Guten Tag! สาวๆ SistaCafe ที่อยากเก่ง ' ภาษาเยอรมัน ' ทุกคน
ในช่วงสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่ค่อยดี หลายคนก็อยากไปเสาะหาอนาคตและชีวิตที่ดีกว่าในต่างประเทศ จึงเกิดกระแสทำกรุ๊ป ' ย้ายประเทศ ' ในโซเชียลขึ้น เพื่อรีวิว บอกลู่ทางและข้อดี ข้อเสียหากคิดจะย้ายถิ่นฐานจริงจัง ซึ่งทุกคนก็คงรู้ดีว่า ไม่มีที่ไหนบนโลกนี้เป็นสวรรค์วิมาน 100% ทุกประเทศมีสิ่งที่ต้องแลก อยู่ที่ว่าเรารับได้กับข้อเสียของที่ไหนมากกว่า อีกทั้งยังต้องพัฒนาตัวเองให้มากที่สุด เพื่อจะได้ไปแล้วไม่บ่นว่า ' อยู่ยาก ' จนสุดท้ายอยู่ไม่ไหวต้องกลับไทยค่ะ #จะหนีก็ต้องหนีให้รอดเด้อ
ใครที่กำลังสนใจอยากปักหมุดโลเคชั่น ไปลงที่ประเทศเยอรมัน ประเทศขวัญใจของหลายๆ คน ทั้งเรื่องสถานที่สวยงาม อากาศบริสุทธิ์ กฎบ้านเมืองใช้ได้จริง ( อุ๊ปส์ ) และการศึกษาติดอันดับท็อปของโลกนั้น อย่างหนึ่งที่ควรจะต้องเตรียมตัวก่อนไปแน่ๆ คือฝึก ' ภาษาเยอรมัน ' ให้คล่องแคล่วค่ะ แม้ตอนเรียนอาจยังไม่ได้ใช้มากนัก แต่ถ้าคิดจะทำงานที่นู่นยาวๆ ต้องติดต่อเอกสารราชการทุกอย่างเอง ยังไงเธอก็หนีภาษาเขาไม่พ้นหรอก รู้ไว้ยังไงก็ได้เปรียบกว่า! ในบทความนี้เราจึงมาแนะนำบทความ ' 7 เคล็ดลับเรียนภาษาเยอรมัน ให้เก่งขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ใช้งานได้จริง ' กันค่ะ
ต้องเรียนภาษาเยอรมันนานแค่ไหน ถึงเรียกว่า 'Fluent'

ข้อสอง ระยะเวลากว่าจะเก่งภาษาเยอรมัน ขึ้นอยู่กับว่าเธอจะ ' ขายวิญญาณ ' ให้ภาษานี้ได้มากแค่ไหน ให้เวลากับมันได้ต่อวันกี่ชั่วโมง เช่น ถ้าเธอท่องหนังสือวันละ 5-6 ชั่วโมง แม้จะเรียนมาแค่ไม่กี่เดือน เธอก็ย่อมไปไวกว่าคนที่เรียนมาหลายปีแล้ว แต่เรียนแค่สัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงแน่นอน ยิ่งฝึกเยอะ ฝึกหนักก็ยิ่งคุ้นชินกับภาษา พอคุ้นชินก็คล่องมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นจะฝึกตอนอายุเท่าไหร่ไม่ใช่ปัญหา แต่ต้องมีเวลาให้มันมากพอเท่านั้นเองค่ะ

A1 60-150 ชั่วโมง ( เบสิคมากๆ ไว้เอาชีวิตรอดตอนไปเที่ยวอย่างเดียว )
A2 150-260 ชั่วโมง ( ระดับพื้นฐาน เริ่มรู้คำศัพท์ สื่อสารง่ายๆ ได้บ้าง )
B1 260-490 ชั่วโมง ( สื่อสารได้ในชีวิตประจำวัน )
