"เงิน"เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์เกิดปัญหา นำไปสู่การทะเลาะกัน ทำร้ายร่างกายกัน และเลิกรากันได้ แต่ถ้าไม่มีเลยก็เป็นไปไม่ได้อีก เพราะแค่ไปทานข้าวด้วยกัน ดูหนังด้วยกัน แค่นี้ก็ต้องออกเงินแล้ว
ว่ากันว่า"เราต้องใช้เงิน"ไม่ใช่"เงินใช้เรา"เพื่อคอนโทรลรักให้อยู่รอด ดังนั้น เราก็ควรจะคอนโทรลเรื่องเงินกันด้วย
หมายเหตุ
บทความนี้ไม่อนุญาตให้คัดลอกลงเว็บไซต์อื่น หากต้องการเผยแพร่ ให้กดไลค์ กดแชร์จากโพสต์นี้เท่านั้นนะคะ
1. ควรช่วยกันแชร์ เมื่อมีกิจกรรมร่วมกัน

ออกเดท ทานข้าว ดูหนัง ไปเที่ยว ฯลฯ อย่าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกตัวเลี้ยงตลอดไป แต่ควรช่วยกันแชร์หรือผลัดกันเลี้ยงบ้าง เพื่อแสดงให้เห็นว่า"เราต่างก็แบ่งรับแบ่งสู้กันได้ดี ไม่มีใครเสียเปรียบใคร"เพราะตามความเป็นจริงแล้ว แต่ละคนก็มีภาระค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากชีวิตคู่กันทั้งนั้น จะให้มาทุ่มเทกันเฉพาะเรื่องนี้มันก็กระไรอยู่
2. ปรับไลฟ์สไตล์เข้าหากันด้วย (โดยเฉพาะคู่ที่ต่างฐานะกันมาก)

ถ้าเป็นกรณีที่คบกันต่างฐานะ ก็ต้องมีการปรับตัวในส่วนของไลฟ์สไตล์ส่วนตัวกันด้วย เช่น หากเราเป็นคนมีฐานะกว่าแฟน เราก็ควรปรับเข้าหาแฟนบ้าง เลือกทาน เลือกเที่ยวในราคาที่ไม่แพง เพื่อให้แฟนรู้สึกสบายตัวมากขึ้น กล้าที่จะมีส่วนร่วมกับเดทเรามากขึ้น ไม่ใช่ทำตัวเหมือนตอนเป็นโสด กินหรู เที่ยวแพงตามเดิม จนอีกฝ่ายรู้สึกอึดอัด ไม่เป็นตัวของตัวเอง อย่าลืมว่านี่คือชีวิตคู่ ไม่ใช่ชีวิตโสด ถ้าไม่สามารถปรับตัวเข้าหากันได้ ก็เชิญกลับไปโสดเหมือนเดิมจะดีกว่า
3. อย่าก้าวก่ายกระเป๋าตังค์กันและกัน

แนวคิดกระเป๋าตังค์เดียวกันไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับคู่รักหนุ่มสาวทั่วไปที่ยังไม่ได้แต่งงานกัน คิดง่ายๆ ละกันว่า จะรวมกระเป๋าตังค์กันไปเพื่ออะไร ในเมื่อเราไม่ได้อยู่บ้านหลังเดียวกันแล้วต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายภายในบ้านร่วมกัน หรือมีลูกให้รับผิดชอบด้วยกัน ขืนใช้วิธีนี้ รังแต่จะอึดอัดกัน ดูเป็นการไม่ให้เกียรติกันเปล่าๆเราขอให้เขาออกค่าใช้จ่ายก่อนได้ในกรณีที่เงินส่วนตัวเราไม่พอ (และต้องนำมาคืนในภายหลังด้วยนะ) แต่ไม่ควรควักจากกระเป๋าเขาเอาเองโดยถือวิสาสะว่า" เป็นแฟนกัน ไม่ถือกันหรอกมั้ง "เกรงใจกันนิดนึง เพราะเราไม่มีทางรู้หรอกว่าค่าใช้จ่ายส่วนตัวของเขาในเรื่องอื่นๆ ยังมีอะไรให้เคลียร์อีกมั้ย
4. อย่าให้ยืมเงินกันโดยถือว่าเป็นแฟนกัน แต่ควรให้เพราะเห็นแก่วินัยการเงิน

