1. SistaCafe
  2. ชวนทุกคนมาทำความเข้าใจ " โรคแพนิก " มีอาการแบบไหน แล้วรักษายังไงได้บ้าง? 💊

สวัสดีค่ะชาวซิส ^ - ^วันนี้มาแบบเรียบร้อยทางการนิดนึง เพราะเนื้อหาที่เราจะพูดถึงมันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ๆซึ่งประเด็นนั้นก็คือ" โรคแพนิก "นั่นเองค่ะ คือโรคนี้เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้ามีอะไรมากระตุ้นมันอาจจะเป็นอะไรที่เราคาดไม่ถึงก็ได้นะคะ แล้วอาการที่แสดงออกคือมันส่งผลกระทบทั้งทางจิตใจแล้วก็ทางร่างกายเลย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะรักษาไม่ได้นะคะ สามารถรักษาได้ แต่ก่อนที่จะไปรู้ว่ารักษายังไงเราต้องไปดูกันก่อนว่าโรคมันคืออะไร แล้วมีอาการประมาณไหน อะไรกระตุ้นให้เกิดได้บ้างแล้วจะอยู่กับมันยังไงถ้าพร้อมจะไปเรียนรู้กันแล้วก็ตามมาอ่านกันได้เลยค่ะ :-D


❖ ❖ ❖ ❖ ❖ ❖ ❖ ❖ ❖ ❖ ❖


" โรคแพนิก " คืออะไร?

“ โรคแพนิก ( Panic Disorder ) ” หรือโรคตื่นตระหนกเป็นโรควิตกกังวลประเภทหนึ่งที่เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ ( Automatic Nervous System ) ทำงานผิดปกติโดยระบบประสาทนี้เป็นระบบที่ควบคุมการทำงานของร่างกายมนุษย์หลายส่วน จึงทำให้เวลาอาการกำเริบจะส่งผลต่อร่างกายหลาย ๆ อย่างเช่น หัวใจเต้นเร็วและแรง มีเหงื่อออกมาก ท้องไส้ปั่นป่วน วิงเวียน ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นแบบฉับพลันแม้จะไม่มีอะไรมากระตุ้นก็ตาม และมันก็ทำให้ผู้ป่วยหลาย ๆ คนรู้สึกกลัวจนไม่กล้าใช้ชีวิตสภาพจิตใจก็เลยย่ำแย่มากขึ้นกว่าเดิมไปอีกนั่นเองค่ะ



แล้ว " โรคแพนิก " มีสาเหตุมาจากอะไร?

ตอนนี้ก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนแต่จากการวิจัยพบว่าโรคแพนิกอาจมีความสัมพันธ์กับปัจจัยภายในอย่างด้านกรรมพันธุ์ โดยถ้าเป็นญาติสายตรงจะพบประมาณร้อยละ 43 เลยค่ะที่เป็นโรคแพนิก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเกี่ยวกับสารเคมี/ฮอร์โมนบางอย่างที่ทำงานผิดปกติด้วย และปัจจัยภายนอกอย่างการเจอเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจ เช่น พ่อแม่ทะเลาะกัน หรือ ต้องไปอยู่ไกลจากบ้านเกิด ก็มีส่วนเหมือนกันที่ทำให้โรคนี้มันเกิดขึ้นแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังไม่มีงานวิจัยที่ฟันธงนะคะ ฟังหูไว้หูก่อนดีกว่า~



อาการของ " โรคแพนิก " มีอะไรบ้างที่สังเกตได้

ในส่วนของอาการแพนิกที่แสดงออกมา แต่ละคนก็จะแสดงออกมาไม่เหมือนกันนะคะ แต่ก็จะมีข้อสังเกตอยู่ว่าแบบไหนคือเรียกว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็น " โรคแพนิก "• ใจสั่น แน่นหน้าอก หัวใจเต้นแรง• หายใจหอบ หายใจถี่ เหงื่อออกเยอะมาก• ตัวสั่น มือสั่น เท้าสั่น• ตัวชา ควบคุมตัวเองไม่ได้• ปั่นป่วนในท้อง วิงเวียน คล้ายจะเป็นลม• รู้สึกกลัวไปหมดทุกสิ่งถ้าใครมีอาการพวกนี้เกิดขึ้นกับตัวเอง ก็ประเมินคร่าว ๆ ได้เลยนะคะว่าเราอาจจะเสี่ยงเป็น " โรคแพนิก " แต่เพื่อความแน่ใจก็ควรจะไปพบแพทย์ให้เขาตรวจแบบละเอียดอีกครั้งนะคะ


อะไรที่สามารถทำให้เกิด " โรคแพนิก " ได้บ้าง

ปัจจัยที่ทำให้" โรคแพนิก "มันเกิดขึ้นก็มีหลายปัจจัยเลยนะคะ ไม่ว่าจะปัจจัยภายในหรือภายนอก โดยสามารถแบ่งออกเป็นได้เป็น 7 ข้อใหญ่ ๆ1. อาจเกิดจากสมอง ' อะมิกดาลา (Amygdala) 'ซึ่งเป็นส่วนควบคุมความกลัวทำงานผิดปกติ


2. กรรมพันธุ์ : ถ้ามีญาติเป็น โอกาสที่เราจะเป็นก็มีสูงขึ้น


3. การใช้สารเสพติด


4. ความผิดปกติของฮอร์โมน อาจทำให้สารเคมีในสมองเสียสมดุลได้


5. มีประสบการณ์หรือเคยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต


6. พฤติกรรมต่าง ๆ ที่เป็นตัวกระตุ้น เช่น มีปัญหาที่ต้องเผชิญคนเดียว


7. เครียดสะสม : เกิดจากการใช้ชีวิตอย่างจริงจังหรืออยู่ในสภาวะกดดัน


ถ้าเราเป็น " โรคแพนิก " แล้วจะสามารถรักษาได้รึเปล่า?

