1. SistaCafe
  2. Highly Sensitive Person อ่อนไหวง่ายไม่ได้แปลว่าอ่อนแอ!

ฮัลโหลลลลล~ สวัสดีค่าชาวซิส ไหน ๆ มีชาวซิสคนไหนเป็นคนเซนซิทีฟง่ายไหมคะ? เชื่อว่าต้องมีอยู่แน่ ๆ เลย แต่ก็ยังไม่รู้ว่าเราเป็นถึงขั้น Highly Sensitive รึเปล่าใช่ไหมล่ะคะ งั้นบทความนี้เราจะขอพาทุกคนไปรู้จักกับ Highly Sensitive Person หรือคนอ่อนไหวง่ายมาก ๆ กันว่ามันคืออะไร เช็กได้ยังไงบ้าง แล้วถ้าเป็นคนอ่อนไหวง่ายมันจะดูงี่เง่ารึเปล่า ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองสามารถทำได้ไหม ใครอยากรู้ก็เลื่อนจอลงมาอ่านกันต่อเลยค่า!


♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥


ชวนรู้จักกับ Highly Sensitive Personคืออะไร?

Highly Sensitive Person ก็คือคนที่อ่อนไหวง่ายมาก ๆ นั่นเองนะคะ ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่ามันไม่ใช่โรคหรืออาการผิดปกติอะไรแบบนั้นน้า HSP เป็นแค่เพียงบุคลิกของคนบางกลุ่มเท่านั้น โดยคนกลุ่มนี้มีประมาณ 20 - 30% ของประชากรทั้งหมด เขามีวิจัยออกมาเลยค่ะว่าคนที่อ่อนไหวง่ายมาก ๆ หรือ HSP จะมีความสามารถในการคิดหรือประมวลสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่เข้ามาได้แบบละเอียดกว่าปกติ แล้วมีแนวโน้มว่าจะมีความคิดสร้างสรรค์สูง คิดอะไรลึกซึ้ง มีประสาทสัมผัสที่ไวกว่าปกติ รวมไปถึงการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นเป็นอย่างดีด้วย


ชวนเช็กว่าเราเข้าข่าย Highly Sensitive Person หรือไม่?

เมื่อรู้แล้วว่า HSP คืออะไร เราก็ต้องมาเช็กกันสักหน่อยว่ามันมีอาการเป็นแบบไหน แล้วเราเข้าข่ายรึเปล่า เริ่มต้นด้วย...

  • ตกใจได้ง่าย
  • ไวต่อคาเฟอีนมากกว่าปกติ
  • ถ้ารอบตัวมีอะไรเปลี่ยนแปลงจะรับรู้ได้ไวมาก
  • ถ้าเป็นเรื่องเสียใจ เจ็บปวดจะอ่อนไหวหรือร้องไห้ตามได้ง่ายมาก ๆ
  • โดนคนอื่นโน้มน้าวหรือชักจูงให้รู้สึกอินตามในเรื่องต่าง ๆ ได้ง่าย
  • ช่างคิด ช่างจินตนาการเพราะมีความคิดสร้างสรรค์สูง
  • พยายามหลีกเลี่ยงต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่เข้ามารบกวน เช่น เสียงดัง แสงสี กลิ่นหรือความรู้สึก

เป็นคน Highly Sensitive = เป็นคนงี่เง่าไหม?

เชื่อเลยว่าคนที่เป็นคนเซนซิทีฟมาก ๆ หรืออ่อนไหวง่าย ๆ มักจะโดนมองว่า "งี่เง่า" บ้างล่ะ ไม่ก็ "จิตใจอ่อนแอเปราะบาง" บ้างล่ะ คือต้องพูดก่อนว่าความอ่อนไหวของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน เพราะไม่อย่างนั้นจะไม่มีคน HSP บนโลกแน่นอนนะคะ บางคนอาจจะอ่อนไหวง่ายมาก บางคนอาจจะจิตใจแข็งแกร่งสุด ๆ ดังนั้นเนี่ยก็ไม่ควรไปตัดสินใครแค่เพียงเพราะว่าเขาเป็นคนเซนซิทีฟอ่อนไหวกับสิ่งเร้าต่าง ๆ ว่าเป็นคนงี่เง่าไปก่อนนะคะ แต่! มีแต่อยู่นะคะ ถ้าคน ๆ นั้นไม่ฟังเหตุและผล ไม่รับฟัง ไม่สนใจอย่างอื่นนอกจากความรู้สึกตัวเอง แสดงว่านั่นคืออาการของความงี่เง่าแล้วล่ะ


วิธีปรับตัวฉบับคนอ่อนไหวง่าย เพื่อให้อยู่ในสังคมได้

เพราะบางทีการที่มีอารมณ์อ่อนไหวง่ายเกินไป ก็ทำให้ตัวเราเองก็รู้สึกหงุดหงิดหรือไม่ชอบตัวเองได้ รวมถึงอาจทำให้อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ยากด้วย เราก็เลยขอรวบรวมวิธีการปรับตัวสำหรับคนที่เข้าข่ายการเป็น HSP มาฝากกันตามนี้เล้ย!


