1. SistaCafe
  2. นางนพมาศเป็นใคร ? มีจริงไหม ในประวัติศาสตร์

อีกไม่กี่วันก็เข้าสู่เทศกาลวันลอยกระทง หนึ่งในเทศกาลของไทยที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณกันแล้ว หากถามว่า เมื่อพูดถึงวันลอยกระทงแล้วนึกถึงอะไรกัน ? เชื่อว่าสิ่งที่หลาย ๆ คนนึกถึงเป็นอันดับต้น ๆ เลยก็คือ " นางนพมาศ " เพราะเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ที่อยู่คู่กับกระทงมาแต่ไหนแต่ไรเลย คือถ้าจินตนาการถึงวันลอยกระทง ภาพนางนพมาศก็จะลอยมาปุ๊บ

แล้วหากจะสืบความยาวสาวความยืดล่ะ เพื่อน ๆ รู้ไหมว่า นางนพมาศเนี่ยเป็นใคร มาจากไหน แล้วเกี่ยวอะไรกับประเพณีลอยกระทง ? เพื่อน ๆ ตอบกันได้มั้ย ? แล้วเคยสงสัยในแบบเดียวกันรึเปล่า ? วันนี้เราจะสืบค้น แล้วหาคำตอบกันว่า นางนพมาศเป็นใคร มีอยู่จริงรึเปล่า ไปหาคำตอบกันเลย

นพมาศ ไอดอลสาวยุคสุโขทัย



"นพมาศ" เป็นลูกสาวของพราหมณ์ในราชสำนักสุโขทัย ชื่อว่า "โชติรัตน์" ท่านได้รับราชการเป็นพระปุโรหิต ตำแหน่งพระศรีมโหสถ และมีคุณแม่ชื่อ "เรวดี" ทำให้นางนพมาศ มีอีกชื่อนึงว่า "เรวดีนพมาศ" ด้วยความเป็นลูกสาวของพราหมณ์ ทำให้นพมาศได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีตั้งแต่เด็ก ๆ ได้รับการศึกษาที่ดีแบบครบทุกด้าน ทุกศาสตร์ ทั้งด้านอักษรศาสตร์ พุทธศาสนา พราหมณ์ การช่างของสตรี ตลอดจนการขับร้องดนตรี ซึ่งวิชาต่าง ๆ เหล่านี้เนี่ย คุณเธอเก็บครบทุกศาสตร์ตั้งแต่อายุ 7 ขวบเลยทีเดียว ! นอกจากเป็นอัจฉริยะด้านความรู้แล้ว นพมาศยังผ่านคอร์สอบรบด้านมารยาทแบบจัดเต็มโดยคุณแม่เรวดีอีกด้วย ยังไม่พอค่ะ เพราะนอกจากความรู้ ความสามารถจากพ่อ และมารยาทจากแม่แล้ว ความโชคดีขั้นสุดคือการได้ DNA ความสวย ความหล่อจากพ่อจากแม่ งามทั้งหน้าตา และรูปร่าง ทำให้นพมาศมีคุณสมบัติที่ครบ จบ ทุกด้าน รวยทั้งรูปทรัพย์ ทั้งปัญญาสมบัติ รวยมารยาท เรียกได้ว่าครบทุกกระเบียดนิ้ว ถ้าเกิดในยุคนี้ ไม่ไปเป็นดารา ไอดอล ก็ไปเป็นตัวแทนไทย ประกวดมิสยูนิเวิร์สได้เลย ครบทั้ง 3 B Body Beauty และ Brian ให้จับไมค์ก็คงไม่ตายไมค์เพราะความรู้แน่น รอบทาเลนท์ก็ไม่ตุ๊บ เพราะคุณพ่อเทรนการขับร้องมาอย่างดีเลย ยุคนั้นก็เหมือนยุคนี้ที่ถ้าใครสวย ใครหล่อก็มักจะกลายเป็นไวรัล เป็นที่พูดถึง นพมาศเองก็เช่นเดียวกันจ้า ถึงขั้นมีคนขับกลอนสรรเสริญยอความปั๊วะของชีไว้เลยว่า


