ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ยุคนี้ มิจเยอะมาก ไม่ใช่มิตรภาพ แต่เป็นมิจฉาชีพค่ะสาว! เรียกได้ว่าเกลื่อนทุกแพลตฟอร์มจริงๆ พร้อมหลอก พร้อมลวงได้ตลอดเวลา เอาง่ายๆ เลย ถ้าเราไม่ทันระวังตัวนะ มีหวังได้ตกหลุมพรางของพี่มิจจี้ทั้งหลายแน่นอน เพราะงั้นวันนี้ เราจะพาชาวซิสทั้งหลาย ไปทำความรู้จักกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพ พร้อมแจกทริควิธีสังเกตคนโกง ทรงแบบนี้ ใช่มิจฉาชีพรึเปล่า รู้ไว้ก่อนเป็นดี จะได้ไม่โดนคนแบบนี้หลอกได้!
💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟
กลโกงมิจฉาชีพ ที่รู้ไว้เป็นดีที่สุด
ยุคสมัยนี้ เป็นยุคสมัยของพวกมิจฉาชีพรึเปล่า เพราะตอนนี้คือเยอะมากจริงๆ เปิดข่าวดูทีไร ก็มักจะมีเรื่องนี้รายงานข่าวทุกวัน ทุกครั้ง ทุกเวลา และแต่ละครั้ง ก็มักจะมาพร้อมกลโกงใหม่ๆ เสมอ จะว่าตามไม่ทันก็ไม่แปลก เพราะพี่มิจทั้งหลาย ก็เก่งเกิน คิดแต่ละวิธีออกมา แม้จะมีช่องโหว่บ้าง แต่ถ้าเราไม่ทันระวังตัว ก็มีสิทธิ์ที่จะโดนตกได้เหมือนกันนะ บางคนคิดว่า ฉันรู้ทัน แต่พอเจอมุกใหม่ๆ รูปแบบใหม่ๆ บางทีมันก็หลงทางเหมือนกัน แล้วไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุเท่านั้นนะที่โดน วัยรุ่น วัยทำงานอย่างเราๆ ก็โดนหลอกได้เหมือนกัน
สถานการณ์การหลอกลวงที่พบเห็นบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ
ในปัจุบันนี้ ต้องยอมรับว่า มิจฉาชีพเยอะมากจริงๆ เรียกได้ว่า เกลื่อนเมืองเวอร์! ไม่ว่าใครก็โดนหลอกกันทั้งนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า 100 คน จะโดนหลอกแบบเดียวกันนะ เพราะยุคสมัยนี้ กลโกงต่างๆ มันมีหลายรูปแบบมากๆ ไม่ว่าจะ หลอกลงทุน หลอกโอนเงิน หลอกกู้เงิน หลอกสมัครงาน หลอกให้รัก หลอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และอีกมากมาย สำคัญคือ เทคโนโลยีที่มิจฉาชีพใช้ ก็ดูเหมือนว่า จะพัฒนาขึ้นด้วย พอกลโกงไหนเริ่มเป็นที่รู้จัก คนเริ่มไหวตัวทัน มิจจี้ก็จะหาทางคิดกลโกงใหม่ๆ ขึ้นมาอีก ขอบอกเลยว่า ยุคสมัยนี้ มันน่ากลัวมากขึ้นกว่าเดิมแบบสุดๆ ไม่ใช่แค่ระมัดระวังการใช้ชีวิตในทุกๆ วันอย่างเดียว แต่ต้องคอยระวังพวกมัจฉาชีพด้วย!