*หากพูดถึงความคล่องของการใช้ภาษา ตามเกณฑ์ทั่วๆ ไปก็ควรสอบวัดระดับได้ขั้นต่ำ C1 ถึงจะเรียกว่า fluent แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสอบได้คะแนนสูงแล้วจะพูดคล่อง อ่านออกทุกเรื่องอยู่ดี และจำนวนชั่วโมงเหล่านี้ก็เป็นมาตรฐานกลาง บางคนใช้เวลาเร็วกว่านี้ บางคนช้ากว่านี้ ตอนนี้เธอน่าจะพอกะได้แล้วว่า จะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ในการสอบวัดระดับ แต่ในบทความนี้จะแชร์ทริคที่ทำให้เรียนได้ไวขึ้น เป็นได้เร็วขึ้น! จะต้องทำยังไงบ้างเรามาดูกันค่า
1. ลิสต์คำที่ใช้บ่อย (High Frequency Lists) เพื่อเรียนคำศัพท์เยอรมันที่ใช้บ่อยๆ

ในช่วงแรกๆ ที่มาคลุกคลีกับภาษาเยอรมัน การเรียนและฝึก ' คำศัพท์ ' เป็นก้าวแรกที่สำคัญมาก ไม่มีทางลัด ถ้าอยากเก่งก็ต้องจำศัพท์ให้ได้มากที่สุด แค่นั้นเลย! แต่ไม่ใช่ทุกคำที่สำคัญ โดยเฉพาะถ้าอยากเอาแค่พอสื่อสารได้ ก็ควรโฟกัสไปที่ ' คำที่ใช้บ่อย ' ของการสนทนาในชีวิตประจำวันก่อน โดยคำภาษาเยอรมันที่ใช้บ่อย 1,000 คำ จะประกอบด้วยภาษาเขียนถึง 80% ดังนั้นถ้าเธอได้หนึ่งพันคำนี้ เธอก็เหมือนเข้าใจทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนไปด้วยในเวลาเดียวกัน ถือว่าเป็นวิธีเข้าถึงภาษาระดับพื้นฐานในชีวิตจริงที่ง่ายที่สุดแล้วล่ะค่ะ
ไม่ใช่แค่เยอรมัน แต่คำศัพท์ที่ใช้บ่อยของทุกๆ ภาษา ก็สามารถเซิร์ชหาได้ตามอินเทอร์เน็ต เช่น เว็บไซต์ Wiktionary อีกทางหนึ่งที่อยากแนะนำคือ เรียนรู้จากคลิปที่เกี่ยวกับสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน, คลิปรีวิวของ, คลิปฮาวทูต่างๆ ในยูทูป อินสตาแกรม ติ๊กต่อก เพื่อให้คุ้นชินกับสำเนียง ศัพท์ที่ใช้ในชีวิตจริง และความเร็วที่คนจริงๆ พูด จะได้ไม่งงและปรับตัวได้เร็วเมื่อไปอยู่จริง
**อีกวิธีหนึ่งที่ recommend มากๆ คือใช้ Flash Card หรือบัตรจำคำศัพท์ เขียนศัพท์ที่อยากท่องให้ขึ้นใจ เย็บเป็นเล่มเล็กๆ พกติดตัว นึกออกเมื่อไหร่ก็หยิบขึ้นมาท่อง คำไหนท่องได้แล้วก็แยกไว้อีกเล่ม เหลือแค่คำที่ยังจำไม่ได้ การแยกเล่มคำที่จำได้-จำไม่ได้ จะทำให้เรารู้ด้วยว่าจำไปได้จริงๆ กี่คำแล้วค่ะ
2. รู้จักกริยาพิเศษ (Modal Verbs) พูดมากขึ้น แต่ผันกริยาน้อยลง!

