1. SistaCafe
  2. ขี้เกียจบ้างก็ได้ ไม่ใช่เรื่องผิด! ชวนทอล์กจิตวิทยาของความขี้เกียจ

สวัสดีค่าเพื่อน ๆ ชาวซิส ในบทความนี้มีเรื่องน่าสนใจมาเปิดประเด็นชวน Talk กันอีกแล้ว เพื่อน ๆ รู้มั้ยว่ามีวันที่อนุญาตให้เราขี้เกียจได้ด้วยนะ ในวันที่ 10 สิงหาคม ได้ถูกจัดตั้งให้เป็น " วันขี้เกียจสากล " ( IDODN – International Day Of Doing Nothing ) เพื่อเฉลิมฉลองการไม่ทำอะไรเลยอยู่ด้วย ซึ่งความขี้เกียจ หรือที่นักจิตวิทยาเรียกว่า ภาวะที่จิตใจมีแรงจูงใจต่ำ จนทำให้ร่างกายไม่อยากทำอะไรเลย จนหลายคนมองความขี้เกียจไปในทางลบมากกว่า

แต่การที่เราไม่โฟกัส หรือไม่จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนี่แหละพลังมหาศาล การอยู่เฉยๆ ที่เรามักจะมองว่าเป็นความขี้เกียจ แต่ความจริงอาจจะเป็นการปล่อยให้ความคิดเราได้จินตนาการอย่างอิสระ ก่อเกิดความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ขึ้นมาด้วยก็ได้ จากงานศึกษาวิจัยด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยา (neuroscience) พบว่าว่าการหยุดพักงานและปล่อยให้ใจโปร่งล่องลอยจะช่วยให้สมองสามารถเก็บข้อมูลได้ดีขึ้น เกิดความคิดใหม่ มองเห็นแง่มุมใหม่ ๆ และเห็นการเชื่อมต่อลักษณะใหม่ ๆ ของความคิดอีกด้วย บทความนี้เลยอยากชวนเพื่อน ๆ มาพูดคุยเรื่องราวความขี้เกียจในอีกมุมหนึ่ง จะเป็นยังไงลองตามไป Talk กันต่อในบทความนี้เลย


ความขี้เกียจ อธิบายตามหลักจิตวิทยาไว้ว่ายังไง?


"ความขี้เกียจ" ( Low Motivation ) ที่นักจิตวิทยาให้คำนามว่า คือ ภาวะที่จิตใจ มีแรงจูงใจต่ำ จนทำให้ร่างกายไม่อยากทำอะไร ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัยเลย อ้างอิงจาก alljit เว็บไซต์บทความของพูดคุยให้ปรึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยาโดยนักจิตวิทยาโดยตรง บอกเอาไว้ว่าความขี้เกียจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • Laziness ความเกียจคร้านแต่ไม่ได้มีการขาดแรงจูงใจอะไร
  • Apathy ความเฉยชา ไม่แยแส นักจิตวิทยานิยามอาการนี้ ว่าการขาดแรงจูงใจมีการเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้า
  • ความรู้สึกขี้เกียจเกิดได้จากการที่ยึดติดความสบาย
  • Low energy พลังงานต่ำ ไม่มีความกระตือรือร้น ขาดแรงจูงใจ ถึงแม้มีแต่สิ่งที่ต้องทำ มีเป้าหมายแต่ไม่มีแรงจูงใจ
  • Burn out ภาวะหมดไฟ

ด้วยความที่สังคมส่วนใหญ่ให้คุณค่ากับความขยันมากกว่า จนลดคุณค่าของความขี้เกียจไป จนทำให้เรารู้สึกไปเองว่าไม่ควรขี้เกียจ แต่ความจริงอาจจะต้องขอความยุติธรรมให้ความขี้เกียจสักหน่อย อยากให้เข้าใจว่าความขี้เกียจก็เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป เหมือนความรู้สึกหิว เหนื่อย และเราทุกคนมีความรู้สึกขี้เกียจได้ จากข้อมูลของนักจิตวิทยาในเว็บไซด์ Alljit ได้บอกไว้่ว่า ถ้าหากเราขี้เกียจ แต่ยังมีความรับผิดชอบหน้าที่ตัวเอง ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะรู้สึกแย่อะไรเลย ถึงแม้ว่าจะขยันแค่ไหนสุดท้ายร่างกายและจิตใจคนเรา ก็ต้องมีจุดๆ หนึ่งที่ต้องการการพักผ่อน อยากหยุดอยู่นิ่งๆ หรือนั่งพักอยู่เฉยๆ ถ้าอย่างนั้นจะดีกว่ามั้ยถ้าเราหยิบเอาความขี้เกียจมาใช้อย่างถูกวิธี เพื่อให้เกิดประโยชน์กับตัวเอง