สาเหตุที่ทำให้เราตกเป็นเหยื่อ
หลายๆ คนอาจจะคิดว่า คนที่โดนมิจฉาชีพหลอก จะมีก็แต่ผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยุคสมัยนี้ มันไม่ใช่แบบนั้นแล้วนะ เพราะวัยรุ่น คนทำงาน ก็โดนหลอกได้เหมือนกัน ด้วยความทคโนโลยีมันไปไกลมากๆ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้หมด และแน่นอนว่า ยิ่งเทคโนโลยีก้าวไปไกลมากแค่ไหน โอกาสที่จะมีคนตกเป็นเหยื่อก็ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมิจฉาชีพพวกนี้ ส่วนใหญ่ มันก็อาศัยเทคโนโลยีนี่แหละ ในการหลอกลวงชาวบ้าน
ซึ่งสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้หลายๆ คนโดนหลอก อย่างแรกคือ ความหวาดระแวง ความกลัว พอโดนขู่ด้วยกฎหมาย ก็เริ่มกังวล ตื่นตระหนก ยิ่งพอเป็นการวิดีโอคอลเห็นหน้า ถ้าไม่สังเกตดีๆ ก็ยิ่งผวากันเข้าไปใหญ่ บางคนพอได้ยินว่า ตำรวจโทรมา หรือรู้ว่าตัวเองจะมีคดีความ ก็กลัวไปยกใหญ่ จนเผลอโอนไวโดยไม่ทันเอ๊ะใจ สุดท้ายรู้ตัวอีกที หมดบัญชีแล้ว!
อีกกรณีที่เราพบบ่อยๆ คือ โอนเพราะรัก ไม่รู้หรอกว่า ปลายทางเป็นใคร อาจจเป็นหนุ่มหล่อ สาวสวย หรือดาราต่างชาติ พอคุยกันแล้วมันคลิก มันถูกคอ เขาขออะไรเราก็ให้ บางรายอ้างว่า จะมาหานะ แต่ติดปัญหา ต้องการเงินแก้ปัญหาตรงจุดนั้นจุดนี้ เหยื่อที่ตกหลุมรัก Romance Scam มีหรือ จะไม่ทำตาม ด้วยเหตุผลเพียงแค่ เพราะรักจึงยอม โอนให้ได็ ไม่เป็นไร หรืออีกเคสคือ มิจฉาชีพใช้ AI ปลอมเสียงคนใกล้ชิดเหยื่อ โดยอ้างว่าเดือนร้อน ต้องการใช้เงินด่วน โอนให้หน่อย จะไม่ช่วยได้ยังไง ยิ่งถ้าอ้างเป็นลูก หรือคนในครอบครัว แฟน เพื่อน ก็ยิ่งมีความเป็นไปได้ว่า เหยื่อจะต้องเต็มใจช่วยเหลือแน่นอน
สุดท้ายคือ สังคมหล่อหลอมให้คนอยากรวยมากขึ้น ต้องยอมรับว่า ยุคสมัยนี้ สังคมโซเชียล หรือสังคมในปัจจุบัน มีการยึดติดกับการอวดมากขึ้น อวดเงิน อวดรวย อวดของแบรนด์เนม อวดจนคนที่ไม่มี อยากมีขึ้นมาเลย! เห็นแล้วก็เกิดความอิจฉา อยากได้ อยากครอบครองบ้าง ความโลภ ความอยากมีนี่แหละ ที่เปรียบเสมือนของหวานของพี่ๆ มิจจี้ทั้งหลาย เพราะมิจฉาพีชจะอาศัยความอยากรวยของเรา มาหลอกเรา ทั้งหลอกให้ลงทุน หลอกให้ออมทอง หลอกให้สมัครงาน หลอกให้เล่นแชร์ เป็นต้น ยิ่งพอเราได้เห็นโปรไฟล์มิจฉาชีพ บวกกับลงทุนเล็กน้อยในตอนแรกแล้วได้จริงๆ กำไรเยอะ ตาวาวเลยทีนี่! ก็มีโอกาสที่เราจะหลวมตัวเข้าไป ความอยากมีของมนุษย์เป็นเรื่องปกติ แต่ความปกตินี่แหละ ที่มักจะทำให้มนุษย์อย่างเรา ตกไปเป็นเหยื่อได้แบบไม่ทันตั้งตัว
🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹🔹
ในเชิงจิตวิทยาว่าทำไมคนฟังจึงมักหลงหรือเชื่อไปตามคำพูดหรือพฤติกรรมของมิจฉาชีพ
ต้องขอบคุณข้อมูลจาก คณะจิตวิทยาจุฬาลงกรณ์ ในปัจจุบันกลโกงของมิจฉาชีพมีหลากหลายรูปแบบมากๆ ซึ่งในงานวิจัยนี้ชี้ว่า มิจฉาชีพมักใช้เทคนิคจิตวิทยาการโน้มน้าว 2 ประเภทหลักๆ คือ การอ้างอำนาจ (authority) และการกดดันโดยการจำกัดเวลาหรือจำนวนรางวัลตอบแทน (scarcity) ซึ่งมิจฉาชีพจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจโดยการแสดงให้เห็นว่าข้อเสนอที่นำมาล่อลวงนั้นมีความถูกต้องตามกฎหมายและมีหน่วยงาน หรือบริษัทที่น่าเชื่อถือรองรับ แม้กระทั่งการอ้างอิงว่าตนเป็นตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทำให้เหยื่อรู้สึกเชื่อใจและไว้ใจ แต่บางครั้งก็จะใช้การโน้มน้าวทางอารมณ์มากกว่าการโน้มน้าวด้วยเหตุผล โดยการจำกัดเวลา ของรางวัล เพื่อให้เหยื่อรีบตัดสินใจ เป็นต้น
ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ หรือเพศไหน ก็มีโอกาสโดนหลอกกันทั้งนั้น แต่ทางจิตวิทยากล่าวไว้ว่า เพศหญิง มักตกเป็นเหยื่อเป้าหมายของการหลอกล่อให้รัก เพื่อหลอกโกงเงินได้ง่ายกว่า ส่วนผู้สูงวัยมักตกเป็นเหยื่อของการโกงทรัพย์ หรือหลอกล่อเอาข้อมูลส่วนตัว และคนที่จบสูง รายได้มาก ก็มักจะตกเป็นเหยื่อของการหลอกให้ลงทุนได้ด้วย
ทั้งนี้ทางจิตวิทยายังระบุไว้เพิ่มเติมอีกว่า มี 3 ลักษณะนิสัย ที่เสี่ยงต่อการถูกหลอก นั่นคือ
- คนที่มีนิสัยกล้าลองทำสิ่งใหม่ๆ และยอมรับความเสี่ยงนั้น ซึ่งมีแนวโน้มตอบรับข้อเสนอของพวกมิจฉาชีพทันที
- คนที่มีความบกพร่องในการควบคุมตนเอง จะไม่สามารถยับยั้งการตัดสินใจใดๆ ของตัวเองได้ เขาสั่งให้ทำอะไร ก็พร้อมใจที่จะทำทันที
- คนที่มีทักษะจัดการและควบคุมอารมณ์ตนเองต่ำ คนเหล่านี้จะเป็นคนจำพวกคิดไม่ทัน ไร้สติ ข้อมูลน้อย มีโอกาสโดนหลอกได้ด้วยการถูกอารมณ์ชักนำให้ตัดสินใจทำมากกว่าใช้สติในการตัดสินใจ
นอกเหนือจากนี้ก็ยังมีคนที่มีความรู้ทางเทคโนโลยีไม่เพียงพอ ที่อาจจะโดนหลอกได้ รวมไปถึงไว้ใจ และเชื่อคนง่ายเกินไป ก็มีโอกาสโดนหลอกได้เช่นกัน
💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟
รวมเช็กลิสต์ กลเม็ดของมิจฉาชีพ คนโกง คนเม็ดเยอะ มักมีพฤติกรรมเหล่านี้
ช่วงนี้แอบเห็นกลโกงของเหล่ามิจจี้ออกมาหลายแบบอยู่ แต่มันก็จะมีไม่กี่แบบที่เหล่ามิจฉาชีพเลือกที่จะหยิบเอามาใช้ ซึ่งวันนี้เรารวมกลโกงฮิตๆ ที่เห็นบ่อยๆ ในปัจจุบันมาให้เพื่อนๆ ได้ดูกัน จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลยดีกว่าค่ะ
