รูปภาพ:

ช่วงที่ COVID-19 กำลังระบาดแบบนี้ นอกจากเรื่องการระมัดระวังไม่ให้ตนเองและคนในครอบครัวติดเชื้อแล้ว หลายๆ คนยังมองหาประกันที่จะมาช่วยลดภาระที่จะต้องจ่ายเงินก้อนโตไปกับค่ารักษาพยาบาลหรือการชดเชยหากขาดรายได้ในช่วงรักษาตัวอีกด้วย

-----------------------------------

ในสถานการณ์แบบนี้หลายๆ คนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัยมากขึ้น ไม่เพียงแค่ประกันภัยที่คุ้มครองเกี่ยวกับ COVID-19 โดยตรง แต่ยังรวมถึงประกันชีวิตและประกันสุขภาพอื่นๆ ด้วย

ก่อนที่คุณจะตัดสินใจซื้อประกันภัย KKP Advice Center อยากชวนคุณมาทำความรู้จักประกันภัยให้ดียิ่งขึ้น เริ่มทำความเข้าใจกันตั้งแต่ต้น ว่าจริงๆ แล้วประกันภัยคืออะไร มีหน้าที่อะไร และมีกี่แบบ กี่ประเภท เพื่อให้เข้าใจวัตถุประสงค์และเลือกประกันภัยได้ตอบโจทย์กับความต้องการคุ้มครองที่คาดหวังมากที่สุด

การประกันภัย คือ การบริหารความเสี่ยงภัยวิธีหนึ่ง ซึ่งจะโอนความเสี่ยงภัยของผู้เอาประกันภัยไปสู่บริษัทประกันภัยเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ได้รับความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันภัย ตามจำนวนและระยะเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ตามสัญญาประกันภัย การทำประกันภัยถือเป็นการวางแผนป้องกันความเสี่ยงภัยในอนาคตข้างหน้า

โดยประกันภัยสามารถแบ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้เป็น 2 ประเภท คือ

การประกันวินาศภัย (Non-Life Insurance)คือการประกันที่ใช้สินทรัพย์ วัตถุหรือความรับผิดเป็นเหตุให้เกิดการชดใช้เงินตามสัญญา เช่น ประกันรถยนต์ ประกันอัคคีภัย ประกันการโจรกรรม ฯลฯ

การประกันชีวิต (Life Insurance)คือ การชดเชยรายได้ที่ต้องสูญเสียไปอันเนื่องมาจาก การตาย ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง หรือชราภาพ โดยบริษัทประกันชีวิต จะจ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ให้แก่ผู้เอาประกัน หรือผู้รับประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิต

นอกจากนี้ตามหลักวิชาการแล้วยังมีประกันภัยอีกประเภทนั่นคือ

การประกันภัยเกี่ยวกับความรับผิดตามกฎหมาย (Liability Insurance)เป็นการประกันภัยที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย ที่เกิดจากการประมาทเลินเล่อของผู้เอาประกันภัย บุคคลในครอบครัว หรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยที่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือทรัพย์สินเสียหาย เช่น การประกันภัยความรับผิดต่อสาธารณะ, การประกันภัยความรับผิดจากผลิตภัณฑ์, การประกันภัยความรับผิดจากวิชาชีพ

สำหรับประกันวินาศภัยคือประกันอื่นๆนอกเหนือจากประกันชีวิต ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทได้แก่

1. ประกันอัคคีภัยคุ้มครองทรัพย์สินจากเหตุไฟไหม้ ฟ้าผ่า รวมถึงไฟฟ้าลัดวงจรที่เกิดจากฟ้าผ่า และการระเบิดของแก๊สโดยสามารถเอาประกันได้ทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ประเภทสิ่งปลูกสร้าง

2. ประกันภัยรถยนต์ให้ความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากการใช้รถยนต์ ทั้งความเสียหายต่อตัวรถ ผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร รวมถึงบุคคลภายนอกที่ทรัพย์สินเสียหาย ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

3. ประกันภัยทางทะเลและขนส่งประกันที่คุ้มครองความเสียหายแก่เรือและทรัพย์สินที่อยู่ในระหว่างการขนส่งทางทะเลรวมไปถึงการขนส่งทางอากาศและทางบกด้วย

4. ประกันภัยเบ็ดเตล็ดคุ้มครองความเสียหายอันเกิดจากเหตุมิได้คาดหมาย นอกเหนือจาก 3 ประเภทที่ได้กล่าวไปแล้ว ตัวอย่างประกันภัยเบ็ดเตล็ดเช่น ประกันภัยอุบัติเหตุ, ประกันสุขภาพ, ประกันการเดินทาง, ประกันภัยโจรกรรม หรือ ประกันภัยพืชผล เป็นต้น

