1. SistaCafe
  2. Dromomania เสพติดเที่ยวมากไป เราอาจกำลังเป็นโรคโดยไม่รู้ตัว !

เป็นคนชอบเที่ยว แค่ชอบใช่มั้ย ไม่ใช่ว่าเสพติดอยู่นะ เอาดีๆ หลายๆ คนคิดว่า การที่เราชอบบางสิ่ง มันก็แต่เพราะเราชอบเฉยๆ ไม่ได้มีอะไร แต่อยากให้ดูดีๆ เพราะบางที สิ่งที่เราบอกว่าชอบ มันอาจจะเกินคำว่า ชอบ จนกลายเป็นเสพติดแทนก็ได้ ใครที่ชอบเที่ยวเป็นชีวิตจิตใจ ลองถามตัวเองซิ ว่าชอบแบบไหน วันนี้เราจะพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักกับ Dromomania (เสพ) ติดเที่ยวมากไป คุณคือคนนั้นรึเปล่า มาหาคำตอบเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กันค่ะ


🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹


Dromomaniaคืออะไร?

ก็ฉันชอบเที่ยวมันผิดรึไง! เคยรู้สึกมั้ยว่า ทำไมการที่เราเป็นคนชอบเที่ยว มันถึงได้กลายเป็นปัญหาไปได้ เพื่อนๆ รู้จักกับโรค หรือภาวะ Dromomania กันมั้ยเอ่ย บางทีการที่เพื่อนๆ ชอบเที่ยว จริงๆ แล้วอาจจะไม่ใช่แค่ชอบนะ แต่อาจจะเป็นถึงขั้นเสพติดการเที่ยวเลยก็ว่าได้!

มีรายงานผลวิจัยจาก Global Wellness Institute ชี้ชัดว่าประโยชน์ของการท่องเที่ยวช่วยสร้างศักยภาพให้กับระบบความคิด และยังช่วยสร้างทัศนคติที่ดี ในการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ก็ดูเป็นเรื่องที่ดีนะ แต่เดี๋ยวก่อน! แล้วมันกลายเป็นอาการป่วยได้ยังไง เรามาหาคำตอบไปพร้อมๆ กันค่ะสาว


ภาพประกอบบทความ:sistacafe-assets:____%2Fc%2F202934%2FTrpM7A8RaBRd6AGOeZoAO9QqPwQIp6wAsgfo4Dbg.jpg?v=1729833791
Cr. Photo : @j876my

Dromomania หรือโรคที่อยากเที่ยวตลอดเวลา จริงๆ แล้วเป็นอาการทางจิตชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2283 โดยมีการพูดถึงคำนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก ที่ใช้เรียกอาการของผู้ประสบภัยที่ไม่ต้องการหยุดเดินทาง แถมยังพร้อมที่จะเปย์และเทได้ทุกอย่างเพื่อการท่องเที่ยวของตัวเอง dromos แปลว่า running หรือ วิ่ง mania แปลว่า insanity หรือ ความวิกลจริต รวมเป็น Dromomania อาการป่วยทางจิตชนิดหนึ่ง ที่หลายๆ คนไม่รู้ตัวว่ากำลังป่วยเป็นโลกนี้อยู่ การที่เราชอบเที่ยว เกิดจากความชอบที่ก่อให้เกิดเป็นสุข หรือเกิดจากการเสพติด ที่กำลังกลายเป็นพิษต่อชีวิตของเรากันแน่!