ต้องยอมรับกันตรงๆ ว่า ความยากอันดับต้นๆ ของภาษาเยอรมันคือการผันคำนาม สรรพนาม คุณศัพท์ ( declensions ) และการผันคำกริยา ( conjugations ) ผันมันหมดทุกอย่างเลยว่างั้นเถอะ! กริยาจะเปลี่ยนรูปได้ตลอดตามกรณีและกาลเวลา บุรุษที่ 1 2 3 ( I, You, We, They ) และพจน์บ่งบอกจำนวน ( A, An, The ) ซับซ้อนวุ่นวายเหมือนเล่นเขาวงกตกันเลยทีเดียวค่ะซิสขาาา!
จะให้นั่งท่องจำทุกรูปที่ผันแล้วของกริยาทุกแบบ 1 2 3 4 ก็ดูจะสาหัสเกินไป โดยเฉพาะกริยารูปอดีต simple past และ imperfect กลัวจะชักดิ้นชักงอกันไปเสียก่อน ลองเปลี่ยนจากเรียนรู้การผันกริยาช่วยพิเศษแค่ 7 คำ ที่ผันเพื่อสื่อความหมายได้แทบทุกอย่างที่เธอต้องการ ( modal verbs ) กันดีกว่า โดย 7 กริยาที่มักใช้บ่อยๆ มีดังนี้
เมื่อนำมาใช้ในประโยค ตำแหน่งกริยานั้นจะไปอยู่ที่ลำดับสุดท้าย หรือเป็น infinitive verb ( กริยาแท้ๆ ที่ยังไม่ได้ผัน ) นั่นเอง ตัวอย่างเช่น
ประธาน + กริยา + กรรม >> ประธาน + กริยาช่วยที่ผันแล้ว ( modal verb ) + กรรม + กริยาหลักที่ยังไม่ได้ผัน
ประโยคแรก gehen ถูกผันเป็น gehe แต่ประโยคที่สอง gehen อยู่ในรูปกริยาแท้ที่ยังไม่ผัน ( infinitive verb ) แต่ใช้ modal verb เป็น möchten ( ต้องการที่จะ ) ที่ผันเป็น möchte แทน สองประโยคนี้ความหมายไม่เหมือนกันซะทีเดียว แต่ประโยคที่สองจะแสดงความต้องการที่ชัดเจนกว่า หากพูดกับคนเยอรมัน เขาจะเข้าใจทันทีว่าเธอต้องการที่จะสื่ออะไรค่ะ
3. หาเพื่อนเยอรมัน Native Speaker ออนไลน์ เพื่อฝึกฟัง พูด อ่าน เขียน

ข้อต่อมาที่อยากจะเชิญชวนสาวซิสให้ทำเถอะ ภาษาจะได้พัฒนาไวๆ ก็คือ ' หาเพื่อนเยอรมันออนไลน์ ' เพื่อฝึกภาษาค่ะ ซึ่งว่ากันตามตรง ก็ต้องอาศัยดวงนิดหน่อย เพราะเราไม่ได้จ่ายตังค์จ้างเขามาฝึกภาษาให้เรา และอาจจะไม่ได้ครบฟังพูดอ่านเขียนขนาดนั้น อยู่ที่ว่าเขาจะสะดวกคุยกับเราแบบไหน เพราะคนเยอรมันก็ค่อนข้าง keep privacy พอสมควร แต่ก็ดีกว่าไม่ได้ลองละนะ!
แนะนำให้หาเพื่อนเยอรมัน ( ซึ่งควรจะเป็นเนทีฟแท้ๆ เป็น german-speaking ไม่ใช่แค่คนที่พอรู้เยอรมันเฉยๆ เพราะอาจจะสอนกันผิดๆ ถูกๆ ได้ ) ตามเว็บไซต์หรือแอปหาเพื่อนต่างชาติ เขียนอีเมลคุยกัน เช่น interpals, italki หรือในกรุ๊ปแชทออนไลน์ก็ดี ถ้าเป็นสายเกมออนไลน์ เข้าเซิร์ฟเวอร์หรือเกมที่คนเยอรมันนิยมเล่น ก็มีแนวโน้มจะเจอเพื่อนเยอรมันได้ง่ายขึ้นเช่นกัน ( ถ้าไม่ซีเรียส แอปหาคู่อย่างทินเดอร์ก็หาเพื่อนได้นะ ไม่จำเป็นต้องหาแค่แฟนค่ะ ) หากสนิทกันก็ลองแกล้งๆ ขอ video call หรือคุยเสียงเฉยๆ ก็ได้ เพื่อสอนการออกเสียง คำไม่ทางการ แสลงต่างๆ ไม่ต้องกลัวพูดผิด กลัวเด๋อ พูดไปเถอะเดี๋ยวเขาแก้ให้เอง คนเราต้องเด๋อก่อนที่จะฉลาดทั้งนั้นค่ะ ถ้าเก็บงำความเด๋อไว้ ก็จะไม่มีวันเก่งนะเออ!