✅ กลโกงซื้อ - ขายออนไลน์ : ไม่ใช่แค่คนขายที่ต้องหวั่นใจ แต่คนซื้อเอง ก็กลัวเหมือนกัน อีกหนึ่งกลโกงที่มาแรงมาก ใครที่ชอบซื้อของออนไลน์ หรือแม้แต่พ่อค้าแม่ค้า ยุคสมัยนี้ จะสั่งซื้อ หรือรับโอนสแกนจ่ายอะไร ต้องดูให้ดีๆ นะคะ เพราะนี่ก็เป็นอีกหนึ่งกลโกงยอดฮิตของเหล่ามิจฉาชีพเหมือนกัน
กลโกงจากผู้ขาย
- หลอกให้โอนเงิน นำรูปของคนอื่นมาใช้ แอบอ้างว่าเป็นของตนเอง รวมทั้งข้อมูลต่างๆ พอเหยื่อโอนเงิน ก็หนีหาย ไม่ยอมส่งของให้ เงินก็ไม่ได้คืน
- ตั้งราคาสูง โดยอ้างว่า นี่ของแท้แน่นอน ถ้าเรายอมจ่าย แต่ดันไม่ดูให้ดีๆ พอได้ของปลอมมาในราคาที่สูง มันเจ็บใจแท้!
- หลอกขายของไม่มีคุณภาพ อวดอ้างสรรพคุณต่างๆ รีวิวโดยใช้หน้าม้าที่จ้างมา เหยื่อหลงเชื่อ ตกลงซื้อมาทดลองใช้ ไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ผู้ขายอ้างไว้ แถมยังเสี่ยงอันตรายต่อผู้ซื้อด้วยนะครับ
กลโกงจากผู้ซื้อ
- ส่งสลิปปลอม ก่อนส่งสินค้าให้อย่าลืมตรวจสอบสลิป โดยมิจฉาชีพจะปลอมตัวเลขบนสลิปผ่านการตัดต่อ จึงควรเช็กยอดเงินเข้าบัญชีให้ถูกต้อง
- หลอกให้คนอื่นซื้อของแทน นำรูปสินค้าร้านเราไปแอบอ้างขายต่อให้ผู้อื่น เมื่อเหยื่อหลงเชื่อโอนเงิน มิจฉาชีพก็ขโมยสลิปมาหลอกให้แม่ค้าส่งของอีกที กว่าจะรู้ตัวก็เสียหายทั้งผู้ซื้อและแม่ค้าตัวจริง
- ปลอมแปลง SMS แจ้งเงินเข้าบัญชี โดยส่งข้อความลักษณะเหมือนธนาคารให้ดู
✅ กลโกงแจกของฟรี / ของรางวัล : ใครที่ชอบซื้อของออนไลน์ หรือชาวโซเชียล ต้องระวังให้ดีๆ เลย จงจำเอาไว้ว่า ของฟรีไม่มีอยู่จริง โดยเหล่ามิจฉาชีพจะอ้างตัวว่า เป็นตัวแทนของบริษัทๆ หนึ่ง โทร หรือส่งข้อความมาหาเหยื่อว่า ได้รับรางวัลพิเศษจำนวนจำกัด สำหรับผู้โชคดี 100 ท่าน หรือ ข้อความทำนองที่ว่า คุณมีเงินค้างอยู่ในระบบ ให้รีบถอนตอนนี้เลย เป็นต้น
พอเหยื่อหลงเชื่อ มิจฉาชีพจะให้เข้าไปยืนยันรับสิทธิ์ใน Line กลุ่ม โดยเอากิจกรรมมาหลอกล่อ เช่น "แค่กด Liked ก็ได้เงิน" ซึ่งช่วงแรกได้เงินจริง แต่หลังจากที่ให้ลงทุนมากขึ้น ก็จะไม่ได้รับเงินตอบแทนคืน หากต้องการจะเอาเงินคืนออกมา ก็จะไม่สามารถเอาเงินได้ออกมาได้
✅ กลโกงหลอกลงทุน : กลโกงล่าสุด ที่กำลังเป็นประเด็นในช่วงนี้ ไม่ว่าจะลงทุนแบบใดก็ตาม แชร์ลูกโซ่ ตัวแทนจำหน่าย ซึ่งวิธีการคือ พวกเขาจะสร้างรากฐานของบริษัทตัวเองให้ดูมีหน้ามีตา โดยอาจจะมีการจ้าง หรือใช้ภาพคนที่มีชื่อเสียงร่วมด้วย เพื่อความน่าเชื่อถือ สร้างโปรไฟล์ว่า ทำแล้วได้อะไรกลับคืนมาบ้าง โชว์ผลลัพธ์ที่ได้ เพื่อล่อตาล่อใจ พร้อมเสนอผลตอบแทนสูงในระยะเวลาสั้นๆ โดยอ้างว่ามีการสอนเทคนิค และวิธีการต่างๆ แม้ไม่มีความรู้ก็สามารถลงทุนได้