"Case Study ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1886 มีชายฝรั่งเศสอายุ 26 ปีคนหนึ่งชื่อว่า อัลเบิร์ต ดาดาส ที่อยู่ดีๆ ก็หายตัวไปเฉยๆ แล้วไม่ใช่แค่วันสองวัน แต่หายไปนานเป็นปีๆ โดยไม่มีใครรู้เลยว่า เขาไปอยู่ที่ไหน ก่อนจะมีการเปิดเผยทีหลังว่า เขาใช้เวลาออกเดินทางไปทั่วทวีปยุโรป ด้วยกำลังขา และเงินเท่าที่มีติดตัว ณ ขณะนั้น ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้แพทย์วินิจฉัยลงความเห็นว่า เขามีอาการทางจิต คือป่วยเป็นโรค Pathological Tourist หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ Dromomania นั่นเอง "


อาการของโรค Dromomania มันเป็นยังไง

เราเป็นคนนึงที่อยากรู้ว่าอาการของโลกนี้ สรุปแล้วมันเป็นยังไงกันแน่ เพราะดูๆ แล้วเหมือนจะไม่มีอะไรน่าห่วง แต่จริงๆ แล้ว เมื่อขึ้นชื่อว่าโรค ถ้ามันเริ่มมีผลกระทบกับการใช้ชีวิตของเรา ก็ล้วนน่าห่วงทั้งนั้นแหละ เพราะงั้นลองมาสังเกตตัวเองกันหน่อยดีกว่าค่ะ ว่าเรามีอาการตามลิสต์นี้รึเปล่า



- อยู่เฉยไม่ได้ ต้องหาเรื่องจัดกระเป๋า พร้อมออกเดินทางตลอดเวลา

- เพิ่งถึงบ้านไม่นาน ก็แพลนทริปท่องเที่ยวต่อไปแล้ว แถมยังแน่นมากกว่างานในหัวซะอีก

- ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่หมดไปกับการท่องเที่ยว

- เศร้าใจจุกอกแบบบอกไม่ถูกหลังกลับมาจากเที่ยว

- สุขและสนุกทุกครั้งที่ได้นอนที่อื่นที่ไม่ใช่บ้านตัวเอง

- รู้สึกแปลกๆ ที่ต้องอยู่บ้านในวันหยุด

- เข้าแอปท่องเที่ยวบ่อยกว่าแอปธนาคาร

- นอนไม่หลับถ้าไม่ได้ยินสัญญาณการเดินทาง เช่น เสียงรถยนต์ รถไฟหรือเครื่องบิน


🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹


สาเหตุของ Dromomania มาจากไหน?

พอพูดถึงคำว่า เสพติดการท่องเที่ยว ปกติเราก็จะพูดเล่นๆ กัน ใครจะไปคิดว่า มันจะกลายเป็นอาการป่วยทางจิตเวชชนิดหนึ่งไปได้ หากถามหาสาเหตุของโรค หรือภาวะนี้ ทางการแพทย์ ก็ยังไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจน ว่ามันเกิดขึ้นมาจากอะไร แต่มันเป็นปัญหาทางจิตและความผิดปกติในการควบคุมสิ่งกระตุ้นรอบตัว ซึ่งการเสพติดที่ว่านี้ เป็นการเสพติด หรือคลั่งไคล้ที่ไม่ได้จัดอยู่ในทางที่ดีเท่าไหร่ อาการอยากเที่ยวจนตัวสั่น ถ้าไม่ได้เที่ยว ก็เหมือนจะเป็นซึมเศร้า เพิ่งกลับมาจากเที่ยวไม่ทันไร ก็จะไปอีก แถมยังละเลยไปหมดทั้งคริบครัว คนรัก งาน


ภาพประกอบบทความ:sistacafe-assets:____%2Fc%2F202934%2FpsKFdXQL2vaXqfNDcpCTt9N4FYfkBi1I7Y7wKTc8.jpg?v=1729833832
Cr. Photo : @_s_hj

โรคเสพติดการท่องเที่ยวพบมากในคนกลุ่มไหน?

