ตอนนี้ก็เข้าสู่เดือนมิถุนายนหรือก็คือเดือน Pride Month แล้วค่า เย้! Pride Month เป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองและเรียกร้องสิทธิของชาว LGBTQIA+ ด้วยนะคะ เราก็เลยอยากจะขอหยิบเอาเรื่องของ " สมรสเท่าเทียม " ขึ้นมาพูดหน่อย เนื่องจากว่าตอนนี้อยู่ในขั้นตอนร่าง พ.ร.บ. และผ่านมติมา 3 วาระแล้วด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเราจะหยิบมาพูดแบบที่ทำให้ทุกคนเข้าใจได้ง่ายที่สุด สั้นและกระชับที่สุดเท่าที่จะทำได้เลยนะคะ ใครพร้อมจะไปเรียนรู้ข้อกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้วบ้าง ถ้าพร้อมก็เลื่อนจอมาอ่านกันได้เล้ย!


♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥


สมรสเท่าเทียม คืออะไร ?

รูปภาพ:

ถ้าให้พูดแบบง่าย ๆ สมรสเท่าเทียมก็คือข้อกฎหมายหรือพ.ร.บ. เกี่ยวกับการแต่งงานที่จะปรับเปลี่ยนให้ทุกเพศสภาพสามารถแต่งงานกันได้อย่างเท่าเทียมค่ะ จากเดิมที่จะต้องมีเพศสภาพเป็นชายและหญิงเท่านั้นที่จะแต่งงานกันได้ จดทะเบียนสมรสกันได้ มีสิทธิและได้รับสวัสดิการต่าง ๆ จากภาครัฐ กฎหมายนี้จะเปลี่ยนให้ทุกเพศสภาพ ทุกอัตลักษณ์ทางเพศ จะชอบเพศไหน นิยามตัวเองว่าเป็นเพศอะไร แต่งตัวแบบไหน แสดงออกแบบใดก็สามารถแต่งงานกันได้ แล้วก็ได้รับสิทธิ์คุ้มครองทางกฎหมายจากภาครัฐด้วยนั่นเองนะคะ


สิทธิที่ชาว LGBTQIA+ จะได้รับจากสมรสเท่าเทียม

รูปภาพ:
  • สิทธิในการดูแลชีวิตของกันและกัน : จากเมื่อก่อนที่คู่สมรสต่อให้จัดงานแต่งกันใหญ่โตแค่ไหน ก็ไม่มีสิทธิ์ในการจัดการสิ่งต่าง ๆ ในตัวอีกฝ่ายได้ เช่น การตัดสินใจช่วยชีวิตในด้านการแพทย์หรือแม้กระทั่งจัดการศพของคนรักก็ตาม แต่ถ้ากฎหมายนี้ผ่าน ทุกเพศสภาพก็จะมีสิทธิ์ในการจัดการสิ่งเหล่านี้ได้นั่นเองค่ะ
  • สิทธิในการแต่งงาน : จากเมื่อก่อนที่สามารถจัดงานแต่งทั่วไปได้แต่ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ ไม่สามารถหมั้นกันได้ หลังจากกฎหมายผ่านก็จะสามารถทำได้แล้วนะคะ และมันก็จะทำให้คู่สมรสมีสิทธิ์จัดการสินสมรส สิทธิ์รับมรดก สิทธิ์อื่น ๆ จากทางภาครัฐ แล้วก็ยังมีสิทธิ์ขอสัญชาติได้อีกด้วย
  • สิทธิในการมีลูก : จากเมื่อก่อนถ้าจะรับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยง มันจะไม่สามารถใช้ชื่อคน 2 คนเป็นผู้ปกครองได้ แต่หลังจากกฎหมายนี้ผ่านก็จะสามารถทำได้แล้วนะคะ
  • สิทธิในการหย่าร้าง : มีรักก็อาจจะมีเลิกรา บางคู่อาจจะต้องการหย่าร้างกัน ถ้ากฎหมายข้อนี้ผ่านก็จะสามารถฟ้องหย่ากันได้ สามารถขอสิทธิ์เลี้ยงดูบุตรได้ แล้วก็สามารถเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ อีกทั้งยังมีสิทธิในสินสมรสอีกด้วยนะคะ

สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงหลังจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่าน

