1. SistaCafe
  2. ผิวบอบบางระวังแพ้ รวบตึง 5 โรคผิวหนัง ที่มาพร้อมกับหน้าร้อน

ซัมเมอร์นี้ อากาศร้อนมาก! ทั้งร้อนอบอ้าว ทั้งร้อนแบบแดดแรงแผดเผาสุดๆ แต่ในความอากาศร้อนนี้ รู้มั้ยว่า สิ่งที่น่ากลัว ที่มาพร้อมกับอากาศร้อนคือโรคผิวหนังคือปกติแล้ว เรามักจะคิดว่า โรคผิวหนังส่วนใหญ่จะต้องมาพร้อมกับหน้าฝน อากาศชื้นๆ อะไรแบบนี้ใช่มั้ย แต่อากาศร้อนก็ทำให้เกิดโรคผิวหนังได้ด้วยเช่นกัน วันนี้เรามี5 โรคผิวหนังที่มาพร้อมกับหน้าร้อนคนที่ผิวแพ้ง่ายดูเอาไว้จะมีโรคผิวหนังแบบไหนบ้าง ที่มาพร้อมกับอากาศร้อนๆ แบบนี้บ้าง เราไปดูพร้อมๆ กันเลยดีกว่า

1. ผดร้อน

ผดร้อน จะมีอาการคันและมีตุ่นเล็กๆ ขึ้นตามร่างกาย จริงๆ แล้วก็เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปของผดร้อน ส่วนใหญ่มักจะขึ้นบริเวณใต้ร่มผ้า หรือบริเวณใบหน้า คอ หลัง อก และต้นขา ซึ่งผดร้อนนั้น เกิดขึ้นได้หลายแบบ มีทั้งตุ่มน้ำใส ผดแดง ตุ่มนูนสีเนื้อ และตุ่มเป็นหนองจากการอักเสบติดเชื้อสาเหตุที่ทำให้เกิดผดร้อน คือ เหงื่อ ซึ่งแน่นอนว่ามักจะมาพร้อมกับอากาศที่มันร้อนอบอ้าว นอกจากนี้ ยังสามารถเกิดได้จากการใส่เสื้อผ้าที่ไม่เข้ากับสภาพอากาศ การทำกิจกรรมที่ใช้แรง เหงื่อออกมากเกินไป ภาวะอ้วน หรือแม้แต่ต่อมเหงื่อพัฒนาไม่สมบูรณ์ ก็สามารถกิดได้เช่นกันซึ่งโดยปกติแล้ว อาการมักหายไปเองเมื่ออากาศเย็นลง แต่ถ้าใครที่เป็นแล้ว ผดไม่ยอมหาย ยังคันและเจ็บปวดอย่างต่อเนื่องเกิน 2-3 วัน หรือมีอาการอื่นๆ แทรกซ้อน เช่น มีไข้ ติดเชื้อ ผดมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป เจ็บปวดเพิ่มขึ้น และอื่นๆ เราแนะนำให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษานะคะ

2. โรคเกลื้อน

โรคเกลื้อน เป็นอีกหนึ่งโรค ที่พูดเลยว่าไม่มีใครไม่รู้จักจริงๆ ลักษณะของโรคเกลื้อน สังเกตได้ง่ายๆ เลยค่ะ จะมีดวงขึ้นเป็นสีขาว ชมพู แดง หรือน้ำตาล โดยจะมีสีเข้มหรืออ่อนกว่าผิวหนังปกติบริเวณรอบ ทั้งยังอาจขึ้นเป็นดวงเดียวหรือหลายดวงก็ได้ แถมยังขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย แต่ส่วนใหญ่มักจะพบบริเวณลำตัว คอ ต้นแขน และหลัง ดวงเกลื้อนอาจจางลงหรือหายไปเมื่อสภาพอากาศเย็น หรืออาการอาจแย่ลงหากอากาศร้อนหรือชื้น นอกจากนี้เขายังอาจส่งผลให้ผิวแห้ง ตกสะเก็ด หรือคันได้ บางคนที่เป็นโรคนี้ ผิวหนังอาจไม่ได้แสดงการเปลี่ยนแปลงลักษณะหรือสีอย่างเห็นได้ชัด เพราะงั้นก็ต้องคอยสังเกตดูให้ดีๆ นะสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ จริงๆ แล้วคนเราส่วนใหญ่จะมีเชื้อราชนิดนี้อยู่แล้ว แต่จะส่งผลให้ติดเชื้อก็ต่อเมื่อมีมากกว่าปกติ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เชื้อรานี้เติบโตขึ้นก็ยังไม่แน่ชัด แต่เป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดจากอากาศร้อนและชื้น ผิวมัน มีเหงื่อออกมากเกินไป รวมไปถึงระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอด้วย แต่หลายๆ คนมักจะเข้าใจผิดว่า การเป็นเกลื้อน เกิดจากสกปรกรึเปล่า ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ใช่นะคะ โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกเพศทุกวัยเลย เพียงแต่จะพบได้บ่อยในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นเท่านั้นเอง และจะไม่แพร่ไปสู่ผู้อื่นด้วยซึ่งโดยทั่วไปแล้ว โรคนี้สามารถรักษาให้หายด้วยยาต้านเชื้อรา ที่อาจอยู่ในรูปแบบแชมพู ครีม หรือยารับประทานก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์นะคะ