ทวงเงินแฟนเก่าไม่ได้ เพราะแฟนเก่าพูดตอกมาว่า"เธอให้โดยเสน่หาเอง ช่วยไม่ได้"เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมหลายต่อหลายครั้งแล้ว วิธีป้องกันเงินยืมเป็นพิษต่อความรัก มีดังนี้
- อย่าให้ยืมโดยเห็นแก่ว่าเป็นแฟนกัน ถ้าไม่ให้ยืมเขาขู่ว่าจะเลิกกันอย่างเดียว ตั้งสติสักนิด เขามีพ่อแม่ให้ขอเงินได้รึเปล่า? มีใครให้ช่วยเหลืออีกหรือไม่? อย่าสักแต่ให้โดยไม่ลืมหูลืมตา
- สังเกตด้วยว่าเขามีนิสัยการใช้เงินยังไง ฟุ่มเฟือยรึเปล่า? มีแนวคิดในการเก็บเงินบ้างรึเปล่า? เป็นคนพูดคำไหนคำนั้นรึเปล่า? ถ้าไม่มีหลักประกันอะไรเลยให้เชื่อใจได้ ก็ควรทำใจไว้เลยว่า เงินที่จะให้ยืมไป เป็นไปได้น้อยมากที่เขาจะหามาคืนให้ครบ
5. อย่าดึงบุคคลที่สามมาเกี่ยวข้องกับการเงินของชีวิตคู่

ไม่ใช่แค่เรื่องหัวใจเท่านั้นที่ไม่ควรดึงคนอื่นมาเกี่ยวข้อง เรื่องเงินก็เช่นกัน ถ้าเราไม่มีให้ ก็จบที่ตัวเรา อย่าพยายามบากหน้าไปยืมเพื่อน หรือขอพ่อแม่เพิ่ม เพื่อนำมาให้แฟนได้ใช้ เพราะนั่นคือการทุ่มเทที่ค่อนข้างเกินตัวไปมาก หากเกิดอะไรขึ้นมีแต่เราเท่านั้นที่เสียกับเสีย แฟนเราก็ลอยนวลไปสิ
6. ถ้าคิดจะช่วยเหลือกัน อย่าคิดทวงบุญคุณ

มันก็ต้องมีบ้างที่แฟนเราจะถึงคราวซวย เดือดร้อน แล้วเราพอจะมีบ้าง เราก็ช่วยไปเท่าที่พอจะช่วยได้ แต่ไม่ทุ่มหมดตัวจนตัวเองลำบาก และอย่าคาดหวังสูงมากว่า"ฉันต้องได้คืนมาแบบไหนเป๊ะๆ"ปล่อยตัวตามสบาย เชื่อมั่นในตัวแฟนเราบ้าง การไปคาดคั้นอะไรมากมันก็ไม่ช่วยให้สบายใจขึ้นกว่าเดิมหรอก ในทางกลับกัน มันอาจสร้างความกดดันให้ความสัมพันธ์เราด้วยซ้ำ
7. ทวงเงินได้ แต่อย่าทวงบุญคุณอีกเช่นกัน

