เชื่อว่าเพื่อน ๆ หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินปัญหาผมอย่าง อาการผมร่วงเป็นหย่อม กันมาบ้างแล้วนะคะ ซึ่งปัญหานี้ถือเป็นโรคอย่างหนึ่ง ที่ควรมีวิธีแก้ไขอย่างถูกวิธี เพื่อลดปัญหาและช่วยให้ผมกลับมาเป็นปกติ หากเพื่อน ๆ กำลังเผชิญปัญหานี้อยู่ ขอเชิญมาอ่านบทความนี้ค่ะ เพราะเราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับปัญหาผมร่วงเป็นหย่อม ทั้งสาเหตุและวิธีแก้ไขอย่างถูกต้อง ไม่รอช้าเราไปทำความรู้จักกันเลยค่ะ ✿ มาเริ่มกันเลยดีกว่า ✿


อาการผมร่วงเป็นหย่อม เช็กสาเหตุ อาการ และวิธีแก้

โรคผมร่วงเป็นหย่อม คืออะไร ?

รูปภาพ:โรคผมร่วงเป็นหย่อม

โรคผมร่วงเป็นหย่อมหรือ Alopecia Areata คือ โรคที่ผมมีการร่วงเป็นหย่อมหรือมีอาการร่วมกับขนบริเวณอื่น ๆ ด้วย พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งเพศหญิงและเพศชาย แต่จะพบบ่อยในช่วงอายุประมาณ 30 ปี ซึ่งโรคนี้แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. Alopecia areata (AA) ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ที่ศีรษะ คิ้ว หนวด หรือขนบริเวณลำตัว
  2. Alopecia totalis (AT) ผมร่วงเป็นหย่อมที่เป็นมาก จนผมร่วงทั่วศีรษะ หรือเกือบทั่วศีรษะ
  3. Alopecia universalis (AU) ผมร่วงกระจายทั่วศีรษะ ร่วมกับมีขนที่บริเวณลำตัวร่วงไปด้วย

โรคผมร่วงเป็นหย่อม ลักษณะอาการเป็นอย่างไร?

รูปภาพ:ผมร่วงเป็นหย่อมๆ

อาการของโรคนี้ หนังศีรษะบริเวณที่ผมร่วงจะมีลักษณะเป็นวงกลมขอบเขตชัดเจน ซึ่งอาจจะเกิดตำแหน่งเดียวหรือหลายตำแหน่ง ผมบริเวณรอบ ๆ หนังศีรษะบริเวณที่ร่วงเป็นหย่อมมักมีเส้นผมรูปร่างคล้ายเครื่องหมายอัศเจรีย์ และหนังศีรษะบริเวณที่ผมร่วงบางรายมีลักษณะเป็นหนังศีรษะปกติ แต่บางรายอาจจะมีอาการแพ้หรือคันร่วมด้วย นอกจากผมจะร่วงบริเวณศีรษะแล้ว ขนบริเวณอื่นอย่างเช่น ขนคิ้ว ขนตา หนวดเครา อาจมีอาการร่วงร่วมด้วย ซึ่งอาการร่วงอาจจะเป็นได้ทั้งแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือเป็นไปแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยบางรายสามารถหายเป็นปกติได้เอง แต่บางรายอาจจะเป็นเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ และบางคนผมอาจจะไม่กลับมางอกอีกเลยค่ะ อย่างไรหากเป็นแล้วก็สามารถสังเกตอาการตัวเองเพื่อเตรียมตัวไปปรึกษาแพทย์ด้วยนะคะ


โรคผมร่วงเป็นหย่อม เกิดจากสาเหตุอะไร?