3. โรคผิวไหม้แดด

ผิวไหม้แดดคือ ภาวะของผิวที่เกิดการอักเสบ แดง และแสบร้อน จากการรับรังสี UV ที่มากและนานเกินไป ซึ่งอาการไหม้แดดสามารถเกิดขึ้นบนผิวหนังทั่วไปและบริเวณร่างกายที่โดนรังสียูวีได้ เช่น หนังศีรษะ ริมฝีปาก ดวงตา เป็นต้น อาการของผิวไหม้แดดมักจะเกิดขึ้นหลังจากโดนแดดไปประมาณ 2 - 6 ชั่วโมง โดยจะมีอาการแสบร้อนตามผิวหนัง ผิวเริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดง หลังจากนั้นประมาณ 24 ชั่วโมง ผิวที่ไหม้แดดจะเริ่มเกิดอาการอื่นๆ ตามระดับความรุนแรงของแต่ละคน เช่น เจ็บ แสบ ปวด เป็นต้นสาเหตุเกิดจากรังสียูวีทั้งจากธรรมชาติและรังสียูวีเทียม รวมไปถึงเตียงอบผิวแทนหรือหลอดไฟยูวี พื้นผิวต่างๆ อย่างทรายหรือน้ำ ก็สามารถสะท้อนรังสียูวีมาสู่ร่างกายได้เช่นกัน ทำให้ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศหนาวหรือร้อนก็อาจเกิดผิวไหม้แดดได้นั่นเองค่ะโดยปกติแล้วหากเพื่อนๆ เป็นผิวไหม้แดดในระดับไม่รุนแรง อาการจะหายได้เองตามธรรมชาติ โดยผิวชั้นบนจะเริ่มลอกออกในช่วง 2 - 3 วันหลังการไหม้แดดหรืออาจนานกว่านั้น ก็แล้วแต่คนเนอะ หลังจากนั้นก็จะเกิดผิวใหม่ขึ้นมาที่อาจจะมีสีที่ไม่สม่ำเสมอ แต่จะดีขึ้นได้เองเมื่อเวลาผ่านไป  อย่างไรก็ตาม ควรไปพบแพทย์หากอาการผิวไหม้แดดไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงใน 2 - 3 วัน เช่น ผิวเริ่มบวมมากขึ้น แผลพุพองเพิ่มขึ้นทั่วร่างกาย หรือมีอาการติดเชื้อจากตุ่มแผลที่แตก ส่งผลให้มีอาการเจ็บ มีหนองและรอยแดงกระจายบริเวณรอบๆ แผล อย่านิ่งเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะมันอาจจะส่งผลร้ายแรงตามมาได้นะ

4. โรคกลาก

พูดถึงโรคเกลื้อนไปแล้ว จะไม่มีโรคกลากตามมาได้ไงคะ โรคกลากเป็นโรคติดเชื้อราบนผิวหนังที่ปรากฏเป็นวงแดงหรือขุยสีขาว และอาจมีอาการอักเสบคล้ายผื่นแดงร่วมด้วยได้ ซึ่งกลากสามารถเกิดขึ้นได้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตั้งแต่หนังศีรษะ ใบหน้า มือ เท้า เล็บ และขาหนีบ โดยพบได้ทุกเพศทุกวัยเลย แต่ส่วนใหญ่จะพบมากและบ่อยในเด็ก อาการของโรคกลากนั่น หลังติดเชื้อราโรคกลากมาแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการของโรคกลาก ซึ่งในแต่ละตำแหน่งของร่างกายจะมีชื่อเรียกและอาการที่แตกต่างกันไป