ข้อดีของความขี้เกียจ


ช่วยให้เราจัดลำดับความสำคัญในการใช้ชีวิตได้ดี ว่ากันว่าคนขี้เกียจมักจะหาหนทางที่ง่ายและเร็วกว่า คนขี้เกียจเลยมักจะตัดหรือเลี่ยงอะไรที่ก่อให้เกิดความยุ่งยากในชีวิตออกไปได้ง่ายกว่า ทำให้ได้รู้ว่าจุดไหนสำคัญควรมาก่อน และจุดไหนที่ยุ่งยากควรทิ้งไป อย่าง ไมเคิล ลูวิส ผู้เขียนหนังสือขายดี Moneyball และ The Big Shor ยังยกเครดิตให้ความขี้เกียจของตัวเองที่ทำให้มีวันนี้ เขาได้บอกไว้ว่า “ความขี้เกียจของผมก็เหมือนฟิวเจอร์คัดกรอง บางสิ่งบางอย่างมันต้องดีมากจริง ๆ ก่อนที่ผมจะตัดสินใจใช้เวลาง่วนอยู่กับมัน” หรืออย่าง Bill Gates ก็เคยพูดไว้ว่า “I choose a lazy person to do a hard job because a lazy person will find an easy way to do it.” เขามักจะเลือกคนขี้เกียจเข้าทำงาน เพราะคนที่ขี้เกียจจะหาวิธีง่าย ๆ ในการทำงานเสมอ


ช่วยให้วางแผนในอนาคตได้ดี จากงานวิจัยหนึ่งใน PubMed ของ national institutes of health (NIH) ระบุว่า เมื่อไรก็ตามที่สมองของเราไม่ได้จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเป็นพิเศษ ช่วงเวลานั้นเราจะคิดถึงเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอนาคตมากถึง 14 ครั้งต่อวัน มากกว่าช่วงเวลาที่เราใช้สมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งทั้งวันด้วยซ้ำ นอกจากนี้เรายังวางแผนอนาคตอีกยาวไกล ( long-term goal ) ได้มากถึง 7 ครั้งต่อวัน เมื่อสมองของเราได้พักอย่างจริงจัง ดังนั้นการปล่อยให้ตัวเองได้ขี้เกียจ การได้หยุดคิดจากสิ่งที่ตั้งใจโฟกัสมาก ๆ ให้ความคิดเราล่องลอยเกิดจินตนาการ จะช่วยให้เรากลับมาคิด และวิเคราะห์ วางแผนสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


ช่วยให้มีความสร้างสรรค์นอกกรอบ มีสุภาษิตของฝรั่งเคยบอกว่า “If you want to solve a difficult problem, ask the lazy people” ถ้าคุณอยากแก้ปัญหายากๆ ลองไปถามคนขี้เกียจดู เพราะความคิดของคนขี้เกียจมักจะโลดแล่นไปเรื่อย ไม่ถูกตีกรอบ จนไปพบกับทางออกของปัญหาได้ และอย่างที่ได้บอกไปว่า การไม่โฟกัสกับสิ่ง ๆ นั่นมาก จะช่วยให้สมองของเราทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์ได้มากยิ่งขึ้น เหมือนที่เราชอบคิดอะไรเจ๋งๆ ได้ตอนอาบน้ำ ตอนขับรถ หรือตอนนั่งฟัง Podcast เรื่อยเปื่อย ฯลฯ

