รูปภาพ:

ก่อนจะไปดูว่าการจัดงานแต่งงานแต่ละครั้ง มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และจะวางแผนเก็บเงินอย่างไร เรามี 3 สิ่งสำคัญที่อยากให้คนที่เตรียมตัวจะแต่งงานได้คำนึงถึง นั่นคือ

1. ควรเคลียร์หนี้สินที่มีให้หมดก่อนแต่งโดยเฉพาะหากเป็นหนี้บัตรเครดิตหรือหนี้นอกระบบ ซึ่งมีภาระอัตราดอกเบี้ยที่สูง ควรมีการเปิดอกพูดคุยกันถึงรายการผ่อนชำระแต่ละเดือน อัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย จำนวนงวดที่เหลือ เพื่อจะได้ทราบสภาพคล่องทางการเงินของแต่ละคน และไม่เกิดปัญหาในภายหลังตามมา

2. ตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายในบ้านไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำค่าไฟ ค่าผ่อนบ้านผ่อนรถ ค่าอาหาร ฯลฯ ใครเป็นผู้จ่าย บางบ้านอาจใช้การเก็บเงินร่วมกันเป็นกองกลางไว้ใช้จ่ายส่วนนี้ หรือบางบ้านอาจแบ่งจ่ายตามรายได้ เช่น ใครมีรายได้มากจ่ายมาก ใครมีรายได้น้อยจ่ายน้อยและไปรับผิดชอบด้านอื่นทดแทน ซึ่งเหล่านี้ไม่มีผิดถูก ขึ้นกับการตกลงกันของแต่ละบ้าน

3. แพลนเก็บเงินลงทุนร่วมกันเพื่ออนาคตที่สดใสหลังแต่งงานหลายคู่มีแพลนซื้อบ้านซื้อรถ มีลูก เตรียมค่าใช้จ่ายการศึกษาลูก อยากมีเงินไว้ใช้ยามเกษียณ ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้เพื่อนๆ อาจแพลนเก็บเงินร่วมกัน โดยนำเงินนั้นไปลงทุนเพื่อต่อยอดความมั่งคั่งตามวัตถุประสงค์การลงทุน เช่น อาจลงทุนในกองทุนรวมผสมที่ให้ผลตอบแทนประมาณปีละ 5%, อาจลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีในลักษณะ DCA, อาจซื้อคอนโดและปล่อยให้เช่าเก็บค่าเช่าเป็นรายได้ เป็นต้น และอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามนอกจากการลงทุน นั่นคือ การป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินด้วยการทำประกันภัยนั่นเอง

เมื่อเช็กความพร้อมทางการเงินได้ 3 ข้อแล้ว เราก็มาเริ่มวางแผนค่าใช้จ่ายในการแต่งงานกันต่อเลยค่ะ โดยเริ่มจาก

ค่าสินสอด/ ของหมั้น/ แหวนหมั้นควรจะมีการพูดคุยตกลงกันกับทางผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย มากน้อยขึ้นกับความเหมาะสมของแต่ละครอบครัว

ค่าสถานที่จัดงานเช่น โรงแรม, ร้านอาหาร, สโมสร, ฯลฯ ซึ่งค่าใช้จ่ายสถานที่จัดงานนี้ถือเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ในการจัดงานก้อนหนึ่ง ซึ่งห้องจัดงานก็จะมีอีกหลายราคาตามความหรูหราของห้อง ตามรายการอาหารที่เลือกเป็นโต๊ะจีน บุฟเฟ่ต์ หรือ ค็อกเทล หรือ ตามการตกแต่งสถานที่ต่างๆ และยังแบ่งได้อีกเป็น indoor และ outdoor จัดเป็นงานเช้าและเย็น หรืองานกลางวัน ซึ่งเราสามารถคำนวณจำนวนแขกที่จะมาร่วมงานคร่าวๆ เพื่อประมาณการค่าใช้จ่ายส่วนนี้

ค่าชุดแต่งงาน /ค่าแต่งหน้าทำผมค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความมีชื่อเสียงของร้านชุดหรือช่างแต่งหน้าที่เลือกใช้บริการ แต่เป็นค่าใช้จ่ายที่สาวๆ หลายคนให้ความสำคัญ เพราะครั้งหนึ่งในการเป็นเจ้าสาว มักย่อมอยากให้ตัวเองดูดีที่สุดในงานแต่งงาน

ค่าช่างภาพถ่ายรูป/ ถ่ายวิดีโอ / พรีเวดดิ้งหลายคนอยากเก็บบรรยากาศงานแต่งงานไว้ในความทรงจำ จึงมักพิถีพิถันกับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ บางคนบินไปถ่ายไกลถึงต่างประเทศ บางคนมีทั้งช่างภาพหลัก ช่างภาพแคนดิด และใช้เทคนิคถ่ายทำมากมายเพื่อให้ได้ภาพที่สวยงาม

ค่าการ์ด/ ของชำร่วย/ ของรับไหว้/ พิธีขันหมาก/ พิธียกน้ำชาซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้หลายคนให้ความสำคัญเนื่องจากเป็นพิธีที่จัดให้กับญาติผู้ใหญ่ที่เคารพ ดังนั้น จะถือเป็นค่าใช้จ่ายส่วนที่ตัดออกไม่ได้ แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละครอบครัว

ค่าวงดนตรี/ ตกแต่งเวทีเพื่อให้แขกที่มาในงานได้เพลิดเพลิน และเป็นเทรนด์ที่นิยม นั่นคือการจัด after party ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็จะเพิ่มเติมจากส่วนปกติเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่ม การตกแต่ง แสง สี เสียงต่างๆ