ซึ่งพอเราหลวมตัวเข้าไปแล้ว เขาก็จะพาเราเข้ากลุ่มแชตเพื่อหลอกคุยส่วนตัว หรืออาจพาไปเข้ากลุ่มเล็กๆ ที่มีทั้งเหยื่อคนอื่นๆ และทีมงานของมิจฉาชีพปะปนเป็นหน้าม้าอยู่ในกลุ่มนั้นด้วย วางเงินลงทุนไปครั้งแรก ผลผลัพธ์ดีเกินคาด พอเหยื่อเห็นว่าได้เงินจริง ก็จะเริ่มลงทุกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น แต่หากเหยื่อต้องการถอนเงินออกมา ก็จะอ้างว่าทำผิดกฎการลงทุน ต้องจ่ายเงินมาปลดล็อกก่อน หรือต้องโอนเงินไปเพิ่มเพื่อจองสิทธิ์การถอนเงิน บางคนวางเงินลงทุน แต่ไม่ได้รับของ หรือได้รับของมา แต่กลับขายไม่ออก ทั้งๆ ที่บริษัทอ้างว่า จะช่วยโฆษณาให้ จะช่วยขาย ยังไงก็ขายได้ ท้ายที่สุดแล้ว กำไรไม่ได้ แถมเงินทุนค่อยๆ หมดลง จนกลายเป็นหนี้ บริษัทไม่รับผิดชอบใดๆ
✅ กลโกงหลอกสมัครงาน : ช่วงนี้หลายๆ คนอาจจะกำลังมองหางาน หรือมีคนตกงาน และกำลังหาที่สมัครงานกันอยู่ ระวังให้ดีๆ เพราะนี่ก็เป็นอีกหนึ่งกลโกงมิจฉาชีพเช่นเดียวกัน ซึ่งมิจฉาชีพมักจะแฝงตัวอยู่ตามกลุ่มหางานทำบนสื่อโซเชียล หรือ เว็บไซต์หางานต่างๆ โดยมีการโพสต์เปิดรับสมัคร แอบอ้างเป็นตัวแทนบริษัท พอเราหลวมตัวเข้าไปสมัคร หรือคอมเมนต์ว่า สนใจ มิจฉาชีพจะส่งลิงก์ หรือนัดเจอ เพื่อให้เรากรอกข้อมูล หรือเตรียมเอกสารส่วนตัวมา โดยทางมิจฉาชีพจะหว่านล้อมเพื่อให้เราทำตามขั้นตอนทุกอย่างจนครบ และปิดจบด้วยประโยคที่ว่า จะติดต่อกลับ แต่ก็ไม่ มิจฉาชีพจะตัดขาดการติดต่อไป แล้วนำข้อมูลเราไปใช้ในทางผิวกฎหมาย เพราะฉะนั้นจะสมัครงานอะไรก็ตาม ต้องเช็กข้อมูลให้ดี
✅ กลโกงอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ : กลโกงที่เรียกได้ว่า ฮิตที่สุดในหมู่มิจจี้ คือการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ อาจจเป็นการส่งข้อความมา หรือโทรมา โดยกล่าวหาว่า เราทำผิดกฎหมาย บัญชีของเราเข้าข่ายฟอกเงิน จำต้องโอนเงินไปให้ตรวจสอบ ซึ่งก่อนหน้านี้จะติดต่อมาผ่านทางโทรศัพท์เท่านั้น แต่พอมุกเดิมๆ เริ่มไปไม่รอด ก็อัพเกรดเป็นวีดีโอคอล โดยใช้ระบบ AI ว่าตัวเองเป้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจริงๆ เมื่อเหยื่อเห็นว่าเป็นตำรวจจริงๆ ก็เกิดหลงเชื่อ และโอนเงินไปให้เพราะความกลัว