และเพื่อน ๆ รู้มั้ยว่าผลงานการประดิษฐ์ หรือไอเทม gadget ต่าง ๆ บางครั้งมีจุดเริ่มต้นมาจากความขี้เกียจด้วยนะ อย่าง บันไดเลื่อนที่ถูกพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี 1896 โดยผู้คิดค้น (ชื่อ Jesse Reno) คิดขึ้นมาเนื่องจากสมัยเรียนมหาวิทยาลัย Jesse ต้องปีนบันไดถึง 300 ชั้นเพื่อกลับไปยังหอพัก หรือเก้าอี้ที่สามารถปรับเอนได้ ที่ถูกพัฒนาขึ้นในปี 1928 โดยญาติสองคนเนื่องจากทั้งคู่มองว่าการต้องนั่งตรงๆ นั้นใช้พลังงานและความพยายามมากเป็นพิเศษ เลยพัฒนาและจดลิขสิทธิ์ของเก้าอี้ที่สามารถปรับเอนได้ และรีโมทรุ่นแรกของโลก ก็มีต้นกำเนิดมาจากความขี้เกียจเดินไปกดเปลี่ยนช่องจากทีวีด้วยนั่นเอง


ช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ การที่เราได้ปล่อยให้สมอง และจิตใจของตัวเองไม่โฟกัสกับอะไร ให้ความขี้เกียจได้ทำงานสักพัก เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ร่างกายและสมองได้พักผ่อนอย่างแท้จริง เมื่อเราเข้าสู่สภาวะไม่ใช้พลังงานในการคิด และประมวลผลสิ่งต่าง ๆ ร่างกายจะเริ่มเข้าสู่โหมดสะสมพลังงาน ช่วยให้เรากลับมาใช้พลังงานในการทำงาน หรือการโฟกัสกับงานอีกครั้งได้อย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย จากงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าการพักผ่อนสั้น ๆ ในที่ทำงานจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และช่วยให้งานเสร็จเร็วขึ้นด้วย อย่างผลวิจัยของนักวิจัย Jessica de Bloom ได้พบว่าการมีวันหยุดระยะสั้นและระยะยาว มีผลต่อแรงจูงในใจการทำงานเป็นอย่างมากอีกด้วย


ข้อเสียของความขี้เกียจ

ถึงแม้ว่าความขี้เกียจจะมีข้อดีในตัว แต่ในเมื่อเหรียญมี 2 ด้าน บางครั้งถ้าเกิดเราเปิดโหมดใช้ความขี้เกียจไม่ถูกวิธี อาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจของเราได้ด้วย ลองมาดูข้อเสียที่อาจจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตและร่างกายของเรากันว่ามีอะไรบ้าง


ความขี้เกียจอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ ด้วยความขี้เกียจจนทำให้เรารู้สึกเฉื่อยชา อาจทำให้ไม่ค่อยได้ขยับตัว ซึ่งสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ เพราะกล้ามเนื้อ กระดูกที่ไม่ค่อยได้เกิดการขยับจะทำให้กล้ามเนื้อแข็ง ไม่ยืดหยุ่น และไม่มีการเติบโต อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพในช่วงอายุยังน้อยได้ ด้วยความที่ร่างกายเจ็บป่วย ก็อาจจะส่งผลให้จิตใจเราป่วยตาม และความรู้สึกขี้เกียจอาจจะก่อให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นใจ เฉยชาจนไม่อยากทำอะไร จนลดคุณค่าในตัวเองลง ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมาได้ด้วย


ความขี้เกียจลดทอนความทะเยอทะยาน มีสาเหตุมาจากความขี้เกียจที่มักบอกให้เราไม่ต้องกังวล ไม่ต้องห่วงเรื่องอะไร แต่มันอาจจะกลายเป็นเราที่หลีกหนีความกังวล เริ่มผลัดวันประกันพรุ่ง และทิ้งเป้าหมายต่าง ๆ ลง จนกลายเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เราทำงานหรือใช้ชีวิตได้ตามเป้าหมายที่เราต้องการ และอาจจะส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน และการใช้ชีวิตของเราในอนาคตต่อไปได้ด้วย


