ธรรมชาติของผู้หญิงอย่างเรา แม้จะไม่ใช่คนรักสวยรักงาม แต่งหน้าทำผม ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโหยหาของกิน ' รสหวาน ’ เพราะทั้งช่วยสร้างความสุข และมีกำลังใจในการใช้ชีวิตบนโลกใบนี้
จะเหนื่อย เครียด โมโหอะไรก็ตาม รถไฟฟ้าขัดข้อง เจ้านายด่า ลูกค้าผู้น่ารัก ฝุ่นควัน PM2.5 ก็ไม่หวั่น แค่ได้ละเลียดหวานอย่างไอศกรีม บิงซู ชิบูย่าโทสต์ราดน้ำผึ้งเยิ้มๆ ตบท้ายด้วยชานมไข่มุกไซส์ L เพิ่มหวาน 150% ก็แฮปปี้แล้ว
ยิ่งช่วงมีประจำเดือน อยากรสหวานก็ยิ่ง ‘ ซัดแหลก ’ โดยไม่ได้สนใจว่า น้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดเยอะมหาศาลเพียงใด!
ประกอบกับวิถีชีวิตสาวยุคใหม่ ที่แทบจะไม่ได้ขยับตัว มีรถไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ แท็กซี่อำนวยความสะดวกทุกหน้าปากซอย
กลับบ้านมาก็อยากนอนเฉยๆ ดูซีรีส์ จะไปฟิตเนสก็ขี้เกียจอีก บางทีต้องยอมรับว่า วันวันหนึ่งใช้พลังงานไม่ถึงครึ่งของสิ่งที่กินด้วยซ้ำ -___-
นานๆ เข้าก็เริ่มประสบปัญหา
' ใส่ชุดเดิมไม่ได้! ’
กระดุมปริ เริ่มมีห่วงยาง มองกระจกแล้วตกใจ แก้มออก เหนียงเริ่มโผล่ น้ำหนักพุ่งพรวด
ประกอบกับที่ทางกรมสรรพสามิตเพิ่งจัดเก็บ ‘ภาษีความหวาน’ รอบใหม่ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ทำให้เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหลายตัวแพงขึ้นอีก จึงไม่น่าแปลกใจที่สาวๆ หลายคน หันไปซบเหล่าขนม / เครื่องดื่มใส่ ‘ น้ำตาลเทียม ( sweetener ) ‘
เพื่อลดความอ้วน เพราะยังคงรสชาติหวานอร่อย ไม่จืดชืดน่าเบื่อจนทนกินต่อไม่ไหว ไม่ต้องอดหวาน แต่ให้พลังงานแค่ 0 แคลอรี่เท่านั้น!
ผู้ผลิตขนมหวาน หรือเครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาลเทียมทั้งหลาย ่ต่างก็โฆษณาว่า ผลิตภัณฑ์ของเขาไม่ต้องเจออันตรายจากน้ำตาล ที่ทั้งอ้วน เป็นสิว หน้ามีริ้วรอยก่อนวัย และอีกสารพัดโรค ( ข้อมูลจาก pobpad.com )
หากกินน้ำตาลเทียมแล้วสุขภาพจะดีขึ้น สรรพคุณขนาดนี้จะอดใจยังไงไหว แม้ราคาจะแพงเป็น 2-3 เท่าของน้ำตาลปกติก็ตาม
บางคนติดใจจนไม่กลับไปกินน้ำตาลธรรมชาติอีกเลย แต่นั่นเป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้วจริงหรือ? หรือนางฟ้าคนนี้จะกลายเป็นภัยเงียบ ตามมาแทงหลังเราอย่างเลือดเย็น ทำให้เสพติดรสหวาน ในที่สุดก็ต้องกลับไปกินน้ำตาลปกติ สุดท้ายยิ่งอ้วนกว่าเดิม?
ในฐานะที่เราเองก็เป็นสาวอวบคนหนึ่ง ที่คลุกคลีในวงการของกินผสมน้ำตาลเทียมมายาวนานหลายปี จึงอยากเอาเรื่องนี้มาลองแชร์กับสาวๆ กัน แต่ก่อนอื่นเราไปดูกันก่อนว่า น้ำตาลเทียมมันคืออะไรกันแน่?