ค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆเช่น ค่าใช้จ่ายส่วนเกิน หรือค่า Tip ให้กับบริกร เป็นต้น

งั้นเรามาลองดูตัวอย่างคำนวณการวางแผนเก็บเงินจัดงานแต่งงานกันนะคะ

ตัวอย่างที่ 1

: งานแต่งงานแบบเรียบหรู จัดงานที่โรงแรมในเมือง เชิญแขกประมาณ 300-400 คน แพลนจะแต่งงานในอีก 3 ปีข้างหน้า ด้วยงบประมาณจัดงาน 1,000,000 บาท

รูปภาพ:

จากภาพ งบแต่งงานที่ต้องการคือ 1,000,000 บาท นำเงินเก็บดังกล่าว ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 5%ต่อปีแบบทบต้น เช่น ลงทุนในกองทุนรวมผสม ( Asset Allocation ) เมื่อคำนวณย้อนกลับเป็นเงิน ณ เวลาปัจจุบันที่ต้องเก็บในแต่ละปี ตกปีละ 317,208.56 บาท เก็บเป็นระยะเวลา 3 ปี หากคำนวณเป็นรายเดือนจะอยู่ที่เดือนละ 26,434.05 บาท ( 317,208.56/12 ) เมื่อสิ้นปีที่ 3 ก็จะได้เงินแต่งงานตามเป้าหมายที่ 1,000,000 บาท

ตัวอย่างที่ 2

: งานแต่งงานชิคๆ จัดที่ร้านอาหารเก๋ๆ เชิญแขกไม่มากประมาณ 100 คน แพลนแต่งงานในอีก 3 ปีข้างหน้าเช่นเดียวกับตัวอย่างที่ 1 โดยใช้งบประมาณจัดงาน 500,000 บาท

รูปภาพ:

จากภาพ งบแต่งงานที่ต้องการคือ 500,000 บาท นำเงินไปลงทุนเช่นเดียวกับตัวอย่างที่ 1 ที่ผลตอบแทน 5% แบบทบต้น เมื่อคำนวณย้อนกลับเป็นเงิน ณ เวลาปัจจุบันที่ต้องเก็บในแต่ละปี ตกปีละ 158,604.28 บาท เก็บเป็นระยะเวลา 3 ปี หากคำนวณเป็นรายเดือนจะอยู่ที่เดือนละ 13,217.02 บาท ( 158,604.28/12 ) เมื่อสิ้นปีที่ 3 ก็จะได้เงินแต่งงานตามเป้าหมายที่ 500,000 บาท

จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าแพลนจะแต่งงานแบบเรียบหรู ( ตัวอย่างที่1 ) หรือจัดงานแบบเล็กๆ แต่โก้เก๋ ( ตัวอย่างที่ 2 ) เราก็ต้องเก็บเงินแต่งงานที่เดือนละประมาณ 27,000 บาท และ 14,000 บาท ตามลำดับ แต่หากรู้สึกว่าเงินก้อนดังกล่าวค่อนข้างสูงเมื่อต้องเก็บต่อเดือนเราอาจจะใช้วิธีการปรับลดค่าใช้จ่ายบางอย่างลงเช่น สถานที่จัดงาน อาจเป็นการจัดที่บ้าน ตกแต่งอบอุ่นแบบคนกันเอง หรือช่างภาพอาจจะเป็นเพื่อนที่มีฝีมือมาช่วยถ่าย หรือการ์ดงานแต่งที่ DIY ด้วยตัวเอง ก็อาจจะเก๋ไปอีกแบบ

การนำเงินเก็บที่มีอยู่ออกมาเป็นเงินตั้งต้นและนำไปลงทุนเพื่อแต่งงาน ก็เป็นอีกตัวช่วยที่ทำให้การเก็บเงินต่อเดือนของเราลดลง หรืออาจเลือกลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่มากกว่า 5% แต่ก็ควรอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ หรืออาจจะขยับเวลาแต่งงานออกไปเพื่อเก็บเงินก็ย่อมทำได้

แต่หากลองคำนวณแล้วว่าระยะเวลาในการลงทุนไม่เพียงพอ และเงินเก็บที่มีก็ไม่เพียงพอเช่นกัน เพื่อนๆ อาจเลือกใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งปัจจุบันก็มีให้เลือกอย่างหลากหลาย สะดวกรวดเร็วในการใช้บริการ แต่อย่าลืมว่าหนี้ที่ก่อขึ้นมา ควรเป็นสิ่งที่จำเป็นและอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมเท่านั้น

การแต่งงาน...อาจไม่ใช่สิ่งสุดท้ายของชีวิต แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการสร้างครอบครัวของคนสองคน งานแต่งงานที่หรูหราใหญ่โตยังไม่เท่าความรัก ความเข้าใจของคนที่ตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันดังนั้น การวางแผนจัดงานแต่งงานที่มีความเหมาะสม การวางแผนจัดการเงินสำหรับครอบครัวที่ดี ย่อมเป็นสิ่งที่สร้างความมั่นคงและสร้างอนาคตที่ดีให้กับชีวิตคู่ของเราได้นั่นเองค่ะ

อ่านคอนเทนต์ทางด้านการเงิน การลงทุนดีๆ จากผู้เชี่ยวชาญได้ที่ KKP Advice Center คลิกhttps://kkpadvicecenter.kiatnakin.co.th/th/home