ความขี้เกียจทำให้ละเลยคนรอบข้าง นอกจากความขี้เกียจจะเป็นตัวบอกให้เราหลีกหนีความกังวล ความยุ่งยากวุ่นวายต่าง ๆ และบางครั้งอาจจะทำให้เราทิ้งเป้าหมายบางอย่างไป ความขี้เกียจอาจจะทำให้เราเพิกเฉยไม่สนใจผู้คนรอบตัวในชีวิตได้ด้วย ทำให้เราขี้เกียจจนเมินเฉย ไม่สนใจที่จะใช้เวลาหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ รอบตัว และเริ่มอยากหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คน เริ่มแยกตัวออกจากคนอื่น ๆ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้อาจนำไปสู่ความรู้สึกโดดเดี่ยวและเหงาได้ และสุดท้ายอาจจะนำไปสู่ความรู้สึกที่เป็นลบต่อตัวเองได้ด้วย


ความขี้เกียจลดทอนช่วงเวลาที่มีประสิทธิภาพลง ในบางครั้งเรามักจะเอาเวลาขี้เกียจส่วนใหญ่เสียไปกับความสูญเปล่า เมื่อมีงาน มีสิ่งที่ต้องทำ หรือมีโปรเจกต์น่าสนใจที่อยากลองทำ ซึ่งถ้าหากได้ลองทำอาจจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อตัวเราเองในหลาย ๆ ด้านก็ได้ แต่เรากลับให้ความขี้เกียจเข้าครอบงำ และทำให้เราเลือกวางแผนสิ่งที่จะทำลง และเลือกที่จะปล่อยให้เวลาผ่านไปเฉย ๆ หรือผลัดสิ่งที่ต้องทำออกไปเรื่อย ๆ อาจจะทำให้คุณพลาดช่วงเวลาสำคัญที่มีค่าในชีวิตมากมายไปเลยก็ได้


วิธีเอาชนะความขี้เกียจ

ถึงแม้ว่าความขี้เกียจจะส่งผลดีต่อการใช้ชีวิต แต่ถ้าเกิดเพื่อน ๆ ไม่อยากให้ความขี้เกียจครอบงำ จนกลายเป็นคนที่เฉยชา ผลัดวันประกันพรุ่ง และอยากเอาชนะความขี้เกียจ ในช่วงเวลาที่ไม่ควร จะสลัดเอาความขี้เกียจออกไปยังไงดี ในบทความนี้เรามี " วิธีเอาชนะความขี้เกียจ " มาแบ่งกันเพื่อน ๆ กันด้วย


ตั้งเป้าหมายระยะสั้นในแต่ละวัน

บางครั้งที่เราเริ่มขี้เกียจอาจจะเป็นเพราะมีหลายเรื่องให้จัดการ จนไม่รู้ว่าในแต่ละวันเราจะต้องทำอะไรบ้าง หรืออาจจะเพราะมองเห็นว่าเป็นงานยาก เป็นงานหนักและซับซ้อน เลยทำให้กลัวว่าจะทำไม่สำเร็จ และหลีกเลี่ยงมันออกไป วิธีการแก้ปัญหานี้ง่าย ๆ ให้ลองแยกย่อยงานใหญ่ ๆ ให้เล็กลง และจักระเบียบงานยิบย่อยต่าง ๆ ให้เป็นลำดับ ตั้งเป้าหมายระยะสั้น อาจจะเป็นรายวันว่าวันนี้ต้องทำงานอะไรให้เสร็จบ้าง หรือราย Mission ว่างานต้องออกมามีคุณภาพระดับไหน แทนที่จะทำงานหนักชิ้นใหญ่ทีเดียว ลองแบ่งย่อยเป็นงานจำเป็นทีละส่วน และค่อย ๆ ทำทีละส่วนให้สำเร็จ จะทำให้รู้สึกว่างานไม่ยาก และสามารถทำสำเร็จได้ในเวลาไม่มากด้วย พอเป้าหมายเราสำเร็จได้ เราก็จะมีกำลังใจในการทำเรื่องอื่น ๆ ที่ใหญ่ต่อไปได้ด้วย แถมยังช่วยเซฟร่างกายให้พร้อมจะลุยกับทุกสิ่งที่ตามมาได้อีกด้วย