พระศรีมโหสถ ยศกมเลศครรไลหงส

มีธิดาประเสริฐเฉิดโฉมยง ชื่ออนงค์นพมาศวิลาสลักษณ์

ละไมละม่อมพร้อมพริ้งยิ่งนารี จำเริญศรีสมบูรณ์ประยูรศักดิ์

เนื้อเหลืองเล่ห์ทองผ่องผิวพักตร์ เป็นที่รักดังดวงจิตบิดรเอยฯ

โฉมนวลนพมาศ เป็นนักปราชญ์ฉลาดด้วยบิดาสอน

ช่างกล่าวถ้อยมธุรสบทกลอน ถวายพรพรรณนาพระพุทธคุณ

สารพัดจะพึงใจไปครบสิ่ง เป็นยอดหยิงยิ่งธิดาทุกหมื่นขุน

แต่ก่อนปางสร้างกุศลผลบุญ มาเกื้อหนุนให้งามวิไลเอย ฯ

ดวงดอกอุทุมพร ทั่วนครหายากฉันใดไฉน

จะหาสารศรีเศวตในแดนไตร ยากจะได้ดั่งประสงค์ที่จงจินต์

จะหานางกัลยาณีนารีปราชญ์ ประหนึ่งอนงค์นพมาศอย่าหมายถวิล

จะหาได้ในท้องพระธรณิน ก็ด้วยบุญเจ้าแผ่นดินอย่างเดียวเอยฯ


ได้ฟังบทชมโฉมแล้วก็คือหาใครเปรียบได้ในยุค ผิวสวย หน้าสวย สารพัดจะพึงใจไปครบสิ่ง สวยแบบหาตัวจับยากแบบขนาดที่ว่า ใครจะมีโอกาสได้นพมาศไปครองได้เนี่ย ก็มีเพียงพระราชาเท่านั้น และก็ดั่งบทกลอนที่ว่าเลย เพราะว่าเมื่อนพมาศอายุได้ 15 ปี ท่านปุโรหิตก็ได้ถวายนพมาศให้แก่พระร่วงเจ้า และการถวายตัวของนพมาศเนี่ยก็ไม่ใช่ว่าถึงเวลาปุ๊บก็เข้าถวายปั๊บเลยนะ เพื่อไม่ให้เสียชื่อพ่อชื่อแม่เนี่ย ก่อนถวายตัวพ่อก็มีการทดสอบความพร้อมก่อนเป็นสนมด้วย เพื่อทดสอบว่าลูกสาวมีคุณสมบัติพร้อมแล้วรึยัง ซึ่งการทดสอบเนี่ยท่านปุโรหิตก็จะมีการเทสต์โดยการตั้งคำถามหยั่งเชิงเกี่ยวกับการประพฤติ และขนบธรรมเนียมต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตเป็นสนม ซึ่งแน่นอนว่าสติปัญญาระดับนพมาศก็สามารถตอบ และสอบผ่านได้แน่นอน แถมยังฉลาดตอบอีกด้วย เรียกได้ว่าเตรียมตัวไปอย่างดีเลยทีเดียว ภายหลังจากถวายตัวแล้วก็ถูกแต่งตั้งให้เป็นสนมเอกในตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์

สร้างความดี ความชอบ และผู้ประดิษฐ์กระทง และประเพณีลอยกระทง


และแน่นอนค่ะว่า หลังจากที่เข้าวังแล้ว ด้วยความงามและความฉลาด นพมาศก็ได้สร้างซีนสร้างตำนานให้ตัวเองตั้งแต่ 5 วันแรกของการรับราชกาลเป็นสนมเลย "ในช่วงวันเพ็ญเดือน 12 หรือช่วงพระราชพิธีจองเปรียงลอยพระประทีป นพมาศได้รับบทนักประดิษฐ์ด้วยหัวคิดสุดครีเอทีฟ ทำโคมลอยที่ต่างจากสนมและนางกำนัลคนอื่น ๆ โดยทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัวกมุท นำไปถวายพระร่วง พระองค์ก็ทรงโปรดปรานประทับอก ประทับใจ และเมื่อถึงพิธีจองเปรียงอีกรอบ นพมาศที่ขณะนั้นได้เลื่อนพระยศเป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอกแล้ว ก็ได้ทำการอัปเกรดโคมที่ตัวเองเคยทำเป็นรูปดอกบัวกมุทครั้งก่อน ให้เป็นเวอร์ชันใหม่โดยใช้ใบตองมาทำเป็นกระทงดอกบัวกมุท แทนการลอยโคมแทน เมื่อพระร่วงทรงเด็จทางชลมารค (ทางเรือ) ก็ทรงทอดพระเนตรเห็นถึงความงามของสายกระทง ก็ทรงพอพระราชหฤทัยยิ่ง และทรงรับสั่งให้ในทุก ๆ วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำกระทงเป็นรูปดอกบัวกมุทแบบที่ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ประดิษฐ์ไว้เป็นทำเนียมสืบไป จนกลายเป็นประเพณีลอยกระทงจนถึงปัจจุบัน" นั่นเอง

