1. SistaCafe
  2. โรคผิวหนังหน้าหนาว รวม 7 อาการที่ควรระวังมีอะไรบ้าง พร้อมวิธีรักษาแต่ละโรค

หนาวๆ แบบนี้ มีใครบ้างล่ะที่ไม่ชอบ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในช่วงฤดูหนาว ก็คือเรื่องของสุขภาพค่ะ นอกจากโรคหวัดที่มาพร้อมกับช่วงอากาศเปลี่ยนแล้ว รู้มั้ยว่าหน้าหนาวก็ควรระวังโรคผิวหนังด้วยนะ เผื่อว่าเพื่อนๆ เสียงไม่รู้ วันนี้เราได้ทำการรวบรวมโรคผิวหนังหน้าหนาวที่ควรระวังอาการเป็นยังไง วิธีดูแลตัวเองเป็นยังไงและวิธีรักษาเป็นยังไงบอกหมดเลยวันนี้ จะมีโรคอะไรบ้าง ที่มาพร้อมกับอากาศหนาว เอาเป็นว่าเราไปเช็กดูพร้อมๆ กันเลยดีกว่า!


7 โรคผิวหนังหน้าหนาว ที่ควรระวังมีอะไรบ้าง ?

โรคผิวหนังหน้าหนาว ที่ 1. โรคสุกใสหรืออีสุกอีใส

โรคอีสุกอีใสเป็นอีกหนึ่งโรคที่ทุกคนรู้จักกันดี โรคนี้เป็นโรคที่ระบาดแพร่กระจายได้ง่าย โดยเฉพาะในโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือตามชุมชนที่อยู่อาศัยทั่วไป ส่วนใหญ่มักจะพบในเด็ก แต่ผู้ใหญ่ในช่วง 15 ปีขึ้นไป ก็มีโอกาสที่จะเป็นได้นะ โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคอีสุกอีใสนั้น จะอยู่ในกลุ่มของคนที่ไม่เคยป่วยเป็นโรคนี้ หรือไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้มาก่อนอาการของโรคอีสุกอีใสแรกเริ่มจะมีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และมีผื่นขึ้นเริ่มจากลำตัว ใบหน้า และลามไปที่แขนขา ส่วนใหญ่แล้ว ผื่นจะขึ้นบริเวณลำตัวมากกว่าแขนขา ลักษณะผื่นตอนแรกจะเป็นผื่นแดง แถมยังคันด้วย ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำอย่างรวดเร็วและตกสะเก็ด ในที่สุดสะเก็ดจะหลุดหายไปในเวลา 5-20 วันวิธีรักษาโรคอีสุกอีกใสโดยส่วนใหญ่แล้ว จะไม่ได้รุนแรงและสามารถหายเองได้ตามระยะเวลาของมัน ซึ่งการรักษาของโรคอีสุกอีใส ก็จะมีทั้งรักษาด้วยยาต้านไวรัส หรือถ้ามีไข้ขึ้นสูง ก็สามารถใช้วิธีการเช็ดตัวลดไข้ และอาจจะใช้ยาลดไข้ในกลุ่มพาราเซตามอลได้ แต่ไม่ควรใช้ยากลุ่มแอสไพลิน อีกทั้งโรคอีสุกอีใสมักมาพร้อมกับความคัน ฉะนั้นแนะนำแบบเด็ดขาดเลยว่า ห้ามเกา คันก็ต้องอดทน หรือไม่งั้นแพทย์ก็อาจจะให้ยาต้านอาการคันทั้งนี้หากพบว่าคนในบ้าน หรือที่โรงเรียนมีคนป่วยเป็นโรคนี้ ควรรีบแยกตัวออกทันที เพราะอีสุกอีใสนั้นติดต่อแพร่กระจายได้ง่าย อาจจทำให้คนใกล้ชิดพลอยติดไปด้วย ที่สำคัญที่สุดคือวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ควรพาลูกๆ หลานๆ ไปฉีดกันซะ อายุ 12 ปีขึ้นไปก็สามารถฉีดได้แล้วค่ะ ต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์เท่านี้ก็พอจะป้องกันโรคอีสุกอีใสได้แล้ว