4. รู้จักไวยากรณ์ (Syntax) หรือการเรียงลำดับของคำในประโยค

ลำดับของการเรียงคำในประโยคหรือ ' syntax ' ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เพราะถ้าเรียงคำมั่ว คนเยอรมันก็จะไม่เข้าใจว่าเธอจะสื่อถึงอะไร! ซึ่งในภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ตาม ลำดับก็จะคล้ายกันคือ ประธาน + กริยา + กรรม ใช่ไหมคะ แต่ภาษาเยอรมันจะต่างออกไป เช่น ถ้ามีคำใน ' ลำดับแรก ' ( หน้าสุดของประโยค ), กริยาอยู่ในลำดับที่สอง และตามด้วยประธาน เพราะกริยาจะล็อกไว้ที่อันดับสองของประโยคเสมอ เช่น jetzt habe ich einen Hund แปลให้รู้เรื่องคือตอนนี้ฉันมีหมาแล้ว แต่ถ้าแปลตรงตัวคือ ตอนนี้มีฉันหมา เป็นต้น
การตั้งประโยคคำถามก็ต้องเปลี่ยนลำดับคำในประโยค ประธานกับกริยาจะสลับตำแหน่งกัน เช่น จะถามว่า " รู้จักแม่ของฉันไหม " ต้องถามว่า kennst du meine Mutter? โดยกริยา kennst ( รู้จัก ) และประธาน du ( you ) จะสลับตำแหน่งกันเพื่อให้เป็นคำถามนั่นเองค่ะ
5. เซตสภาพแวดล้อม ให้ได้ใช้ 'ภาษาเยอรมัน' จริงๆ ไม่ใช่แค่ในตำรา

อยากเก่งภาษา ก็ต้องทำสภาพแวดล้อมทุกอย่างให้เหมือนอยู่ในประเทศที่ใช้ภาษานั้นๆ นี่คือเรื่องจริง! แม้ตอนนี้จะติดสถานการณ์โควิด ยังบินไปเยอรมันทันทีไม่ได้ แต่เราสามารถเซตสิ่งต่างๆ รอบตัวเราให้เป็นภาษาเยอรมันได้ เช่น ช่วงเรียนพื้นฐานแรกๆ ก็ทำบัตรคำท่องจำ แปะคำที่ใช้บ่อยในห้องน้ำ ห้องนอน พอเริ่มรู้ศัพท์เยอะขึ้น ก็เปลี่ยนเมนูภาษาในมือถือ คอมพิวเตอร์เป็นภาษาเยอรมัน ฟังเพลงเยอรมัน ดูคลิป ดูหนังพากย์เยอรมันซับอังกฤษ ถ้าเลเวลเก่งขึ้นแล้วก็เปลี่ยนจากซับอังกฤษเป็นซับเยอรมัน เป็นต้นค่ะ
ต้องขอบคุณปี 2021 เพราะยุคนี้มีเทคโนโลยีโซเชียลเน็ตเวิร์ก อินเทอร์เน็ตให้เข้าถึงภาษาเยอะมาก ที่สำคัญคือฟรี! เธอจะไปหาเพื่อนต่างชาติในแอป ในเว็บไซต์เพื่อนทางอีเมล์ก็ดี หรือจะแค่เลื่อนหาคลิปยูทูปที่พูดภาษาเยอรมันก็ได้ ไม่เสียเงินสักบาท ( นอกจากค่าไฟกับค่าเน็ต ) ช่วงแรกๆ ที่แกรมมาร์ยังไม่เป๊ะ ให้ดูคลิปแบบที่มีซับไตเติ้ลภาษาเยอรมันขึ้นด้วย หมายถึง ในคลิปพูดเยอรมัน และมีซับเยอรมันให้เราเช็กด้วยว่า ทักษะฟังของเราตรงกับประโยคที่เขาพูดจริงๆ รึเปล่า ถ้าแก่กล้าวิชาแล้ว ก็ลองฝึกฟังเพียวๆ ทั้งคลิปในรอบแรก แล้วเปิดซับรอบสองเพื่อรีเช็ก ก็เป็นวิธีที่ดีมาก ได้ทั้งไวยากรณ์และการฟังไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ
6. เรียนรู้ 'คำบุพบท' ในภาษาเยอรมัน ผ่านรูปไวยากรณ์

ย้ำรอบที่พันล้านว่า ' ไวยากรณ์ ' นี่แหละเป็นตัวปราบเซียนในการเรียนภาษาเยอรมัน คนมาตกม้าตายไม่สามารถไปถึงระดับสูงได้ก็เพราะ grammatik เนี่ยละค่า #ร้องไห้หนักมาก ซึ่งในไวยากรณ์เองก็ยังแข่งกันว่าใครจะยากเป็นตัวท็อปๆ ซึ่งผู้ที่ได้มงกุฎไปก็คือ ' บุรุษ ' หรือการแยกแยะบุคคล ฉัน เธอ เขา เรา นาย ท่าน นั่นเองค่ะซิสสสส!
ในภาษาเยอรมัน ลำดับของคำในประโยคจะเป็นตัวบ่งชี้ว่า คำคำนั้นเป็นบุรุษที่เท่าไหร่ เป็นฉัน เป็นเธอ หรือเป็นบุรุษที่สาม จะเป็น a an หรือ the ก็อยู่ที่ว่าคำนั้นเป็นประธาน กรรมตรง ( direct object ) หรือกรรมรอง ( indirect object ) ถ้าคำนามเป็นกรรมของบุพบท ก็จะเปลี่ยนบุรุษของคำนามไปด้วย ซึ่งคำบุพบทแต่ละคำก็จะใช้กฎแตกต่างกันออกไป ดังนั้นการจำบุรุษและบุพบทควบคู่กันไปเลย จึงช่วยประหยัดเวลาและชัวร์ว่าใช้ไวยากรณ์ได้ถูกต้อง พูดแล้วเข้าใจแน่นอน คำกริยาที่คำนามตามหลังเป็นกรรมตรง มีดังนี้
ส่วนบุพบทที่คำนามตามหลังเป็นกรรมรอง มีดังนี้
บุพบทบางคำใช้ได้ทั้งเป็นกรรมตรงและกรรมรอง แล้วแต่บริบท
ตัวอย่างประโยคเช่น ich gehe in den Laden ( ฉันไปร้านค้า ) กริยา gehen ( ไป ) บ่งชี้ว่ามีการสลับตำแหน่งในประโยค ดังนั้นคำนามที่ตามหลังบุพบทจะต้องเป็นกรรมตรง คำที่ต่อมาจึงผันเป็น den แปลว่าฉันไปร้านค่ะ
ส่วนประโยค ich bin in dem Laden ( ฉันอยู่ในร้านค้า ) คำว่า bin บ่งชี้ว่าไม่มีการเปลี่ยนในตำแหน่งของประโยค ดังนั้น laden ก็จะเป็นกรรมรอง จึงผันเป็น dem แปลว่าฉันอยู่ในร้านค่ะ
7. ฝึกท่องคำนาม และเพศนำหน้าคำนาม ไปในเวลาเดียวกัน

แม้จะเป็นข้อสุดท้าย แต่ก็เรียกว่าเป็นโจทย์หินของผู้เรียนภาษาเยอรมันมากมาย นั่นคือ ' คำนาม และเพศนำหน้านาม ' นั่นเองค่ะ! ภาษาไทยกับอังกฤษไม่มีคำบอกเพศ, ภาษาฝรั่งเศสมีสองเพศ คือเพศชายกับเพศหญิง แต่ภาษาเยอรมันล้ำกว่านั้นจ้า มีสามเพศไปเลยเก๋ๆ! เพศชาย,เพศหญิง และเพศกลาง โดยนามชี้เฉพาะคือ der, die และ das ส่วนนามไม่ชี้เฉพาะคือ ein, eine และ ein ค่ะ