ซึ่งนอกจากเป็นผู้สร้างตำนานลอยกระทงแล้ว นพมาศยังสร้างตำนานอีกหลายอย่าง กลายเป็นแบบแผนที่ยึดถือกันมาในยุคปัจจุบันอาธิเช่น การประดิษฐ์ดอกไม้เป็นรูปพานรองขันใส่เมี่ยงหมากถวายแด่พระร่วง เพื่อพระราชทานแก่ลูกขุนต่าง ๆ ที่มาประชุม จนกลายเป็นประเพณีจัดพานขันหมากต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง และขันหมากงานแต่งในปัจจุบัน และยังเป็นคนคิดพนมดอกไม้และกอบัวถวายพระร่วงในการสักการะบูชาพระรัตนตรัยและเทวรูปต่าง ๆ เป็นแบบอย่างที่สืบทอดกันมาอย่างปัจจุบันนี้

แล้วนพมาศมีตัวตนจริงมั้ย ในประวัติศาสตร์ ?


จะมองว่าคุณเธอเป็นดั่ง อัจฉริยะสตรี ศรีสุโขทัยเลยก็ได้ ทั้งสวย ทั้งเก่ง ฉลาด ความสามารถรอบด้าน แล้วยังหัวครีเอทีฟสุด ๆ แถมยังสร้างซีน สร้างตำนานจนยังเป็นที่กล่าวขานถึงยุคปัจจุบันนี้อีก ปังปุริเย่ขนาดนี้ คนอ่านคงแอบมีคิดกันบ้างแหละว่า เอ้แล้วนางนพมาศเนี่ย มีจริงมั้ย ? ประวัติศาสตร์ไทยเคยมีอิสตรีผู้นี้จริง ๆ ไหม แล้วเรื่องที่เล่ามาเนี่ย ที่มามันยังไงกันแน่นะ ? อะเราจะมาเหลาให้ฟังกันต่อ ก็คือว่า เรื่องที่เล่ามาเกี่ยวกับนางนพมาศข้างต้นเนี่ย มีที่มาจากหนังสือเรื่อง "นางนพมาศ" หรือ "ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์" ซึ่งเดิมทีถูกจัดให้เป็นวรรณกรรมสมัยสุโขทัย โดยผู้แต่งเนี่ยก็คือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือ นพมาศ นั่นแหละ มีลักษณะเป็นการเล่าถึงเรื่องราวของตัวเอง และเหตุการ์ณต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงสุโขทัย ซึ่งเรื่องราวที่เราเล่าไปเนี่ยเป็นแค่ ส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ ในวรรณกรรมเล่มนี้เท่านั้น ถ้าใครอยากจะอ่านเพิ่มเติมเนี่ย ก็สามารถหาอ่านได้เพิ่มเติมเลย

มาถึงตอนนี้เราอาจจะสรุปได้ว่างั้น ก็มีตัวตนจริงสิ เขียนวรรณได้ขนาดนี้ แถมวรรณกรรมเล่มนี้ยังเป็นหลักฐานสำคัญในวรรณกรรม พระราชพิธีสิบสองเดือนของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีก ! ก็ต้องบอกว่า อย่าเพิ่งด่วนสรุปไปเพราะว่า ภายหลังก็มีการถกเถียงกันว่า จริง ๆ แล้ว วรรณกรรมเล่มนี้อาจจะไม่ได้เขียนขึ้นในยุคสุโขทัย ! และนางนพมาศอาจจะเป็นนางในวรรณคดีไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง !



ในปี 2457 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หรือ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ทรงวินิจฉัยว่า เรื่องนางนพมาศเนี่ยเป็นหนังสือที่แต่งขึ้นในยุครัตนโกสินทร์นี้เอง แต่งในช่วงรัชกาลที่ 2 หรือที่ 3 ไม่เกินนี้ เพราะในสำนวน และเนื้อหาเมื่อนำมาเทียบกับหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 หรือ วรรณกรรมที่แต่งในยุคสุโขทัย ก็สามารถเห็นได้ชัดว่า เรื่องนางนพมาศ แต่งขึ้นภายหลัง พระองค์ก็ยังทรงยกตัวอย่างบางจุดที่น่าสงสัยเช่น ในวรรณกรรมพูดถึงเรื่อง ชนชาติต่าง ๆ ในยุคสุโขทัยว่ามี ฝรั่งหลายชาติเข้ามาในยุคนั้น ซึ่งจากความเป็นจริงแล้ว ยังไม่มีฝรั่งชาติไหนเข้ามาในสยามประเทศในช่วงสุโขทัยเลย อีกจุดคือในวรรณกรรมมีการกล่าวถึง อเมริกัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย เพราะอเมริกา เพิ่งเกิดในยุครัตนโกสินทร์นี่เอง พระองค์ยังมีพระวินิจฉัยอีกว่า ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ก็มีของเดิมที่แต่งในสมัยสุโขทัยแหละ แต่มีการแต่งเติมภายหลังในช่วงรัตนโกสินทร์

ภายหลังในปี 2479 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระวินิจฉัยใหม่ว่า หนังสือเรื่องนางนพมาศซึ่งฉันเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระราชนิพนธ์

จากข้อมูลจากกรมศิลปากรมีการให้ความรู้เกี่ยวกับประเพณีลอยกระทงเรื่องนางนพมาศว่า “ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นช่วงที่การศึกสงครามลดลงเกือบหมด การค้าก็มั่งคั่งขึ้น พระองค์จึงโปรดให้ฟื้นฟูประเพณี พิธีกรรมสำคัญเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร และได้พระราชนิพนธ์หนังสือ ตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ ขึ้นมา โดยสมมติให้ฉากของเรื่อง เกิดขึ้นในยุคพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย ซึ่งตำราดังกล่าวได้พูดถึงนางนพมาศ ว่าเป็นพระสนมเอกของพระร่วง ที่ได้คิดประดิษฐ์กระทงใบตองเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น ดังนั้น นางนพมาศจึงเป็นเพียง นางในวรรณคดี มิได้มีตัวตนอยู่จริง”



ถึงจุดนี้แล้วเราก็อาจจะสรุปได้แล้วว่า นางนพมาศ ไม่ได้มีตัวตนจริงตามประวัติศาสตร์สุโขทัย แต่เป็นตัวละครในวรรณกรรม ที่แต่งขึ้นในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นนี่เอง ! แต่ถึงอย่างไรเรามองว่า เรื่องนี้ก็เป็นวรรณกรรมอีกชิ้นที่ทรงคุณค่ามาก ๆ เพราะได้รวบรวมข้อมูลที่เป็นประเพณีดั้งเดิมของไทยเอาไว้ ให้เป็นแบบแผนจนถึงปัจจุบัน เป็นส่วนนึงที่ทำให้ไทยเราเป็นอู่วัฒนธรรม และหากให้โฟกัสที่ตัวตนของ นพมาศเอง แม้จะเป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้น แต่ก็เป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงในอุดมคติในยุคนั้น ๆ อย่าง น้อย ๆ เรื่องดีคือ การที่ผู้หญิงได้รับการยกย่อง การให้คุณค่ากับผู้หญิง การเชื่อว่าผู้หญิงสามารถเก่งและเป็นอัจฉริยะได้ จริง ๆ เรามองว่า อีกคุณค่าของวรรณกรรมเรื่อง นพมาศคือ การเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้หญิงในยุคนั้น นั่นเอง


อ้างอิง

https://www.finearts.go.th/storage/contents/file/BvdafcIiT0JeIQ2KnQLydTDNnhEMrVX0DO3SeesU.pdf

https://www.silpa-mag.com/history/article_4119#google_vignette

https://www.thepeople.co/history/nostalgia/50640?fbclid=IwY2xjawGhR4dleHRuA2FlbQIxMAABHXUvyiBB8_J61P8v9dDKWOKR9iDuwIC-QgMz1dUM7z8MdwSxGEX3_GOiFw_aem_ReywnfeXKl3sXBlQdI7fCg

https://www.beaut-app.com/articles/loy-krathong-festival


บทความแนะนำ

เว็ปไซต์นี้ใช้คุกกี้

SistaCafe ให้ความสำคัญต่อข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้โดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ แสดงว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา และ นโยบายการใช้คุกกี้