รูปภาพ:
  • อายุขั้นต่ำในการสมรสจะเปลี่ยนจาก 17 ปีเป็น 18 ปี
  • ไม่ว่าจะมีเพศสภาพหรือมีอัตลักษณ์ทางเพศแบบไหน ก็สามารถแต่งงานกันได้แบบถูกต้องตามกฎหมาย รวมไปถึงสามารถจดทะเบียนสมรสกันเป็น "คู่สมรส" ที่ถูกต้องตามกฎหมายได้อีกด้วย
  • ไม่ว่าจะมีเพศสภาพแบบไหน ก็จะได้รับความเท่าเทียมในด้านความคุ้มครองทางกฎหมาย อย่างการได้สิทธิและสวัสดิการจากรัฐแบบเท่าเทียม
  • เปลี่ยนการใช้คำที่เป็นกลางทางเพศมากขึ้น เช่น สามี-ภรรยา ก็ใช้คำว่า "คู่สมรส" / ชาย-หญิง เป็นคำว่า "บุคคล" และ บิดา-มารดา ใช้คำว่า "บุพการี" แทน
  • คู่สมรสทุกเพศสภาพ สามารถรับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยงได้

ทำไมเราถึงควรสนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียม?

รูปภาพ:

เพราะกฎหมายสมรสแบบเดิมจะมีการจำกัดในเรื่องของเพศสภาพอยู่ ทำให้ชาว LGBTQIA+ ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ อีกทั้งพวกเขายังไม่ได้รับสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ เหมือนกันคู่สมรสชายหญิงอีกด้วย แบบนี้มันก็เรียกได้ว่ายังไม่เท่าเทียมกันใช่ไหมละคะ และเพื่อให้กฎหมายมันเปลี่ยนแปลงจนทุกเพศสภาพสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ ทุกเพศสภาพจะได้รับสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ เหมือนกันทั้งหมดมันก็เป็นเรื่องราวที่ดีและก็ยังเป็นความเท่าเทียมกันในทุกเพศอีกด้วย ดังนั้นเราก็ควรจะสนับสนุนข้อกฎหมายนี้กันให้เยอะ ๆ นะคะ แม้ว่าเราจะไม่ใช้ชาว LGBTQIA+ เราก็สนับสนุนพวกเขาและสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องได้น้า ♥


เราสามารถสนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ยังไงบ้าง?

รูปภาพ:

วิธีการง่าย ๆ ในตอนนี้เลยก็คือติดตามเรื่องนี้เรื่อย ๆ เท่าที่จะทำได้ค่ะ เพราะกฎหมายตัวนี้ได้มีการพูดคุยถกเถียงเรื่องข้อกฎหมายต่าง ๆ ในสภาแล้ว ซึ่งตอนนี้ก็ผ่านวาระที่ 3 แล้วด้วยนะคะ ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะมีการแก้ไข เพิ่มเติมอะไรยังไงบ้าง ใครสะดวกติดตามก็อยากให้ติดตามดูไลฟ์ที่มีการถ่ายทอดสดเลยน้าหรือใครไม่สะดวกก็อาจจะรอสรุปข่าวก็ได้ค่ะ เดี๋ยวนี้หลายสำนักและหลาย ๆ คนทำกันไวมาก และนอกจากนี้หากคนในคอมมูนิตี้ LGBTQ+ ต้องการความช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือเรื่องอื่น ๆ เราก็ช่วยเหลือเขาแบบเต็มที่แบบเท่าที่เราจะทำได้และทำไหวนะคะ อาจจะช่วยแชร์กระจายข่าว ลงชื่อสนับสนุน เป็นต้น


♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥


ได้เรียนรู้เรื่องกฎหมาย สมรสเท่าเทียม แล้วก็ได้รู้กันแล้วเนอะว่าทำไมมันควรมีและทำไมเราถึงควรสนับสนุนแม้ว่าเราหลาย ๆ คนอาจจะไม่ใช่ชาว LGBTQIA+ ก็หวังว่าทุกคนจะเข้าใจและช่วยกันสนับสนุนกฎหมายนี้ให้มาก ๆ นะคะ ตอนนี้การร่างกฎหมายก็อยู่ในวาระที่ 3 แล้วและก็จะมีการประชุมในครั้งหน้าเพื่อพูดคุยในดีเทลอื่น ๆ อีก ยังไงก็ฝากทุกคนติดตามด้วยนะคะ แล้วก็ขอให้กฎหมายหรือพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมผ่านจนใช้งานได้ในเร็ว ๆ นี้ด้วย ชาว LGBTQIA+ จะได้มีสิทธิและได้รับสวัสดิการที่ควรจะเป็นสักที :-D


ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ thaipbs

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ






เว็ปไซต์นี้ใช้คุกกี้

SistaCafe ให้ความสำคัญต่อข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้โดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ แสดงว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา และ นโยบายการใช้คุกกี้