1. SistaCafe
  2. Tsundoku นักดองหนังสือ ซื้อมาแล้วไม่อ่าน อาจเข้าข่ายภาวะทางจิต?

เราเป็นคนนึงที่ชอบอ่านหนังสือจำพวกนิยายมาก เมื่อก่อนซื้อเก็บไว้เยอะเลย แต่ตอนนี้ไม่ได้อินกับการซื้อเป็นเล่มแล้ว อ่านแบบออนไลน์แทน เพื่อนๆ คนไหนชอบอ่านหนังสือกันบ้าง ลองหันหลังมองดูห้องของตัวเองดูซิว่า หนังสือเยอะแล้วรึยัง มันเยอะแบบไหน เยอะแบบยังซื้อเติมได้อีก หรือเยอะจนล้น! แล้วเพื่อนๆ ได้อ่านหนังสือที่ซื้อมากันหมดรึยัง หรือว่าเน้นซื้ออย่างเดียว แต่ไม่เคยได้อ่านเลย นี่มันเข้าข่าย Tsundoku ซึนโดคุ นักดองหนังสือ รึเปล่าเนี่ย! เอ๊ะ! Tsundoku ซึนโดคุ คืออะไรนะ นี่มันโรคทางจิตรึเปล่า วันนี้เราจะพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักกับอาการที่ว่านี้กัน จะเป็นยังไง ไปดูกันเลย

📖📖📖📖📖📖📖📖📖📖📖📖📖📖

Tsundoku คืออะไร มีที่มาจากไหน

ลองมองเข้าไปในห้องของตัวเองซิ หนังสือเยอะขนาดไหน อ่านครบทุกเล่มแล้วรึยัง หรือซื้อๆ มาเก็บไว้ แต่ไม่ได้อ่านสักเล่มเลย ถ้าเป็นแบบนี้ เพื่อนๆ อาจจะเข้าข่าย Tsundoku ก็ได้นะ

Tsundoku เป็นคำที่เกิดจากการรวมตัวกันของคำ 3 คำในภาษาญี่ปุ่น ได้แก่ tsunde (หนังสือที่กองเป็นตั้ง) + oku ( ทิ้งไว้เป็นระยะเวลาหนึ่ง) + doku (อ่าน)

ซึ่งก็คือความรู้สึกที่อยากจะซื้อหนังสือไปเรื่อยๆ แบบไม่จบไม่สิ้น จนกระทั่งไม่สามารถอ่านหนังสือที่มีอยู่ได้ทัน ซึ่งคำๆ นี้ เริ่มปรากฏขึ้นครั้งแรกในศตวรรษที่ 19 หรือตรงกับสมัยเมจิของญี่ปุ่น โดยศาสตราจารย์แอนดรูว์ เกิร์สเทิล ผู้สอนวิชาภาษาญี่ปุ่นยุคก่อนสมัยใหม่ ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ได้มีการอธิบายว่า คำๆ นี้ไม่ได้เพิ่งบัญญัติขึ้น พบในตัวหนังสือครั้งแรกตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 นั่นจึงทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า ชาวญี่ปุ่นอาจจะใช้คำนี้มานานแล้ว จนถึงปัจจุบัน


ภาพประกอบบทความ:sistacafe-assets:____%2Fc%2F202312%2F43511961-e873-466f-afcc-d7e626375a14?v=20240824005141

Tsundoku เกิดจากสาเหตุอะไร

สาเหตุที่ทำให้เรากลายเป็นนักดองหนังสือ อาจจะเกิดจากไม่มีเวลาอ่าน นี่คือหนึ่งในสาเหตุยอดฮิต ที่หลายๆ คนเป็น คือมีเวลาซื้อ พอเจอเล่มที่ชอบหรือที่อยากอ่าน ก็ซื้อเก็บไว้ และคิดไว้เลยว่า เดี๋ยวมีเวลานั่งอ่านเลย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้อ่านสักที นานวันเข้า รู้ตัวอีกที หนังสือที่ซื้อมาก็เริ่มเยอะขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นกองดองเต็มห้องไปหมด! นอกจากสาเหตุนี้ ก็ยังมีหลายๆ คนที่คิดว่า ซื้อมาเพราะเขาบอกว่าสนุก อ่านรีวิวมา เขาบอกว่าสนุก ต้องอ่าน แต่พอได้อ่านจริง ไม่สนุก และดันไม่ถูกจริตของตัวเอง แล้วไง สุดท้ายก็กลายเป็นดองทิ้งไว้ ไม่ได้อ่าน จบด้วยการไปซื้อเล่มใหม่ เล่มอื่น ที่ชอบมากกว่า


