1. SistaCafe
  2. ผิดมั้ย.. ที่เราน้อยใจเก่ง? รู้จักศิลปะแห่ง "ความคาดหวัง" รับมือยังไงไม่ให้จิตตก

เรื่อง :ภาพประกอบ :


ปีใหม่เพิ่งผ่านไป วาเลนไทน์กำลังจะมาถึง ไหนจะวันครบรอบ วันเกิด วันเกิด(อยากได้ดอกไม้) วัน(เกิดอยากให้เธอโรแมนติกบ้าง) วัน(ที่เราป่วย) วัน(ที่เราท้อ) วันที่อยากได้รับความรักจากเธอเป็นพิเศษ



สารพัดวันพิเศษต่างๆ เหล่านี้ เรามักได้เห็นผ่านโซเเชียลมีเดียบ่อยๆ ที่เพื่อนในฟีดมักมีรูปมาอวดให้ได้อิจฉาตาร้อนเสมอ หลายๆ คู่เฉลิมฉลอง หลายๆ คู่ใช้เวลาร่วมกัน หลายๆ คู่แค่ถ่ายรูปจับมือไม่ต้องเห็นหน้าตาก็ทำเอาเราอดที่จะกรี๊ดกร๊าดไปกับเค้าไม่ได้



หันกลับมาดูที่แฟนเรา ทำไมอ่ะคะพี่? ทำไมแฟนหนูไม่ให้ของเราในโอกาสพิเศษบ้าง ทำไมไม่หวานกับเราบ้าง ทำไมไม่ง้อเราก่อนบ้างหนูต้องเป็นฝ่ายง้อเองตลอดเลย.. หนูน้อยใจมากๆ เลยค่ะ!



รู้จัก "ความน้อยใจ" เกิดจากอะไร? ทำไมเรากลายเป็น "คนขี้น้อยใจ"?


จริงๆ แล้วเรื่องของความน้อยใจนี่มันไม่เข้าใครออกใครจริงๆ ค่ะ ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่าการน้อยใจไม่ใช่อาการเฉพาะคนและไม่ได้เกิดเฉพาะกับคู่รักเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะผู้ชายหรือผู้หญิง เด็กเล็ก วัยรุ่นเลือดร้อน หรือแม้กระทั่งคนเฒ่าคนแก่ ทุกคนต่างสามารถเกิดความน้อยใจซึ่งกันและกันได้ทั้งนั้น



และเราเชื่อเหลือเกินว่าไม่มีใครอยากถูกมองว่าเป็นคน "ขี้น้อยใจ" หรอก ก็คนขี้น้อยใจจะกลายเป็นคนเรื่องเยอะ กลายเป็นคนอ่อนแอ กลายเป็นคนเรียกร้องเก่ง ก็มันเป็นความรู้สึก จะให้ฉันหยุดมันได้ยังไง?!



แต่อย่างที่บอกว่าเราทุกคนก็ต้องต่างเคยน้อยใจทั้งนั้น แล้วไอ้ความน้อยใจนี่มันคืออะไรกันแน่? ทำไมมันถึงตามหลอกตามหลอนเราทำให้เรากลายร่างจากรับบทนางเอกเป็นรับบทนางร้ายซะอย่างนั้น ไปทำความเข้าใจเรื่องนี้พร้อมๆ กันค่ะ



ความคาดหวัง = ความต้องการ = ความเป็นธรรมชาติของมนุษย์

ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่าโดยพื้นฐานนั้นความน้อยใจมักมาจากความคาดหวังก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งเจ้าความคาดหวังนี้ไม่ใช่แค่เราคาดหวังจากคนอื่น แต่ตัวเราเองก็คาดหวังจากตัวเองเช่นกัน อย่างการพาตัวเองไปอยู่ในฐานะที่ดีขึ้น ไม่ลำบาก ไม่เจ็บป่วย มีเพื่อนดี มีครอบครัวดี มีแฟนดี เราคาดหวังกับตัวเองเพราะเรารู้ว่าเราคาดได้

ทั้งนี้ทั้งนั้นเวลาที่เรารู้สึกน้อยใจส่วนหนึ่งคือการที่ตัวเราเองต้องการเป็นคนที่มีคุณค่า เป็นที่รัก เป็นที่ยอมรับของอีกฝ่ายค่ะ เมื่อเรารู้สึกว่ามีคุณค่าในความสัมพันธ์นั้นแล้ว ความรู้สึกของเราก็จะทำงานโดยการบอกว่าเรามีอภิสิทธิ์ในการคาดหวังสิ่งๆ หนึ่งจากอีกฝ่ายได้นะ ก็เรามีคุณค่าต่อเค้า เราทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้เค้า เค้าก็ควรต้องทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้เราด้วยสิ แฟร์เกม ชั้นผิดตรงไหน?



