1. SistaCafe
  2. ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เป็นยังไง? ชวนเข้าใจปัญหายอดฮิตคุณแม่มือใหม่

สวัสดีค่ะชาวซิส! มาอัปเดตความรู้เรื่องสุขภาพประจำเดือนกันดีกว่าค่ะ สำหรับเรื่องราวที่เราจะมาอัปเดตกับเพื่อน ๆ ในวันนี้จะขอเอาใจว่าที่คุณแม่ หรือเหล่าคุณแม่ที่พึ่งจะคลอดเบเบี๋กันออกมาด้วยการมาให้ความรู้เกี่ยวกับ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด กันสักหน่อยค่ะ เพราะเชื่อว่าว่าที่คุณแม่หลายคนก็อาจจะแอบกังวลกันอยู่ใช่มั้ยละคะ เพราะฉะนั้นวันนี้ลองมาทำความรู้จัก พร้อมทั้งวิธีการดูแลรักษากันหน่อยดีกว่าค่ะ


ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด คืออะไร ?

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) คือความรู้สึกซึมเศร้าและวิตกกังวลที่เกิดขึ้นหลังจากการคลอดลูก โดยปกติแล้วจะเริ่มมีอาการในช่วงอาทิตย์แรกหลังคลอดและอาจต่อเนื่องไปหลายเดือน หากไม่ได้รับการดูแลหรือรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งภาวะนี้สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและความสัมพันธ์ของแม่กับลูกได้ค่ะ


สาเหตุของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

โดยส่วนใหญ่แล้วเรามักจะได้ยินกันว่าปัญหาซึมเศร้าหลังคลอดนั้นเป็นปัญหาที่เกิดจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงของเหล่าคุณแม่ตั้งครรภ์ ซึ่งถือว่าปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด แต่นอกจากปัญหาเรื่องฮอร์โมนแล้วยังมีปัจจัยอื่น ๆ ได้อีกดังนี้ค่ะ

การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน: อย่างที่ทราบค่ะว่าผู้หญิงที่พึ่งคลอดจะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหลังคลอดอาจส่งผลต่ออารมณ์

ความเครียดและความเหนื่อยล้า: จากการดูแลลูกน้อยและการปรับตัวหลังคลอดอาจทำให้เกิดความเครียด

ประวัติสุขภาพในอดีต: ประวัติของภาวะซึมเศร้าหรือปัญหาสุขภาพจิตในอดีต

ขาดกำลังใจจากครอบครัว: คนรอบข้างอาจทำให้ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดรุนแรงขึ้น เช่น การติชมในเรื่องการเลี้ยงลูก การดูแลตัวเองหลังคลอด เป็นต้น


ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด มีกี่แบบ ?

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายอย่างรวดเร็วหลังการคลอด ซึ่งส่งผลต่อสภาพอารมณ์และจิตใจของคุณแม่ โดยทั่วไป ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้ค่ะ

1. Baby Blues

อาการ: Baby Blues เป็นภาวะที่พบได้บ่อยและมักเกิดขึ้นในช่วง 2-3 วันหลังคลอด คุณแม่จะมีอาการเศร้า วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน ร้องไห้ง่าย และรู้สึกเหนื่อยล้า อาการเหล่านี้มักจะหายไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์โดยไม่ต้องรับการรักษา

ความรุนแรง: ภาวะนี้ถือเป็นอาการที่ไม่รุนแรงและพบได้บ่อยในคุณแม่หลายคนหลังคลอด


2. Postpartum Depression (ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด)

อาการ: เป็นภาวะที่รุนแรงกว่า Baby Blues โดยอาจเริ่มมีอาการในช่วงแรกหลังคลอดหรือค่อย ๆ ปรากฏขึ้นในช่วง 1-3 เดือนหลังคลอด โดยจะมีความรู้สึกเศร้าอย่างต่อเนื่อง ความสิ้นหวัง สูญเสียความสนใจในสิ่งที่เคยชอบ มักคิดว่าไม่สามารถดูแลตนเองหรือลูกได้ มีปัญหาการนอนหลับ เบื่ออาหาร และอาจมีความคิดที่จะทำร้ายตนเองหรือลูกด้วยค่ะ

ความรุนแรง: ภาวะนี้ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิต เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของแม่และความสัมพันธ์ในครอบครัว


3. Postpartum Psychosis (ภาวะโรคจิตหลังคลอด)

อาการ: ภาวะนี้เป็นภาวะที่รุนแรงมากและพบได้น้อย อาจเกิดขึ้นภายในสัปดาห์แรกหลังคลอด คุณแม่จะมีอาการหลงผิด ประสาทหลอน ความคิดสับสน อารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรง และอาจมีพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อตนเองหรือลูก