ลองมาดูในส่วนของประกันชีวิตกันบ้าง ประกันชีวิตมีมากมายหลายแบบ แต่ละแบบจะมีลักษณะความคุ้มครองและผลประโยชน์แตกต่างกันออกไป ปัจจุบันการประกันชีวิตพื้นฐานแบ่งได้เป็น 4 แบบ แต่ละแบบก็มีแนวคิดและวัตถุประสงค์การนำไปใช้ที่แตกต่างกัน เราควรจะศึกษาเพื่อให้เลือกแบบประกันได้สอดคล้องกับแผนทางการเงินของแต่ละคน ได้แก่

1. ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term Life Insurance)คือประกันชีวิตที่เน้นการคุ้มครองระยะสั้น โดยเราเลือกช่วงเวลาในการจ่ายเบี้ยและรับการคุ้มครองได้เอง เช่น คุ้มครองภายในระยะเวลา 1 ปี 5 ปี หรือ 20 ปี เป็นต้น เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการคุ้มครองดังกล่าวแล้ว แต่ผู้เอาประกันยังมีชีวิตอยู่ ก็จะถือว่ากรมธรรม์ฉบับนั้นได้สิ้นสุดความคุ้มครองลง โดยผู้ประกันจะไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ เป็นการประกันที่ให้ความคุ้มครองชีวิตแก่ผู้เอาประกันภัยเพียงอย่างเดียว เป็นเบี้ยประกันภัยแบบจ่ายทิ้งแต่ก็ถือเป็นแบบประกันที่เบี้ยประกันภัยถูกที่สุด ประกันชีวิตประเภทนี้เหมาะกับบุคคลที่มีความสามารถในการจ่ายค่าเบี้ยประกันไม่มาก เช่น คู่สมรสใหม่ที่อยู่ระหว่างการสร้างครอบครัว ผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ หากเกิดเหตุผู้เอาประกันเสียชีวิตภายในช่วงระยะเวลาที่คุ้มครองตามกรมธรรม์ ก็ไม่ต้องกลัวว่าภาระหนี้สินจะตกไปเป็นของครอบครัว เพราะทางบริษัทประกันภัยจะเป็นผู้จ่ายหนี้สินแทนให้ เช่น ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อต่างๆ

2. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life Insurance)คือประกันชีวิตประเภทที่เน้นการคุ้มครองระยะยาว โดยต้องจ่ายเบี้ยประกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่น 2 ปี, 10 ปี หรือ 20 ปี แต่ให้การคุ้มครองตลอดชีพ หรือจนถึง99 ปี เป็นต้นเหมาะกับผู้ที่มีภาระรับผิดชอบ เป็นหัวหน้าครอบครัว หรือต้องการวางแผนมรดกให้ลูกหลาน

3. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment / Saving Insurance)คือ การประกันชีวิตที่บริษัทจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย เมื่อมีชีวิตอยู่ครบกำหนดสัญญา หรือจ่ายเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตลงภายในระยะเวลาประกันภัย การประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เป็นส่วนผสมของการคุ้มครองชีวิตและออมเงิน ในส่วนของการออมทรัพย์ คือส่วนที่ผู้เอาประกันภัยจะได้รับคืนเมื่อสัญญาครบกำหนด ถือเป็นตัวช่วยสร้างวินัยในการออม และเป็นแบบประกันที่นิยมมากสุดในประเทศไทย เพราะได้ทั้งการเก็บออมและความคุ้มครองชีวิตไปพร้อมกัน4. ประกันชีวิตแบบได้เงินประจำ/บำนาญ (Annuity Insurance)คือ การประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเท่าๆ กันอย่างสม่ำเสมอ ให้แก่ผู้เอาประกันภัยทุกปี นับแต่ผู้เอาประกันภัยเกษียณอายุ หรืออายุครบ 55 ปีหรือ 60ปี เป็นต้นไป แล้วแต่เงื่อนไขในกรมธรรม์ที่กำหนดไว้ เป็นกรมธรรม์ที่เน้นการออมเงินเพื่อไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณโดยเฉพาะ โดยจะต้องออมอย่างต่อเนื่องจนถึงอายุเกษียณ แล้วหลังเกษียณจะมีเงินคืนจากแบบประกันทุกๆ ปี ถือเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยในการวางแผนการเงินสำหรับเกษียณได้เป็นอย่างดี

รู้จักประเภทของประกันภัยกันแล้วก็อย่าลืมสำรวจตัวเองว่า เรามีความเสี่ยงในด้านใดบ้าง เพื่อเลือกประกันภัยให้ตรงกับความจำเป็นของตัวเอง เพราะบางคนอาจไม่มีความจำเป็นต้องทำประกันภัยบางอย่างก็ได้ และที่สำคัญเลยคือต้องพิจารณาความสามารถในการชำระค่าเบี้ยของตนเองด้วยว่าสอดคล้องกับสภาพคล่องทางการเงินของตัวเองหรือไม่ เพื่อไม่ให้ประกันภัยขาดหรือเสียความคุ้มครองไป

อ่านคอนเทนต์ทางด้านการเงิน การลงทุนดีๆ จากผู้เชี่ยวชาญได้ที่

https://kkpadvicecenter.kiatnakin.co.th/th/home