โรคที่เกี่ยวกับผิวหนัง ที่ 2. โรคงูสวัด

โรคงูสวัด

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกันกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใสนั่นเองค่ะ โดยโรคงูสวัดจะแสดงอาการออกมาเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ ลักษณะของโรคงูสวัดนั้นแตกต่างจากโรคอีสุกอีใสนะคะ โดยลักษณะของผื่น หรือตุ่มจะขึ้นพาดเป็นแนวยาว ไม่กระจายตัวไปทั่วร่างกายเหมือนผู้ป่วยโรคอีสุกอีใส ซึ่งผื่นจะขึ้นเฉพาะตามแนวของเส้นประสาทที่ไวรัสซ่อนตัวอยู่ โดยจะเริ่มจากการเกิดผื่นแดงก่อน แล้วจึงเกิดเป็นตุ่มนูน ใส บวม แล้วจึงจะแตก และตกสะเก็ดไปในที่สุด โดยส่วนใหญ่แล้วผื่นมักจะขึ้นในบริเวณรอบเอว หรือแนวชายโครง บริเวณหลัง บริเวณด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้า และดวงตา เป็นอีกหนึ่งโรคที่ต้องคอยระมัดระวังเลย



อาการของโรคงูสวัด

แรกเริ่มจะมีอาการคัน ปวดแสบ ปวดร้อนบริเวณผิวหนัง ประมาณ 1-3 วัน ก่อนที่จะมีผื่นสีแดงขึ้นบริเวณที่ปวด ซึ่งผื่นสีแดงจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสเป็นแนวยาว มักเรียงตัวกันเป็นกลุ่มหรือตามแนวเส้นประสาท ไม่กระจายตัวทั่วไป เหมือนตุ่มในผู้ป่วยโรคอีสุกอีใส ทั้งนี้ผู้ป่วยมักจะ รู้สึกเจ็บแม้เพียงสัมผัสเล็กน้อย ต่อมาผื่นจะแตกออกเป็นแผล ตกสะเก็ด และหลุดออกจากผิวหนังใน 7-10 วัน แต่ถึงแม้ว่าผื่นหายไปแล้ว ก็ยังมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลงเหลืออยู่ได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการงูสวัดแบบหลบใน โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบ ปวดร้อนตามแนวเส้นประสาท แต่กลับไม่มีผื่นขึ้น หากพบอาการดังนี้ ให้ผู้ป่วยรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรคเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วน



วิธีการรักษาโรคงูสวัด

โดยปกติแล้ว หากปรากฎผื่นของโรคงูสวัดน้อยกว่า 3 วัน แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสภายใน 48-72 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ เพื่อช่วยลดการอักเสบ อาการเจ็บปวด และช่วยให้ผื่นคันยุบตัวและหายเร็วขึ้น รวมถึงช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากโรคและลดโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวเนื่องด้วยโรคงูสวัดได้ด้วย



นอกจากนี้ โรคงูสวัดยังเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้โดยการรับการฉีดวัคซีนโรคงูสวัดเพื่อลดโอกาสการเกิดโรคได้ด้วย

ในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปที่เคยป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโรคงูสวัดเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสไปก่อให้เกิดโรคงูสวัดได้ในอนาคต

นั่นเอง



โรคควรระวังหน้าหนาวที่ 3. โรคเริม

โรคเริม

อีกหนึ่งโรคที่ไม่ได้น่ากลัว แต่เป็นแล้วทั้งรำคาญ และไม่น่ามอง เริม เป็นโรคติดต่อทางผิวหนังหรือทางเพศสัมพันธ์ผ่านการสัมผัสกับเชื้อไวรัส HSV-1 หรือ HSV-2 ที่ทำให้เกิดเริมที่ปาก หรือเริมที่อวัยวะเพศ ซึ่งสาเหตุเกิดขึ้นได้ทั้งการจูบ การหอมแก้ม การสัมผัสกับผิวหนังใกล้กับบริเวณปากของผู้ที่เป็นโรคเริม การใช้ภาชนะ หรือสิ่งของร่วมกันกับผู้ติดเชื้อ แม้แต่การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย!