ความรุนแรง: ภาวะนี้ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาทันทีและการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางจิตเวช



ภาพประกอบบทความ:sistacafe-assets:____%2Fc%2F202223%2Fd4500213-57aa-4880-bc0b-ac18881d44a2?v=20240817063637

อาการของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

สำหรับอาการภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจะมีลักษณะอาการที่หลายหลายมากค่ะ ซึ่งอาการของคุณแม่แต่ละคนจะแตกต่างกันออกไปค่ะ โดยอาการที่พบส่วนใหญ่จะมีดังนี้

ความรู้สึกเศร้าและหดหู่: มีความรู้สึกที่ไม่สามารถอธิบายได้ เช่น ความเศร้าและหดหู่ที่ไม่หายไป

ความวิตกกังวลและความเครียด: เนื่องจากคุณแม่ที่พึ่งคลอดอาจจะรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับการดูแลลูกหรือคิดมากไปจนถึงความสามารถในการเป็นแม่ว่ามีความพร้อมมากพอมั้ย

การเปลี่ยนแปลงในความอยากอาหาร: อาจมีการรับประทานอาหารมากเกินไปหรือน้อยเกินไป

ปัญหาการนอนหลับ: รู้สึกไม่สามารถนอนหลับได้ดีหรือมีการนอนหลับมากเกินไป

การสูญเสียความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบ: ไม่รู้สึกสนุกกับกิจกรรมที่เคยทำ

รู้สึกไร้ค่า: รู้สึกว่าตนเองไม่ดีพอหรือมีความรู้สึกผิด

ความคิดทำร้ายตนเองหรือทารก: ในกรณีที่รุนแรงมาก อาจมีความคิดทำร้ายตนเองหรือลูกน้อยได้



ภาพประกอบบทความ:sistacafe-assets:____%2Fc%2F202223%2Fd9a1bfeb-ec5e-4260-aeb2-c88de109341c?v=20240817063643

วิธีการรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

การปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ: การพูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมเป็นทางเลือกที่ถือว่าดีที่สุดค่ะโดยหากคุณแม่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่รุนแรงมาก แพทย์อาจแนะนำการใช้ยาต้านซึมเศร้าเพื่อช่วยปรับอารมณ์ค่ะ

การบำบัดด้วยการพูดคุย: การบำบัดด้วยการพูดคุย เช่น การบำบัดพฤติกรรมหรือการบำบัดความรู้สึกสามารถช่วยในการจัดการกับความรู้สึก

กำลังใจจากคนในครอบครัว : การมีการสนับสนุนจากครอบครัวและเพื่อนสามารถช่วยลดความเครียดได้ค่อนข้างดีเลยค่ะ

การดูแลสุขภาพร่างกาย: การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์สามารถช่วยปรับอารมณ์และลดความเครียดได้เช่นกัน

การป้องกันภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นการดูแลสุขภาพจิตของแม่ให้แข็งแรง เพื่อให้เหล่าคุณแม่สามารถจัดการกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตหลังคลอดได้ ดังนั้นจึงควรใช้วิธีป้องกันที่เราแนะนำอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้คุณแม่รู้สึกดีขึ้นและพร้อมสำหรับการดูลูกน้อยได้อย่างมีความสุขนั่นเองค่ะ


ทางเราเองก็ขอเป็นกำลังใจให้กับเหล่าคุณแม่นะคะ ขอให้ผ่าน ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ครั้งนี้ไปได้ และที่สำคัญกำลังใจจากคนในครอบครัวก็เป็นอะไรที่สำคัญมาก ๆ สำหรับคุณแม่มือใหม่มากเลยค่ะ หากมีคุณพ่อมือใหม่ที่ได้เข้ามาอ่านบทความนี้ก็อย่าลืมส่งกำลังใจให้กับคุณแม่มือใหม่กันด้วยนะคะ รับรองว่าถ้าคุณแม่มีกำลังใจที่ดี เบบี๋ตัวน้อยจะต้องมีความสุขมากแน่นอนค่ะ


ผู้เขียนนำภาพประกอบมาจาก Pinterest ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณทุกๆ แหล่งที่มาต้นฉบับ ณ ที่นี้


บทความที่ชาวซิสห้ามพลาด









เว็ปไซต์นี้ใช้คุกกี้

SistaCafe ให้ความสำคัญต่อข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้โดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ แสดงว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา และ นโยบายการใช้คุกกี้