บอกตรงนี้เลยว่า ไม่ต้องถามหาหลักเหตุผลว่าคำนามนี้ ทำไมถึงใช้คำนำหน้าเพศนี้ เพราะไม่มีตรรกะที่ชัดเจนแต่อย่างใด เน้นความจำล้วนๆ แม้จะมีหลักที่พอแยกได้อยู่บ้าง ก็จะมีคำที่เป็นข้อยกเว้นอยู่ดี เช่น der mann ( ผู้ชาย ) die frau ( ผู้หญิง ) อันนี้เข้าใจได้เพราะเพศกับคำนามตรงกัน แต่ der junge ( เด็กชาย ) กับ das Mädchen ( เด็กหญิง ) อันนี้จะงง เพราะเด็กชายตรงตามเพศ แต่เด็กหญิงเป็นเพศกลาง!? ถ้าไม่อยากสับสน แนะนำว่าอย่าผูกติดความหมายของคำกับเพศนำหน้า ให้จำๆ มันไปว่าอันนี้ใช้กับอันนี้ รวบตึงเป็นก้อนเดียวกันไปเลย จบ!
ถ้าต้องการแยกกลุ่มคำตามเพศ แนะนำให้ทำบัตรคำ ( flash card ) โดยใช้สีบัตรแยกกัน เช่น สีเขียวคือคำเพศชาย แดงคือเพศหญิง และน้ำเงินคือเพศกลาง เป็นต้น แล้วเขียนคำนามที่จะท่องในสีบัตรตามเพศ สมองจะจดจำสีได้ดีกว่าตัวอักษร และทำให้เราจำคำศัพท์นั้นได้เร็วกว่า ลองไปฝึกทำกันดูนะคะ
-----------------------------------------
หากเธอกำลังสนใจจะเรียนภาษาเยอรมันและอ่านมาได้ถึงตรงนี้ ขอปรบมือให้เลยดังๆ เธอสอบผ่านขั้นแรกของการเรียนแล้ว! อย่างที่เห็นว่าภาษานี้ค่อนข้างยุ่งยาก ซับซ้อน ต้องอาศัยความจำ ความขยันท่อง และการฝึกนำไปใช้บ่อยๆ พอสมควร ถ้าเรียนแบบไม่ตั้งใจไปวันๆ หลายปีก็อาจจะยังไม่คล่อง เพราะมันยาก และต้องใช้ความพยายามสุดๆ !
แต่ถ้าเธอมีแพชชั่นกับการไปเรียนต่อประเทศที่ใช้ภาษาเยอรมัน อยากให้มองว่าความยากของมันก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง การได้เรียนรู้ไวยากรณ์และการแยกคำในประโยค จะทำให้เราเข้าใจวัฒนธรรมและนิสัยที่ทำตามกฎระเบียบของชาวเยอรมันได้มากขึ้น ยังไงเราก็เชื่อว่า ไม่มีภาษาไหนที่ยากเกินสาวๆ ซิสของเราจะเรียนรู้ได้ คนเยอรมันก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา เขายังพูดได้ เราก็ต้องพูดได้เหมือนกัน ขอให้โชคดีค่ะ แล้วพบกันใหม่ Auf Wiedersehen!!
Comments