อาการของโรคเริม

แรกเริ่มจะมีอาการคันยุบยิบบริเวณที่ติดเชื้อ จากนั้นจะเกิดตุ่มน้ำพองใส อักเสบ และเจ็บแสบบนฐานของผื่นบวมแดงที่รวมกลุ่มกันบนผิวหนัง โดยมีอาการประมาณ 2-3 วันจนถึง 1-2 สัปดาห์ แถมโรคนี้ยังสามารถถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ผ่านการสัมผัส ฉะนั้นระมักระวังกันหน่อยก็ดีนะ ทั้งนี้หลังมน้ำพองใสแตกออก จะมีเลือดซึมออกมา และตกสะเก็ดในที่สุด



นอกจากนี้ โรคเริมยังสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ภายใน 7 วัน หลังจากการเป็นครั้งแรก โดยความรุนแรงของอาการจะน้อยกว่าและหายเร็วกว่าครั้งแรกทั้งจำนวนของตุ่มน้ำพองใส อาการคัน หรืออาการแสบร้อน ซึ่งสาเหตุก็มาจากภูมิคุ้มกันต่ำ นอนน้อย ความเครียด และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย



วิธีการรักษาโรคเริม

ว่ากันว่าริมเป็นโรคติดเชื้อที่รักษาได้แต่ไม่หายขาด ผู้ที่เคยเป็นเริมแล้วสามารถกลับมาเป็นโรคซ้ำเมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายลดต่ำ ซึ่งถ้าเราไปหาแพทย์ แล้วแพทย์วินิจฉัยออกมาได้แล้ว ส่วนใหญ่ก็จะรักษาด้วยยาต้านไวรัส รวมไปถึงยาระงับความเจ็บปวดชนิดรับประทาน ยาต้านการอักเสบ และยาแก้ปวด ถ้าไม่อยากเป็นโรคนี้ สิ่งแรกที่ต้องเริ่มคือ เริ่มจากตัวเอง

วิธีการป้องกันโรคเริมที่ดีที่สุดคือ การลด ละ เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการเป็นพาหะนำโรคสู่บุคคลอื่น

รวมไปถึง

กินอาหารที่มีประโยชน์ อาบน้ำทำความสะอาด ออกกำลังกาย และนอนให้พอ เพื่อรักษาระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรงคงที่ และช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสเริม

ได้ค่ะ



โรคผิวหนังควรระวังฤดูหนาว ที่ 4. โรคหัด

โรคหัด

เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจและสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว คนกลุ่มแรกที่มักจะเป็นโรคนี้คือ เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค หากติดเชื้อจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตได้มากที่สุด ถัดมาคือกลุ่มของหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้รับวัคซีน หากได้รับเชื้อมีโอกาสแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้ อีกกลุ่มที่เสี่ยงคือผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ที่ขาดสารอาหาร อาการป่วยจะรุนแรงและอันตรายกว่าผู้ที่ร่างกายแข็งแรง