เลือกทำทีละอย่าง

อย่างที่บอกไปว่าบางครั้งอาจจะมีหลายเรื่องที่เราต้องจัดการ และเราไม่รู้ว่าต้องทำอะไรก่อน จนกลายเป็นเลือกที่จะหนีสิ่งเหล่านั้น เดินทางสายขี้เกียจและไม่ทำอะไรเลย แนะนำให้จัดลำดับความสำคัญของส่งที่จะทำ จดเป็น To do List ก็ได้ว่าวันนี้ต้องทำอะไรบ้าง และอย่างที่บอกไปว่าไม่ควรตั้งเป้าหมายที่ใหญ่และยากจนเกินไป ให้แยกย่อยเป็นงานเล็ก ๆ ที่เราสามารถทำได้เสร็จตามเวลา และค่อย ๆ ทำตามลิสต์ไปทีอย่าง จะทำให้เราโฟกัสกับสิ่งที่ทำได้ดียิ่งขึ้น และเมื่อได้ทำตามลิสต์ที่สิ่งต้องทำในแต่ละวันได้สำเร็จ จะทำให้เรามีกำลังใจอยากสิ่งอื่น ๆ ต่อไปได้มากยิ่งขึ้นด้วย



หาเวลาให้ตัวเราได้พักผ่อนอย่างเต็มที่

การอยู่ในสังคมที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องขยัน ต้อง Productive อยู่ตลอดเวลา อาจจะเป็นแรงกดดันทำให้เราเหนื่อยล้า และเริ่มขี้เกียจได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม จนเราขาดพลังงาน ไม่มี Energy ในการใช้ชีวิต ทำให้ไฟในการทำงานหรือการใช้ชีวิตค่อย ๆ ลดลง การพักผ่อนเลยเป็นอีกหนึ่งสิ่งจำเป็นที่เราควรบาลานซ์ให้ดี อาจจะพักทีละน้อยระหว่างทำงาน เพื่อให้ไม่เครียดหรือกดดันจนเกินไป หรือหาเวลาว่างพักจากงานไปทำอย่างอื่นที่ไม่ต้องคิดหรือโฟกัสกับเรื่องต่าง ๆ มากมาย การได้พักผ่อนอย่างเต็มที่จะช่วยให้ร่างกายเริ่มเข้าสู่โหมดสะสมพลังงาน ช่วยให้เรากลับมาใช้พลังงานในการทำงาน หรือการโฟกัสกับงานและการใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย



หนีจากสิ่งยั่วยุที่ทำให้สมาธิไขว้เขว

สิ่งยั่วยุทั้งหลายที่ทำให้เราหลุดโฟกัสจากสิ่งที่ทำอยู่ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเริ่มขี้เกียจได้ง่าย ๆ เลย ถ้าไม่อยากขี้เกียจเกินไปมากกว่านี้ จนทำงานไม่สำเร็จ ไม่บรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ที่ตั้งไว้ ควรจะหลีกเลี่ยงสิ่งยั่วยุเหล่านั้นไปก่อน หรือเลี่ยงโอกาสที่จะทำให้ไปเจอกับสิ่งยั่วยุเหล่านั้นเอาไว้ก่อน เพราะสิ่งเหล่านั้นจะทำให้เราเสียสมาธิได้ง่าย และสูญเสียเวลาทำงานและความขยันไป อยากให้เพื่อน ๆ โฟกัสกับสิ่งที่ต้องทำตรงหน้าก่อน แล้วค่อยหาเวลาว่างมาโฟกัสกับสิ่งอื่น ๆ ที่เราสนใจ เพื่อให้สมองและร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ด้วย



ให้รางวัลตัวเองเมื่องานสำเร็จ

การให้รางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ กับตัวเอง เพื่อเป็นแรงจูงใจในการทำสิ่งต่าง ๆ อย่างเช่น การกินขนมหรือเครื่องดื่มชื่นใจเมื่อทำงานเสร็จ หรือการใช้เวลาพักผ่อนกับสิ่งที่ทำให้เราผ่อนคลาย ดูซีรีส์ดี ๆ สักตอน เล่นเกมส์สนุก ๆ สักตา เมื่อทำงานเสร็จ หรือเป็นสิ่งของที่เราอยากได้ เมื่อเราทำบางอย่างที่ยิ่งใหญ่ได้สำเร็จ สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เราอยากทำงาน หรือทำสิ่งที่กำลังขี้เกียจให้สำเร็จ เพราะจิตใจเราจะต้องตารอเพื่อให้ได้ผ่อนคลายกับของรางวัลที่เรามอบให้ตัวเอง สิ่งนี้เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้เราก้าวข้ามความขี้เกียจ สามารถจัดการกับสิ่งตรงหน้าได้ง่ายยิ่งขึ้น และยังช่วยให้เราไม่ต้องเกิดปัญหาผัดวันประกันพรุ่งอีกด้วย