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ก็เพราะว่า โรคกลากเกิดจากเชื้อราที่ผิวหนัง ซึ่งราเหล่านี้จะอาศัยอยู่บนชั้นเนื้อเยื่อโปรตีนเคราตินบนผิวหนังที่ตายแล้วเท่านั้น แต่มักจะไม่เข้าสู่ร่างกายหรือเยื่อบุผิวอย่างปากหรือจมูก ซึ่งได้แก่ ผิวหนังชั้นนอกสุด เล็บ และเส้นผม แล้วก่อให้เกิดโรคขึ้นมา แต่ว่าเขาจะแตกต่างจากเกลื้อนนะ กลากสามารถติดต่อได้ง่ายจากการสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคกลากโดยตรง หรือจากการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วยนั่นเองการรักษาโรคนี้ โดยปกติแล้วแพทย์อาจสั่งจ่ายยาตามความรุนแรงของการติดเชื้อของผู้ป่วย หรือถ้าเพื่อนๆ พบว่าอาการไม่ได้รุนแรงมาก จะใช้ยาที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยาก็ได้ การใช้ยาทารักษาอาจต้องใช้ระยะเวลานาน 2-4 สัปดาห์ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าฆ่าเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคได้หมด และลดการเสี่ยงกลับไปติดเชื้ออีกครั้ง นอกจากนี้ การรักษาสุขอนามัยก็เป็นสิ่งสำคัญนะ โอเค! โรคเกลื้อนไม่เกี่ยวกับความสกปรก แต่โรคกลากนั้น ใช่เต็มๆ เพราะงั้นการดูแลรักษาความสะอาด เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เช่นกันนะคะ

5. โรคภูมิแพ้ผิวหนัง

และโรคสุดท้ายที่เราหยิบมาแนะนำในวันนี้ โรคภูมิแพ้ผิวหนัง โรคนี้มักเกิดร่วมกับโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด แพ้อากาศ สาเหตุโรคไม่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากพันธุกรรม อาการของโรคที่สามารถสังเกตุได้คือ มีอาการผื่นแดง ผิวแห้งเป็นขุย มีอาการคันยุบยิบ เดี๋ยวเป็น เดี๋ยวหาย ยิ่งเวลามีเหงื่อออกมากๆ ยิ่งคันมากขึ้น คนที่เป็นภูมิแพ้ผิวหนังมักมีผิวแห้ง มีอาการคันง่าย จึงมักเกาจนเป็นแผลที่ผิวหนัง ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย หากติดเชื้ออาการก็จะยิ่งหนักขึ้น ถ้าติดเชื้อแบคทีเรียจะเป็นตุ่มหนอง หากติดเชื้อไวรัสจะเป็นหูด ในเด็กมักพบเป็นหูดข้าวสุก ซึ่งเชื้อเหล่านี้สามรถติดต่อได้จากการสัมผัสหรือใช้สิ่งของร่วมกันด้วยนะนอกจากติดจากทางพันธุกรรมแล้ว ปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญคือ สิ่งแวดล้อม เช่น อาหาร ไรฝุ่น สารก่อการระคาย หรือสารก่อภูมิแพ้ เพราะผิวหนังของผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไวต่อสภาพแวดล้อมรอบตัวมาก ทั้งนี้ยังรวมไปถึงสภาพทางกายภาพ เช่น ภาวะอากาศร้อนเกินไป เย็นเกินไป แห้ง ชื้น สารเคมีที่ระคายผิวหนังและสิ่งมีชีวิตต่างๆ เช่น แมลง เชื้อโรค ก็สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกันการรักษาขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค มีตั้งแต่การใช้ยา ทั้งการกินและฉีด การประคบแผล ฉายแสง ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาที่ถูกวิธีและตรงจุดจะดีที่สุดนะคะ

ลองสังเกตตัวเองดูว่า เอ๊ะ! ผิวของเราหลังออกแดดเนี่ย มีอะไรผิดปกติมั้ย ในเบื้องต้น อาจจะไม่อะไร แต่ถ้าลองดูแล ลองพยายามรักษาและป้องกันแล้ว ดูเหมือนไม่มีอะไรดีขึ้น แนะนำให้ไปพบคุณหมอนะคะ จะได้รักษากันได้อย่างตรงจุดเนอะ อย่ามองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ นะ โรคผิวหนัง ก็เป็นเรื่องใหญ่ได้เหมือนกันนะคุณ!สำหรับวันนี้ต้องลาไปก่อนแล้ว บ๊ายบาย

เว็ปไซต์นี้ใช้คุกกี้

SistaCafe ให้ความสำคัญต่อข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้โดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ แสดงว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา และ นโยบายการใช้คุกกี้