‘น้ำตาลเทียม’ ทางเลือกของคนอยากผอม มีกี่ชนิด อะไรบ้าง?
ข้อมูลจากบทความในเว็บไซต์หมอชาวบ้าน, นิตยสารฉลาดซื้อ และ thaihealthlife.com ให้นิยามของ
น้ำตาลเทียม ( artificial sweeteners )
ไว้ว่า
เป็นวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล ถูกสังเคราะห์ขึ้นด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ ให้รสหวาน ใช้แทนน้ำตาลได้ โดยจะนิยมใช้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือคนที่ต้องควบคุมระดับอินซูลินในเลือด
ซึ่งมีหลายประเภท หลากชนิดมากๆ ตั้งแต่ค่าความหวาน 50 เท่า หรือไปจนถึง 2000-3000 เท่าของน้ำตาลทรายปกติ ซึ่งในท้องตลาดของไทย จะมีสินค้าที่ผสมสารชนิดนี้อยู่ 6 กลุ่ม ที่อย. อนุญาตให้ใช้ได้อย่างปลอดภัย แต่เราจะขอยก 2-3 ประเภทหลักที่สาวๆ น่าจะเห็นกันบ่อย ดังนี้
> แอสปาร์แตม (aspartame)ลักษณะเป็นผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น ละลายน้ำได้ดี ให้ความหวานประมาณ 200 เท่าของน้ำตาลทราย ต่างจากสารชนิดอื่นๆ เพราะมีกรดอะมิโนด้วย มีรสชาติที่หวานคล้ายน้ำตาลธรรมชาติที่สุด ไม่หวานปะแล่มติดลิ้น และสามารถย่อยสลายในระบบทางเดินอาหารได้ โดยปัจจุบันเป็นส่วนประกอบของอาหารสำเร็จรูป ขนมหวาน และเครื่องดื่มพลังงานต่ำกว่า 5000 ชนิดทั่วโลก เช่น Coke Zero, Pepsi Max และหมากฝรั่งชนิดชูการ์ฟรีข้อเสีย :สลายตัวได้ง่ายเมื่อโดนความร้อน, หากกินในปริมาณมากเกินไป สำหรับผู้มีโรคเนื่องจากความผิดปกติทางพันธุกรรม “เฟนิลคีโตนูเรีย” (Phenylketonuria-PKU) จะเกิดการสะสมของสารเคมี ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสมองได้
> ซูคราโลส (sucralose)ราคาสูงกว่าแอสปาร์แตม รสชาติใกล้เคียงน้ำตาล ไม่ขม คุณสมบัติหวานกว่าน้ำตาลทรายถึง 600 เท่า ทนต่อความร้อน จึงนำไปผสมอาหารได้หลากหลาย ไม่สะสมในร่างกาย นิยมผสมในน้ำอัดลมบางยี่ห้อ ลูกอม ขนมหวาน ชา กาแฟ ไม่ขมติดลิ้น ละลายน้ำได้ดี ไม่ทำให้ฟันผุอีกด้วย
ข้อเสีย :หากกินในปริมาณมากเกินไป จะกระทบกับระบบทางเดินอาหาร ทำให้ท้องเสียได้ และบางรายอาจมีอาการปวดหัวคล้ายไมเกรน
>สเตวิโอไซด์ / สตีเวีย Stevia ( หญ้าหวาน ) :สกัดจากพืชสมุนไพร มีคุณสมบัติหวานกว่าน้ำตาลทราย 300 เท่า ไม่ให้พลังงานและทนต่อความร้อน มักผสมในขนมหวาน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมากมาย เพราะช่วยลดความดันโลหิต ลดน้ำตาลในเลือด เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน
ข้อเสีย :ในบางรายอาจเกิดอาการท้องอืด คลื่นไส้ เวียนหัว ปวดกล้ามเนื้อตามร่างกาย
น้ำตาลเทียม : ฮีโร่ หรือศัตรูของสาวไดเอท
