1. SistaCafe
  2. โรคลำไส้แปรปรวน อาการนี้กำลังจะบ่งบอกอะไรกับเรา ?

สังเกตอาการตัวเองว่าพบอาการเหล่านี้หรือไม่!? มีอาการท้องเสีย ท้องผูก ท้องอืด แน่นท้อง มีลมในท้อง รู้สึกถ่ายไม่หยุด หรือขับถ่ายยากรู้สึกว่าต้องเบ่งตลอดเวลา ใครที่กำลังเผชิญอาการเหล่านี้อยู่ต้องรีบแก้ไข เพราะอาจจะเข้าข่าย โรคลำไส้แปรปรวน ที่สามารถพบเจอได้กับทุกคน และซึ่งอาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นง่ายมากเพราะด้วยพฤติกรรมบางอย่างที่เกิดจากการที่เราทำเป็นประจำ หรือมีสาเหตุอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ฉะนั้นเพื่อให้เราหลีกเลี่ยงจากโรคนี้มาดูถึงสาเหตุโรคลำไส้แปรปรวน อาการนี่กำลังบอกอะไรเรา


✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿


โรคลำไส้แปรปรวน คืออะไร ?

โรคลำไส้แปรปรวน เป็นภาวะการทำงานของลำไส้ที่ผิดปกติทำให้เกิดอาการปวดท้องร่วมกับการขับถ่ายที่เปลี่ยนไป โดยอาจเปลี่ยนที่ความถี่หรือลักษณะของอุจจาระ โรคนี้มักเรื้อรังโดยเกิดจากอาการเป็นๆ หายๆ บ่อยครั้ง แต่ไม่ใช่โรคที่รุนแรงถึงชีวิต ซึ่งโรคลำไส้แปรปรวนนั้นมักจะมีอาการปวดท้องอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ในช่วง 3 เดือน ซึ่งมักจะมีอาการปวดท้องพร้อมกับการถ่ายอุจจาระ เช่น อาการปวดท้องก่อนถ่ายอุจจาระหรือเมื่อถ่ายเสร็จแล้วก็ยังมีอาการปวดท้องอยู่ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่ปกติถ่ายวันละ 1 ครั้ง เปลี่ยนแปลงมาเป็น 2-3 วัน ค่อยถ่าย 1 ครั้งนั่นเอง


สาเหตุที่เกิดโรคลำไส้แปรปรวน

ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้ถึงสาเหตุของโรคลำไส้แปรปรวนได้อย่างแน่ชัด แต่พบว่ามีหลายปัจจัยร่วมกันที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดลำไส้แปรปรวน ได้แก่

  1. การบีบตัวของลำไส้ที่ผิดปกติ
  2. การรับรู้ของระบบทางเดินอาหารที่ไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ
  3. ปัญหาในการย่อยอาหาร
  4. การติดเชื้อในทางเดินอาหาร
  5. ปัญหาทางด้านจิตใจและอารมณ์
  6. การใช้ยาบางชนิด

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้

1. ปัจจัยส่วนบุคคล

  • พันธุกรรม แม้ว่าไม่ได้มีการถ่ายทอดที่ชัดเจนแต่พบว่าญาติของผู้ป่วยลำไส้แปรปรวนมีโอกาสเกิดลำไส้แปรปรวนได้ถึง 2-3 เท่า
  • ปัจจัยทางด้านจิตใจเป็นปัจจัยที่เป็นตัวส่งเสริมให้เกิดอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันนั้นหากมีอาการที่บ่อยจนสังเกตเห็นได้ชัดก็สามารถทำให้ผู้ที่ป่วยโรคนี้นั้นมีความวิตกกังวลและเกิดความเครียดได้
  • การเปลี่ยนแปลงของเชื้ออินทรีย์ในทางเดินอาหารของผู้ป่วยลำไส้แปรปรวนซึ่งมีชนิดและจำนวนของจุลินทรีย์ที่แตกต่างจากคนปกติ ทั้งนี้นั้นอาจมาจากความซับซ้อนทางนิเวศน์วิทยาของจุลินทรีย์ร่วมด้วย

2. ปัจจัยแวดล้อม

  • อาหารมีผลต่อการเกิดอาการในทางเดินอาหารรวมถึงการเกิดโรคลำไส้แปรปรวน โดยในผู้ป่วยบางรายต้องหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดเพราะว่าอาจอาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการมากยิ่งกว่าเดิมได้เร็วขึ้น
  • การติดเชื้อในทางเดินอาหารเพราะว่าลำไส้แปรปรวนตามหลังการติดเชื้อเป็นภาวะที่มีอาการปวดท้องและท้องเสียอย่างต่อเนื่อง ตามหลังการเกิดภาวะท้องเสียจากการติดเชื้อแบบเฉียบพลัน

โรคลำไส้แปรปรวนไม่เป็นอันตรายถึงกับชีวิต แต่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นส่วนมากและมากสุดๆ เพราะมีแนวโน้มที่จะกลับมาเป็นอีกครั้งได้อยู่ตลอดเวลาหากผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ยังคงไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงโรคนี้ได้พบอย่างแน่นอน


แบบนี้เรียกว่าเป็นโรคลำไส้แปรปรวนหรือไม่?