อาการของโรคหัด

แรกเริ่มมักจะมีอาการไข้สูงและมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีน้ำมูก ไอ ตาแดง และจะพบจุดสีเทาขาวบริเวณกระพุ้งแก้มตรงข้ามกับฟันกรามซี่ใน โดยจะขึ้นในช่วง 2-3 วัน ที่เป็นโรค แล้วหลังจากนั้นก็หายไป นอกจากนี้ยังมีผื่นเป็นปื้นสีแดงซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคหัดขึ้น หลังจากเป็นไข้แล้ว 3-4 วัน โดยผื่นจะขึ้นจากบริเวณไรผม มาที่หน้า ลำตัว แขน และลงมาที่ขา แต่เมื่อใดที่ผื่นเหล่านี้ลงมาถึงบริเวณเท้าแล้วไข้ก็จะหายไป



วิธีการรักษาโรคหัด

ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง เพียงแค่รักษาตามอาการเท่านั้น ทั้งนี้คนที่ป่วยเป็นโรคหัด ไม่ควรออกไปตามสถานที่สาธารณะ เพราะอาการแพร่เชื้อแก่ผู้อื่นได้นั่นเอง



การป้องกันโรคหัดสามารถทำได้ด้วยการฉีดวัคซีนค่ะ

สำหรับเด็กโดยทั่วไปจะได้รับวัคซีน 2 เข็ม เป็นวัคซีนรวมโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม เข็มแรกจะฉีดตอนอายุ 9-12 เดือน เข็มที่สองจะฉีดตอนอายุ 2 ขวบ - 2 ขวบครึ่ง

ส่วน

ผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน สามารถรับวัคซีนได้ 2 เข็ม โดยเว้นช่วงการรับวัคซีนแต่ละรอบให้ห่างกันอย่างน้อย 28 วัน

ทั้งนี้หลังได้รับวัคซีนแล้ว อาจมีผลค้างเคียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ หรือมีอาการผื่นขึ้นคล้ายผื่นโรคหัดและหายไปเอง เพราะงั้นไม่ต้องตกใจนะ



โรคผิวหนังหน้าหนาวที่ 5. โรคหัดเยอรมัน

โรคหัดเยอรมัน

เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส โดยส่วนใหญ่แล้ว คนที่เป็นโรคนี้มักจะแสดงอาการเพียงเล็กน้อยหรือบางรายจะไม่แสดงอาการของโรคเลย ทั้งนี้โรคหัดเยอรมันยังส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่มีความรุนแรงต่อทารกในครรภ์อีกด้วย ถ้าเทียบกันระหว่างโรคหัดและโรคหัดเยอรมัน จริงๆ มันคนละโรคนะ แถมเชื้อที่ติดก็คนละตัว ทั้งนี้โรคหัดยังมีความรุนแรงมากกว่าโรคหัดเยอรมันด้วย



นอกจากนี้ โรคหัดเยอรมันเกิดจากไวรัสที่สามารส่งต่อจากคนสู่คน โดยเชื้อไข้หัดเยอรมันจะมีการแพร่เมื่อผู้ป่วยมีการไอหรือจาม คนที่ต้องระวังมากๆ คือ คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องระวังให้ดี เพราะโรคนี้สามารถส่งเชื้อหัดเยอรมันไปยังทารกในครรภ์ผ่านทางกระแสเลือดได้นะ แถมยังอันตรายด้วยนะคะ



อาการของโรคหัดเยอรมัน

ส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่แสดงอาการ และแทบจะไม่ปรากฏอาการโดยเฉพาะกับเด็ก โดยโรคนี้จะมีอาการปรากฏขึ้นระหว่างสองถึงสามสัปดาห์หลังจากที่ผู้ป่วยมีการสัมผัสกับไวรัส โดยจะมีไข้ต่ำประมาณ 38.9 เซลเซียสหรือต่ำกว่านั้น มีอาการปวดศีรษะ น้ำมูกไหล ตาแดงและอักเสบ พบว่าต่อมน้ำเหลืองเกิดการโตขึ้น บริเวณที่ต่อมน้ำเหลืองโตจะมีลักษณะพื้นผิวที่นิ่ม และมักจะพบได้ที่บริเวณด้านหลังของกะโหลกศรีษะ หลังคอ หรือด้านหลังหู ผื่นสีชมพูจะเริ่มปรากฏที่ใบหน้าและจะเริ่มกระจายไปที่ลำตัว แขนและขา ตามลำดับ รวมไปถึงอาการปวดข้อที่มักจะพบได้บ่อยกับวัยรุ่นผู้หญิงด้วย



