บองชูร์ค่าา สาวๆSistaCafeที่เตรียมโบยบินไปเรียนที่' ฝรั่งเศส 'ทุกคนด้วยกระแสการย้ายประเทศ หาข้อมูลเรียนต่อ ทำงานต่างประเทศกำลังมาแรง นอกจากประเทศหลักๆ แมสๆ ที่เด็กไทยชอบไปอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์แล้ว ประเทศที่อยู่ในแถบยุโรปก็เป็นที่สนใจของเด็กที่กำลังจะศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยกันหลายคนซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ' ประเทศฝรั่งเศส 'ที่อยู่ทางยุโรปตอนใต้ มีชื่อเสียงแทบจะครบทุกด้าน ทั้งวัฒนธรรม ศิลปะ อาหาร โบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะการศึกษาระดับดีเยี่ยม! จึงไม่แปลกที่เด็กไทยจะกำลังหาข้อมูล เตรียมสอบวัดระดับ ยื่นเอกสารเรียนต่อกันค่ะ

รูปภาพ:https://pa1.narvii.com/7289/6c7139e9c4fc4041bc4924e390907aabecc31c36r1-369-354_hq.gif

การเป็นนักศึกษาในฝรั่งเศสมีข้อดีเหนือชาติอื่นๆ หลายข้อ เช่น แหล่งเอกสาร ตำราเรียนมากมายหลายพันเล่มก็มีแค่ในฝรั่งเศสเท่านั้น ค่าเทอมถูก ได้คุณภาพการเรียนไม่ต่างกับไปอเมริกาที่ค่าเทอมสูงลิบลิ่ว


แต่ฝรั่งเศสไม่ได้มีแค่เรื่องวิชาการ แต่ยังมีสถานที่ท่องเที่ยว อีเวนต์ งานเทศกาล ผู้คนให้พบปะ กิจกรรมเพื่อสังคม และอื่นๆ อีกมากมายที่เวลาเรียนแค่ 2-3 ปีอาจน้อยเกินไปค่ะ

แน่นอนว่า ชีวิตนักศึกษาที่นี่ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบขนาดนั้น มีเรื่องที่ต้องฝ่าฟันเช่นกัน ใครที่อยากมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมหาลัยในฝรั่งเศส ลองอ่าน


' 7 เรื่องจริงเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในฝรั่งเศส ที่เธออาจไม่เคยรู้ '


เพื่อเตรียมตัว เตรียมใจไว้ก่อนมาเจอชีวิตจริง จะได้ไม่ช็อกและรับมือทันนะคะซิส

1. ' หอพักในมหาวิทยาลัย ' ไม่ได้มีทุกแห่ง บางที่ต้องนั่งรถมาเรียน

รูปภาพ:https://www.i-pic.info/i/1ZGy34745.jpg

ถ้าคิดว่ามหาวิทยาลัยในฝรั่งเศสจะมีหอพักให้นักศึกษาทุกคนนั้น... เธอคิดผิดค่ะ! บางมออาจจะมีบ้านพักส่วนรวมให้ หรือแม้แต่ที่พักที่มีสัญญาร่วมกันใกล้ๆ กับตึกเรียนก็จริง แต่บางมอก็ไม่มี โดยเฉพาะถ้ามาเรียนในปารีส นักศึกษาต้องไปตายเอาดาบหน้า เอ๊ย! หาที่พักข้างนอกกันเอาเอง

ซึ่งมอก็จะไม่เข้ามายุ่ง เธอต้องติดต่อ ดำเนินเรื่องเองทั้งหมด ถ้าไม่เคยอยู่ตัวคนเดียวมาก่อน น่าจะวุ่นวายพอสมควร แนะนำให้ติดต่อเอเจนซี่หรือรุ่นพี่ที่เคยอยู่มาก่อน จะได้พอรู้ขั้นตอนคร่าวๆ ว่าต้องทำอะไรยังไงบ้างค่ะ

ปัญหาหลักๆ ของการเช่าห้องพักคือระยะทาง อย่างที่รู้กันว่าปารีสจะแบ่งโซนเมืองออกเป็นโซนๆ โซนด้านใน ที่พักจะแพงแต่เดินใกล้ ส่วนโซนรอบนอก ที่พักจะถูกหน่อยแต่เดินทางไกลพอสมควร

ลองชั่งน้ำหนักดูว่า ถ้าวันไหนมีเลคเชอร์เช้า 8 โมง 9 โมง เธอจะจ่ายค่าห้องถูกหน่อย แล้วตั้งนาฬิกาปลุกตั้งแต่ตีห้า นั่งรถมาหลายต่อเอา หรือจ่ายแพงหน่อยแต่เดินมาเรียนได้ชิลล์ๆ ลองตัดสินใจดูนะคะ