สำหรับสาเหตุนั้นเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันไปทำลายรากผมซึ่งนำไปสู่ภาวะไม่ตอบสนองต่อแอนติเจนตัวเองหรือมักเรียกกันว่า ‘ภาวะภูมิต้านตัวเอง’ (Autoimmunity) คือการที่ระบบภูมิคุ้มกันเข้าใจผิดและโจมตีเนื้อเยื่อในร่างกาย ซึ่งในกรณีผมร่วงเป็นหย่อมนั้น มีการโจมตีไปที่รูขุมขนและไปขัดขวางการเจริญเติบโตของเส้นผมนั่นเองค่ะ นอกจากจะเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันแล้ว โรคนี้ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากสาเหตุต่าง ๆ คือ

  1. พันธุกรรม คนในครอบครัวมีคนเป็นโรคนี้อยู่ ส่งผลต่อคนที่อยู่ในสายเลือดเดียวกัน
  2. มีประวัติเกี่ยวกับโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองอื่น ๆ
  3. ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อเช่น โรคไทรอยด์บางชนิด โรคโลหิตจางบางชนิด เป็นต้น
  4. เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ผมร่วงมากผิดปกติ เล็บมือและเล็บเท้ามีลักษณะผิดปกติ

โรคผมร่วงเป็นหย่อมและวิธีการดูแลรักษา

รูปภาพ:ผมบาง ผมร่วง

แม้โดยปกติโรคนี้จะสามารถหายได้เองในผู้ป่วยบางราย ซึ่งผมจะกลับมางอกเองภายในเวลา 1 ปี แต่โรคนี้ก็มีวิธีรักษาที่มีระบบภูมิคุ้มกันเป็นสาเหตุร่วมการรักษาจะทำให้อาการผมร่วงดีขึ้น ซึ่งมีวิธีการรักษาดังนี้

  1. การใช้สเตียรอยด์มีทั้งแบบฉีดและแบบทาที่บริเวณรอยโรค โดยการใช้ยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
  2. การใช้ทายากระตุ้นภูมิคุ้มกันบริเวณรอยโรคเช่น Topical diphenylcyclopropenone (TDCP)
  3. การใช้ยาทาแก้ผมร่วงเช่น Minoxidil อาจใช้เป็นตัวช่วยกระตุ้นให้ผมงอกขึ้นมาใหม่เร็วขึ้น

ในระหว่างที่รักษาหากเพื่อน ๆ ต้องการปกปิดบริเวณผมร่วงเป็นหย่อมอาจจะทำได้โดยสวมใส่วิกผมหรือแฮร์พีช เพื่อปกปิดหนังศีรษะที่มีอาการผมร่วงได้และสามารถใช้ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมร่วมด้วย เพื่อให้ผมดูหนาขึ้นได้เช่นกันค่ะ


✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿

สรุปก่อนจาก

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ พอมีแนวทางแก้ไขปัญหา อาการผมร่วงเป็นหย่อม กันบ้างหรือยังเอ่ย บอกเลยว่าปัญหาที่ว่าแก้ยากนี้ ก็มีทางออกที่เหมาะสม อาจจะต้องใช้เวลา แต่เชื่อว่าหากเรารักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม ผมของเราต้องกลับมาสวยเป็นปกติแน่นอน หากเพื่อน ๆ รู้จักปัญหาผมร่วงเป็นหย่อม รู้สาเหตุและวิธีแก้ไขแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการกลับไปดูแลผมของตัวเองให้ดี ตั้งแต่การเริ่มต้นเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผมที่เหมาะกับปัญหาผมตัวเองเพราะนอกจากจะรักษาด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว เราต้องดูแลผมของตัวเองไปอีกทางด้วย เพื่อผมสวยและเงางาม หวังว่าเพื่อน ๆ จะหมั่นดูแลรักษาและรักผมตัวเองกันมากขึ้นนะคะหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ ชาว SistaCafe นะ แล้วไว้พบกันใหม่ค่ะ


บทความแนะนำ ที่ซิสต้องไม่พลาด

เว็ปไซต์นี้ใช้คุกกี้

SistaCafe ให้ความสำคัญต่อข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้โดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ แสดงว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา และ นโยบายการใช้คุกกี้