วิธีการรักษาโรคหัดเยอรมัน

ว่ากันว่าโรคหัดเยอรมันไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอาการ อาจจะเพราะอาการไม่รุนแรง แต่แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยทำการแยกตัวเองออกจากผู้อื่นในช่วงระยะแพร่เชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกำลังตั้งครรภ์



โรคควรระวังในหน้าหนาวที่ 6. โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

โรคภูมิแพ้ผิวหนัง

เป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม เช่น ภาวะ Filaggrin mutation และสาเหตุจากปัจจัยภายนอก เช่น อากาศแห้ง สารเคมีที่ทำให้เกิดการระคายเคือง ,อาบน้ำอุ่น ,ไรฝุ่น ,ความเครียด ,เหงื่อ ,อาหารบางชนิด เช่น นม ไข่ ก็สามารถทำให้ภูมิแพ้ผิวหนังมีอาการกำเริบ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากที่ผู้ป่วยมีอาการแพ้ แต่เกิดจากการที่ผู้ป่วยมีความไวต่อสภาวะเหล่านั้น ทำให้ผื่นเห่อและเป็นเรื้อรังขึ้นมา



อาการของโรคภูมิแพ้ผิวหนัง

จะมีอาการผื่นผิวหนังอักเสบ ,แดง ,แห้ง ,บริเวณคอ ,ซอกพับ ,ด้านในแขนและขา มีอาการเรื้อรังเป็นๆ หาย ๆ ซึ่งลักษณะของผื้นที่พบได้ มักเป็นตุ่มหรือผื่นแดง และอาจพบเป็นตุ่มน้ำใส แตกเป็นแผลมีน้ำเหลืองไหลได้ นอกจากนี้ ยังมีอาการคันมาก หากเป็นแบบเรื้อรัง ผื่นจะมีความหนาแข็ง เป็นขุย ทั้งนี้ยังมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยอีก ไม่ว่าจะเป็นผื่นผิวหนังอักเสบที่เปลือกตา ปากแห้ง เส้นรอยพับที่คอเห็นชัดขึ้น ขนคุด ผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณมือเท้า ผิวแห้งคล้ายเกล็ดปลา เส้นลายมือชัด เป็นต้น



วิธีการรักษาโรคภูมิแพ้ผิวหนัง

การรักษาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งการรักษาเบื้องต้น จะเป็นการใช้ยาทาประเภทคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่เลือกความเข้มข้นเหมาะสมต่ออายุผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยเด็กจะมีผิวที่บางกว่าผู้ใหญ่ รวมถึงต้องพิจารณาจากตำแหน่งและรอยโรคของผื่นด้วย ทั้งนี้ยังมีต้องใช้ Moisturizer ควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากผิวที่แห้ง แพ้ได้ง่าย ควรเสริมความแข็งแรงให้กับผิวเพื่อลดการกลับเป็นซ้ำนั่นเอง แต่ถ้าหากใครที่มีอาการติดเชื้อร่วมด้วย แพทย์ก็จะพิจารณาให้ใช้ยาฆ่าเชื้อปฏิชีวนะร่วมไปอีก ทั้งนี้ก็ควรไปตรวจอาการดู จะได้รู้ว่าควรรักษาไปในทิศทางไหนนะคะ



โรคผื่นที่เกิดขึ่นหน้าหนาว ที่ 7. โรคผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณผิวมัน

โรคผื่นอักเสบบริเวณผิวมัน

โรคผิวหนังอักเสบแบบนี้ชอบเกิดบริเวณกลางใบหน้า หลายๆ คนอาจจะกำลังงง เพราะปกติแล้วผิวที่อักเสบง่ายมักจะเป็นบริเวณผิวที่แห้ง แล้วทำไมโรคนี้ถึงเกิดที่ผิวมันได้ มีการศึกษาที่ค้นพบว่า ผิวบริเวณดังกล่าวจะแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ ทำให้เซลล์ผิวหนังที่ยังไม่เจริญเต็มที่ เคลื่อนตัวขึ้นมาชั้นบนของผิวหนังเร็วเกินไป เซลล์ที่ยังไม่แข็งแรงเหล่านี้จะไวต่อการรบกวนต่างๆ ทำให้เกิดการ บวมแดง เห่อ อักเสบ และหลุดลอกเป็นขุยได้ง่ายนั่นเอง



อาการของโรคผื่นอักเสบบริเวณผิวมัน

มักจะเกิดขึ้นในบริเวณที่มีความมันมาก ถ้าเป็นแบบน้อยๆ หรือเพิ่มเริ่มเป็น จะมีลักษณะเป็นขุยลอกเป็นหย่อมๆ แต่ถ้าเป็นหนักหน่อย จะมีอาการคันมากและเป็นผื่นแดงกว้างขึ้น มีขุยหนา ลอกเป็นสะเก็ด ซึ่งบริเวณที่ชอบเป็นบ่อยได้แก่ เหนือคิ้ว หัวคิ้ว ข้างจมูก ซอกจมูก ถ้าเป็นมากอาจลามไปขึ้นตามไรผม จอน หลังหู ต้นคอ และลงไปเกิดที่หน้าอกและหลังได้ด้วย



วิธีรักษาผื่นอักเสบบริเวณผิวมัน

โดยปกติแพทย์จะใช้ยาทาที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ โดยให้ใช้ติดต่อกันประมาณ 3-4 วัน เพื่อให้เกิดการอักเสบที่เป็นผื่นแดง และคันยุบลง ทั้งนี้ก็อาจจะมีการใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์



วิธีการดูแลตัวเองหากเป็นไม่ยากค่ะ อย่างแรกคือ หลีกเลี่ยงสิ่งรบกวนต่างๆ จากภายนอก เช่น สบู่ที่เป็นด่าง ฟองจากโฟมและครีมล้างหน้า เครื่องสำอาง ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ แสงแดด ความร้อน ถ้าจะให้ดี เวลาล้างหน้า ใช้น้ำเปล่า หรือสบู่ที่อ่อนโยนมากๆ แทนดีกว่า นอกจากนี้ ควรใช้ครีมกันแดดร่วมกับ MOISTURIZER เพื่อป้องกันการรบกวนจากรังสีในแสงแดด และให้ผิวชุ่มชื้น ไม่แห้งกร้าน และระคายเคือง



นอกจากจะต้องระวังโรคภัยไข้เจ็บ โรคหวัดใดๆ แล้วโรคผิวหนังหน้าหนาวก็ต้องระวังด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าพิษภัยจากอากาศหนาวจริงๆ เพราะฉะนั้นหมั่นดูแลสุขภาพกันอย่างรอบด้านด้วยนะคะ ไม่ป่วย ไม่เจ็บ เป็นเรื่องที่ดีที่สุดแล้วค่ะ ส่วนเพื่อนๆ คนไหนที่รู้ตัวว่าป่วยง่าย แนะนำให้หาวิธีเสริมภูมิคุ้มกันจากเว็บไซต์https://sistacafe.com/เตรียมตัวเอาไว้ในช่วงที่ลมหนาวกำลังมา!


สำหรับวันนี้ต้องลาไปก่อนแล้ว บ๊ายบาย


บทความแนะนำที่เกี่ยวข้อง

เว็ปไซต์นี้ใช้คุกกี้

SistaCafe ให้ความสำคัญต่อข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้โดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ แสดงว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา และ นโยบายการใช้คุกกี้