้ โดยเน้นความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ของผู้สมัครเป็นหลัก ซึ่งดึงความสนใจได้ดีกว่าสำหรับคนที่ไม่เคยทำงานจริงมาก่อน เพราะต้องใช้คู่กับพอร์ตโฟลิโอผลงานอยู่แล้ว เหมาะกับอาชีพที่ใช้ความครีเอทสูงๆ เช่น นักเขียน ครีเอทีฟ กราฟิกดีไซเนอร์ เป็นต้น

**ทั้งนี้ จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยดูเรซูเม่คนมาเยอะ แม้เธอตั้งใจจะสมัครเข้าตำแหน่งที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ก็ควรทำมาทั้ง chronological ที่เป็นทางการและแบบ functional ที่ใส่สีสันเต็มที่ แนบมาทั้งสองฉบับ เพราะคนพิจารณาอาจจะไม่ได้มีคนเดียว ในแผนกด้วยกันเองแค่สีสันก็พอ แต่บางบ. ต้องส่งเรซูเม่ให้ฝ่ายบริหารระดับสูงพิจารณาด้วย จึงควรมีแบบทางการไว้ด้วยกันเหนียวค่ะ

3. ใส่ใจกับตัวอักษร การสะกดคำศัพท์ ว่ามีพิมพ์ตกหล่น ถูกไวยากรณ์หรือไม่

รูปภาพ:https://www.img.in.th/images/f8c433ddfd6f03a44a2b22b9ae48df59.jpg

อย่างที่บอกว่า บริษัทต้องมานั่งดูเรซูเม่ของผู้สมัครหลายร้อย บางบ. ดูเป็นพันฉบับต่อวัน เพื่อคัดคนออกรอบแรก บางทีแค่ข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ อย่างสะกดตัวอักษรผิด ไวยากรณ์ไม่ถูกต้อง ก็เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะคัดออกไปอยู่ในถังขยะได้


โดยเฉพาะสายงานที่เน้นความละเอียดรอบคอบ บางคนแค่ชื่อมหาวิทยาลัยของตัวเองที่จบมา หรือชื่อบริษัทที่ไปฝึกงานมายังเขียนผิดๆ ถูกๆ เลย ถ้ามาทำงานที่ต้องซีเรียสกับชื่อลูกค้า วัน เวลา ในอีเมลแต่ละฉบับ แล้วเลินเล่อส่งออกไป เธออาจทำให้บริษัทต้องขาดทุนเป็นหลักแสนหลักล้านก็ได้ ไม่ใช่เรื่องตลกเด้อ

ดังนั้นควรใส่ใจกับการเว้นวรรค ช่องไฟ ไวยากรณ์ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ การสะกดคำให้เนี้ยบที่สุด แม้จะมีจุดพลาดแค่ข้อเดียวก็ไม่ควรปล่อยผ่าน เพราะจะทำให้เรซูเม่ของเธอดู ' ไม่โปร เหมือนเด็กเล่นขายของ ' ทันที


นอกจากอ่านเองแล้ว ควรให้คนสนิทอย่างที่บ้านหรือเพื่อนสนิทอ่านทวนเพื่อเช็กความเรียบร้อยอีกรอบ อย่าลืมว่าเธอคือเด็กจบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ใดๆ เลย หากเรซูเม่ยังพิมพ์ผิดอีก เธอจะยิ่งกลายเป็นตัวเลือกที่รั้งท้ายแถวที่ไม่มีใครอยากได้เข้าไปใหญ่!

4. หัวข้อ ' ผลงานที่ได้รับ/ประสบการณ์ที่ผ่านมา ' ควรชัดเจน เข้าใจง่าย

รูปภาพ:https://www.img.in.th/images/f2ccc1e911583f0c17eef369fa40b067.jpg

หากเธอมีผลงานเด่นๆ ที่ได้รับ เช่น รางวัลชนะเลิศจากการไปประกวด ประกาศนียบัตรจากการเข้าอบรม เรียนคอร์สสั้นๆ จากมหาวิทยาลัย หรือมีประสบการณ์เข้าค่ายอาสา ค่ายผู้นำ ค่ายพัฒนาทักษะภาษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสายงานหรือตำแหน่งที่จะสมัคร


ก็อย่าสักแต่จะยัดทุกอย่างที่เคยทำเข้าไปในเรซูเม่ เพราะนายจ้างหรือ HR ไม่มานั่งอ่านประวัติยาวยืดของเธอหรอก เขาสนแค่ว่าเธอมีคุณสมบัติตรงกับงานไหม มีประโยชน์ต่องานนั้นๆ หรือไม่เท่านั้น