📖📖📖📖📖📖📖📖📖📖📖📖📖📖

ข้อดีของภาวะกองดอง vs ข้อเสีย

อ้าวจริงๆ แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เราเป็นคนชอบเก็บชอบกองดองของบางสิ่ง หลายๆ คนมีอาการแบบนี้ อาจจะไม่ใช่แค่เฉพาะกับหนังสือ แต่อาจจะชอบซื้อเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เครื่องสำอาง ซื้อแล้ว ซื้ออีก แต่ก็ไม่ค่อยได้หยิบมาใช้


ภาพประกอบบทความ:sistacafe-assets:____%2Fc%2F202312%2F3d6342ac-5495-4f83-a139-93ba94ec0728?v=20240824005204

ซึ่งข้อดีของภาวะกองดองคือ ถ้าเทียบกันในมุมของคนที่ชอบอ่าน การที่คุณชอบซื้อหนังสือมาเก็บไว้ มันไม่ใช่เรื่องผิด ว่ากันว่า หนังสือที่ยังไม่ได้เปิดอ่าน ยิ่งมีมาก ยิ่งทำให้เราตระหนักรู้ได้ว่า ยังมีอีกหลายหลายเรื่องที่เรายังไม่รู้ และนั่นจะทำให้เราเกิดความอยากรู้สิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้ดีขึ้น และการที่รอบตัวเรามีแต่หนังสือ จะช่วยทำให้เราเกิดความอยากรู้ อยากอ่านมากขึ้นด้วย

แต่ในข้อดีก็มีข้อเสียเช่นกัน ขึ้นชื่อว่าการกองดอง มันมักจะมาพร้อมกับความรกเสมอ ถึงยังไงก็แล้วแต่ การที่เพื่อนๆ ชอบซื้อหนังสือมาเก็บไว้เรื่อยๆ ไม่ใช่เรื่องผิดก็จริง แต่การวางทิ้งไว้แบบของไร้ค่า มันก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะสุดท้ายแล้ว ความชอบของคุณอาจจะทำให้บ้านของคุณรกรุงรังได้ ขอแนะนำว่าให้หาชั้นวางหนังสือมาจัดให้เป็นระเบียบ แยกออกเป็นหมวดหมู่ เวลาหยิบอ่านจะได้หยิบง่ายขึ้น ทั้งนี้ควรทำความสะอาดปัดฝุ่นให้เรียบร้อย สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของคนรักหนังสือก็คือ ปลวกค่ะ ถ้าคุณวางทิ้งเอาไว้แบบไม่ใยดี ปลวกอาจจะมากินได้ ทั้งนี้คุณภาพของหนังสือด้วยความที่เค้าเป็นกระดาษ ก็อาจจะทำให้เสื่อมสภาพก่อนจะหยิบมาอ่านได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นซื้อมาแล้วควรรีบอ่านนะ อย่าดองทิ้งไว้นานเดี๋ยวจะไม่ได้อ่านนะจ๊ะ

📖📖📖📖📖📖📖📖📖📖📖📖📖📖

คนที่เป็น Tsundoku กำลังป่วยทางจิตอยู่รึเปล่า

พออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว มันก็เกินความสงสัยขึ้นมานิดนึงว่า Tsundoku เนี่ย มันเกี่ยวโยงกับอาการป่วยทางจิตรึเปล่า เพราะคำว่า Tsundoku และ Bibliomania มีความหมายคล้ายๆ กัน

Bibliomania เป็นชื่อของนิยายยุคศตวรรษที่ 19 โดย โธมัส ฟร็อกแนลล์ ดิบดิน ซึ่งพยายามค้นหาลักษณะอาการของ "ความบ้าหนังสือ" ที่ทำให้ไม่สามารถหยุดสะสมวรรณกรรมได้ ต่อมาคำคำนี้ ได้มีความหมายเปลี่ยนไปจาก "ความคลั่งไคล้หรือหมกมุ่น (obsession)" กลายมาเป็น "ความกระตือรือร้นอย่างแรงกล้า ในการสะสมและครอบครองหนังสือ" ตามนิยามในพจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับ Oxford