โรคลำไส้แปรปรวนมักจะมีการทำงานที่ผิดปกติไปของทางเดินอาหารเพียงอย่างเดียวจะไม่มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย อย่างเช่น โลหิตจาง คลำได้ก้อนในท้อง ถ่ายดำ ถ่ายเป็นเลือดสดๆ น้ำหนักลด มีไข้ มีอาการอาเจียนคลื่นไส้อย่างรุนแรงนั่นเอง ซึ่งหากใครที่เข้าพบแพทย์จะมีการทำการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดซึ่งสามารถทำให้เราสืบค้นได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งทางแพทย์ก็จะมีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเช่น การตรวจเลือด เอกซเรย์ ส่องกล้องเพื่อหาสาเหตุ


การรักษาโรคลำไส้แปรปรวน

การรักษาแบบทั่วไป

  • อาหารที่มีน้ำตาล Fructose เช่น ผลไม้ น้ำผึ้ง ไซรัปจากข้าวโพด
  • อาหารกลุ่มที่มี Lactose ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม
  • อาหารกลุ่มที่มี Fructans หรือ Inulin ได้แก่ ข้าวสาลี หัวหอม กระเทียม
  • อาหารกลุ่ม Galactans ได้แก่ อาหารจำพวกถั่วชนิดต่างๆ
  • อาหารกลุ่ม Polyols ได้แก่ สารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาลเช่น Sorbitol และ Xylitol ผลไม้ที่มีเมล็ดแข็งตรงกลางเช่น พีช พลัม เนคทารีน อะโวคาโด และเชอร์รี

Probiotics หรือที่เรียกว่าแบคทีเรียชนิดดี การเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในลำไส้แปรปรวนยังไม่ชัดเจนแต่พบว่าปัจจุบันมีการนำ Probiotics ไปใช้ในการรักษาลำไส้แปรปรวนเพราะ Probiotics นั้นมีสรรพคุณสร้างสมดุลให้กับลำไส้ ลดการอักเสบ ทำให้การขับถ่ายกลับมาเป็นปกติได้


การรักษาจำเพาะ

1. ยาลดอาการปวด

  • ยาต้านการบีบเกร็ง
  • ยาต้านอาการซึมเศร้า

2. ยาที่ออกฤทธิ์ที่ซีโรโทนินรีเซปเตอร์ หรือ 5-HT3 receptor antagonists ได้แก่ Alosetron rarmosetron และ ondansetron ช่วยลดอาการปวดท้องทำให้ขับถ่ายและลักษณะอุจจาระดีขึ้น

3. ยารักษาผู้ป่วย IBSC (กลุ่มการท้องผูก)

  • ยาที่ออกฤทธิ์ที่คลอไรด์แชนแนล คือยาที่ช่วยลดความรุนแรงของอาการ เสริมให้อุจจาระนิ่มยิ่งขึ้น ลดอาการปวดท้อง
  • ยากลุ่ม guarylate Cyclass C receptor agonist หรือ linaclotide ในผู้ป่วยลำไส้แปรปรวนชนิดท้องเสียค่อนข้างได้ผลดีแต่ยังจำหน่ายในประเทศไทย
  • ยาระบาย (laxatives) ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาระบายได้ผลไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ

วิธีหลีกเลี่ยงจากโรคลำไส้แปรปรวน

  1. ลดการรับประทานเนื้อสัตว์หรือไข่ ซึ่งเป็นโปรตีนย่อยยากควรเน้นรับประทานอาหารประเภทที่ย่อยง่าย เช่น เต้าหู้ ถั่วเหลือง และเนื้อปลา
  2. หลีกเลี่ยงการรับประทานของมันของทอดหรือเบเกอรี่ที่อุดมไปด้วยนมและเนย
  3. รับประทานอาหารผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยเส้นใย
  4. รับประทานอาหารให้ตรงเวลา ไม่ควรอดอาหาร และไม่ควรเร่งรีบรับประทาน
  5. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด ซึ่งก่อให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร
  6. ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละแปดแก้วและควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มชากาแฟและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  7. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿


สรุป

ใครที่เสี่ยงจะเป็นผู้ป่วยใน โรคลำไส้แปรปรวน นี้นั้นจะเห็นได้เลยว่ามาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตเป็นส่วนใหญ่ เพราะสิ่งเหล่านี้นั้นจะสามารถส่งผลกระทบต่อระบบเผาผลาญและระบบขับถ่ายของร่างกายเราได้อย่างตรงๆ ตั้งแต่การกินที่เห็นได้ชัดเจน เพราะถ้าเราไม่เลือกกินหรือไม่หลีกเลี่ยงอาหารบางประเภทจะทำให้เราเกิดอาการต่างๆ ขึ้น อย่าง ท้องผูกหรือท้องเสีย มีลมในท้อง อาหารปวดที่ไม่หายไปหลังขับถ่าย เป็นต้น ซึ่งหากเกิดแล้วไม่ปรับพฤติกรรมก็รักษาไม่ขาดหายแถมยังสามารถเกิดขึ้นซ้ำๆ ได้เสมอ เพราะฉะนั้นอย่างลืมดูแลสุขภาพกันให้ดีนะคะซิส


ขอบคุณรูปภาพจาก : Freepik

บทความอื่นๆ ที่แนะนำ

เว็ปไซต์นี้ใช้คุกกี้

SistaCafe ให้ความสำคัญต่อข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้โดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ แสดงว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา และ นโยบายการใช้คุกกี้