ถ้าดูจากเคสตัวอย่าง ที่เรากล่าวไปข้างต้น ส่วนใหญ่แล้ว คนที่มีอาการเสพติดการท่องเที่ยว มักจะอยู่ในช่วงวัยรุ่น แล้วยิ่งปัจจุบันนี้ คนรุ่น Gen X ไปจนถึง Gen Z มีโซเชียลมีเดียมาคอยกระตุ้นด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรค Dromomania ได้ บางคนลงรูปไปเที่ยวหลายที่เหลือเกิน โพสต์แรกไปที่นึง อีกโพสต์ไปอีกที่นึง โพสต์ถัดไปก็ไปโผล่อีกทีนึง ลงรูปเที่ยวบ่อยซะเหลือเกิน จนบางครั้งก็นึกว่าเสพติดการเที่ยวไปซะแล้ว แต่การโพสต์รูปเที่ยวบ่อยๆ ก็ไม่ใช่ว่าทุกๆ คนจะป่วยเป็นโรคนี้นะ ต้องดูปัจจัยอะไรหลายๆ อย่างประกอบด้วย ถึงจะรู้ได้ว่าเข้าข่ายอาการป่วยของโรค Dromomania มั้ย


🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹


How to รับมือกับอาการDromomania

หลายๆ คนที่ชอบท่องเที่ยว เริ่มกังวลแล้วใช่มั้ยว่า เอ๊ะ! ฉันกำลังเป็นโรคนี้อยู่มั้ย วิธีการรับมือกับโรคเสพติดการท่องเที่ยวนั้น ไม่ได้ยากเลย เดี๋ยวเรามาลองทำไปพร้อมๆ กันทีละข้อนะคะ


1. แพลนทริปท่องเที่ยวของเราอย่างมีสติ : ใครที่ในหัวมีแพลนท่องเที่ยวเป็นล้านที่ ตั้งสติ! บางครั้งก่อนที่เราจะวางแพลนไปเที่ยวที่ไหน เราควรหันกลับมามองตัวเองก่อน การเรียงลำดับความสำคัญของชีวิต ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีสำหรับเพื่อนๆ ที่กังวลว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในภาวะ Dromomania ชีวิตของคุณไม่ได้มีแค่การออกไปท่องเที่ยว แต่ยังมีงาน เงิน เวลา และครอบครัวหรือคนรักด้วยนะ การวางแพลนเที่ยวเรื่อยๆ แบบไร้ซึ่งจุดจบ มันไม่เวิร์คค่ะ เพราะงั้นลองเปลี่ยนจากการท่องเที่ยวระยะยาว เป็นแบบสั้นๆ ใกล้ๆ แค่ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เดือนละครั้งสองครั้งก็พอ แล้วจัดสรรเวลาและเงินเป็นทริปใหญ่ต่างประเทศอาจจะปีละ 1-2 ครั้ง เท่านี้ก็น่าจะเต็มอิ่มเกินพอแล้ว แถมไม่ถลำลึกจนถอนตัวไปขึ้นด้วยนะ

2. ให้เรื่องความชอบเที่ยวสร้างรายได้ให้ตัวเอง : ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบออกไปท่องเที่ยวนัก อย่าปล่อยให้การท่องเที่ยวของคุณสูบเงินไปวันๆ ค่ะ เปลี่ยนความชอบตรงนี้ ให้กลายเป็นรายได้ซะ เปิดเพจ เปิดช่องยูทูปไปเลย แชร์ช่วงเวลาดีๆ ของตัวเองที่ได้ออกไปเที่ยว นอกจากจะสุขใจแล้ว ยังสร้างรายได้ได้ด้วย อาจจะเริ่มจากคลิป Vlog สั้นๆ ก่อนก็ได้ แล้วค่อยๆ ขยับขยาย ขอบอกเลยว่า เป็นวิธีรับมือที่ดีมากๆ เพราะนอกจากจะได้ไปเที่ยวสมใจอยากแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่เราจะได้แชร์โมเมนต์ทั้งดีและไม่ดีให้กับคนอื่นๆ ได้ดูด้วย ถือว่าสร้างความสุขให้กับคนอื่น และสร้างประโยชน์ได้ในตัวอีก มันเริ่ดจะตายไป