เมื่อเกิดความคาดหวัง แล้วสมหวัง ก็ดีไป แต่ถ้าความคาดหวังนั้นไม่ถูกเติมเต็มล่ะก็.. นั่นแหละค่ะคือจุดที่ 'เจ้าความน้อยใจ' จะเริ่มทำงาน



+++++++++++++++++++++++


และปัญหาที่มากับอาการน้อยใจมันก็ไม่ต่างจากไฟลามทุ่งเลยค่ะ ความคิดของเราจะเริ่มทำหน้าที่ของมันโดยการที่ไม่ได้โฟกัสที่ตัวปัญหาอีกต่อไป เช่น หากแฟนเราไม่ได้มาเยี่ยมตอนป่วย แทนที่จะใจเย็นๆ แล้วพยายามเข้าใจสถานการณ์ แต่เจ้าความคิดก็จะเริ่มฟุ้งซ่าน แตกประเด็นออกไปเก่งมาก เริ่ม Gat Pat เชื่อมโยงเก่ง ดูสิ ดอกไม้ตอนวาเลนไทน์ก็ไม่มา ของขวัญวันเกิดปีที่แล้วก็ไม่มี ทำไมเธอไม่เห็นคุณค่าของฉันเลยนะ



จากปัญหาแค่หยิบมือ กลายเป็นปัญหาระดับชาติแบบที่คุณผู้ชายของคุณยังไม่มีโอกาสได้แก้ตัวด้วยซ้ำ!




เรามีคุณค่า = เราคาดหวัง (ไม่สมหวัง) = เราน้อยใจ

การที่เราคาดหวังให้อีกฝ่ายทำตามความต้องการของเรา ทำตามความคาดหวังของเรานั้นจริงๆ แล้วมันก็เหมือนเป็นการเซ็ทกับดักให้กับตัวเองนั่นแหละค่ะ กับดักความคิดของเราเองซึ่งถูกหล่อหลอมมาตลอดชีวิต ทั้งจากการเลี้ยงดูจากครอบครัว หรือประสบการณ์ส่วนตัว บางคนเติบโตมาในครอบครัวที่มีการเอาใจใส่ในวันสำคัญต่างๆ มากๆ มีของขวัญให้กันและกันเสมอไม่ว่าจะเทศกาลสำคัญไหนๆพอเติบโตมาจึงไม่แปลกที่เราจะเกิดภาพจำในหัวว่า เมื่อนี่คือสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ครอบครัวเราทำให้มาเสมอ เพราะฉะนั้น "เราควรต้องทำให้กัน" จนเอาไปเป็นบรรทัดฐานในการใช้ตัดสินคนอื่นคุณดุจดาว วัฒนปกรณ์ ผู้ดำเนินรายการ R U OK Podcast ช่อง The Standard อธิบายเรื่อง 'ความน้อยใจ' ไว้อย่างน่าสนใจมากๆ โดยคุณดุจดาวเทียบว่าการที่เราคาดหวังเอาบรรทัดฐานของเราไปใช้กับคนอื่นๆ เรียกว่าเป็นการเอาไป "ทาบ" คนอื่นไปซะหมด อะไรเกินเราขยี้ อะไรขาดเราจิ้ม การที่เราทาบบรรทัดฐานของเราให้กับคนอื่นไปซะหมดก็ยิ่งเป็นการไม่ยุติธรรมต่อความสัมพันธ์

เพราะในความเป็นจริงแล้ว สมการเรา ไม่เท่ากับ สมการของคนอื่น นั่นเองค่ะ+++++++++++++++++++++++ขนาดตัวเราเองยังมีความต้องการ มีความคาดหวังให้คนอื่นทำตามความต้องการของเรา ดังนั้นเราจึงต้องเข้าใจเช่นกันว่าคนอื่นก็มีสิทธิ์ที่จะมีวิธีการปฏิบัติอย่างอื่นซึ่งอาจจะไม่ใช่วิธีที่เราคิดก็ได้ จริงๆ แล้วความน้อยใจมันไม่ใช่เรื่องแย่ซะทีเดียวหรอกค่ะ อย่างที่บอกว่าทุกคนต่างมีความน้อยใจได้ทั้งนั้นแต่อยู่ที่ว่าใครจะสามารถจัดการความน้อยใจนั้นได้ช้าหรือเร็วกว่ากันความน้อยใจจะเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อเราไม่สามารถจัดการมันได้และเริ่มบานปลายไปสู่ความคิดอื่นๆ ซึ่งมันดูดพลังชีวิตไปมากโขเลยนะ ซึ่งเวลาที่เรารู้สึกน้อยใจแล้วสามารถรู้เท่าทันตัวเองได้ รู้ว่าเราน้อยใจเพราะอะไร พยายามเข้าใจสถานการณ์ก็จะทำให้ผ่านภาวะนั้นไปได้ค่ะ แม้ว่ามันจะไม่ง่าย แต่หากเราสามารถทำได้ นอกจากจะไม่กลายร่างเป็นสาว ' ขี้งอแง ' หรือ ' ขี้น้อยใจ ' อย่างที่ใครชอบว่าเราแล้ว ยังเป็นการช่วย ' heal จิตใจ ' ของตัวเองได้ดีด้วยล่ะค่ะ