แม้น้ำตาลเทียมจะเหมือนฮีโร่ขี่ม้าขาว มาช่วยให้สาวๆ ลดความอ้วนได้ แต่ข้อดีก็ย่อมมาคู่กับข้อเสียเช่นกันจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารชีววิทยาและการแพทย์ของมหาวิทยาลัย Yaleในบทความของเว็บไซต์องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่ตีแผ่งานวิจัยอุตสาหกรรมอาหารของอเมริกา usrtk.org ( U.S. Right to Know ) มีการทดลองพบว่า‘ รสหวานของน้ำตาลเทียมจากน้ำตาลปกติ หรือน้ำตาลเทียม ทำให้เพิ่มความอยากอาหารมากขึ้น ทำให้กินเยอะเกินความจำเป็น เกิดภาวะ sugar dependence หรือการเสพติดน้ำตาลได้ ’นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยจากวารสารของสมาคมการแพทย์ของประเทศแคนาดา Canadian Medical Association Journal ( CMAJ )ก็เผยว่า‘ น้ำตาลเทียมไม่มีผลต่อตัวเลขน้ำหนักตัวและค่า BMI อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนและเบาหวานอีกด้วย ‘
แต่ทั้งนี้ก็ยังมีจุดอ่อนว่า งานวิจัยเหล่านี้ยังเป็นการทดลองในกลุ่มคนเพียงส่วนหนึ่ง ไม่สามารถสรุปกับคนทั้งโลกได้ ทำให้ฟันธงไม่ได้ว่า น้ำตาลเทียมหรือสารให้ความหวาน ทำลายสุขภาพหรือทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น ‘ จริงๆ ‘ หรือไม่( แม้จะมีหลักฐานหลายชิ้นมีแนวโน้มสูงว่า น้ำตาลเทียมทำให้อยากรสหวานเพิ่มขึ้นก็ตาม )
ประสบการณ์ตรงจากผู้เขียน [ บริโภคน้ำตาลเทียมต่อเนื่อง ยาวนานกว่า 10 ปี ]
ขอยกประสบการณ์ส่วนตัวจากผู้เขียนเอง ซึ่งเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่วนเวียนกับวงการ ‘ น้ำตาลเทียม ’ มาตั้งแต่เป็นวัยรุ่นอายุสิบกว่าๆ ช่วงแรกที่โค้กซีโร่ เป๊ปซี่แม็กซ์วางขายในไทย เราก็เริ่มดื่มเป็นประจำแล้ว นับเวลาถึงปัจจุบันก็ประมาณ 12-13 ปีลิ้มรสชาติมาหมดทั้งน้ำอัดลม น้ำวิตามิน ชา 0 Kcal ชานม ชาเขียวหวานน้อยใส่น้ำตาลเทียม, ขนมหวานเช่น เค้ก คุกกี้ โดนัท เยลลี่พลังงานต่ำ ( ทั้งแบบใส่น้ำตาลเทียมล้วนๆ และน้ำตาลปกติ + น้ำตาลเทียม เพื่อให้มีแคลอรี่น้อยลง ) และขนมหวานในรูปแบบอื่นๆ เรียกว่าทั้งสามสารยอดฮิต แอสปาร์แตม ซูคราโลส หญ้าหวาน เรากินมาครบ
ตัวผู้เขียนไม่ใช่คนเสพติดรสหวานขั้นหนักแบบต้องกินทุกวัน แต่ก็กินบ่อย ในหนึ่งสัปดาห์จะมีมื้อที่กินของเหล่านี้ 4-5 ครั้ง เพราะซื้อจากเซเว่นได้ง่ายและสะดวก โดยกินควบคู่กับอาหารทั่วไป ชาอู่หลง กาแฟดำ ชาเขียวไม่หวาน และออกกำลังกายตามปกติทำแบบนี้มามากกว่าสิบปี น้ำหนักมีขึ้นบ้างตามวัย 3-4 กิโลกรัม ซึ่งสำหรับเรา น้ำตาลเทียมไม่ได้ทำให้โหยน้ำตาล อยากรสหวานมากกว่าเดิมแต่อย่างใด เรามักใช้ขนมหวานหรือเครื่องดื่มเหล่านี้เป็นตัวปิดท้ายมื้ออาหาร เพื่อให้อิ่มไวขึ้น ไม่ได้อยากกินขนมหวานอื่นๆ อีกผลตรวจเลือดในการตรวจสุขภาพประจำปีล่าสุด ( 2018 ) ค่าระดับน้ำตาลในเลือดก็ปกติ ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวังด้วยซ้ำ มีไขมันในเลือดสูง ( จากกรรมพันธุ์ ) สุขภาพโดยรวมก็ปกติดี ส่วนตัวจึงคิดว่าผลวิจัยข้างต้นไม่ตรงกับทุกคนเสมอไปแต่เราเองก็อายุยังน้อย ( 26 ปี ) ไม่มีโรคประจำตัว และไลฟ์สไตล์คือออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารสุขภาพควบคู่ไปด้วย ซึ่งอาจเป็นปัจจ้ยให้น้ำตาลเทียมยังไม่ส่งผลกระทบกับร่างกาย แต่ในระยะยาวที่อายุมากขึ้น หรือเริ่มมีโรคภัยไข้เจ็บมาเยือน อาจได้รับผลกระทบที่แย่ลงก็เป็นไปได้แต่ในปัจจุบัน เราที่ทดลองกินน้ำตาลเทียมในชีวิตประจำวันมากว่าสิบปี ไม่ส่งผลอันตรายใดๆ ต่อสุขภาพของเราเลย
สรุป : เราควรกิน ‘ น้ำตาลเทียม ’ เพื่อลดความอ้วนไหม?
จนถึงทุกวันนี้ ตัวเราเองก็ยังมีสุขภาพปกติ และยังไม่มีงานวิจัยหรือข่าวใดๆ ทั้วในไทยและต่างประเทศ ที่มีคนล้มป่วยเป็นโรคร้ายแรงที่มีสาเหตุจากน้ำตาลเทียมโดยตรงเราจึงคิดว่า น้ำตาลเทียม ‘ ไม่น่ากลัว ’ ถ้าไม่กินในปริมาณมากเกินไป ( ซึ่งคนทั่วไปกินปกติ ปริมาณสารให้ความหวานก็ไม่เยอะจนกระทบสุขภาพอยู่แล้ว ) แต่ทั้งนี้ก็ไม่เห็นงานวิจัยเป็นทางการ ที่ใช้น้ำตาลเทียมอย่างเดียว ไม่กินอาหารมีประโยชน์ ไม่ออกกำลังกาย แล้วรูปร่างผอมลง น้ำหนักลดลงเช่นกันทางที่ดี หากจะลดความอ้วน ไม่ควรยึดติดกินแค่ ‘ สารให้ความหวาน ‘ เท่านั้น ควรควบคุมอาหาร และออกกำลังกายเป็นประจำควบคู่เป็นหลักและให้สารจำพวกแอสปาแตม ซูคราโลส หญ้าหวาน เป็นตัวช่วยเสริมบางเวลาเมื่อเราอยากกินหวาน ก็ไม่น่าจะมีอันตรายอะไร
ทั้งนี้! ต้องขอย้ำอีกครั้งว่าน้ำตาลเทียมเป็นสารสังเคราะห์ ไม่ใช่ของจากธรรมชาติ 100% ใครที่ระบบร่างกายไม่ปกติ หรือมีโรคประจำตัวอยู่ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนกินนะคะกินให้เป็น กินอย่างฉลาด สาวๆ ทุกคนก็มีหุ่นดีอย่างที่ต้องการได้อย่างแน่นอน :)
Mollacake
----------------------------------------------------------------------------------
Reference
[ความรู้เรื่องน้ำตาลเทียม]
https://thaihealthlife.com/%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1//https://www.doctor.or.th/article/detail/4339/https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B8%A1/https://chaladsue.com/article/516/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3-%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-144-%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B9%8C/http://www.lovefitt.com/healthy-fact/%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A5-%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%99-%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99
[ภาษีความหวาน]
https://www.marketingoops.com/news/tax-sugar/
[อันตรายจากน้ำตาล]
https://www.pobpad.com/%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A5-%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD
[อันตรายของน้ำตาลเทียม]