2. มหาวิทยาลัยในฝรั่งเศส ค่อนข้าง ' เรียนเสร็จแล้วแยกย้าย ' ไม่ค่อยรวมกลุ่มกัน

รูปภาพ:https://www.i-pic.info/i/TshY34746.jpg

สังคมมหาวิทยาลัยในไทยแทบจะทุกมอ ถ้าไม่นับมหาลัยระบบเปิดอย่างรามคำแหงหรือสุโขทัยธรรมาธิราช ก็มักจะมีหอใน ซึ่งนำไปสู่การรับน้อง มีกลุ่มเพื่อน มีแก๊งที่สนิท เลิกเรียนแล้วก็ไปเที่ยว ไปกินข้าวกันต่อ หรือไปทำกิจกรรมชมรมที่มหาลัยจัดให้


แต่ในฝรั่งเศส ตึกเรียน ตึกกิจกรรม ที่พัก แยกกันอย่างชัดเจน จึงไม่ค่อยได้จับกลุ่มรวมตัวกันเท่าไหร่ จะออกแนวแยกย้าย ชีวิตใครชีวิตมันกันมากกว่า หรือถ้าจะมองอีกแบบ คือสังคมเขาเป็นผู้ใหญ่กว่าบ้านเราค่ะ

หากเธอได้เข้าไปเรียนในมหาลัยที่ฝรั่งเศส ชีวิตประจำวันของเธอก็จะเป็นเข้าคลาสเช้า > ออกจากมหาลัยไปกินมื้อเที่ยง > กลับเข้ามอมาเรียนคลาสบ่าย > ไปเที่ยว ใช้ชีวิต > กลับที่พักซึ่งอาจอยู่อีกฟากของเมืองเป็นต้น


นักศึกษาทุกคนจะมีตารางเรียนของตัวเอง ไม่มีใครเหมือนกันเป๊ะๆ จึงแยกกันเรียนซะเป็นส่วนใหญ่ แถมยังไม่ค่อยมีสถานที่ให้นักศึกษาจับกลุ่มกันด้วย ดังนั้นการหาเพื่อนอาจจะยากสักหน่อย เลิกคลาสทุกคนก็หายหมดแล้ว ถ้าไม่นัดทำงานด้วยกัน อาจจะไม่มีโอกาสเจอเพื่อนในห้องนอกมหาลัยเลยค่ะ

3. บางคณะ อาจารย์จะบอกแค่ชื่อ 'หนังสือที่ควรอ่านในคลาส' โดยไม่มีกำหนดการอื่น

รูปภาพ:https://www.i-pic.info/i/G7R834751.jpg

ถ้าเป็นนักศึกษาในไทย แทบจะทุกมอไม่ว่าวิชาไหนก็ตาม อาจารย์จะแจก course syllabus ที่บอกตารางการมอบหมายชิ้นงาน การสอบ การอ่านหนังสือเพื่ออภิปรายร่วมกันอย่างชัดเจน วันนี้ต้องทำแบบนี้ วันนู้นต้องทำแบบนั้น แต่ไม่ใช่ในฝรั่งเศส!


ในบางคณะหรือสาขาวิชา อาจารย์จะไม่บอกตารางมอบหมายชิ้นงาน หรือการอ่านหนังสือนอกเวลาอย่างชัดเจน แต่จะบอกแค่แหล่งและชื่อหนังสือที่ควรอ่านให้ครบก่อนจบเทอม เพื่อเตรียมตัวสอบและส่งงานที่ให้เกรดค่ะ!

ระบบการสอนแบบนี้ จะทำให้นักศึกษาวางแผนได้อิสระว่าจะจัดตารางอ่านหนังสือยังไง นักศึกษาสามารถเลือกได้ว่าจะอ่านหนังสือจากแหล่งไหน จะอ่านเมื่อไหร่ ซึ่งวิธีนี้สาวๆ ต้องมีวินัยมาก

เพราะต้องเซตตารางเวลา เดตไลน์ของตัวเอง หรือง่ายๆ คือต้องรับผิดชอบตัวเองให้ได้ เพราะเธอโตเป็นผู้ใหญ่แล้วนั่นเองค่ะ

4. ในแต่ละเทอม จำนวนชิ้นงานมีน้อย ถ้างานแย่แค่ชิ้นเดียว เกรดอาจพังได้เลย

รูปภาพ:https://www.i-pic.info/i/crvQ34749.jpg

การเรียนการสอนในชั้นมหาลัยของฝรั่งเศส ในแต่ละวิชาจะมีชิ้นงานเก็บคะแนนจริงๆ ที่ต้องส่งระหว่างเทอมน้อยมาก!