ออกไปหาโอกาสเรียนรู้โลกภายนอก เติมไฟในการใช้ชีวิต

อย่างที่บอกไปว่าสังคมที่กดดันให้เรารู้สึกว่าต้องขยัน ต้องแอคทีฟตลอดเวลา จะทำให้เรารู้สึกขี้เกียจและหมดไฟได้ง่าย ลองออกไปหาโอกาสเรียนรู้โลกภายนอก อย่างการออกไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด หรือท่องเที่ยวต่างประเทศ การได้พักผ่อนและได้เปิดหูเปิดตา ในบรรยากาศใหม่ ๆ นอกจากทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ได้รับพลังงานจากการพักผ่อนอย่างเต็มที่ การได้ออกไปเจอสิ่งใหม่ ๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยรู้จัก อาจจะเป็นการต่อยอดพัฒนาสกีลการทำงานและการใช้ชีวิต ทำให้เรามีความสร้างสรรค์และไอเดียใหม่ ๆ ให้กับชีวิตได้ด้วย



ค้นหา Idol ในการทำงานหรือการใช้ชีวิต

ว่ากันว่าการที่เรามีต้นแบบในการทำงาน หรือการใช้ชีวิตจะมีส่วนทำให้เรามีไฟในการพัฒนาตนเอง เพื่อประสบความสำเร็จเหมือนกับไอดอลของเรา ซึ่งไอดอลเหล่านั้นจะเป็นใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นคนดังระดับโลก เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน คนในครอบครัว ลองตั้งเป้าหมายหรือวางแผนอนาคตตัวเอง ว่าถ้าหากเราอยากเติบโตหรือพัฒนาความสำเร็จให้ได้เหมือนอย่างไอดอลที่เรานับถือ เราจะต้องเดินไปในเส้นทางไหน ต้องลงทุนหรือเลือกทำอะไรบ้าง เพื่อให้สำเร็จในแต่ละขั้น ไอดอลที่เรานับถือเป็นแบบอย่างนอกจากจะช่วยให้เรามีไฟในการทำงานและการใช้ชีวิต และยังเป็นกำลังใจให้เราทำสิ่งต่าง ๆ ได้สำเร็จอีกด้วย



*******************************************************


สรุป

ถึงแม้ว่าจะขี้เกียจบ้างไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่คงไม่ดีแน่ถ้าเราเปิดโหมดขี้เกียจไม่ถูกวิธี และก่อให้เกิดกระทบต่อการใช้ชีวิตของตัวเอง ลองเอาชนะความขี้เกียจเหล่านี้ดูบ้าง เปิดโหมดขี้เกียจแบบมีวินัยมี แบบแผนให้ตัวเอง วางแผนว่าเราควรทำอะไรแต่ละวัน จะทำให้เราเห็นภาพว่าเรามีเวลาช่วงไหนที่สามารถหาเวลาว่างมาขี้เกียจได้บ้าง ทบทวนกับตัวเองว่าความรู้สึกขี้เกียจเกิดขึ้นเพราะอะไร แล้วเราแก้ไขจากต้นเหตุนั้นทีละนิดและปรับให้เกิดเป็นความมีวินัยต่อการใช้ชีวิต อย่างที่บอกไปว่าความรู้สึกขี้เกียจเกิดขึ้นได้ แต่เราก็ควรมีขอบเขตให้ตัวเองทำหน้าที่ของตัวเองเช่นกัน


ขอบคุณรูปภาพจาก istock

ข้อมูลอ้างอิงจาก





บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ







เว็ปไซต์นี้ใช้คุกกี้

SistaCafe ให้ความสำคัญต่อข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้โดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ แสดงว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา และ นโยบายการใช้คุกกี้