รูปภาพ:

เคยไหมคะ เวลาที่มีงานที่ต้องพรีเซนต์หน้าชั้นเรียน หรือถ้าวัยทำงานก็อาจจะต้องมีการนำเสนอโปรเจกต์ต่างๆในที่ประชุม หรือต้องขึ้นไปพูดบนเวที แล้วเรารู้สึกว่าตื่นเต้นมากๆ “กลัวพูดผิดจัง” “คนนั้นคนนี้จะชอบเราไหมนะ”วันนี้เรามี 3 เทคนิคจากครูเงาะรสสุคนธ์ กองเกตุที่สอนเกี่ยวกับวิธีลดอาการตื่นเต้น เสียงสั่นเวลาพูดมาให้สาวๆชาวซิสได้นำกลับไปฝึกกับตัวเองค่ะ (>O<) ♥

รับรองว่าถ้าทำตาม 3 เทคนิคนี้ได้ละก็ ไม่ว่าจะไปนำเสนองานที่ไหน เราจะสามารถพรีเซนต์ออกมาได้ดีขึ้น และเป็นธรรมชาติแน่นอนค่ะ

มาเริ่มกันที่เทคนิคแรกเลย นั่นก็คือ

1. หายใจระหว่างประโยค

รูปภาพ:

คนที่ตื่นเต้นเวลาพูด ส่วนใหญ่มักจะหายใจเมื่อจบประโยค แล้วก็จะพูดเร็ว มันเป็นเพราะว่า เรารู้สึกกลัว และไม่ปลอดภัยค่ะ เรารู้สึกว่าพื้นที่ตรงนี้มันไม่ใช่ของเรา ก็เลยอยากรีบพูดให้จบแล้วค่อยพักหายใจ

ทีนี้เราอยากให้ทุกคนลองฝึกพูดใหม่ อาจจะลองพูดแนะนำตัวเองโดยใช้การหายใจระหว่างประโยคค่ะ เช่น


หายใจเมื่อจบประโยค


“สวัสดีค่ะชื่อเนบิวซ์นะคะวันนี้จะมาแชร์ทริคเกี่ยวกับวิธีลดอาการตื่นเต้นเวลาพูดค่ะ”


กับ


หายใจระหว่างประโยค


“สวัสดีค่ะ ชื่อเนบิวซ์นะคะ วันนี้จะมาแชร์ทริคเกี่ยวกับ วิธีลดอาการตื่นเต้นเวลาพูดค่ะ”


เป็นยังไงบ้างคะ รู้สึกว่าพูดแบบที่ 2 มันดูหายใจหายคอได้สะดวกขึ้นใช่ไหม 5555


การหายใจระหว่างประโยคคือ การที่เราหายใจโดยเอาอากาศเข้าทางปากนะคะ หายใจทุกๆ 3 วินาทีให้มีลมหายใจเข้า แล้วเมื่อเราพูดก็ให้ลมหายใจออกของเรา ผ่อนออกมาพร้อมกับคำพูดค่ะ


เราแนะนำว่าถ้าอยากฝึก ให้ลองหาหนังสือนิทานซักเล่มมาอ่านออกเสียงดูก็ได้นะคะ นอกจากจะได้ฝึกการหายใจแล้ว ก็ได้ฝึกเรื่องการใช้น้ำเสียงด้วยค่ะ

2. ต้องเข้าใจว่าเราจะพูดสิ่งนี้เพื่ออะไร

รูปภาพ:

เราต้องคิดไว้ก่อนเลยว่า เราต้องการพูดสิ่งนี้เพื่อให้ผู้ฟังได้อะไรเราคาดหวังอะไรกับผู้ฟัง

คนที่พูดแล้วตื่นเต้น คือคนที่พูดไม่มีจุดหมาย ไม่มีประเด็นที่ชัดเจน คนฟังก็ยิ่งไม่เข้าใจไปอีก เป็นเพราะเราไม่ได้ตกลงกับตัวเองตั้งแต่ต้นว่าประเด็นที่ฉันจะพูด ฉันจะพูดอะไร แล้วพูดเพื่อให้คนฟังได้อะไร

เช่น เราจะนำเสนองานหน้าชั้นเรียน ทำรายงานเกี่ยวกับ “วิธีทอดไข่เจียวให้อร่อย” เราก็ตั้งประเด็นกับตัวเองก่อนเลยว่า เราพูดเพื่อ “ให้อาจารย์และเพื่อนๆหรือคนที่ฟังเรา ได้รู้เทคนิคการทอดไข่เจียวจากเรา เพื่อจะได้นำเทคนิคนี้กลับไปทอดไข่ให้มันอร่อยขึ้น” อ่ะ ทีนี้เมื่อเรากำหนดประเด็นหรือเป้าหมายที่เราต้องการจะสื่อสารเสร็จแล้ว เราก็มาคิดวิธีการว่าจะพูดอะไรบ้าง แยกเป็นหัวข้อย่อยๆลงมา