1. รู้ตัวเองว่าเป็นคน Highly Sensitive Person

การรู้ว่าตัวเองเป็นคนอ่อนไหวมากแค่ไหน นั่นทำให้เรารู้ว่าลิมิตหรือความรู้สึกของตัวเองมันควรจะจัดการตัวเองยังไง เราต้องรับมือกับมันยังไงได้ดีที่สุดแล้วนะคะ มันไม่ใช่ข้อเสียแต่มันเป็นสิ่งที่ตัวเราเป็น แค่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอื่น ๆ เพิ่มเติม แต่ขอให้เราเข้าใจไว้ก่อนว่าเราเป็นคนเซนซิทีฟนะ


2. หาสิ่งเร้าที่มักจะกระตุ้นให้เราเกิดอาการอ่อนไหวง่าย

ถึงจะเป็นคนอ่อนไหวง่ายแต่ก็อาจจะไม่ใช่ทุกสิ่งที่อ่อนไหวได้ง่ายนะคะ ให้เราคอยสังเกตตัวเองเสมอค่ะว่าเราเจออะไรแล้วจะรู้สึกอ่อนไหวได้ง่าย เช่น ไม่ชอบเวลาคนเสียงดัง ใครเสียงดังใส่หน่อยจะร้องไห้ทุกครั้ง เป็นต้น ถ้าเรารู้ว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งกระตุ้นเรา เราจะได้พร้อมรับมือกับมันหรือพยายามหาวิธีรับมือกับมันได้ง่ายมากขึ้น อย่างในกรณีที่ยกตัวอย่างก็ให้รู้ไว้เลยว่าคนที่ชอบใช้เสียงใส่บ่อย ๆ คือใคร ถ้าคุยงานกับเขาบ่อย ๆ แล้วรู้ว่าจะเกิดการอาจจะบอกให้เขาช่วยลดเสียงในการพูดหรืออาจจะเป็นเราที่ต้องปรับตัวและเข้าใจอีกฝ่ายว่าเขาแค่เสียงดัง ไม่ได้มีเจตนาจะดุ เท่านี้ก็จะช่วยลดปัญหาการอ่อนไหวง่ายได้มากขึ้นแล้วค่ะ


3. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมใกล้ตัว

ถ้ารู้ตัวว่าเป็นคนอ่อนไหวก็ให้เราปรับพฤติกรรมบางอย่างและสภาพแวดล้อมด้วย เช่น ไม่ชอบแสงจ้าก็เลี่ยงไปในที่ ๆ มีแสง หรือปกติชอบทานชา กาแฟมากแต่รู้ว่ากินแล้วจะตื่นตัวไวสุด ๆ จนทำให้ส่งผลเสียกับร่างกาย อะไรพวกนี้ก็อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อทำให้เราสามารถใช้ชีวิตได้นะคะ


4. ลำดับขั้นสิ่งต่าง ๆ ที่อาจจะเจอหรือกำลังเผชิญ

แน่นอนว่าหลาย ๆ เรื่องเราอาจจะคาดการณ์ได้ว่าเราจะเจอสิ่งนี้นะ เราจะรับมือกับมันยังไงได้บ้างนะ แต่บางสถานการณ์ก็ไม่สามารถทำได้ ดังนั้นเนี่ยถ้าพอจะคาดการณ์ได้ก็คาดการณ์ไว้ก่อนได้เลยค่ะ แล้วก็คิดเลยว่าถ้าเจอแบบนี้จะจัดการตัวเองยังไงได้บ้าง ส่วนถ้ามีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นแบบประดังประเดเข้ามาไม่หยุด ให้เราลำดับขั้นสิ่งพวกนั้นก่อนเลยค่ะว่าอะไรรับมือกับมันง่ายที่สุด แก้ปัญหาได้ง่ายที่สุด ให้เริ่มจากง่ายไปหายาก เท่านี้ก็จะลดปัญหาการอ่อนไหวง่ายได้มากขึ้นแล้วล่ะ