เลือกอันที่เด่นที่สุดมา 2-3 อย่าง แล้วเขียนเป็น bullet สั้นๆ กระชับ เข้าใจง่ายว่าได้รับบทเรียน หรือประสบการณ์ใดที่สำคัญจากการอบรมหรือเรียนคอร์สเหล่านั้น หากได้รางวัลก็ใส่รายละเอียดลงไปว่า ต้องมีคุณสมบัติหรือทักษะขั้นใดที่ทำให้ได้รางวัลนั้น เช่น ชนะเลิศระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ได้รับรางวัลจากใคร หากเป็นคนที่มีชื่อเสียงก็จะยิ่งเพิ่มเครดิตให้เธอยิ่งขึ้น


ส่วนใครที่ไม่เคยชนะรางวัลอะไรเลย นั่นไม่ใช่ปัญหา ยุคนี้มีคอร์สออนไลน์หรือการอบรมสั้นๆ ในอินเตอร์เน็ตจากมหาลัยดังทั่วโลกมากมาย ลงเรียนสัก 2-3 คอร์สที่สนใจและตอบโจทย์งานที่จะสมัคร แล้วนำมาใส่ในเรซูเม่ ก็เป็นตัวเลือกที่ดีเช่นกัน

5. ในหัวข้อ ' การศึกษา/ทักษะที่มี ' ควรเป็นความสามารถที่วัดผลได้

รูปภาพ:https://www.img.in.th/images/1e196e96e704fd0871cfe42302eba849.jpg

สังเกตว่าเรซูเม่ของเด็กจบใหม่ยุคนี้ มักจะมีสิ่งหนึ่งที่คนคัดเรซูเม่เรียกว่า ' ค่าพลัง ' คือการทำเป็นกราฟ เป็นจุดๆ หรือเป็นเปอร์เซนต์ที่ผู้สมัครตัดสินขึ้นมาเองว่าตัวเองอยู่ในระดับเท่านี้ ซึ่งในมุมของนายจ้างจะงงว่า ระดับเท่านี้คือเท่าไหน ทำอะไรได้บ้าง ระดับของคนสมัครกับนายจ้างอยู่ในเกณฑ์เดียวกันหรือเปล่า

เช่น ทักษะทำ photoshop 80% บางบริษัทอาจคิดว่ารีทัชภาพระดับป้ายโฆษณาได้แล้ว แต่ผู้สมัครเข้าใจว่าแค่ตัดแปะแบบง่ายๆ ก็คือเก่งแล้ว ซึ่งหากรับเข้ามาเป็นพนักงานจริงๆ จะทำให้เกิดปัญหาในเนื้องานได้อย่างแน่นอน

ดังนั้นไม่ว่าจะทักษะภาษา, โปรแกรม หรือการศึกษาที่ได้เล่าเรียนมา เราแนะนำว่าอย่าใส่ค่าพลัง แต่บรรยายไปตรงๆ เลยว่าเธอเรียนอะไรมา ทำอะไรได้บ้าง ถ้ามีการสอบแบบสากลก็ใส่คะแนนมา เช่น TOEIC TOEFL IELTS


ไม่ต้องใส่จุด หรือวัดเปอร์เซนต์เพราะมันไม่ใช่เกณฑ์สากล วัดผลไม่ได้กับทุกคน เน้นผลที่เป็นรูปธรรมไว้ก่อน ถ้ามาแบบให้คิดจินตนาการเอาเอง เกรงว่าเรซูเม่ของเธอจะถูกคัดออกเสียก่อนค่ะ

6. ถ้าไม่เคยไป ' ฝึกงานในสนามจริง ' เลย ควรไปสมัครหาประสบการณ์ก่อน

รูปภาพ:https://www.img.in.th/images/a0c07e07b5b13e7587a51c7d4bcaed43.jpg

ในบางอาชีพ แค่เรียนให้ได้เกรดเฉลี่ยดีๆ ในรั้วมหาลัย หรือฝึกงานตามหลักสูตรก็มีโอกาสได้งานสูงมากแล้ว เช่น งานสายกฎหมาย วิศวะ บัญชี หมอ เภสัช พยาบาล นักวิจัย ทันตะ เศรษฐศาสตร์ เป็นต้น

แต่บางสายงานโดยเฉพาะสายมนุษยศาสตร์และสังคม เช่น สายภาษา สายศิลปกรรม สายบริหารธุรกิจ ควรต้องมีประสบการณ์ฝึกงานนอกหลักสูตรในบริษัทจริงๆ มาก่อน เพื่อที่นายจ้างจะมองว่า ' เป็นงาน ' ระดับหนึ่งแล้ว ไม่ต้องมานั่งสอนทักษะบางอย่าง หรือเรียนรู้วัฒนธรรมองค์กรกันใหม่

หากมหาวิทยาลัยที่เธอเรียนอยู่ มีภาคการศึกษาที่ปล่อยให้นักศึกษาไปฝึกงานมาแล้ว ก็ถือเป็นประสบการณ์อันดีที่จะเขียนลงในเรซูเม่ แต่บางสถาบันก็มีแต่การเรียนจริงๆ ไม่มีเทอมไหนให้ฝึกงานเลย ซึ่งแน่นอนว่าจบมาก็จะเสียเปรียบกว่าคนที่ผ่านสนามงานมาแล้ว