✅ กลโกงส่งลิงก์แปลกๆ : อีกหนึ่งวิธีที่หลายๆ คนเจอคือ ข้อความกู้เงิน ข้อความขนส่ง ที่มักจะแนบลิงก์มาให้กดคลิก บางคนไม่ทันคิด เผลอกดเข้าไป อาจจะมีทั้งแบบให้กรอกข้อมูล และอีกแบบคือ กดปุ๊บ ดูดเงินปั๊บ เพราะงั้นถ้ามีลิงก์แปลกๆ ส่งมา อย่ากดเด็ดขาด
✅ กลโกง Romance Scam : ยังคงมีอยู่นะ ไม่ใช่ว่าไม่มี มีหลายๆ ครั้งที่เราจะเห็นข่าวว่า เหยื่อถูกหลอกให้รัก จากนั้นขอให้โอนเงินให้ ข่าวแบบนี้มีเยอะมาก ซึ่งเหยื่อส่วนใหญ่จะเป็นคนโสด หย่าร้าง เป็นม่าย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่น่าจะเหงา และต้องการหาเพื่อนใจ เลยทำให้ตกเป็นเหยื่อได้อย่างง่ายดาย รูปแบบการหลอกคือ จะพูดจาหว่านล้อมด้วยคำพูดทำให้หลงรัก พอถึงจุดนึงแล้วจะเริ่มมีประเด็นเรื่อเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ชวนลงทุน ,เงินไปพอที่จะไปหา , พ่อ แม่ ญาติพี่น้องป่วย ตาย มีปัญหาเรื่องงาน เรื่องเงิน ติดขัด ,ติดตม. ต้องใช้เงินเข้าประเทศไม่ได้ หรืออ้างว่าส่งของมาให้ แต่ด้วยราคาที่สูงมาก ต้องจ่ายเงินภาษีนำเข้าก่อน ถึงจะส่งเข้ามาได้ เป็นต้น อ้างสารพัดเพื่อให้เราใจอ่อน ยอมโอนเงินไปให้ ไม่ต่างจากปลิงที่ค่อยๆ ดูเลือดเราไปทีละนิดๆ
✅ กลโกงแอบอ้างเป็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อน หรือคนรู้จัก : อีกหนึ่งกลโกงยอดฮิตอันดับต้นๆ ที่หลายคนอาจจะเคยเจอคือ การแอบอ้างเป็นสมาชิกในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนเก่าหรือคนที่เรารู้จักโดยวิธีที่มิจฉาชีพออนไลน์ทำคือ โทรหาเหยื่อแล้วแกล้งบอกว่า ‘จำได้ไหม นี่เราเองนะ’ ที่พูดแบบนี้ ก็เพื่อให้เหยื่อพูดชื่อของคนรู้จักขึ้นมาเอง แล้วก็จะแอบอ้างเป็นคนนั้น ทำเป็นพูดคุยสนิทชิดเชื้อเหมือนรู้จักกันมานาน หลังจากนั้นก็จะมาในรูปแบบขอความช่วยเหลือ สุดท้ายเหยื่อก็จะถูกหลอกให้โอนเงิน แต่สมัยนี้มัน advance ขึ้น คือใช้ AI แปลงเสียงคนรู้จักได้ เหมือนเป๊ะเลย เพราะงั้นระวังหน่อย อันตรายมาก
💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟
วิธีรับมือกับมิจฉาชีพ
วันนี้เรามีวิธีรับมือกับพวกมิจฉาชัพมาแชร์ด้วย จริงๆ มันก็ไม่ได้ยาก และเราเชื่อว่า เพื่อนๆ ทุกคนสามารถทำตามกันได้ จะมีวิธีแบบไหนบ้าง เอาเป็นว่า เราไปเช็กลิสต์ดูพร้อมๆ กันเลยดีกว่าค่ะ
- วิธีที่จะช่วยรับมือที่ง่ายที่สุด ไม่ต้องเริ่มจากใคร เริ่มจากตัวเองนี่แหละค่ะสาว! อย่างแรกเลย เราจะต้องติดตามข่างสาร จะได้รู้ไงว่า มิจฉาชีพมันในรูปแบบกลโกงอะไรบ้าง เผื่อมีมุกใหม่ๆ ออกมา ก็จะได้รู้เท่าทัน ไม่ตกหลุมพรางของมิจฉาชีพได้ง่ายๆ