ถ้าเราเดือดร้อนจริง จะขอทวงสิทธิบ้างก็ไม่ผิดอะไร แต่อย่านำไปปนกันกับ"ทวงบุญคุณ"จนหลุดปากว่า"ทีเธอเดือดร้อน ฉันยังช่วยเธอเลย"ไม่อย่างนั้น เขาจะตอบกลับมาได้ว่า"ก็ไม่ได้ขอให้เธอช่วยนะ เธอเต็มใจช่วยเราเอง ออกตัวเอง"คุยกันดีๆ ก่อน อย่าเพิ่งชวนทะเลาะกันหรือกดดัน ไม่งั้นเขาจะไม่คืนเงินให้ดีๆ
8. อย่าก้าวก่ายในค่าใช้จ่ายส่วนตัวของกันและกัน

คนเราก็ต้องมีบ้างที่จะต่างไลฟ์สไตล์ ต่างสังคม ต่างรสนิยม ใช่ว่าการเป็นแฟนกันจะต้องเหมือนกันทุกอย่าง ตามใจกันทุกเรื่อง ดังนั้น อย่าไปคาดหวังว่าเขาจะออกเงินซื้อเครื่องสำอางให้ หรือจะสามารถห้ามเขาเอาเงินไปแต่งรถได้ ความชอบของใครก็ของมัน ไม่จำเป็นต้องห้ามหรือร้องขอให้มายุ่งวุ่นวายกัน เคารพพื้นที่ส่วนตัวของกันและกันบ้าง
9. ตักเตือนกันด้วยถ้อยคำที่ดีๆ วิธีที่สุภาพ อย่าหักดิบ

หากนิสัยการใช้เงินของเขาค่อนข้างน่าเป็นห่วง เช่น จ่ายไปกับของสิ้นเปลืองแต่ละเดือนจนแทบไม่มีเงินเก็บ, เล่นการพนัน, เอาเงินไปลงกับสุรา ควรตักเตือนกันดีๆ ชี้แจงอย่างมีเหตุผล อย่าหักดิบจนถึงขั้นก้าวก่ายกระเป๋าตังค์กัน ยึดทรัพย์ หรือทำอะไรก็ตามโดยพละการ ไม่ปรึกษากัน เพราะสิ่งที่จะทำให้เขาคล้อยตามได้ ควรมีความเต็มใจของเขา และความโปร่งใสของเรารวมกันอยู่ด้วย
10. ชวนกันเก็บเงินเพื่อค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ร่วมกัน

หากกลัวว่าการเงินส่วนตัวจะไม่พอสำหรับกิจกรรมชีวิตคู่ เช่น ออกทริปไปพักร้อน, ดูหนังฟังเพลง, ทานข้าวมื้อใหญ่, เดินทางไปหากัน ( ในกรณีคู่รักระยะไกล )ก็ชวนกันวางแผนเก็บเงินแยกไว้ต่างหากสิ !การเงินจะได้เป็นสัดส่วนมากขึ้น บริหารง่ายขึ้น ไม่รู้สึกว่าช็อต หรือชักหน้าไม่ถึงหลังเกินไป ( และบางทีแล้วก็เป็นวิธีที่เนียนมาก ไม่ต้องไปขอเงินเพิ่มจากพ่อแม่ด้วย )
ถ้าปรับตัวแทบตายยังไงสุดท้ายก็ทะเลาะกันอยู่ดี จับเข่าคุยกันดีๆ ค่ะ บางทีปัญหาไม่ได้เป็นเพราะเงินหรอก แต่เป็นเพราะความรู้สึกที่เปลี่ยนไปแล้ว ทำให้เกิด" รักเราไม่เท่ากัน "นั่นไงล่ะ ถ้ายื้อไม่ได้ ก็แค่ Say Good Bye ดีกว่ายื้อกันให้เปลืองใจ เปลืองเงินกันเปล่าๆ เนอะ : )
บทความที่เกี่ยวข้อง

7 สัญญาณที่บอกว่า “ชายคนนี้ คือคนที่ใช่ และไม่มีวันหมดรักคุณ”
https://sistacafe.com/summaries/8345

10 เคล็ดลับสู่ความ 'สวยสง่า' พร้อมมัดใจหนุ่มๆ!
https://sistacafe.com/summaries/8145