แล้ว Tsundoku และ Bibliomania มันเหมือนกันมั้ย ถ้าเทียบสองคำนี้ แม้ความหมายจะคล้ายคลึงกัน แต่ว่ากันว่า Tsundoku จะมีภาพลักษณ์ในเชิงบวกมากกว่า เพราะกลุ่มคนที่มีอาการ Bibliomania มักจะหมกมุ่นอยู่กับการสะสมหนังสืออย่างบ้าคลั่ง และรู้สึกเสียใจอย่างมากหากไม่ได้หนังสือเล่มที่ต้องการ ขณะที่ Tsundoku เป็นเพียงแค่ความรู้สึกอยากซื้อและอ่านหนังสือที่ซื้อไป แต่ก็ยังไม่ได้อ่านสักทีเท่านั้นเอง ฟีลแบบซื้อมาก่อน อ่านเมื่อไหร่ก็ได้ ไว้หายขี้เกียจ หรือมีเวลา เดี๋ยวหยิบมาอ่านเอง มันจะไม่ได้ถึงขั้น Bibliomania ที่คลั่งมากๆ ซื้อเก็บๆ อย่างเดียว อยากได้เล่มนี้ ต้องหาให้ได้ ต้องมีให้ได้ แล้วเก็บแบบอย่างดี ขึ้นหิ้งไว้เลย เพราะงั้นจะมองว่า Tsundoku เป็นอาการป่วยทางจิตไม่ได้


ภาพประกอบบทความ:sistacafe-assets:____%2Fc%2F202312%2Ffe576793-a033-41f3-8997-547597dc5ffb?v=20240824005213

ฮาวทูจัดการกับกองหนังสือที่ล้น

อีกไม่นาน มหกรรมหนังสือ ก็จะกลับมาแล้ว นักอ่านทั้งหลาย คงเตรียมตัวกันอย่างเต็มที่ เพราะงั้นก่อนจะถึงวันนั้น เอาเป็นว่าเรามาเริ่มจัดการกับกองหนังสือเก่าๆ ที่กองอยู่ตรงหน้ากันก่อนมั้ย เรามีวิธีง่ายๆ มาแนะนำ

1. เลือกซื้อหนังสือที่เราชอบอ่านจริงๆ

อย่าปล่อยให้สังคมมาคอยกดดัน ว่าเราจะต้องอ่านหนังสือแบบไหน เพราะไม่ว่าจะเป็นหมวดหมู่อะไร ขึ้นชื่อว่าหนังสือ ก็คือหนังสือค่ะ ถ้าเราเลือกซื้อเพราะเขาบอให้ซื้อ สุดท้ายมันจะไม่ได้อ่านค่ะ พอมันไม่ใช่หนังสือที่เราชอบ หรือที่เราอยากอ่านแล้ว พอซื้อมา มันก็จะอยู่ยังไงก็อยู่อย่างนั้น หรือเอหยิบขึ้นมาอ่าน แล้วดันไม่สนุก ไม่ชอบ ไม่เวิร์ค ความกดดันที่ต้องอ่าน ไม่ได้อยากจะอ่าน แต่ต้องอ่าน มันจะอ่านได้ไม่กี่หน้า แล้วสุดท้ายมันกลายเป็นความเบื่อ ฉะนั้นซื้อเล่มที่ชอบและอยากอ่านจริงๆ ดีกว่า


2. วางหนังสือที่จะอ่านไว้ใกล้ๆ ตัวที่สุด

อยู่นอกสายตาเกินไป มองไม่เห็น แล้วจะรู้ได้ไงว่ามี เพราะงั้นแนะนำให้จัดโซนพักผ่อนไว้สักจุดในบ้าน แล้ววางหนังสือที่จะอ่านไว้ใกล้ๆ พอบรรยากาศมันดี ความอยากอ่านมันจะเพิ่มขึ้น เผลอๆ อาจจะอ่านเพลินจนจบเลยก็ได้นะ การจะอ่านหนังสือได้นั้น บางครั้งมันก็อยู่ที่บรรยากาศและสภาพแวดล้อมด้วยนะ เพราะงั้นลองปรับเปลี่ยนมุมอ่านหนังสือของเรา ให้ดูผ่อนคลายและน่าสนใจขึ้น รับรองว่าช่วยได้