- เวลามีข้อความแปลก หรือเวลามีโฆษณาแปลกเด้งขึ้นมา แล้วมีลิงก์ให้กดคลิก อย่าเผลอไปกดเด็ดขาด! ตั้งสติไว้ก่อน ไม่ว่าข้อความที่ถูกส่งมาจะบอกว่าอะไร ถ้ามันนำไปสู่การกดลิงก์ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า ผู้ไม่หวังดีแน่นอน
- หลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลทางการเงินกับใคร ถ้าบุคคล หรือหน่วยงานนั้นๆ ขาดความน่าเชื่อถือ จำไว้ว่า หน่วยงานรัฐไม่มีหน้าที่โทรมาหาเรา เผื่อขอให้เราให้ข้อมูล หรือดอนเงินใดๆ ไปให้ หากมีสายที่โทรมาอ้างว่าเป็นหน่วยงานรัฐ แล้วต้องการข้อมูล หรือให้เราโอนเงินไป อย่าทำเด็ดขาด แม้แต่สมัครงาน หรือกรอกข้อมูลของรางวัลใดๆ ก็ตาม ถ้าไม่น่าเชื่อถือ ไม่น่าไว้วางใจ ห้ามหลวมตัวกรอกข้อมูลใดๆ ให้ใคร หรือเว็บไซต์ไหนอย่างเด็ดขาด!
- ไม่ดาวน์โหลดโปรแกรมนอกเหนือจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และไม่ใช้โทรศัพท์ที่ไม่ปลอดภัย ขณะทำธุรกรรมทางการเงิน แนะนำสำหรับเพื่อนๆ ที่มักจะโดนสายแปลกๆ โทรหาบ่อยๆ แนะนำให้โหลดแอป Whoscall ติดโทรศัพท์ไว้ แอปนี้จะช่วยตรวจเช็กเบอร์แปลกๆ รวมถึงข้อความ SMS ที่ส่งเข้ามาในเบื้องต้น ว่าเบอร์โทร / ข้อความที่ได้รับ มาจากมิจฉาชีพหรือไม่
💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟
รวมเบอร์โทรหน่วยงานสำหรับแจ้งเหตุมิจฉาชีพ
เรารวบรวมเบอร์โทรแจ้งเหตุของหน่วยงานต่างๆ มาให้เพื่อนๆ ด้วย ทั้งเบอร์หน่วยงานรัฐ เบอร์ธนาคาร จะมีเบอร์ไหน และติดต่อไปทางไหนบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ
เบอร์สายด่วนธนาคาร สำหรับรับแจ้งเหตุมิจฉาชีพทางการเงินโดยเฉพาะ
สามารถสอบถามและโทร. แจ้งได้ตลอด 24 ชั่วโมง
- ธนาคารกสิกรไทย 0-2888-8888 กด 001
- ธนาคารกรุงไทย 0-2111-1111 กด 108
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 1572 กด 5
- ธนาคารกรุงเทพ 1333 หรือ 0-2645-5555 กด*3
- ธนาคารไทยพาณิชย์ 0-2777-7575
- ธนาคารทหารไทยธนชาต 1428 กด 03
- ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย 0-2626-7777 กด 12
- ธนาคารทิสโก้ 0-2633-6000 กด*7
- ธนาคารไทยเครดิต 0-2697-5454
- ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ 0-2359-0000 กด 8
- ธนาคารเกียรตินาคินภัทร 0-2165-5555 กด 6
- ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) 0-2679-5566 กด 4
- ธนาคารยูโอบี และธนาคารซิตี้แบงก์ 0-2344-9555
- ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) 0-2629-5588 กด 4
- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 1302 กด 6
- ธนาคารออมสิน 1115 กด 6
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 0-2645-9000 กด 33
เบอร์โทรหน่วยงานรัฐเกี่ยวกับแก๊งคอลเซนเตอร์ หรือปัญหาอาชญากรรมออนไลน์
ศูนย์ AOC ตั้งสายด่วน 1441 เป็นระบบแบบ One Stop Service ระงับ อายัดบัญชี ได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสามารถแจ้งความออนไลน์ได้ที่ www.thaipoliceonline.com
สรุป
ก่อนจากกัน ขอฝาไว้ให้คิดนิดนึง ไม่ว่ามิจฉาชีพจะมาในรูปแบบไหนก็ตาม สิ่งนึงที่อยากจะฝากเพื่อนๆ เอาไว้ จะได้ไม่โดนหลอกคือ มีสติ การมีสติจะช่วยทำให้เราพ้นผ่านจากการโดนหลอกได้ค่ะ อย่าหลงคารมณ์หรือผลประโยชน์จนเผลอหลงเชื่อ ให้เราคิดไว้ก่อนเลยว่า คำพูด คำขู่ หรือการกระทำแบบนี้ ในความเป็นจริงแล้ว มันถูกต้องรึเปล่า เอ๊ะไว้ก่อนที่จะหลงเชื่ออะไร ถ้าเรามองเห็นถึงหลักความเป็นจริงได้อย่างชัดเจน โดยตัดความโลภ ความอยากได้อยากมี ความกลัว เราจะรอดปลอดภัยจะมิจฉาชีพได้ค่ะ และอีกอย่างคือ เราจำต้องมีทักษะการตรวจสอบที่เพิ่มขึ้น และรู้ให้ทันมิจฉาชีพด้วยการสังเกตกลของคนโกง เพื่อจะได้รับมือกากรหลอกในแบบฉบับต่างๆ ทั้งการขายสินค้า การแจกฟรี การเปิดรับสมัครงาน ได้อย่างดี และอย่าลืมส่งต่อเทคนิคนี้ให้คนที่เราอยากให้ระมัดระวังด้วยนะ
สำหรับวันนี้ต้องลาไปก่อนแล้ว บ๊ายบาย
ขอขอบคุณภาพจาก website : takumi-tantei-office.com / /www.promise.co.th / sns-sakiyomi.com
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : 7 รูปแบบมิจฉาชีพออนไลน์ รู้ทันกลโกงร้าย ป้องกันทรัพย์สินของตน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ป้องกันตัวเองอย่างไร ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ
💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟
บทความแนะนำเพิ่มเติม
รวมเช็กลิสต์ว่าคนที่มาคุยด้วย เป็นมิตรหรือมิจฉาชีพ -สแกมเมอร์- | บทความของ ช้างสีฟ้า | SistaCafe ครบเครื่องเรื่องบิวตี้
https://sistacafe.com/summaries/93634
รวมเช็กลิสต์ว่าคนที่มาคุยเป็นมิตรหรือมิจฉาชีพ -จริงใจ- | บทความของ ช้างสีฟ้า | SistaCafe ครบเครื่องเรื่องบิวตี้
https://sistacafe.com/summaries/93639
10 ข้อระวังสำหรับสายบิวตี้ อย่าไปหลงเชื่อง่าย ๆ ถ้าไม่อยากโดนหลอก! | บทความของ chollychon | SistaCafe ครบเครื่องเรื่องบิวตี้
https://sistacafe.com/summaries/200309