5. ปล่อยวางให้เป็น

มั่นใจว่าคนอ่อนไหวง่ายหลาย ๆ คนมักจะเก็บเรื่องนั้นเรื่องนี้มาคิดเยอะมาก เพราะเราเป็นคนที่อ่อนไหวกับความรู้สึกนั่นนี่เต็มไปหมด คิดเยอะไปหมด แต่รู้ไว้เลยนะคะว่าเราไม่ควรเก็บทุกเรื่องมาคิด เรื่องไหนที่รู้สึกว่ามันกระทบจิตใจมากเกินไป มันไม่เป็นผลดีกับสภาพจิตใจก็ให้ตัดมันทิ้งไปเลยค่ะ พยายามค่อย ๆ ตัดมันออกไป หันไปสนใจอย่างอื่นแทน หาอะไรอย่างอื่นที่คิดว่าเราทำแล้วจะสบายใจมาทำแทน มันก็จะช่วยให้เราปล่อยวางเรื่องไร้สาระได้มากขึ้นนะคะ


6. หาคนที่เข้าใจและสามารถพูดคุยปัญหาเรื่องนี้ได้

คนที่อ่อนไหวง่ายมักจะมีอะไรให้คิดเยอะมาก ๆ แต่การเก็บสิ่งนั้นไว้คนเดียวมันก็ออกจะเครียดเกินไปหน่อย ดังนั้นถ้ามีใครสักคนพอจะรับฟังสิ่งต่าง ๆ ได้หรือเรามีวิธีที่จะบ่นระบายมันออกมาได้บ้างก็อยากให้ทำนะคะ บางคนอาจจะไม่สะดวกบอกเพื่อนก็ลองบ่นลงโซเชียลก็ได้ค่ะ อย่างน้อยก็ถือว่าได้ระบายความรู้สึกออกไป แต่ถ้ามีคนรับฟังได้ก็จะดีมาก ๆ นะคะ เราอาจจะได้่รับวิธีการแก้ปัญหาหรือคำแนะนำดี ๆ จากเขาก็ได้น้า


7. เลิกเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น

คิดมาก รับรู้ถึงความรู้สึกและอารมณ์ของคนรอบข้างได้ง่าย ทำให้ใครหลาย ๆ คนที่เป็นคนเซนซิทีฟมักจะเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอยู่บ่อย ๆ เนื่องจากว่าโดนชักจูงให้รู้สึกมีอารมณ์ร่วมตามได้ง่ายกว่าปกติ ก็เลยอาจจะทำให้รู้สึกมากกว่าคนอื่น ๆ เช่น เพื่อนสอบได้ที่ 1 แล้วเพื่อน ๆ ในห้องก็ชื่นชมกันใหญ่ บรรยากาศรอบ ๆ มันเป็นบรรยากาศที่ชวนทำให้คนเซนซิทีฟคิดมากได้ว่าทำไมเราทำไม่ได้แบบนั้นบ้างนะ เรายังไม่เก่งพอรึเปล่าอะไรแบบนี้ได้นั่นเอง ดังนั้นเนี่ยพยายามลด ละ เลิกการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นนะคะ เราเป็นเราหนะดีที่สุดแล้วน้า


♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥


เช็กลิสต์อาการและได้รู้วิธีปรับตัวไปแล้วใช่ม้า? ใครที่รู้ตัวว่าเป็น Highly Sensitive Person หรือคนที่อ่อนไหวง่ายมาก ๆ ก็อย่าลืมปรับตัวตามวิธีที่เราแนะนำไปนะคะ บอกเลยว่าช่วยได้จริง ๆ ค่ะ เพียงแต่ว่าอาจจะต้องใช้เวลาสักนิดนึงในการปรับตัวน้า แต่เชื่อเลยว่าชาวซิสของเราเก่งกันมาก ๆ อยู่แล้ว ยังไงก็ทำได้แน่นอนเนอะ เอาล่ะ! ตอนนี้เวลาของเราก็หมดลงแล้ว ไว้กลับมาไพ้กันหมบ เอ๊ย! พบกันใหม่ในบทความหน้านะคะ จะมีอะไรดี ๆ มาฝากนั้นก็ต้องติดตามอ่านกันนะคะ บ๊ายบายค่า :-D


ขอบคุณข้อมูลจากบทความจากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ iSTRONG Mental Health


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ







เว็ปไซต์นี้ใช้คุกกี้

SistaCafe ให้ความสำคัญต่อข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้โดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ แสดงว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา และ นโยบายการใช้คุกกี้