3. ตั้งเป้าหมายการอ่าน

เพื่อลดปริมาณหนังสือ ที่ซื้อมาแล้วยังไม่ได้ อีกหนึ่งวิธี ที่เราเชื่อว่าทุกคนทำได้ คือการตั้งเป้าหมายการอ่าน อาจจะต้องเป็นอาทิตย์ละหนึ่งเล่ม เริ่มตั้งเป้าหมายเล็กๆ ง่ายๆ กับตัวเองดูก่อน จะได้ไม่เป็นการกดดันตัวเองมากเกินไป การตั้งเป้าหมายการอ่านแบบนี้ จะช่วยปรับเปลี่ยนและสร้างนิสัยได้ไปในตัว และจะช่วยทำให้เรารู้สึกอยากที่จะอ่านและรักการอ่านอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดปริมาณหนังสือที่ยังไม่ได้อ่านให้ลดลงได้แล้วค่ะ


4. เล่มไหนที่ไม่ใช่ อย่าเก็บไว้ ส่งต่อดีกว่า

และอีกหนึ่งวิธี ที่จะช่วยลดปริมาณหนังสือที่เราเก็บไว้ได้ดีที่สุด ถ้าเรารู้สึกว่า หนังสือที่เรามีนั้นมากเกินไป วิธีลดปริมาณหนังสือที่เก็บไว้ คือการส่งต่อ เลือกดูว่าเล่มไหนที่พอจะมีมูลค่า อาจจะเปลี่ยนเป็นเงินได้ โดยการขายต่อให้กับคนที่เขารักและชอบหนังอือเหมือนกัน แต่ถ้าหนังสือเล่มไหน ที่เราไม่ค่อยได้อ่าน หรือเป็นหนังสือที่ไม่ได้อยากอ่าน แต่หนังสือเก็บไว้ แนะนำให้ส่งต่อโดยการบริจาค ก็จะเป็นประโยชน์ต่อคนที่ได้รับมากกว่า นอกจากจะช่วยทำให้ปริมาณของที่มีอยู่ลดลงแล้ว ยังทำให้เรารู้สึกอิ่มใจด้วยนะคะ


ภาพประกอบบทความ:sistacafe-assets:____%2Fc%2F202312%2F47f8ac57-c52d-4a75-a0a8-cec02c7da9c0?v=20240824005227

สรุป

ใครที่เป็นคนจำพวก Tsundoku ไม่ต้องกังวลนะ เพราะมันยังไม่เข้าข่ายป่วยทางจิตถึงขนาด Bibliomania ค่ะ ความชอบของเราถ้ามันไม่ได้ไปเดือดร้อนใครก็ไม่เป็นไรค่ะ แต่ถ้าท้ายที่สุดแล้วมันเป็นสิ่งที่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น เราก็จำเป็นที่จะต้องหาวิธีในการจัดการมันนะคะ การอ่านหนังสือเป็นเรื่องที่ดี การซื้อหนังสือดีดีมาเก็บไว้ก็เป็นเรื่องที่ดีค่ะ แต่ก็อย่างที่เราบอก เพื่อนๆ ควรหาวิธีจัดการ จัดเก็บของที่มีอยู่ให้เป็นที่เป็นทาง จะได้สะดวกต่อการหยิบมาอ่าน หยิบมาใช้งานด้วย อย่าซื้อมาเก็บไว้แล้วกองไว้กับพื้น เพราะมันอาจจะทำให้เราหลงลืมว่ามีสิ่งนี้อยู่ และสุดท้ายสิ่งที่เราคิดว่ามีค่า มันอาจจะกลายเป็นแค่กองขยะ ที่ทำให้ห้องของเรารกแทนก็ได้ ยังไงก็ตามขอสนับสนุนนักอ่านทุกท่านให้อ่านหนังสืออย่างมีความสุข จัดเก็บให้เรียบร้อยสวยงามเพื่อสุขภาพกายและจิตที่ดีของพวกเรานะคะ สำหรับวันนี้ต้องลาไปก่อนแล้ว บ๊ายบาย


ขอขอบคุณข้อมูลประกอบจาก : มารู้จักกับ Tsundoku พฤติกรรมการดองหนังสือ

ขอขอบคุณข้อมูลประกอบจาก : ซุนโดคุ: ศิลปะแห่งการซื้อหนังสือที่สุดท้ายไม่ได้อ่าน


ผู้เขียนนำภาพประกอบทั้งหมดมาจาก Pinterest

ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณทุกๆ แหล่งที่มาต้นฉบับมา ณ ที่นี้

บทความแนะนำเพิ่มเติม







เว็ปไซต์นี้ใช้คุกกี้

SistaCafe ให้ความสำคัญต่อข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้โดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ แสดงว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา และ นโยบายการใช้คุกกี้