ซึ่งนั่นหมายความว่า แต่ละชิ้นจะมีเปอร์เซนต์คะแนนที่สูงมาก ต้องตั้งใจทำตั้งแต่ชิ้นแรกๆ เพราะถ้าทำมั่วๆ ส่งๆ จนเกรดชิ้นงานแรกพังไปแล้ว ก็แทบจะมองเห็นอนาคตเกรดตัวเองหลังจบเทอมได้เลย แม้จะไปขยันเอาตอนท้ายๆ ก็ไม่ต้องหวัง A หรือแม้แต่ B+ ด้วยซ้ำ

ในคลาสเรียนของประเทศนี้ นักศึกษาอาจมีชิ้นงานให้ทำแค่ 2-3 ชิ้นเท่านั้น และชิ้นงานพวกนั้นแหละที่ชี้เป็นชี้ตายเกรดในทรานสคริปต์ อยู่ที่ความสม่ำเสมอของตัวเองล้วนๆ ในบางมอ หากเป็นชิ้นงานที่มีปัญหาจริงๆ อาจจะเอากลับไปแก้ไขได้ แต่คะแนนก็ร่วงอยู่ดี ต้องมาขยันหนักๆ ในผลงานชิ้นต่อไปเพื่อกู้เกรดกลับคืนมา

ดังนั้นใครที่คิดจะไปเรียนที่นั่นแล้ว ก็ขอให้สตาร์ทความฟิตตั้งแต่วันแรก ขยันเสมอต้นเสมอปลาย จะได้เก็บเกรดงามๆ ไปฝากที่บ้านให้พ่อแม่ภูมิใจค่ะ

5. รายงานหรือการบ้านที่ต้องพรินต์ส่ง ค่อนข้างยุ่งยาก ต้องเผื่อเวลาดีๆ

รูปภาพ:https://www.i-pic.info/i/F3H734750.jpg

เป็นนักศึกษาต่างชาติ ถ้าไม่ได้แชร์ห้องอยู่กับคนฝรั่งเศสหรือไม่รวยจริงๆ ก็คงไม่มีเครื่องพรินต์อยู่ในห้องแน่ๆ และนี่ละค่ะ ความท้าทายของการเรียนมหาลัย! เนื่องจากชิ้นงานที่ต้องส่ง ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในรูปแบบเล่มรายงาน หรือเอกสารอ่านประกอบการเรียนต่างๆ ที่ต้องพรินต์ออกมาเป็นกระดาษแทบทั้งสิ้น

คราวนี้ปัญหาจะเกิดขึ้นแน่ๆ ถ้าเธอทำงานเสร็จช้า หาร้านปรินท์ไม่ได้ ส่งอาจารย์ไม่ทันเดตไลน์ ซึ่งเขาไม่รับตรวจแน่นอน ดังนั้นเตรียมตัวเผื่อไว้ด้วยค่ะ

โดยปกติ ถ้าจะพรินต์เอกสาร สถานที่หลักๆ ก็คือร้านรับพรินต์เอกสารหรือห้องสมุดในมหาลัย ซึ่งไม่ได้เปิดดึก เปิดทั้งวันทั้งคืนเหมือนของไทย ดังนั้นถ้าจัดตารางเวลาผิด ก็ต้องรอเวลาจนกว่าร้านรับพรินต์จะเปิด จะไปทุบประตู อ้อนวอนให้เขาเห็นใจก็ไม่มีประโยชน์

จังหวะนรกสุดคือ ถ้าเธอพิมพ์งานเสร็จวันอาทิตย์ค่ำ แต่ต้องส่งงานวันจันทร์เช้า ต้องไปหาเพื่อนหรือคนรู้จักพรินต์ให้อย่างเดียว ถ้ารอร้านไม่มีทางส่งทัน แล้วคะแนนชิ้นงานช่องนั้นก็จะเป็น 0 ทันที จงระวัง!

6. ไม่ค่อยมี ' กิจกรรมยามว่าง / ชมรม ' อื่นๆ ให้ทำในมหาวิทยาลัยนัก

รูปภาพ:https://www.i-pic.info/i/a47334747.jpg

อย่างที่บอกไปในข้อบนๆ ว่า หากเป็นมหาวิทยาลัยในไทย กิจกรรมเอย ชมรมเอยมีเพียบให้นักศึกษาได้เข้าร่วม เช่น กองเชียร์ นักกีฬา เชียร์ลีดเดอร์ ชมรมวิชาการ ดนตรี ร้องเพลง ถ่ายรูป เป็นต้น

ซึ่งข้อดีของมันก็มีมากมาย คือให้สาวๆ ได้ค้นหาตัวเอง ได้เรียนรู้ว่าชอบไม่ชอบสิ่งไหน เจอผู้คนที่มีความสนใจใกล้เคียงกัน แก๊งเพื่อนซี้หรือแม้แต่คู่รักที่แต่งงานกันหลังเรียนจบ ก็มาจากกิจกรรมชมรมด้วยกันทั้งนั้นค่ะ