น้อยใจได้ = แก้ได้ด้วยตัวเอง (หายใจลึกๆ ก่อน..)


เอาเป็นว่าอาการความน้อยใจที่เกิดขึ้นไม่ว่าใครก็อยากให้คนที่เรารักมาเอาใจใส่ความรู้สึกของเรากันทั้งนั้นล่ะเนอะ แต่ถ้าเรากลับมามองในความเป็นจริง ทุกคนก็มีความคิด มีความต้องการเป็นของตัวเองกันทั้งนั้น ไม่มีใครสามารถเป็นศูนย์กลางของจักรวาลได้ตลอดเวลาหรอก (ถ้าอยากเป็น ขอเรียนเชิญดาวเสาร์เลยจ้า หาดาวเคราะห์ของตัวเองเอาเนอะ)



เพราะฉะนั้นวิธีรับมือกับความน้อยใจฉบับ DIY (สไตล์งอนเองหายเองได้ นักเลงพอ) อย่าไปคาดหวังให้มากนัก ไม่มีใครชอบการถูกคาดหวังแม้แต่เธอเอง เมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าเราเริ่ม ' ทาบ ' ความต้องการของเราไปบนบ่าของใครสักคน ลองคุยกับตัวเองดูว่าการที่เราทำแบบนั้น ถ้าไม่เป็นไปตามต้องการเรามีความสุขมั้ย? แล้วคนที่ถูกทาบความคาดหวังของเราลงไปล่ะ เค้ามีความสุขหรือเปล่า?



เราต่างไม่อยากทำร้ายคนที่เรารักกันทั้งนั้นล่ะเนอะ

+++++++++++++++++++++++


การเอาชนะความน้อยใจฉบับทำได้ด้วยตัวเองอีกอย่างคือการที่เรากล้าบอกสิ่งที่เราต้องการกับเค้าไปตรงๆ หลายครั้งที่เกิดความน้อยใจเรามักเก็บมันไว้คนเดียวเงียบๆ หวังว่าอีกฝ่ายจะรู้เองว่าตอนนี้สถานการณ์ฝั่งเรามันเริ่มอึมครึม ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่มีใครสามารถหยั่งรู้ได้ค่ะแก!



เพราะฉะนั้นถ้าสามารถกลั่นออกมาเป็นคำพูดที่มีเหตุผลได้ (ซึ่งยากนะบอกก่อน ค่อยๆ คิด ใจเย็นๆ แล้วค่อยๆ กลั่นมันออกมา) ก็จะทำให้เกิดการพูดคุยกัน สื่อสารกัน ช่วยให้อีกฝ่ายสามารถรับรู้ความต้องการของเราได้ชัดเจน และเราสามารถรับฟังความเห็นอีกฝ่ายได้ด้วยว่าจะช่วยกันจัดการกับความต้องการนี้ได้ยังไงบ้าง สามารถถูกเติมเต็มได้มั้ย มีความเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหนที่จะถูกแก้ไขจัดการ



แต่อย่าลืมว่าถ้าการกลั่นคำพูดออกไปในลักษณะประชดประชัน reaction ที่จะเกิดขึ้นคือการถอยหนี (ไม่อยากยุ่งด้วยแล้ว) แต่ถ้าเธอสามารถบอกสิ่งที่คิดได้ด้วยความจริงใจ ว่าเรารู้สึกอย่างไร พูดตรงๆ ให้อีกฝ่ายเข้าใจความรู้สึก reaction เราอาจค้นพบทางออกไปพร้อมๆ กันก็เป็นได้



หรือจริงๆ เราก็สามารถจัดการกับความคาดหวังได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องเป็นภาระของคนอื่นก็ได้? ลองไปทำตามกันดูนะ จะได้ไม่เป็นคนขี้น้อยใจอีกต่อไปไง :)


เว็ปไซต์นี้ใช้คุกกี้

SistaCafe ให้ความสำคัญต่อข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้โดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ แสดงว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา และ นโยบายการใช้คุกกี้