จากการศึกษาพบว่าประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ที่เป็นโรคนี้สามารถหายขาดได้ดังนั้นก็วางใจได้นะคะว่ามันจะสามารถรักษาให้หายได้ แค่จะต้องใช้เวลาหน่อย ซึ่งวิธีการรักษาสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ข้อหลัก ๆ คือ

1. การรักษาด้วยยา: ยาจะเข้าไปปรับสมดุลสารสื่อประสาทในสมอง จึงจำเป็นจะต้องใช้ทั้งยาและเวลาในการรักษาประมาณ 8 - 12 เดือน โดยความยาวนานจะขึ้นอยู่กับปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคของแต่ละคน

2. การรักษาทางใจคือการทำจิตบำบัดประเภทปรับความคิดและพฤติกรรม ซึ่งมีหลายวิธี เช่น• ฝึกหายใจในผู้ป่วยที่มีอาการหายใจไม่อิ่ม โดยวิธีการคือให้หายใจเข้า - ออกลึก ๆ ช้า ๆ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากอาการที่กำเริบ• รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง บอกตัวเองว่ามันเกิดขึ้นแค่ชั่วคราว ใจเย็น ๆ• การฝึกการคลายกล้ามเนื้อในคนที่มีอาการปวดศรีษะ หรือปวดกล้ามเนื้อ• การฝึกสมาธิ• การฝึกคิดในทางบวก


ถ้าอาการของ " โรคแพนิก " กำเริบขึ้นมา เราจะทำยังไงได้บ้าง?

วิธีการจัดการกับอาการแพนิกโดยดร.แคลร์ วีกส์ ( Claire Weekes )แพทย์ทางเวชปฏิบัติทั่วไปชาวออสเตรเลีย ได้แนะนำหลักการสำคัญไว้ 4 ข้อ1. เผชิญกับอาการแพนิก :คือเราไม่ต้องพยายามหลีกเลี่ยงหรือทำความคุ้นเคยกับมัน แต่ให้เราเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันแทน2. การยอมรับอาการแพนิกอย่างสงบเยือกเย็น :ข้อนี้ยากมากนะคะ แต่สามารถทำต่อเนื่องจากข้อแรกได้เลย เมื่อเราเรียนรู้จะอยู่กับมัน ก็คิดไปเลยค่ะว่าที่เราเป็นแบบนี้ก็เพราะระบบประสาทเราทำงานผิดปกตินะ เราก็เลยเป็นแบบนี้นะ เมื่อเราคิดแบบนั้นร่างกายก็จะผ่อนคลายมากขึ้น อาการแพนิกที่กำเริบก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ3. การลอยตัวเหนืออาการแพนิก :วิธีการคือทำคือแค่อยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ หายใจเข้าออกลึก ๆ ช้า ๆ ขณะที่จินตนาการว่าตัวเองกำลังลอยไปข้างหน้า พวกกล้ามเนื้อต่าง ๆ จะผ่อนคลายลงไปในที่สุด4. การปล่อยให้เวลาที่ผ่านไปช่วยเยียวยาให้อาการดีขึ้น :การฟื้นจากโรคแพนิกก็เหมือนกับการรักษาโรคอื่น ๆ นะคะคือต้องใช้เวลา ถ้าเราใจร้อนอาการมันก็จะยิ่งกำเริบ แต่ถ้าเราฝึกอดทน ทำใจให้เย็นลงได้ มันก็จะอาการดีขึ้นนั่นเองค่ะนอกจาก 4 วิธีนี้ดร.วีคส์ยังแนะนำให้ผู้ป่วยแพนิกใช้ชีวิตด้วยความกระตือรือร้นโดยไม่ปล่อยให้ความวิตกกังวลเข้ามาควบคุมชีวิตของเราแม้ว่าจะยังมีความรู้สึกวิตกกังวลเกิดขึ้นก็ตาม โดยถ้าเราทำทั้ง 4 ข้อและคำแนะนำที่ดร.วีคส์บอกไว้ อาการแพนิกก็จะค่อย ๆ หายไปในที่สุดได้นั่นเองค่ะ แต่ว่าก็ว่านะคะมันทำได้ยากพอสมควร ถ้าเทคโนโลยีสมัยนี้อย่างยารักษาช่วยได้ก็อาจจะต้องพึ่งพามันไปก่อนนะคะ


❖ ❖ ❖ ❖ ❖ ❖ ❖ ❖ ❖ ❖ ❖


ได้ความรู้กันไปแบบแน่น ๆ เลยนะคะ สำหรับเรื่องของ" โรคแพนิก "โดยข้อมูลที่เราเอามารวบรวมก็ค้นหาจากหลากหลายที่ ๆน่าเชื่อถือมารวมกันบวกกับว่าเพื่อนสนิทของเราเขาก็เป็นโรคนี้ด้วยนะคะ ก็เลยพอที่จะเข้าใจและสามารถอธิบายให้ทุกคนไม่งงได้หวังว่ามันจะมีประโยชน์กับทุกคนเลยน้าส่วนตอนนี้เราต้องลาไปก่อน บทความหน้าจะมีอะไรน่าสนใจ น่าติดตามก็แวะมาอ่านกันที่SistaCafeได้ตลอดเลยนะคะ บ๊ายบาย ♥


เว็ปไซต์นี้ใช้คุกกี้

SistaCafe ให้ความสำคัญต่อข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้โดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ แสดงว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา และ นโยบายการใช้คุกกี้