แต่ถ้าเธอข้ามน้ำข้ามทะเลมาเป็นนักศึกษาในฝรั่งเศส กิจกรรมชมรมเจอเพื่อนฝูงหรือแฟนในอนาคตอาจจะต้องพับไปก่อน เพราะมหาลัยส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีชมรมหรือกลุ่มนักศึกษามารวมตัวกันสักเท่าไหร่

ในแคมปัสจะค่อนข้างใช้ชีวิตแยกเดี่ยวของใครของมัน ถ้าเธออยากทำกิจกรรมอื่นๆ หลังเลิกเรียน คำแนะนำที่ดีที่สุดคือ ไปหานอกรั้วมหาลัยเท่านั้นค่ะ

7. โอกาสในการคุยกับอาจารย์ ' นอกห้องเรียน ' ต่ำมาก แทบจะไม่มีเลย

รูปภาพ:https://www.i-pic.info/i/xHbw34748.jpg

ข้อสุดท้ายนี้ ใครที่เคยเป็นนักศึกษาในไทยอาจจะรู้สึกเจ็บปวดใจเล็กน้อยถึงปานกลาง! ถ้าเป็นมหาลัยไทย อาจารย์แทบทุกคนจะมีโต๊ะในห้องพักครูของตัวเอง และมักจะอยู่ที่โต๊ะให้นักศึกษาเข้าไปพูดคุย ปรึกษา ขอความช่วยเหลือค่อนข้างง่าย ตามตัวไม่ยาก

แม้จะไม่ได้คุยในคลาสก็ยังมาเลียบๆ เคียงๆ คุยที่ห้องพักครูได้ แต่อาจารย์ในฝรั่งเศสจะเป็นตรงกันข้ามเลย เพราะแทบจะไม่มีโอกาสได้คุยนอกคลาส ถ้าไม่ได้นัดคุยงานชัดเจน ไปแบบ walk in ยากมากที่จะได้เจอ พอๆ กับการเจอเพื่อนในคลาสนอกรั้วมหาลัยนั่นแหละ


อาจารย์เองก็มีตารางสอน ชีวิตส่วนตัวที่ต้องจัดการ จึงแทบไม่อยู่ในห้องพักหลังเลิกเรียน หากไม่ได้คุยให้จบในคลาสก็ต้องคุยทางอีเมลแทน สายสัมพันธ์จะไม่ได้ใกล้ชิดกันแบบไทย อาจารย์สอนตามหน้าที่เป็นหลัก ไม่ได้มานั่งสนใจหรือรู้จักลูกศิษย์ขนาดนั้น

หากจะไปต่อปริญญาโทหรือสมัครงานใดๆ ที่จำเป็นต้องยื่น recommendation letter อาจารย์ในมหาลัยฝรั่งเศสอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก เพราะเขาไม่น่าจะรู้จักเธอดีขนาดเขียนจดหมายรับรองให้ได้ค่ะ

รูปภาพ:https://www.bhpanthers.org/cms/lib/NY26000220/Centricity/Domain/51/bonjour%20gif.gif

-----------------------------------

ขึ้นชื่อว่าต้องดิ้นด้นมาใช้ชีวิตในต่างแดน มันก็คงไม่สะดวกสบายเท่าอยู่ไทยหรือชีวิตราบรื่น 100% ขนาดนั้นอยู่แล้ว เพราะแม้แต่การมาเรียน มันก็คือการเริ่มต้นใหม่กับสถานที่ใหม่ ผู้คนใหม่ ประเทศใหม่ ต่างวัฒนธรรมประเพณีที่สาวๆ ต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด แต่ถ้ามองในแง่ผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งทางที่เห็นด้วยรูปธรรมเช่นความรู้ และความสุขทางใจอย่างการไปเที่ยว ไปกินอาหารดีๆ ซึมซับศิลปะ อุปสรรคทั้ง 7 ข้อในบทความนี้อาจจะกลายเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยไปเลยก็ได้หรือถ้าใครเรียนๆ แล้วรู้สึกฝรั่งเศสไม่เหมาะกับตัวเอง อย่างน้อยก็ได้ประสบการณ์ เปิดหูเปิดตา เปิดโลกให้กว้างขึ้น สาวซิสคนไหนมีโอกาสต่อนอกในช่วงนี้ก็ไม่อยากให้ทิ้งสูญเปล่า ลองมองๆ ประเทศฝรั่งเศสเป็นตัวเลือกดูนะคะ รับรองว่าไม่ผิดหวัง วันนี้ลาไปก่อน พบกันใหม่ค่า Au Revoir!ヽ(*⌒▽⌒*)ノ