3. ปรึกษาแพทย์เลยดีกว่า : หลายๆ คนอาจจะมองว่า อาการเสพติดการท่องเที่ยว ดูไม่ร้ายแรงนะ แค่เราปรับเปลี่ยนนิดหน่อย ก็เข้าที่เข้าทางแล้ว แต่จริงๆ แล้ว คนที่ป่วยเป็นโรคนี้ อาจจะทำไม่ได้ก็ได้นะ ใครที่รู้ตัวว่า ฉันกำลังมีอาการเหล่านี้ และตอนนี้มันมีผลกระทบกับชีวิตฉันมากๆ ทั้งกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ เครียด เหมือนจะเป็นซึมเศร้า การใช้ชีวิตเริ่มลำบากขึ้น เพราะแค่ไม่ได้ออกไปเที่ยว แนะนำเลยนะว่า รับไปปรึกษาจิตแพทย์ด่วน! ช่วยได้นะ คุณหมอจะให้คำแนะนำในการจัดการความคิดและทัศนคติการใช้ชีวิตให้มีความสุขแบบไม่ต้องยึดติดกับการท่องเที่ยว ถ้าเรารู้สึกว่า เราไม่สามารถจัดการกับความคิดของตัวเองได้ จิตแพทย์ช่วยได้ค่ะสาว!


ภาพประกอบบทความ:sistacafe-assets:____%2Fc%2F202934%2FDIMtNZmTWU4Q8tjIQXAM1edhq2zC2BzLEk4Uv7k8.jpg?v=1729833863
Cr. Photo : @rimjunhee

สรุป

การที่เราเป็นคนชอบเที่ยว มันไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไรอยู่แล้วค่ะ แต่ถ้าถามว่า มันมีข้อเสียอะไรมั้ย จริงๆ ก็มีนะ หลักๆ ก็คือ เรื่องค่าใช้จ่าย ตอนเราเที่ยวเราก็มีความสุขดีอยู่ แต่รู้ตัวอีกที หมุนเงินไม่ทัน หลายๆ คนก็ประสบกับอาการ Dromomania มันก็ไม่ได้น่าห่วง วิธีแก้ที่เราว่าดีมากๆ เลยคือ เที่ยวยังไงให้ได้เงินกลับคืนมา อย่าแค่ไปเที่ยวเฉยๆ แต่ลองสร้างคอนเทนต์จากการชอบเที่ยวของเราดู นอกจากจะได้เที่ยวแล้ว ยังสร้างรายได้เสริมให้กับตัวเองได้อีกด้วยนะ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีแก้ปัญหาที่ดีเลยค่ะ

แต่สำหรับเพื่อนๆ คนไหน ที่รู้สึกว่า อาการชอบเที่ยว เริ่มมีผลกระทบอย่างหนักกับชีวิตของเราแล้ว เช่น ทำงานไม่ได้ มันกระสับกระส่าย มันมีอาการวิตกกังวลตามมา หรือรู้สึกไม่มีความสุข แต่กลับทุกข์ขึ้นเรื่อยๆ อันนี้ต้องไปปรึกษาแพทย์แล้วนะ ภาวะบางอย่าง ที่เรามองว่า มันไม่ร้ายแรง ก็สามารถร้ายแรงได้ เพราะฉะนั้นลองสังเกตตัวเองกันดูเยอะๆ ว่าเรามีอาการข้างต้นมั้ย และลองหาวิธีในการจัดการกับสิ่งเหล่านั้นไปทีละนิดๆ หรือทำอย่างที่เราแนะนำก็ได้ เปิดช่อง เปิดเพจ แล้วผันตัวเองเป็นบล็อกเกอร์สายท่องเที่ยวไปเลย เริ่ด!

สำหรับวันนี้ต้องลาไปก่อนแล้ว บ๊ายบาย


🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : อยากเที่ยวตลอดเวลา หรือว่าเป็นโรค Dromomania กันแน่?

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : แค่ชอบเที่ยวหรือเป็นโรคเสพติดการเที่ยวกันแน่นะ !?


บทความแนะนำเพิ่มเติม

เว็ปไซต์นี้ใช้คุกกี้

SistaCafe ให้ความสำคัญต่อข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้โดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ แสดงว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา และ นโยบายการใช้คุกกี้