จำไว้ว่า...ก่อนที่จะไปพูดนำเสนอให้เขาเข้าใจ เราต้องทำความเข้าใจและตกลงกับตัวเองให้ได้ก่อน ไม่งั้นเวลาพูดมีโอกาสที่เราจะหลงประเด็นแล้วพูดวกไปวนมาสูงมากนะคะ

3. ปรับใจเราให้มีความเมตตา

รูปภาพ:

มาถึงข้อนี้ทุกคนอาจจะงง เอ๊ะ? แค่พูดต้องมีความเมตตาอะไรนี่ด้วยเหรอ จริงๆแล้วข้อนี้เป็นข้อที่สำคัญที่สุดในบรรดา 3 ข้อที่กล่าวมาเลยล่ะค่ะ เพราะเป็นการแก้ปัญหาตื่นเต้นที่ต้นตอเลยก็ว่าได้ คือปรับที่ Mindset หรือทัศนคติของเราก่อน ยกตัวอย่างเช่น เราจะไปเสนอขาย Application กับลูกค้า แล้วเรารู้สึกตื่นเต้น “ฉันต้องการทำให้เขาถูกใจ แล้วเขาจะถูกใจฉันหรือเปล่า” สังเกตเห็นอะไรไหมคะ มันเหมือนเราคิดว่า เรามาพูดเพื่อให้ลูกค้ามาชอบเรา

ให้เรากลับมาถามตัวเองใหม่ว่า สิ่งที่เราพูดไปมันมีประโยชน์อะไรกับเขาบ้าง เราอยากที่จะให้เขาใช้ App นี้เพื่อที่เขาจะได้ ... เรามาเพื่อที่จะมอบสิ่งดีๆ ให้กับเขา เรามาเพื่อที่จะมารักเขา ไม่ได้มาเพื่อจะให้เขามารักนะ เรามาเพื่อที่จะให้สิ่งดีๆ และเป็นประโยชน์ต่อเธอ


ถ้าแบบแรกที่เราคิดว่า“ฉันจะต้องพูดให้เขาชอบเรา”คือเราไปในฐานะของคนขอ ขอให้เขามาชอบเรา ให้เขาชื่นชมเราลองพลิกใจขึ้นมาเป็นผู้ให้ดูค่ะ


“ฉันมาเพื่อจะให้สิ่งดีๆ กับเธอ”เห็นไหมคะว่ามือของผู้ขอกับผู้ให้มือผู้ให้จะสูงกว่าอย่างชัดเจน เมื่อไหร่ที่เราพลิกใจขึ้นมาเป็นผู้ให้ได้ จิตของเราก็จะสูงขึ้นตามลำดับ


ดังนั้นก่อนขึ้นไปนำเสนองาน ให้เราถามตัวเองก่อนเลยว่า“จิตของเรา เป็นจิตเมตตาหรือเปล่า จิตเราอยากได้จากเขา หรืออยากให้เขา”มื่อเราตอบตัวเองได้แล้ว นั่นเท่ากับว่าเราตั้ง Mindset ได้ตรงแล้ว จิตของเราจะฮึกเหิมมาก เพราะจิตมันจะเป็นผู้ให้ ความกลัว ความตื่นเต้นทั้งหลายเวลาพูดจะหายไปเลยค่ะ

รูปภาพ:

เป็นยังไงบ้างคะ สำหรับ 3 เทคนิคลดอาการตื่นเต้น เสียงสั่นเวลาพูด ส่วนตัวเราคิดว่าเทคนิคของครูเงาะจะเน้นสำคัญไปที่ Mindset หรือความคิดของเราซะส่วนใหญ่ ซึ่งถ้าเราสามารถปรับ Mindset ได้ดี มันก็เหมือนเราแก้ปัญหาที่ต้นเหตุนั่นเองค่ะ

สุดท้ายอยากเป็นกำลังใจให้ชาวซิสทุกคน สามารถพูดนำเสนองานได้อย่างปังๆ ทุกคนเลยนะคะ สู้ๆ ค่ะ !

ปล. ใครที่สนใจอยากฟังคลิปต้นฉบับของครูเงาะ รสสุคนธ์ กองเกตุ เราจะแปะคลิปไว้ให้ข้างใต้นี้นะคะ แนะนำให้เปิดฟังค่ะ <3

☆゚.*・。゚ *:・゚★ ถ้าใครชอบบทความนี้ก็กดแชร์ และคอมเม้นท์ใต้บทความมาคุยกับเราได้เลยนะคะ ☆゚.*・。゚ *:・゚★


เขียน และเรียบเรียงโดยNebulaz