ดังนั้นอย่ากลัวที่จะสมัครโครงการฝึกงานของบริษัทต่างๆ ที่เปิดรับคนที่เรียนจบแล้ว เพราะนั่นคือโอกาสชั้นดีที่แม้จะไม่ได้เงินตอบแทน แต่ก็ได้ทักษะและประสบการณ์ที่จะติดตัวเธอไปตลอดในอนาคต ยิ่งไปฝึกกับบริษัทดีๆ ก็ยิ่งเป็นหน้าเป็นตาให้เรซูเม่ของเธอเองด้วย

7. เข้าคอร์สอบรมออนไลน์, เรียนเสริม, กิจกรรมเพื่อสังคม etc. จะยิ่งมีแต้มต่อ

รูปภาพ:https://www.img.in.th/images/506fa8921bc5cb546856ac12361f2fa1.jpg

สายงานที่อาศัยพอร์ตผลงานนอกห้องเรียนเยอะๆ ก็เป็นที่เข้าใจกันดีว่า ต้องขวนขวายหากิจกรรมทำอยู่แล้ว บางคนก็ทำเยอะช่วงเรียนมหาลัยจนแฟ้มหนาเป็นตั้งๆ


แต่สำหรับซิสที่อยู่ในสายงานที่ใช้ทักษะและเกรดเฉลี่ยในตำราเป็นส่วนใหญ่ ถ้าเกรดกลางๆ มหาลัยก็ระดับกลาง จะเอาอะไรไปสู้กับคนที่อยู่ม. ดัง ได้เกรด 3.5++ ทุกเทอมล่ะ?


คำตอบคือต้องใช้กิจกรรมนอกห้อง คอร์สเรียนอบรมเสริม หรือแม้แต่ค่ายอาสามาเป็นตัวช่วยค่ะ แม้จะไม่ได้นำมาพิจารณาโดยตรง แต่เธอก็จะดู ' มีอะไร ' มากกว่าตัวเลขเกรดที่มีกันเกลื่อนตลาดงาน

หรือจะเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับงานอดิเรกที่เธอสนใจก็ได้ เคยเข้าร่วมงานประกวดไหม นำงานอดิเรกนั้นไปต่อยอดยังไงบ้าง เช่น ชอบการเขียนเลยส่งผลงานเข้าประกวดงานวรรณกรรมซีไรต์ ชอบตัดต่อคลิปวิดีโอ เลยต่อยอดไปทำช่องยูทูปของตัวเอง เป็นต้นขอแค่ดูมีประโยชน์และนำมาปรับใช้กับงานได้ ก็ลองแนบส่งมากับเรซูเม่ก่อน บางทีเธออาจได้งานทำเพราะงานอดิเรกเล็กน้อย หรือกิจกรรมที่เธอเข้าร่วมไปแบบไม่คิดอะไรก็ได้ ใครจะรู้

รูปภาพ:https://i.pinimg.com/originals/b5/01/3d/b5013de0baec1cb12e8e6975fa7b5eb2.gif

------------------------------------------------

ความท้าทายของการหางาน ไม่ได้เริ่มจากคิดคำตอบดีๆ ตอนเตรียมตัวไปสัมภาษณ์งานนะ แต่เริ่มตั้งแต่ทำเรซูเม่เลยต่างหาก! เพราะการทำประวัติและผลงานตัวเองให้โดดเด่น ไม่ได้มีวิชาสอนในทุกมหาวิทยาลัย แต่เด็กจบใหม่มีมากมาย บริษัทก็ย่อมเฟ้นหา ' ลูกจ้าง ' ที่ดีที่สุดให้ตัวเอง ย่อมมีคนต้องหลงทาง เริ่มจากศูนย์ ไม่รู้ว่าจะทำยังไง หลังอ่านบทความนี้จบ เราเชื่อว่าจะช่วยสาวๆ หลายคนที่เพิ่งจบใหม่ได้อย่างแน่นอนเมื่อมีสถานการณ์อย่างการสมัครงาน ที่เราต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้รับเลือก ก็เป็นเรื่องดีถ้าสาวๆ ทำทั้งรูปลักษณ์ภายนอกอย่างหน้าปกให้สวย และเพิ่มพูนทักษะที่ระบุไว้ในเนื้อหาเรซูเม่ให้เต็มที่ หากทำตามคำแนะนำทั้ง 7 ข้อในบทความนี้ เชื่อว่าต้องมีบริษัทที่เห็นเธอเข้าตา และอยากรับเธอเข้าไปเป็นพนักงานในองค์กรอย่างแน่นอน ขออวยพรให้สาวๆ ทุกคนได้งานในตำแหน่งและบริษัทที่หวังไว้นะคะ สู้ตาย Fighting!!  ^__^